ภาพพิมพ์ บทกวี และดนตรีโฟล์กซองของ ‘เขียนไข และ วานิช’
- Writer: Piyakul Phusri
- Photographer: Pattana Khunchuen
เขียนไขและวานิช / ดนตรีโฟล์กซองเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ที่คุณจะทำอย่างไรให้สิ่งที่คุณสื่อเข้าถึงอารมณ์ของคนฟังได้จริง ๆ
เชียงใหม่…ปลายฝนต้นหนาว
เรานัดพบกับ เขียนไขและวานิช ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อถึงเวลานัดหมาย หนุ่มร่างผอมถือกระเป๋ากีตาร์ก้าวลงมาจากรถกระบะ แววของความเหน็ดเหนื่อยจากการนั่งรถไปเล่นดนตรีที่อำเภอบนภูเขาแล้วกลับมายังตัวเมืองเชียงใหม่ปรากฏให้เห็นเล็กน้อยบนใบหน้า
เราเคยดูวงนี้เล่นสดประมาณ 3 ครั้ง บางครั้งเล่นคนเดียว บางครั้งมีสองคน แต่ไม่ว่างานไหน เราจะพบหนุ่มร่างผอมคนนี้กับกีตาร์โปร่งในทุกการแสดงของวง แต่เราก็เข้าใจของเราเองมาตลอดว่าวงนี้มีสมาชิกสองคน ‘เขียนไข’ คนหนึ่ง ‘วานิช’ อีกคนหนึ่ง จนเมื่อได้พบกัน เราถึงรู้ว่าจริง ๆ แล้ว วงนี้มีสมาชิกคนเดียวคือ โจ้ – สาโรจน์ ยอดยิ่ง หนุ่มเชียงใหม่วัย 26 ปี ผู้เป็นเจ้าของเนื้อร้อง ทำนอง กีตาร์ และร้องเพลงเองทั้งหมด
บทสนทนาที่เรียบง่าย ดูจะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับทั้งตัวตน และ บทเพลงของ เขียนไข และ วานิช เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้นก่อนจะเป็น เขียนไข และ วานิช
ผมเริ่มเล่นดนตรีเมื่อ 8 ปีก่อน ตอนประมาณเรียน ปวช. ปี 2 และเริ่มมาใช้ชื่อ เขียนไข และ วานิช ตอนเรียน ปวช. ปี 3 เริ่มแรกจากการเขียนเพลงตอนยังฝึกงานอยู่ที่แกลเลอรี่เขียนรูปที่บ้านถวาย (หมู่บ้านหัตถกรรมในอำเภอหางดง) ก็แต่งเพลงแล้วเอามาเล่นสู่กันฟังที่แกลเลอรี่ แต่ก็หยุดเล่นไปพักหนึ่ง เพราะคิดว่าทำเล่น ๆ เฉย ๆ แล้วมันมีช่วงที่วงอิสญาที่เป็นเพื่อนกันเขาฟอร์มวง มันได้ไปเล่นงานที่กรุงเทพ ฯ ผมเลยต้องไปเล่นดนตรีแทนมันที่ร้าน 7 Pounds ซึ่งเป็นร้านที่ให้นักดนตรีต้องเล่นเฉพาะเพลงที่แต่งเอง เพื่อนเห็นว่าผมมีเพลงที่แต่งเองก็เลยให้ไปเล่นแทน หลังจากนั้นเจ้าของร้านเขาก็ชอบ เลยได้เริ่มเล่นที่นั่น แล้วก็แต่งเพลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อจริงในการเล่นดนตรีอยู่
‘เขียนไข และ วานิช’ คืออะไร
มันเป็นเทคนิคในการสกรีนตะแกรงไหม (silk screen) ของสาขาภาพพิมพ์ คือเราคิดไปคิดมา รู้สึกว่ามันต้องมีนามปากกามั้ยวะ แล้วกำลังทำเทคนิคนี้ส่งอาจารย์พอดี ก็เลยคิดว่าเอาชื่อนี้ดีกว่า
ทำไมถึงแต่งเองร้องเอง
มันเริ่มจากการได้ไปเที่ยว ได้เดินทาง แล้วก็ได้เห็นชีวิตหลาย ๆ คน เห็นชีวิตตัวเองด้วย ก็เลยเขียน จริง ๆ เหมือนจะเขียนเรียงความ เขียนบทกวี แต่พอดีเราเล่นกีต้าร์ได้ด้วยก็เลยใส่คอร์ดให้มัน
ชอบงานเขียนของใครเป็นพิเศษ
ชอบงานของ ‘อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น’ ‘นายไปรษณีย์’ พวกนี้ครับ แล้วก็งานของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ พวกงานจม ๆ ดาร์ก ๆ แต่ไม่ค่อยอ่านงานโรแมนติกเท่าไหร่
แล้วทางด้านดนตรี ชอบงานของใครบ้าง
มีพี่โก๋ บราวน์เฮ้าส์ แกเล่นที่ร้านตะวันแดงฯ ตั้งแต่ผมเป็นละอ่อนและเป็นคนสอนวาดรูป สอนแต่งเพลง สอนเรื่องคอร์ดพวกนี้ให้ แล้วก็มีพี่เอ้—รงค์ สุภารัตน์ น้าอารักษ์ อาภากาศ พล Wild Seed ผมชอบเปิดเพลงพวกนี้ฟังตอนเขียนรูป เลยลองทำเพลงแบบนี้ดูบ้าง รู้สึกว่ามันง่ายดี มันสะดวก ไม่ซับซ้อน เพราะผมไม่เก่งเรื่องคอร์ด เมโลดี้ โซโล่ พวกนี้ไม่เก่งเลย
สิ่งที่ เขียนไข และ วานิช ให้ความสำคัญในเพลงคืออะไร
เนื้อหาครับ ผมชอบแต่งเล่นคำ เล่นสัมผัส พูดอ้อม ๆ เปรียบเทียบอย่างหนึ่ง แต่มีความหมายอีกอย่างหนึ่งบ้าง เรื่องเกี่ยวกับชีวิตบ้าง
จากเพลงที่แต่งเองร้องเอง ตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักเยอะขึ้น รู้สึกอย่างไรบ้าง
เริ่มงงตัวเองเหมือนกันครับ อยู่ดี ๆ ก็โผล่มาเฉยเลย ก็รู้สึกดีใจที่มีคนฟังเพลงเรา แต่เพลงมันก็ทำงานของมันมาเองตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว จนตอนนี้เข้าปีที่ 9 มาเห็นผลตอนนี้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ก็ดีใจที่คนเขากลับมาฟัง ไล่รื้อฟังใน Soundcloud
เพลงของ เขียนไขและวานิช ส่วนใหญ่จะพูดถึงห้วงความคิดคำนึง การรอคอยอะไรบางอย่าง ไม่ค่อยมีเพลงรักแบบว่าเรารักกัน ในมุมของคนแต่งคนร้อง สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเพลงเหล่านี้คืออะไร
มันน่าจะเกี่ยวกับชีวิตของผม คือจะชอบเขียนอะไรดิ่ง ๆ ดีพ ๆ ไม่ค่อยมีเพลงเร็วหรือเพลงที่มันจรรโลงอ่ะครับ (หัวเราะ) มีแต่เพลงที่มันจม ๆ การเดินทางก็มีส่วนในการทำเพลงมาก เพราะเป็นคนชอบเดินทาง ฝั่งอีสานนี่ไปบ่อยเลย หลายเพลงก็มาจากการเดินทาง ไปเจอเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ ก็เอามาเขียน
ทำไมถึงไปอีสานบ่อย
เป็นที่แรกที่ผมได้เล่นทัวร์ครับ ตอนนั้นไปกับสายโฟล์กเชียงใหม่ ที่แรกที่ไปคือบุรีรัมย์ ส่วนมากคนจะรู้จักผมก็ที่อีสาน ซึ่งเยอะกว่าที่เชียงใหม่อีก บ้านตัวเองนี่ไม่มีใครรู้จักเลย กลายเป็นคนที่อื่นรู้จักเรา
จริง ๆ วงการศิลปินในเชียงใหม่ก็มีคนมากมาย แต่ทำไมในวงการดนตรีโฟล์กมันดูเหมือนจะแคบ ๆ
วงการศิลปะกับดนตรีในเชียงใหม่มันมีการแข่งขันกัน แล้วคนก็เยอะ ศิลปินเชียงใหม่ก็ไม่เคยจะได้ดังในบ้านตัวเอง ส่วนมากไปดังในจังหวัดอื่น เรื่องแบบนี้บ้านเราเติบโตยาก เพิ่งจัดงาน Chiang Mai Original กับพี่ชา (นักร้องนำคณะสุเทพการบันเทิง) ก็อยากให้นักดนตรีโฟล์กเชียงใหม่ได้เล่นในบ้านตัวเองบ้าง อยากให้คนได้รู้จัก อยากจะรู้ว่ามีคนฟังเรามั้ย อยากจะรู้ว่ามีคนรู้จักเรามั้ย ก็ตอบโจทย์อยู่นิด ๆ แต่สู้ต่างจังหวัดไม่ได้ ที่อื่นคนมีส่วนร่วมมากกว่าเชียงใหม่ งาน folk festival ที่อื่นมีคนมาเยอะกว่าที่เชียงใหม่
ผมไปเล่นงานที่ร้านครัวพีพีที่ ม.เกษตร ฯ กำลังร้องออกมาคำเดียว คนฟังร้องได้กันหมดทุกคน ผมแม่งโคตรขนลุก น้ำตาจะไหลว่าคุณฟังเพลงผมแล้วคุณร้องตามได้ทุกเพลงเลย เป็นอะไรที่ผมโคตรประทับใจมาก ซึ่งมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านเราอีก เป็นแบบนี้ตลอดเลยผม
แล้วมองว่าวงการดนตรีโฟล์กเชียงใหม่ตอนนี้มันพอจะขยับขยายไปในทางที่ดีได้มั้ย
มันก็โอเค ช่วยกันผลักดันกันให้งานได้นำเสนอไปให้คนอื่นบ้าง วันที่จัด Chiang Mai Original ก็มีมาเยอะอยู่ นักดนตรีหน้าแปลก ๆ ก็ได้มารู้จัก ได้มาแลกเปลี่ยนกัน เพราะเชียงใหม่มีนักดนตรีเยอะมาก
ตอนนี้ เขียนไข และ วาณิช เขียนเพลงไว้ซักกี่เพลงแล้ว
ก็ 30 – 40 เพลง มีที่คัดทิ้งไปบ้าง จำไม่ได้บ้าง จะมีบันทึกกระดาษหนา ๆ ประมาณนี้ (ทำมือหนาประมาณกระดาษหนึ่งรีม) แต่ส่วนมากจะไม่เอา อันไหนไม่ดี ไม่เวิร์กก็ตัดทิ้ง แต่ก็เขียนตลอด
ใช้เวลาเขียนเพลงนานมั้ย
บางเพลงใช้เวลาแป๊บเดียวเองนะครับ เพราะเพลงของผมมันวน เป็นคำบรรยายสั้น ๆ แล้ววนมาร้องที่เดิม เขียนวันเดียวก็เสร็จเลย เพลงไหนที่ต้องแก้ก็ประมาณ 3 วัน เพลงไหนไม่เข้าท่าก็ตัดออกไปก่อนแล้วกลับมาดูใหม่ ก็เขียนไปเรื่อย ๆ ครับ
แล้วมีใครมาช่วย เขียนไข และ วาณิช ทำงานในสตูดิโอมั้ย
ตอนที่ทำ EP ก็มีหลายคนครับ อย่างพี่เจษ 7 Pounds พาไปอัดเพลงอาจจะเพียง พี่โจ้—รังสรรค์ ราศีดิบช่วยอัดเพลงบันทึกให้ ที่เหลือก็ได้รุ่นน้องวงเชียงใหม่จากมหาวิทยาลัยพายัพมาช่วยอัด
มีแผนจะออกอัลบั้มมั้ย
มีครับ กลางปีหน้าคงเสร็จ มี 12 เพลง ถ้าแผ่นเสร็จก็จะจัดงาน ออกทัวร์ขายแผ่นคนเดียว เพราะไม่มีค่าย
แสดงว่าทุกวันนี้รายได้ที่มาจากดนตรีก็มาจากการแสดงสดเป็นหลัก
ครับ ก็เล่นตามงาน แต่ไม่รับเล่นที่ร้านแล้ว เพราะบ้านอยู่อำเภอดอยสะเก็ด เดินทางเข้าเมืองครั้งหนึ่งก็ไกล มาเล่นดนตรีกลางคืนไม่คุ้ม เพราะค่าตัวนักดนตรีในเชียงใหม่เรตต่ำโคตรเลย คืนละ 250 บาท มากสุดก็ 300 บาท ต่อหนึ่งชั่วโมง ถ้ากรุงเทพฯ 700 – 1,000 บาท ต่อชั่วโมงเข้าไปแล้ว อีกอย่างคือเชียงใหม่นักดนตรีเยอะ ร้านมีตัวเลือกเยอะ ถ้าเล่นเพลง cover เป็นก็สบายหน่อย แล้วผมไม่ค่อยเล่นคัฟเวอร์ แต่ถึงเข้ามาเล่นในเมืองจริง ๆ มันก็เหนื่อย ต้องขี่รถกลับอีก มันไม่คุ้ม โดนดูดพลังตอนกลางคืนทุกวัน ๆ ได้ 250 บาท ค่าเบียร์ก็เข้าเนื้อแล้ว (หัวเราะ) เลยเลิกดีกว่า มารับเป็นงาน ๆ เอา มีโอกาสไปก็ไป มีงานที่ไปช่วยคนอื่นบ้าง พวกงานปลูกป่า งานบริจาคของให้เด็ก แล้วก็มีรายได้เสริมจากงานสกรีนเสื้อ ทำภาพพิมพ์ แสดงงานกับพวกศิลปินด้วยกันบ้างครับ
ขอถามเรื่องส่วนตัวหน่อยว่า การเรียนไม่จบนี่มันเป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุชีวิตอะไรหรือเปล่า
มันเริ่มไม่เอา เริ่มไม่เรียนตั้งแต่ปี 3 แล้วโดนรีไทร์ เพราะหลัง ๆ ไปหนักทางดนตรี เลยไม่ได้ใส่ใจ ตื่นสายบ้าง ขาดบ้าง เลยดรอปไว้ก่อน แล้วก็เลยเด้งเลย ก็อยากกลับไปเรียนอยู่นะครับ แต่เผลอแป๊ปเดียวมันก็ผ่านไป 3 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปแล้ว เสียดายมันเหมือนกันครับ แต่เรามาสนุก มาชิลทางนี้ไปแล้ว เราเป็นแบบนี้ไปแล้ว ก็ไม่ได้เสียอกเสียใจอะไร แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปเก็บให้มันจบอยู่นะ
บางคนอาจจะรู้สึกว่าโฟล์กซองก็แค่เล่นกีต้าร์ตัวเดียว มันจะไปมีอะไรยาก ในมุมของโจ้ มองว่าโฟล์กซองมันเป็นเรื่องง่ายหรือยาก
มันเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ที่คุณจะทำอย่างไรให้สิ่งที่คุณสื่อเข้าถึงอารมณ์ของคนฟังได้จริง ๆ มันเหมือนงานศิลปะงานหนึ่ง เวลาคนอินกับงานมาก ๆ ก็แปลว่าความตั้งใจของเขาสูง สำหรับผม โฟล์กมันไม่มีผิดไม่มีถูก แต่การสื่อสาร การเอนเตอร์เทน ทำให้เข้าถึงอารมณ์ของคนฟังจริง ๆ พาให้เขารู้สึกกับมันได้จริง ๆ นี่คือดนตรีโฟล์กในความรู้สึกของผม ซึ่งก็มีบางคนบอกว่าชอบฟังเพลงของเขียนไข ฯ เวลานอน มันหลับสบาย บางคนก็ฟังเวลาเหงา เวลาเข้าป่า เปิดฟังหน้าหนาวแล้วมันรู้สึกสบาย หรือฟังเวลาขับรถแล้วมันเพลิน
มองทิศทางการทำงานดนตรีในอนาคตของตัวเองไว้ยังไงบ้าง
อาจจะชวนเพื่อนมาแจมด้วยกัน เพราะตอนนี้ก็รู้สึกเริ่มตันแล้ว ถ้าอัลบั้มนี้เสร็จ ว่าจะทำโปรเจ็คท์โดยเอาเสียงเครื่องดนตรีอื่นมาใส่ให้มันเป็น world music เพราะไปเห็นที่อีสานเขายังเอาแคนเอาพิณมาเล่น แต่ภาคเหนือมีสะล้อ มีเครื่องดนตรีเยอะแยะ แต่ไม่เอาเข้ามาผสมผสาน ถ้าวงดนตรีบ้านเราทำได้ ผมว่าน่าจะเวิร์ก ก็เลยจะชวนกันมาลองเล่นดู
แล้วคิดจะเอาดีทางเขียนหนังสือบ้างมั้ย
อยากทำหนังสือซักเล่มที่เป็นของตัวเองอยู่นะครับ ในเล่มก็จะเป็นเนื้อเพลงกับที่มาของเพลง มีเนื้อเรื่องเป็นตอน ๆ ว่าทำไมเพลงนี้ถึงชื่อนี้ เพลงนี้เขียนมาจากอะไร แต่รอดูทุนก่อน (หัวเราะ)
เพลงที่น่าจะดังที่สุดของ เขียนไขและวานิช ตอนนี้ก็คงจะเป็น แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร อยากให้เล่าที่มาที่ไปของเพลงนี้ซักหน่อย
ไปเที่ยวน่านมาครับ เจอสาวน่านที่เป็นความงามที่ไม่แต่งหน้า เนียน ๆ แล้วก็ไปเที่ยวเทศกาลแข่งเรือยาว เดินผ่านวัดภูมินทร์ไปดูภาพกระซิบรัก ก็เกิดความรู้สึกว่า เออ…น่านนี่เป็นเมืองวัฒนธรรมมากเลย ไปเจอความงามแปลก ๆ ใหม่ ๆ เลยกลับมาเขียน เป็นความรักที่ไม่ใช่เชิงชู้สาว แต่เป็นความรู้สึกแบบ เออ..คุณสวย เมืองคุณก็สวย ชีวิตคุณดี วัฒนธรรมดีงาม น่ารัก
เพลงนี้แต่งมา 3 ปีแล้วครับ และเป็นเพลงที่ตั้งส่วนตัวใน Soundcloud ไว้โคตรนาน ในความรู้สึกผมคือมันแตกจากกลุ่มลิสต์เพลงทั้งหมด ผมเลยตั้งล็อคไว้ฟังทีหลัง แล้ววันหนึ่งได้มาเล่นกับพี่คลี (นักร้องนำวง Klee Bho) นั่งเหงา ๆ อยู่กับพี่ต่าย (วงอภิรมย์) เลยเล่นเพลงนี้ขึ้นมา พี่ต่ายก็บอกว่า ‘เพลงนี้มันก็ดีนี่หว่า ทำไมมึงไม่เอาไปอัดทำใหม่เลยวะ’ ก็เลยมาอัดใหม่ แล้วผมก็เอาลง Soundcloud เจ้าของ YouTube ชื่อ Fong Beer มาเห็นก็เอาไปลงช่องของเขา แล้วเพลงมันก็มาเลย ก็โอเค ผมเลยเอาไปลงฟังใจพร้อมอัลบั้ม EP ซึ่งตอนแรกก็ว่าจะลง ฟังใจ นานแล้ว แต่ลืมรหัส พอจำรหัสได้เลยเพิ่งเอาเพลงลงเมื่อต้นปีนี่เอง
เขียนไขและวานิช – แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร
พอเพลงที่โรแมนติกที่สุดของเรา ตอนนี้มันเป็นเพลงที่ฮิตที่สุดของเรา ทำให้อยากจะหันมาเขียนเพลงแนวโรแมนติกบ้างมั้ย
ก็อยากเหมือนกันครับ หลัง ๆ เริ่มรำคาญตัวเอง ว่ามันกลายเป็นเพลงบ่นไปซะละ ก็เลยอยากจะทำอะไรที่มันไปทางธรรมชาติ ส่งเสริมสุขภาพจิตคนอื่นบ้าง เพราะมีแต่เพลงจม ๆ อย่างเพลงหนีห่างนี่จมสุดละ เหมือนเอาไว้เลี้ยงลมหายใจให้คนเศร้า ๆ มันมีคนที่เศร้าที่เปิดเพลงของผมแบบเปิดแล้วเปิด อีกแล้วก็ส่งมาให้ผมดู ผมก็รู้สึกว่า เออ…คุณจะจมเกินไปแล้ว
ฝากอะไรถึงแฟนฟังใจซักหน่อย
อยากจะฝากให้ติดตามผลงานของผมด้วยนะครับ ขอบคุณฟังใจที่เอาผมขึ้นชาร์ต ผมก็ตกใจเหมือนกัน ตอนแรกอยู่ที่ 9 ตอนนี้มาที่ 6 แล้ว คนอื่นก็ tag มาให้ดูว่าเอา เขียนไข และ วานิช ขึ้นชาร์ตนะ เห็นหรือยัง ก็ขอบคุณมากครับ
ฟัง เขียนไขและวานิช บนฟังใจ ได้ >ที่นี่<
บทความที่คุณอาจจะสนใจ
เขียนไข และ วานิช ส่ง mv ต่อไปนี้ ตอกย้ำความทรงจำที่เคยมีกันและกัน
คุยกับ บ้านข้าง ๆ T-047 ถึงความมหัศจรรย์ของความธรรมดาผ่านดนตรีโฟล์ก