จับเข่าคุยกับ ออม-ดิว สองผู้จัดแห่ง Wildest Youth ก่อนจะถึง Pink Cloud Festival งานรวมวงออสซี่ในฝัน!
- Writer: Malaivee Swangpol
สำหรับชาวร็อค-พังก์น่าจะพอคุ้นเคยชื่อโปรโมเตอร์ Wildest Youth กันมาบ้าง เพราะพวกเขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังงาน Metz, Movements, Trophy Knives ฯลฯ รวมถึงการจัดงานทัวร์ประเทศไทยในชื่อ Wilderer Tour ซึ่งในเดือนนี้พวกเขากำลังจะก้าวไปงานสเกลเฟสติวัลอย่าง Pink Cloud Music & Art Festival 2019 เราเลยขอจับเข่าคุยกับพวกเขากันซักหน่อย ถึงแรงบันดาลใจในการเป็นผู้จัด แล้วอะไรดลใจให้จัดงาน Pink Cloud ขึ้นมา ตามเรามาทำความรู้จักกับพวกเขากันเลย
ทั้งสองคนมาร่วมกันทำ Wildest Youth ได้ยังไง
ออม: เริ่มจากเรียนมหาลัยเดียวกัน ดิวเป็นรุ่นน้องสาขาภาควิชาปรัชญา มศว. ที่รู้จักตั้งแต่ตอนรับน้อง พอได้พูดคุยทำความรู้จักกันตอนนั้นก็รู้ว่าเออ ไอ้น้องคนนี้แม่งชอบดนตรี ฟังเพลงเยอะ อาจจะไม่เหมือนกันมาก แต่ฟังไปในทิศทางใกล้ ๆ กัน แล้วเราค่อนข้างจะสนิทกับกลุ่มของดิวกับเพื่อน ๆ เป็นพิเศษ เลยได้แฮงเอาต์กันตลอด พอช่วงปลายปี 2012 เราเริ่มมีไอเดียที่อยากจะลองจัดงานดนตรีด้วยตัวเอง เป็นงานเล็ก ๆ มีวงตัวเอง แล้วก็วงเพื่อน ๆ มาเล่นด้วยกัน ก็เลยเป็นงานแรกที่จัดด้วยกัน 2 คน เป็นสต๊าฟรันงานกันเอง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อใช้ Wildest Youth นะ
จนถึงช่วงดิวเรียนจบละมาเช่าหออยู่ใกล้ ๆ กัน ช่วงนั้นก็ไปนั่งเล่นที่ห้องมันบ่อย เลยคิดว่าอยากลองทำอะไรด้วยกันดู ซึ่งตอนแรกที่คิดกันคืออยากจะลองทำ ค่ายเพลงกันชื่อ Wildest Youth Records เพราะว่าเราทำเพิ่งทำ EP อะคูสติกของตัวเองเสร็จ ก็เลยคิดว่าอยากจะทำค่ายเพลงโฟล์กดู (หัวเราะ) แต่เราทั้งสองคนไม่มีความรู้สึกเรื่องบันทึกเสียงอะไร สิ่งที่เรารู้ว่าพอจะทำกันได้ตอนนั้นคือจัดงานดนตรี เพราะเคยช่วยกันจัดมาก่อน ก็เลยเริ่มมาจัดงานด้วยกันในนาม Wildest Youth แล้วก็ยาวมาถึงปัจจุบัน ถึงทุกวันนี้ก็จัดคอนเสิร์ตมา 7 ปีกว่าแล้ว
ดิว: เราเป็นรุ่นน้องของพี่ออมที่มหาลัย แล้วเวลาพี่ออมเล่นดนตรี เราก็ตามไปดูอยู่บ่อย ๆ จนมันสนิทกันขึ้นมา เราก็ไปช่วยพี่ออมเวลาแกจัดงาน ป๊อปพังก์-DIY จนวันนึงเราก็มานั่งคิดกันเล่น ๆ ว่าอยากจัดงานที่มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ดนตรีแนวป๊อปพังก์
ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Wildest Youth
ออม: จำไม่ได้ละว่ามาได้ยังไง น่าจะเพราะเราอยากได้ชื่อที่มันฟังแล้วดูแข็งแรง แล้วเรารู้สึกว่าชื่อนี้มันน่าจะนิยามสิ่งกำลังจะทำได้ดี เราชอบคำว่า Wild และความหมายของมัน เราว่ามันสะท้อนค่านิยมและมุมมองที่เรามีต้องช่วงวัยหนุ่มสาวได้ดี วัยหนุ่มสาวมันคือช่วงวัยที่เราต้องออกไปลุย ออกไปผจญภัย ออกไปสนุกกับชีวิต สร้างสิ่งใหม่ๆ และสร้างความทรงจำ เราอยากถ่ายทอดทัศนะผ่านผลงานที่เราทำ
ดิว: ตอนแรกที่คุยกับพี่ออมเอาคือเราอยากให้มันเป็นค่ายเพลง จำไม่ได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่สุดท้ายก็ได้ชื่อนี้มาที่พี่ออมเป็นคนตั้ง เราฟังแล้วชอบ ก็เลยใช้ชื่อนี้กันมา
คอนเสิร์ตแรกที่จัดร่วมกันในนาม Wildest Youth คืออะไร
ออม: เป็นงานดนตรีโฟล์กชื่องาน Folk Sections vol.1 จัดที่ Loyshy ไลน์อัพงานนั้นมีเราเอง Krit Promjairux, Matthew Fischer, Kota คนนี้เป็นศิลปินสาย guitar loop แล้วก็ The White Wedding Dress งานเข้าฟรี เพราะอย่างที่บอกไปก่อนหน้าคือความตั้งใจตอนนั้นของเราคือพยายามทำในสิ่งที่เราจะพอทำด้วยกันได้ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะยึดการจัดงานดนตรีเป็นเรื่องหลัก คือยังอยากทำค่ายเพลงอยู่ แล้วก็ยาวมาจากตรงนั้น
แล้วยังมีความคิดที่จะทำค่ายเพลงอยู่ไหม
ออม: คงไม่แล้ว คือไม่มีความรู้ตรงนั้นด้วย ตอนที่เราอยากทำค่ายเพลง เราอยากทำเพราะช่วงนั้นอินวัฒนธรรมแบบ DIY ที่เราซึมซับมาจากการทำวงพังก์ ทำเพลงเอง ปั๊มซีดีกันเอง ทำเมิร์ชมาขายเอง จัดงานกันเอง เลยอยากจะลองขยับมาทำค่ายดู เพราะอย่างอื่นก็ลองทำมาบ้างแล้ว แต่เราไม่มีความรู้เรื่องโปรดักชั่นเลย ก็เลยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ก่อน ก็คืองานคอนเสิร์ต เราจัดงานดนตรีได้ มันเป็นสิ่งเราพอจะทำได้ ดีไม่ดีไม่รู้ จะได้เงินไหมไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเราทำได้ ก็จัดงานกันมาเรื่อย ๆ
คอนเสิร์ตที่ประทับใจที่สุดที่เคยจัด
ดิว: เราชอบและอินกับการทำทัวร์คอนเสิร์ต อย่าง Wilderer Tour ปี 2017
ออม: ประทับใจ Wilderer Tour เหมือนกัน เราพาวง BrandNew Sunset, The Ginkz, Pistols99 และ Degaruda ไปทัวร์ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นโปรเจกต์ระยะยาวของปีนั้นเลย ที่เลือกงานนี้เพราะเรารู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากทำทั้งในฐานะโปรโมเตอร์และในฐานะวงดนตรีมาตลอด คือการได้เดินทางไปเล่นดนตรีต่อกันหลาย ๆ เมือง ได้ใช้ชีวิตแบบ touring artist ได้ไปเจอคนดูหน้าใหม่ ๆ ได้ไปสัมผัสว่าคนฟังเพลงคล้าย ๆ เราในที่อื่น ๆ เขาคือใคร แฟนเพลงของวงนี้ในจังหวัดนี้คือใคร ซีนดนตรีแต่ละที่เป็นยังไง เหมือนเราได้ใช้ชีวิตในแบบเราฝันถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม แล้วทัวร์นี้มันเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของพวกเราในฐานะโปรโมเตอร์เหมือนกัน คือถ้ามองย้อนไปในตอนที่เริ่มจัดงาน ๆ แรก จนถึงโชว์สุดท้ายของทัวร์เรารู้สึกว่ามันมีพัฒนาการนะ จากจัดงานเล็ก ๆ คนดูหลักสิบ จนกลายมาเป็นทัวร์รอบประเทศรอบนึงโดยใช้เวลาแค่ปีเดียวเนี่ย เราเริ่มรู้สึกว่ามันน่าจะไปได้ไกลกว่านี้เยอะ มันทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองต่อ อยากรู้ว่ามันจะไปได้ถึงไหน
แล้วอะไรทำให้ตัดสินใจจัดทัวร์ Wilderer Tour ไปเยือนต่างจังหวัด
ออม: มันแค่เริ่มจากเราอยากเอาวง BrandNew Sunset ซึ่งเป็นวงที่เราชื่นชอบมาตั้งแต่มัธยมไปเล่นที่ขอนแก่นบ้านเกิดตัวเอง เพราะวงไม่เคยไปเล่นที่นั่นเลย ก็เลยอยากจะชวนไปพร้อมกับ Degaruda ซึ่งเป็นอีกวงนึงที่เราชอบมากๆ พอไปชวนพี่ ๆ เขาก็บอกว่า เออ ไปเล่นที่อุดรด้วยดิ ไหน ๆ ก็ไปแล้ว เราก็เลยเกิดไอเดียว่า เออ ไหน ๆ ก็เสียเงินเช่ารถกันไปทั้งทีก็อยากไปให้มันคุ้ม ๆ ก็เลยลองไปติดต่อตามร้านตามจังหวัดที่เราจะผ่าน ทริปแรกที่อีสานก็เลยได้ไปสามที่ อุดร ขอนแก่น โคราช เริ่มเล่นจากที่ไกลสุดคืออุดรก่อนแล้วก็ค่อย ๆ ย้อนกลับมาเข้ากรุงเทพ ฯ สนุกมากครับ ฟีดแบ็กดี คนเต็มทุกที่ไปเล่น วงที่ร่วมทัวร์ด้วยกันก็ประทับใจจนอยากจะไปที่ภาคอื่น ๆ ต่อ พอจากอีสานก็เลยไปต่อที่ภาคช่วงกลางปี ไปเชียงใหม่กับพิษณุโลก ช่วงสิ้นปีก็ได้ลงใต้ที่นครศรีธรรมราช ก่อนจะมาปิดทัวร์ที่กรุงเทพ ฯ ถ้าถามว่าได้อะไร มันเยอะมากเลยนะ ผมรู้สึกว่าทัวร์มันเป็นโคตรเติมความฝันในวัยเด็กของเรา เราฝันมาตลอดว่าอยากจะทำวงดนตรีแล้วให้ดนตรีของเราพาเราไปยังที่ใหม่ ๆ ออกไปดูโลก เหมือนกับตัวละครในหนังเรื่อง ‘Almost Famous’ จากที่เราได้แต่เฝ้าดูการเดินทางของคนอื่น พอเรามาลงมือทำเองก็ได้มิตรภาพดี ๆ มีความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน ได้สร้างความทรงจำให้กับผู้คน ตอนไปเล่นที่ขอนแก่นนั่นเป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่ผมชวนครอบครัวผมมาดูวงผมเล่น จากที่เมื่อก่อนไม่เคยเลยเพราะไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง กลัวทำเขาขายหน้า วันนี้เชิญให้เขามาดูเลย พ่อ แม่ คุณยาย พี่สาว ทุกคนแฮปปี้
ดิว: บวกกับเรามีรถบัสอยู่คันนึงที่ไม่ได้ใช้ แล้วเราก็พยายามคิดหาไอเดียที่จะทำอะไรสักอย่าง ตอนแรกที่คิดก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นทัวร์รอบประเทศ แต่กลายเป็นว่าเราได้เล่นรอบประเทศไป 6 โชว์ และกลับมาปิดโชว์สุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ ถ้าให้พูดเราว่ามันเหมือนเราอยู่ในหนัง ‘Almost Famous’ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุก ลุ้น เหนื่อยและตื่นเต้นมาก เริ่มตั้งแต่ การชวนวง ออกแบบโปสเตอร์ทัวร์ของแต่ละจังหวัด การพาศิลปิน 4-5 วงขึ้นรถบัสคันเดียวและก็ไปออกไปทัวร์ด้วยกัน คือระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน จากคนแปลกหน้าไม่กล้าคุยกัน จนวันสุดท้าย ภาพที่เราเห็นคือทุกคนเมาเละอยู่ด้วยกันบนรถบัสจนถึงกรุงเทพ ฯ
เวลา Wildest Youth เลือกวง เลือกจากอะไร
ดิว: งานที่เราจัดกันในช่วงแรกเราเลือกศิลปินที่เราชอบ คือในตอนนั้นมันเป็นแค่ความรู้สึกที่ว่า อยากจัดงานให้วงที่ตัวเองชอบ เพราะว่าศิลปินเหล่านั้นก็ไม่ได้มีโอกาสหรือพื้นที่เล่นมากนัก
ออม: อารมณ์แบบอยากจัดงานที่วงเราเองกับวงเพื่อน ๆ ได้มาเล่นด้วยกัน แต่หลังจากจัดงานที่ชื่อว่า Girl ที่เป็นงานที่เราอยากจะรวมวงดนตรีที่มีสมาชิกวงเป็นผู้หญิงมาเล่นด้วยกัน ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกที่ลองเอาวงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงมาเป็นตัวดึงคนให้มาดูงานเป็นครั้งแรกจากคำแนะนำของเจ้าของสถานที่ ตอนนั้นเลยได้ Telex Telexs มาเป็นเฮดไลน์ของงาน ปรากฎว่ามันเวิร์ก วันนั้นคนมาดูเต็มร้านเลย เราเลยรู้สึกว่างานต่อ ๆ ไปอย่างน้อยเราควรจะมีวงที่มีชื่อประมาณนึงหรือวงที่สามารถดึงคนให้มาดูงาน ยอมซื้อบัตรเข้ามาดูได้ เพื่อที่คนจะได้มางานรวมถึงมาดูวงที่เราอยากนำเสนอด้วย กล้าที่จะเสียเงินจ้างวงมาหน่อยแต่ผลลัพธ์มันโอเคกว่า ตอนนี้ก็เลยก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ระหว่างความชอบส่วนตัวกับวงที่ขายได้
ล้มลุกคลุกคลานกันมานาน เคยคิดจะเลิกไหม แล้วอะไรทำให้ยังสู้ต่อไปในการจัดคอนเสิร์ต
ออม: ไม่เคยคิดจะเลิก คือสำหรับเราถ้าจะเลิก คงจะเป็นพราะทำต่อไปไม่ไหว ไม่มีเงินทำต่อ แต่ถ้าจะเลิกเพราะท้อเพราะเบื่อคงไม่ คือต่อให้ตรงนี้มันไม่ทำตังค์ให้เราก็ตาม ที่เราเริ่มทำตรงนี้เพราะเราอยากสร้างงานที่ในรูปแบบที่เราอยากให้มันมี อยากสร้างพื้นที่ให้วงดนตรีและแนวดนตรีที่เราชอบ ให้คนที่สนใจอะไรเหมือน ๆ กันหรือชอบอะไรเหมือน ๆ ได้มามีความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน แล้วก็การไปยืนอยู่ในงานในฐานะผู้จัดกับในฐานะคนดูมันก็จะได้มุมมองที่ต่างกัน สำหรับคนที่เป็นโปรโมเตอร์หรือทีมงานในงาน เอาจริง ๆ เราจะไม่ค่อยได้ดูดนตรีบนเวทีเท่าไหร่หรอก ถึงดู ก็ดูได้ไม่เต็มที่ การโปรโมเตอร์เหมือนไปงานคอนเสิร์ตเพื่อไปดูคนที่มาดูงานเราอีกนึง ได้ดูเขามีความสุข ได้ดูเขาแท็ก เขาโดด ได้เห็นคนกลุ่มนึงได้มีความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน ซึ่งสิ่งเรานั้นมันเกิดเพราะเราสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาให้พวกเขา ผมว่านี่คือความสุขของผมในฐานะคนจัดงานนะ ซึ่งถ้าเรายังมีกำลังจัดต่อไปได้ มันก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลิก และด้วยความที่เรามีพัฒนาการกับมันตลอด จากจัดงานอันเดอร์กราวด์เล็ก ๆ คนมาน้อยแบบแทบจะเป็นนักดนตรีดูกันเอง จนตอนนี้กลายเป็นว่าเริ่มโปรโมตวงจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งจากวันแรกถึงวันนี้มันเป็นเวลาก็ไม่นาน เราก็อยากจะดูต่อด้วยว่าเราจะพามันไปได้ไกลถึงไหน
ดิว: ไม่เคยคิดนะ เพราะมันคือตัวตนของเราเลย เราแค่เชื่อว่าเราทำได้ การทำคอนเสิร์ตมันเหมือนเราได้นำเอาเอาความชอบ หรือแพชชันของเราออกมา คิดและสร้างงานออกมา
สิ่งที่คิดว่ายากที่สุดในการเป็นผู้จัด
ออม: เรื่องเงินครับ (หัวเราะ) แล้วก็การที่จะทำยังไงให้คนรับรู้เกี่ยวกับงานของเรามากที่สุด การโปรโมต และเชื้อเชิญให้คนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราต้องแนะนำวงดนตรีอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก จะทำยังไงให้งานเรามันไปถึงการรับรู้ของผู้คนจำนวนมาก ๆ ซึ่งเราก็ยังต้องเรียนรู้ตรงนี้อีกเยอะ
ดิว: อย่างกระบวนการจัดงาน การจัดการศิลปิน บุ๊กวง หาสถานที่เล่น เตรียมอุปกรณ์ เครื่องดนตรี เราว่ามันไม่ได้ยากเท่าไหร่ แต่มันก็ต้องมีความละเอียดในทุกขั้นตอนเหมือนกัน สำหรับเราจึงมองว่าการโปรโมต การหาพื้นที่สื่อ การนำเสนอมันค่อนข้างท้าทาย รวมถึงเรื่องกระแสสังคมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมันก็มีผล เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่างานที่เราจัดนั้น สื่อของเราจะเข้าไปถึงกลุ่มคนที่เค้าชอบไหม
ทำไมออมถึงกล้าออกจากงานประจำเพื่อมาจัดคอนเสิร์ต
ออม: ห้าวครับ (หัวเราะ) งานประจำล่าสุดเราทำงานอยู่ในกองบรรณธิการของนิตยสารฉบับหนึ่ง คือมันเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดเยอะ เช่นเดียวกับการจัดงานดนตรี แล้วช่วงนั้นเราก็เพิ่งเข้าไปทำด้วย มันก็ยังอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัว ซึ่งมันดันเป็นช่วงที่เราเริ่มโปรเจกต์ Pink Cloud Fesetival ด้วย วงของเราเองก็ใกล้จะปล่อยอัลบั้มใหม่ด้วย ช่วงนั้นเลยรวนจัดเลย โฟกัสอะไรไม่ค่อยได้ พังมาก ช่วงนั้นเครียดมากเพราะเราเป็นคนที่ทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไม่ค่อยได้โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องใช้ความคิด จนพอมาถึงจุดนึงที่เรารู้แน่ ๆ แล้วว่าเราจะต้องจัด Pink Cloud Festival คือวงเฮดไลน์เริ่มทยอยคอนเฟิร์ม เราก็เลยคิดว่าออกจากงานประจำดีกว่าเพื่อจะได้มาโฟกัสกับตรงนี้ เพราะมันเป็นโปรเจกต์ใหญ่ เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดที่เคยทำมาในชีวิตนี้เลย คิดว่าถ้าทำงานประจำด้วยมันน่าจะไม่ไหวเดี๋ยวมันจะพังกันหมด เลยตัดสินใจลาออกมา แต่เราก็อยากแนะนำสำหรับคนที่คิดอยากจะออกจากงานประจำมาทำอะไรเป็นของตัวเองว่า ถ้ายังทำสองอย่างไปด้วยกันไหว อยากให้ทำไปก่อนเพราะอย่างน้อยมันยังมีรายได้จากงานประจำมาคอยซัพพอร์ตชีวิต การมีความมั่นคงทางการเงิน การมีเงินเดือนมันก็ช่วยให้ทำสิ่งต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องพะวงเรื่องรายได้ได้ระดับนึง มันทำให้เราเอ็นจอยกับการทำในสิ่งที่อยากทำมากกว่านะ
อย่างออมอยู่วง Pistols 99 ด้วย คิดว่าการเป็นศิลปินอยู่แล้วทำให้เข้าใจการจัดคอนเสิร์ตด้วยไหม
ออม: คิดว่าน่าจะช่วยเสริมตรงที่มันทำให้เราค่อนข้างเข้าใจในมุมของศิลปินที่มาเล่นมากกว่าคนที่เป็นผู้จัดอย่างเดียว เรารู้ว่าเราชอบผู้จัดแบบไหน เราอยากให้เขามาเทคแคร์ประมาณไหน เรารู้ว่าเราสามารถต่อรองกับศิลปินได้ประมาณไหน เราก็พยายามเป็นในสิ่งที่เราตอนไปเล่นดนตรีอยากได้
ทำไมถึงอยากจัดงาน Pink Cloud แล้วความพิเศษของงานนี้คืออะไร ทำไมเราถึง ‘ห้ามพลาด’
ดิว: งานนี้มันพิเศษตรงที่วงที่เราเลือกมา ส่วนใหญ่จะเป็นวงจากออสเตรเลีย เรียกได้ว่าเหมือนเรายกเทศกาลที่ออสมาไว้ที่บ้านเรา และด้วยทั้งไลน์อัพวง บรรยากาศของสถานที่ มันค่อนข้างแมตช์กันมากกับแนวดนตรี แล้วยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ภายในงาน อย่าง skateboarding clinic/ art workshop พวกนี้ทั้งหมดคือความตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงภายในงาน เราอยากให้เทศกาล Pink Cloud เกิดขึ้นต่อในปีต่อ ๆ ไป ทุก ๆ ปี เราจะได้มีโอกาสดูวงดนตรีแนวนี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะแนวอินดี้เท่านั้น
วงที่ออมกับดิวอยากดูมากที่สุดใน Pink Cloud
ออม: สำหรับเราน่าจะเป็น Turnover ส่วนตัวนี่เป็นวงต่างประเทศวงแรกจริง ๆ ที่เราอยากให้มาเล่นในงานตัวเอง แล้วเขาก็ตกลงมาจริง ๆ คือจากที่ผ่านมาทั้ง Movements และ METZ มันเป็นเหมือนโอกาสทางธุรกิจที่เราเห็นว่าเราน่าจะทำให้งานมันประสบความสำเร็จหรือไม่ขาดทุนได้ ทำให้เรากลายเป็นแฟนเพลงของสองวงนี้ก็ตอนที่ได้จัดงานให้เขานี่แหละ แต่อย่าง Turnover นี่คือฟังมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว อัลบั้มปกแดง Peripheral Vision ช่วงปีที่ปล่อยออกมานี่นั่งฟังอัลบั้มนี้แทบทุกวัน ตอนวงมาไทยรอบแรกเราก็ไปดู ลองไปอ่านรีวิวได้ เราเขียนไว้ใน Fungjaizine นี่แหละ (อ่านรีวิวได้ที่นี่ ไม่คิดว่าจะได้ดูวงนี้ที่บ้านเรา Turnover กับโชว์สุดประทับใจแห่งปี) ส่วนวงอื่น ๆ ที่เราอยากจัดเราก็เคยลองส่งทาบทามเยอะเหมือนกัน แต่ Turnover นี่คือวงแรกจริงๆที่ตอบตกลงมา
ดิว: อยากดูเท่ากันทุกวง (หัวเราะ)
ตอนนี้ยอดบัตรเป็นอย่างไรบ้าง
ดิว: บัตรก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปครับ ว่าจะ sold out มั้ย
หลังจากนี้เรามีลุ้นได้ดูวงสายไหนอีกไหม
ออม: ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ครับ บอกได้แต่วงสายไหนที่ผมอยากจะเอามา ส่วนตัวอยากจัดงานสายป๊อปพังก์-อีโม บ้าง อย่าง Real Friends, Kuckle Puck, The Story So Far พยายามจะมาทางสายนี้บ้าง เพราะมันเป็นอะไรที่ผมชอบส่วนตัว แล้วก็รายชื่อของวงที่กล่าวมา แฟนเพลงเขาในบ้านเราก็ค่อนข้างเยอะ อยากจะสานฝันให้กับทั้งตัวเองและคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ ครับ แล้วก็เป็นไปได้ปีนี้ก็อยากจัด Wilderer Tour อีกสักรอบ อยากไปทัวร์อีก
ดิว: น่าจะสายออสซี่เหมือนเดิมนะ
คิดว่าการที่ในซีนคอนเสิร์ตนอกมีแต่วงหน้าเดิม ๆ เป็นการผูกขาดตลาด หรือก็แค่เป็นเรื่องความนิยมในยุคนี้เฉย ๆ
ออม: เราคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของอุปสงค์ อุปทาน อย่างหลาย ๆ วงที่เราเห็นว่าเขามาเล่นที่กรุงเทพ ฯ บ่อย ๆ อย่าง Honne หรือล่าสุด Black Pink ที่เพิ่งประกาศไป ฐานแฟนคลับเขาเยอะจริง ดีมานมันได้ มันก็ไม่แปลกที่จะมีผู้จัดนำเข้ามาเล่นบ่อย ๆ บวกกับตัวศิลปินเองที่รู้ว่าแฟนเพลงของพวกเขาอยู่ตรงไหน เขาก็ต้องอยากมาเล่นให้แฟนเขาดูให้เยอะที่สุดอยู่แล้ว และหากพูดถึงการที่วงดนตรีวงเดิมมามักจะเลือกมากับโปรโมเตอร์เดิม ๆ ซ้ำ ๆ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของความไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างทางฝั่งศิลปินและโปรโมเตอร์ ถ้ามารอบที่แล้วกับโปรโมรเตอร์นี้แล้วโอเค ทีมงานดูแลดี งานออกมาดี ซาวด์ดี โชว์สนุก เขาก็อยากกับมากับโปรโมเตอร์เจ้านั้นอีก ขณะเดียวกันฝั่งโปรโมเตอร์การที่ได้จัดวงที่เคยจัด เราสามารถคำนวนได้ว่าคนดูจะมาประมาณไหน โปรโมตจยังไง แฟนเพลงของวงนี้เป็นใคร มันก็เลยจะต่างจากการที่เอาวงใหม่ ๆ เข้ามาครั้งแรก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าคนจะมามากน้อยขนาดไหนยกเว้นว่าเป็นเบอร์ใหญ่จริง ๆ มันก็เซฟกับตัวผู้จัดมากกว่าที่รู้ว่าถ้าวงนี้มามันมีคนดูแน่ ๆ
ดิว: เรามองว่ามันก็เป็นเรื่องเดียวกันนะ ด้วยความที่ว่าอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกมันอยู่ในจังหวะที่จุดที่กำลังโตขึ้น วงดนตรีก็ขยันทำผลงานเพลงออกมา ค่ายเพลงก็พยายมผลักดันอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะมีเอเจนซี่ที่คอยติดต่อกับโปรโมทเตอร์เพื่อพาวงออกทัวร์คอนเสิร์ตให้ได้มากที่สุด มันก็คือธุรกิจนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นการผูกขาด รึเปล่า เราว่าบางทีโปรโมเตอร์ในไทยหลาย ๆ เจ้ามีศักยภาพพอที่จะเชิญวงใหม่ ๆ มาบ้านเรานะ แต่มันก็คือความเสี่ยงอีกนั่นแหละ เราจะยอมเสี่ยงไปทำไม ในเมื่อเรามีของที่ขายได้อยู่แล้ว
สิ่งที่อยากเห็นที่สุดในซีนคอนเสิร์ตเมืองไทย
ดิว: อยากเห็นงานดนตรีใหม่ ๆ ที่นำเอาวงหลากหลายแนวเข้ามามากกว่านี้นะ แล้วก็เรื่องวัฒนธรรมในการดูคอนเสิร์ต ด้วยความที่เรามองจากมุมผู้จัด เวลาไปงานคอนเสิร์ต เราอยากให้คนไปดู สนุกกับมันจริง ๆ ไม่ใช่ไปคอนเสิร์ตแต่มัวห่วงกับเรื่องการถ่ายรูป อัพอินสตาแกรม หรือไลฟ์ เราควรร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีของการชมคอนเสิร์ต
ออม: อยากให้ทุกจังหวัดมีซีนดนตรีที่แข็งแรง มีแรงสนับสนุนจากทั้งคนดู คนจัด ศิลปินอิสระผลิตผลงานกันอย่างต่อเนื่อง ออกทัวร์กันให้เยอะ อย่าอยู่แต่บ้านตัวเอง มันน่าจะส่งผลดีต่ออุตสหกรรมตรงนี้โดยรวม เกิดรายได้ให้ทั้งศิลปินและคนจัด วงสามารถไปเล่นที่ ๆ หลากหลายขึ้น ไม่ต้องกระจุกกันอยู่แต่ในกรุงเทพ ฯ แล้วก็อยากให้วันนึงเวลาวงดนตรีจากต่างประเทศมาทัวร์ในบ้านอยากให้สามารถเล่นได้มากกว่า 1 ที่เหมือนกับซีนดนตรีในประเทศอย่าง ญี่ปุ่น หรือ บราซิล และอย่างประเทศในแถบอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ที่ซีนคอนเสิร์ตต่างประเทศไม่ได้กระจุกอยุ่แค่ในเมืองหลวง แล้วก็อยากเห็น blink-182 มาเล่นเมืองไทยสักครั้ง
เชิญชวนทุกคนไปดูงาน Pink Cloud Festival 2019
ออม: นอกจากการที่จะมีเทศกาลดนตรีเป็นของพวกเราเองครั้งแรกแล้ว สำหรับเรา Pink Cloud Festival เป็นที่สุดของหลาย ๆ อย่างที่เราเคยทำกัน เป็นไลน์อัพศิลปินต่างประเทศเยอะที่สุด เป็นงานที่ใช้เตรียมงานนานที่สุด เป็นงานที่เครียดและกดดันที่สุด และเป็นงานที่เราตื่นเต้นที่สุด ก็อยากจะชวนให้ทุกมาร่วมงานครั้งนี้กันเยอะ ๆ สายเซิร์ฟ สายอินดี้ร็อก สายชิล รับรองถูกใจแน่นอน ทั้งดนตรีมันส์ ๆ บรรยากาศดี และกิจกรรมต่าง ๆในงานที่ สนุกกันได้ตลอดทั้งวัน อยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกัน เราจะพยายามอย่างเต็มเพื่อทำให้งานออกมาดีที่สุดสำหรับทุกคนที่มาสนุกกันในงานครั้งนี้ครับ
Pink Could Festival จะมีขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2019 ที่ THAI WAKE PARK ซื้อได้แล้ววันนี้ทาง Event Pop: http://bit.ly/PICF2019 รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/pinkcloudfestival/