Wednesday ชีวิตที่ขาดเสียงดนตรีไม่ได้
เห็ดหอม คือคอลัมน์วงดนตรีหัวใหม่ที่น่าสนใจ มาค้นพบ นั่งคุยและทำความรู้จักกับพวกเขาไปพร้อม ๆ กัน
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Neungburuj Butchaingam
บางคนที่รู้จักกับ Wednesday อยู่แล้วคงแปลกใจที่เราให้เขามาอยู่ในคอลัมน์แนะนำวงน้องใหม่อย่าง ‘เห็ดหอม’ แต่สำหรับ พุท-พุทโธ สุขศรีวัน แล้วระยะเวลา 4 ปีบนเส้นทางดนตรียังถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่นาน และเรายังได้เห็นการสร้างสรรค์และผลักดันวงการดนตรีนอกกระแสของเขาอย่างต่อเนื่อง สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเขาดี เราขอถือโอกาสนี้แนะนำและพูดคุยถึงสิ่งที่เขาเชื่อจนถึงทุกวันนี้กัน
“ผมว่าปัญหาของการเล่นดนตรีมันคือการล็อกตัวเองกับความเป็นนักดนตรีมากเกินไป คือต้องซ้อม ๆๆ ทำเพลง ความจริง ก็เหมือนทุกอาชีพครับ เราต้องหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำด้วย”
Wednesday เกิดขึ้นมาได้ยังไง
ตั้งใจว่าอยากทำอะไรที่เราทำคนเดียวได้ เอาจริงศิลปินที่ผมชอบไม่ใช่คนที่เล่นแนว looping เลยนะ เป็นพวก Bob Dylan, Beck, David Bowie แต่พอเล่นคนเดียวก็เลยทำให้ต้องเล่น looping แล้วพยายามทำในแบบที่เราชอบมากกว่า ซึ่งข้อดีของการเล่นคนเดียวคือไม่มีอะไรตายตัว เวลาเล่นสดเราก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอด อย่างเพลงนี้น่าจะมีเปียโน กลอง คืออะไรที่เราทำไม่เป็น ก็หาคนมาช่วยเราได้ ถ้าอยากทำอิเล็กทรอนิกชนหมอลำ ผมเล่นหมอลำไม่เป็นก็อาจจะต้องไปหา DJ Maft Sai ให้เขาช่วย (หัวเราะ) ส่วนการคิดเพลงผมพยายามคิดเป็นอัลบั้ม ทำเป็นสิบเพลงแล้วเห็นภาพรวมมันเป็นธรรมชาติเรามากกว่า จะไม่ทำเป็นซิงเกิลแบบที่เพลงป๊อปสมัยใหม่เขาทำกัน เพราะจริง ๆ แล้วผมทำอะไรที่ฟังครั้งเดียวแล้วโคตรเพราะไม่เก่ง (หัวเราะ) อย่างยุคแรกจะเป็นแนว looping การที่ก่อนหน้าไม่ได้อยู่กรุงเทพ ฯ ตลอด พอได้กลับมาอยู่หลายปีก็ทำเป็นซาวด์แทร็กของกรุงเทพ ฯ ซะเลย เพลงส่วนใหญ่ก็จะคิดในรถตอนเดินทาง บางทีก็นั่งตีมือในแท็กซี่ หรือไปเที่ยวไหนก็อัดใส่มือถือไว้ สุดท้ายก็มาอัด live session เป็นอัลบั้มแรก พอมาอัลบั้มสองก็ทำเป็นธีมอวกาศ อยากทำให้ฟังง่ายขึ้น เหมือนผู้กำกับหนังที่เราทำสไตล์หลอน ๆ มาแล้ว ก็ลองทำสไตล์ที่ทำให้เข้าใจได้บ้าง คืออาจจะเหมือนเป็นอัลบั้มแรกแหละแต่ทำให้มันเก่งขึ้น ให้ดู advance ขึ้น มีความเป็นเพลงมากขึ้น ถ้าเคยดูกันก็จะใช้คอมพิวเตอร์มามีส่วนในการเล่นโชว์เยอะ ถ้าอัลบั้มสามก็อาจจะมีความเป็น full band มากขึ้น ที่ผ่านมาการเล่นกับคอมพิวเตอร์มันจะดูแข็ง ๆ หน่อย พอได้ไปแจมกับจินซัง (Ginn Sentaro วง aire) ตอนไปเล่นที่ญี่ปุ่น ก็รู้สึกว่าพอเล่นกับคนแล้วโชว์มันสนุกกว่าเพราะได้ interact กัน ชุดต่อไปเลยกะจะทำให้มันดูสดขึ้น ตอนนี้ทำเดโม่แล้ว ที่คิดไว้ว่าอยากได้มือเบสเป็นชิกุสะ วง Plastic Section เพราะก็สนิทกัน เล่นด้วยกันมานานแล้วเขาก็ชอบเพลงเรา แต่มือกลองยังตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาใคร แต่น่าจะได้ฟังกันปีหน้าครับ
เรียกว่าเป็นศิลปิน looping guitar คนแรก ๆ ในบ้านเราเลยหรือเปล่า
ก่อนผมก็มี Thom AJ Madson (ต้อม อัศจรรย์จักรวาล) คนนั้นก็ตัวจี๊ดเหมือนกัน เก่ง แต่ตอนที่ผมเห็นเขาเล่นครั้งแรก เขาจะเล่นเมโลดี้น้อยมาก ทุกอย่างจะเป็นนอยซ์หมดเลย แบบเหยียบเอฟเฟกต์ 20 ตัวพร้อมกัน มายุคหลังเนี่ยแกทำวงวิมุตติก็จะมีเมโลดี้ มีกลองมีอะไรมากขึ้น
ตอนที่ทำออกมาแรก ๆ มีคนงงกับเพลงเราไหม
โห ตอนนั้นตอบยากมากเลยนะ เพราะว่าการเล่นแบบนี้เราไม่มีเวลามาสนใจคนดู ไม่ใช่เราไม่สนใจแบบทำตัวคูลนะ แต่เราต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน กลองก็ต้องกด แล้วต้องคิดไลน์ต่อไป พออัดแล้วก็ต้องคิดอีกว่าไอ้สิ่งที่เราทำอันต่อไปมันจะช่วยเสริมสร้างอะไรใหม่ หรือไปทับอันเก่า ผมคุยกับ Dustin Wong เขาเป็นเหมือน looping master เขาบอกว่าทำเพลงมันก็เหมือนการทำอาหาร ถ้าเกิดเป็นวงมันเหมือนเป็นครัวใหญ่ คนนึงเตรียมผัก คนนึงเตรียมเนื้อ คนนึงจัดจาน แต่อันนี้เราต้องทำแกงกะหรี่หม้อนึงด้วยตัวคนเดียว เราต้องคิดทุกสเต็ปว่าถ้าใส่เข้าปากไปแล้วมันจะอร่อยไหม ถ้าทำออกมากินไม่ได้ก็จบ แก้ไขอะไรไม่ได้ ศิลปินอีกคนนึงที่ผมชอบในสมัยที่ผมเริ่มเล่นคือ Before Champ เขาก็ looping เหมือนกัน แล้วเขาก็เล่นเก่งกันมากทั้งคู่ แล้วเขาก็มีโมเมนต์แบบเรา ขนาดเขาเล่นเก่ง ก็เหมือนต้มสุกเกิน หรือน้อยเกิน looping มันต้องหาความพอดี ถ้า compose มากไปมันก็ไม่เพราะ ไม่ compose เลยก็เป็นนอยซ์ไปเลย เราเลยต้อง concentrate กับการเล่นของเรา
ปัญหาที่เจอตอนทำเพลงคืออะไร
ผมว่าปัญหาของการเล่นดนตรีมันคือการล็อกตัวเองกับความเป็นนักดนตรีมากเกินไป คือต้องซ้อม ๆๆ ทำเพลง ความจริง ก็เหมือนทุกอาชีพครับ เราต้องหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำด้วย อย่างช่วงนี้ผมกับเพื่อน ๆ ก็จะวิ่งกัน ไปใช้ชีวิตอย่างอื่นบ้าง มันก็จะได้แรงบันดาลใจที่สดกว่าการไปฟังเพลงเฉย ๆ บางทีฟังอย่างเดียว ถ้าชอบอะไรเราก็จะจำมาโดยอัตโนมัติแล้วก็จะเล่นแบบนั้น แต่ถ้าเราไปทำอย่างอื่นเราจะได้สิ่งที่เราคิดไม่ถึงแน่นอน
รู้สึกยังไงที่ BK Magazine เคยให้อัลบั้ม Lazarus ของWednesday เป็นอัลบั้มแนะนำในปี 2015
งงครับ แต่ก็ดีใจ เอาให้เพื่อน ให้พ่อแม่ดู (หัวเราะ) เราก็ภูมิใจครับ อย่างคนอื่นที่ได้ก็เป็นSLUR เขาก็เป็นวงที่อยู่ในกระแสนิยม แล้ววงเขาก็ดี ทำในสิ่งที่เขาเชื่อเขาชอบแบบนั้น เราว่าเราก็คงได้เพราะอย่างนั้น ที่นั่นเขาฟังแล้วคงรู้สึกว่าคนนี้มันมีความสม่ำเสมอในการทำงานนะ คือมันมีหลายคนที่ก็เลิกไปแต่ผมคงเลิกยาก เคยพูดกับเพื่อนไว้ว่าถ้าเลิกก็คือต้องตายกันไปข้างนึงก่อน (หัวเราะ)
ก่อนหน้าที่จะทำ Wednesday เคยทำอะไรมาก่อน
เรียนอยู่อังกฤษแล้วก็เล่นดนตรี ทำวงไปด้วย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายวง จนไปอยู่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2011 เรายังติดกับความที่อยู่นู่น แต่คงยังไม่ทำวงเพราะทำมาเยอะแล้วที่อังกฤษ ก็เบื่อ อยากทำอย่างอื่นบ้าง คือเราไม่ชอบไปเที่ยวผับ เราเลยหาโชว์ดู แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไม่มีที่ให้ดูเลย น้อยมาก แล้วเรื่องการจัดอีเวนต์ทำอะไรกันเองมันยังไม่บูมเท่าตอนนี้ ก็เลยคิดเล่น ๆ ว่าทำ Harmonica ดีกว่า เป็นร้านที่มันเล่นโชว์ได้ พอทำไปทำมาก็จับพลัดจับผลูว่าต้องทำเพลง คือมีช่วงนึงที่ร้านขาดวง สมมติเราจัดโชว์อยากได้สามวง หาได้แค่สอง เราก็เสียบเข้าไปให้มันเต็ม (หัวเราะ) อยู่ ๆ มันก็จริงจังขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตอนนั้นทำ Harmonica 3 ปี ก็ขลุกขลักตลอดจนถึงวันสุดท้ายที่เราเปิด มันเป็นร้านเล็กแล้วรันเองทุกอย่าง ก็เลยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่ามันต้องเป็นยังไง ก็ค่อย ๆ บิ๊วด์ไป เหมือนวงที่ทำก็ไม่รู้สึกว่าจะต้อง push ตัวเอง ต้องให้ได้แบบนั้นแบบนี้ในกี่วัน ก็ค่อย ๆ ทำไป
ยุครุ่งเรืองที่สุดของ Harmonica ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
ก็มีช่วงที่มีโชว์รัว ๆ ก็เหนื่อยครับ ช่วงที่งานยุ่งมาก ๆ บางทีมันดี แต่เราอาจจะไม่รู้ตัวเพราะเราอยู่ใน cycle นั้น ผมว่าน่าจะเป็นช่วงปีสุดท้ายที่หลาย ๆ อย่างมันเริ่มเข้าที่ แล้วลูกค้าที่มาก็เก็ตแล้วว่าเรากำลังทำอะไร แล้วมันก็ไม่ต้องมานั่งอธิบายกันเยอะเหมือนตอนช่วงทำร้านกันแรก ๆ ให้คนมาทำความเข้าใจว่าการดูโชว์ต้องเสียเงินนะ แล้วต้องตังใจดูไม่ใช่หันหลังกินเบียร์ ไม่สนใจ ถ้าไม่ชอบก็ออกไปนั่งเล่นข้างนอกแล้วค่อยกลับเข้ามาก็ได้ แต่ manner การดูโชว์แบบนี้มันสอนกันไม่ได้ ต้องค่อย ๆ บิ๊วด์ จนคนก็เข้าใจในช่วงปีท้ายที่มาถึงก็รู้ว่าต้องทำตัวยังไง รู้ว่าเราขายอะไร จริง ๆ เราอยากทำที่แบบนี้ให้คนพวกที่ชอบวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ไม่ต้องไปสังสรรค์จนเกินไป มาดูโชว์แล้วสนุกกับมัน บางคนคือได้เพื่อนด้วย ที่ดีใจคือมันได้สร้าง community แล้วคนมาเจอกันก็ไปทำวงต่อก็มี อย่าง Hariguem Zaboy ตอนแรกเป็นสมาชิกคนอื่น จนเวียนไปเรื่อย ๆ แล้วมาเป็นไลน์อัพปัจจุบัน หรือ aire ก็ยังจำได้ตอนที่ยังไม่มีชื่อนี้ เจอจินซัง มากับนิชิซัง (Shinya Nishi) มือเบสวง Deepsea Drive Machine มาดู Bear Garden เล่น เราก็ได้คุยกับเขา เขาบอกว่าทำวงอยู่แล้วเอาซีดีมาให้ แล้วก็กำลังจะทำวงใหม่ พอสัปดาห์ต่อ ๆ มาจินซังก็มาชวนผมให้ไปเล่นเบสให้วงใหม่เขา ชื่อ aire ตอนนั้นเราก็ยังไม่อยากเล่นดนตรีหรืออยู่ในวง ส่วนสมาชิก aire ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเจอกันที่นั่นหรือเปล่านะ แต่ก็น่าจะมี cross path กันบ้าง คือช่วงนั้น Ghost Story วงเก่าของแวนกับฟิวยังเล่นกันอยู่ที่ร้าน จินเขาก็เป็นแฟน Ghost Story เขาชอบ hardcore อยู่ แล้วไม่รู้ว่าไปคุยกันยังไงก็ลงล็อก เป็นไลน์อัพนี้ ไม่งั้นผมอาจจะไปเล่นเบสให้ aire ก็ได้ (หัวเราะ) เหมือนทุกอย่างมันโคจรมาเจอกันโดยธรรมชาติ
รู้สึกยังไงที่เป็นคนอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ก็สนุกครับ เหมือนเราก็ยังเชื่อในการดำเนินชีวิตด้านดนตรี แล้วยังเชื่อแบบที่ Bob Dylan เคยพูด เหมือนมันไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างแรงบันดาลใจในสิ่งที่ดีที่ให้คนอื่นพอจะสานต่อไปได้ ในแง่มุมของเราเราก็อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้กับคนอื่นที่บางอย่างตรงนี้เราอาจจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเขาทำได้ แล้วเขาเอาไปทำให้ดีขึ้น เราก็อยากจะ push ตรงนี้
ทำไมถึงเลิกทำ Harmonica
มีลูกครับ (หัวเราะ) ถ้าใช้ชีวิตกลางคืนก็ไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัว เราก็ต้องเลือกจะเสียสละสักอย่างนึง ตอนที่ลูกคลอดวันแรก 4 – 5 วันต่อมาผมก็ต้องไปเล่นงาน Cat Expo ก็ทิ้งเมียอยู่บ้านกับลูก มันก็ไม่ถึงกับ regret ที่ทิ้งพวกเขาไปเล่นดนตรีขนาดนี้ คือพอมันมี commitment กับเพื่อน ๆ กับวง กับทีมงาน เราก็ต้องทำให้จบแล้วค่อยกลับไปทำหน้าที่ของเรา หรือ Harmonica มันถึงจุดที่เราว่าเราไม่มีอะไรเพิ่มแล้ว พูดหรือทำสิ่งที่เราอยากทำไปหมดแล้ว ก็จบบทบาทแค่ตรงนั้นแล้วไปทำอย่างอื่น ผมก็เลือกที่จะอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ตอนนี้ก็เป็น full-time dad (หัวเราะ) แต่ยังไง venue เล็กก็ยังสำคัญสำหรับบ้านเรานะ อย่างวงใหม่ ๆ ยังต้องการพื้นที่แบบนี้มากกว่าวงใหญ่ วงใหญ่ยังไงเขาก็มีที่เล่นอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่ได้ take credit ว่าเพราะเราทำให้มีวงนั้นวงนี้ แต่นึกถึงว่าวงที่พูดถึงบ่อย ๆ อย่าง Hariguem Zaboyหรือ aire เขาก็จะพูดตลอดว่า home ground ของเขาคือ Harmonica เราก็ดีใจนะ คงเหมือนทีมฟุตบอล ยังไงเราเล่นที่สนามบ้านเรามันก็สบายใจที่สุด รวมถึงตัวผมเองตอนที่เล่นร้านตัวเองจะรู้สึกเป็นบ้านเรา เรารู้ว่าควรจะจัดการหรือรับมือกับมันยังไง แต่ก็อย่างที่บอกครับ น่าจะมีคนอื่นทำได้เหมือนกัน ในเมืองไทยมีวงเยอะ ถ้ามีแรงมีเวลามาทำร้านอย่างนี้อีกเยอะ ๆ มันก็ยิ่ง support ได้
“เราอยากทำที่แบบนี้ให้คนพวกที่ชอบวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ไม่ต้องไปสังสรรค์จนเกินไป มาดูโชว์แล้วสนุกกับมัน บางคนคือได้เพื่อนด้วย ที่ดีใจคือมันได้สร้าง community แล้วคนมาเจอกันก็ไปทำวงต่อก็มี”
ตอนนี้มี venue ไหนน่าสนใจบ้าง
ถ้าใหม่มาก ๆ ก็มี VIRUS ที่หัวหิน ของพี่โลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) ผมว่ามันก็เป็น option นะถ้าได้ไปเล่นที่อื่นบ้างที่ไม่ใช่กรุงเทพ ฯ บรรยากาศดี อยู่ริมทะเล สำคัญที่สุดคือเจ้าของร้านเขาเข้าใจวงว่าวงกำลังทำอะไร ปัญหาเมื่อก่อนเวลาวงพวกนี้ไปเล่นมักจะเจออุปกรณ์ห่วย หรือไม่มีคนดู แต่อุปสรรคจริง ๆ คือคนที่จ้างเราไปเขาคิดเรื่องเงินว่าเราจะหาคนไปให้เขาได้เยอะแค่ไหน แล้วพอเราไปอยู่ตรงนั้นแล้วเรารู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้อยากให้เราไป ออกจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ เมื่อก่อนผมเล่นกับ Basement Tape บางร้านพอเล่นจบนี่เปิดเพลงฮิปฮอปดัง ๆ ไล่เรา เหมือนแบบที่นี่ไม่ใช่ที่ของพวกคุณ ไปไกล ๆ
ทั้งที่เขาเป็นคนจ้างเราไปเอง
ใช่ แต่นี่เดาเองนะ บางทีเขาแค่รู้สึกว่าวงอินดี้หาเงินง่ายว่ะ เอาวงพวกนี้มาแล้วมีคนซื้อบัตรมาดูเยอะ ๆ เหมือนมันเป็นเทรนด์ ของแบบนี้พอเป็นธุรกิจปุ๊บคนก็จับเทรนด์กัน แบบ ตอนนี้วงนี้กำลังมาแรง เอาไปเล่นหน่อย แต่ตัวเองไม่ได้รู้สึกมี passion อะไรกับวง ไม่รู้นะ อย่างตัวผมจะเลือกวงที่รู้สึกว่า… อาจจะไม่ได้ชอบทุกวงแต่คิดว่าเขามีจุดยืน เขามีอะไรจะพูด ยกตัวอย่าง mainstream เลยก็ได้ อย่าง Bodyslam บางคนอาจจะรู้สึกว่า โห กระแสหลักมาก เพลงฟังง่าย แต่ที่เขาประสบความสำเร็จเพราะเขาเชื่อจริง ๆ ว่าสิ่งนี้คือจุดแข็งเขา เป็น product ของเขา หรือวงอะไรก็ตามที่อยู่ได้นานเพราะเขาเชื่อในเพลงของเขา
เคยเอาวงนอกมาเล่นด้วย
อันนั้นมันก็เกิดขึ้นแบบโดมิโนอีกอะ คือผมเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่น ไม่ได้รู้จักใครเยอะแยะ ก็เอาพี่ป๊อก Stylish Nonsense มาเล่นที่ร้าน คุยกันไปกันมาก็สนิทกันมากขึ้น แล้วเขากับตั้ม (โตคิณ ฑีฆานันท์) ก็จะมีโปรเจกต์กัน แล้วชวนเราอีกคนทำด้วย ครั้งแรกก็เอา Asobi Seksu วงจากนิวยอร์กมา แล้วก็เป็น Melt-Banana, Wye Oak, Dustin Wong, Shonen Knife, Deerhoof เยอะมากนะตอนนั้น ก็สนุกนะครับ ได้เพื่อนอีกโลกนึง เอาจริงโลกนักดนตรีมันก็ค่อนข้างใกล้กัน ปัญหาก็คล้าย ๆ กัน อย่างเขามาทัวร์แบบนี้ก็ไม่ค่อยได้เงินกันนะ เหมือนเขาแค่อยากส่งเพลงเขาให้ไปให้ไกลขึ้น ถ้าเทียบกับการจ้างวงเกรดเอบ้านเรา วงเขาก็ถูกกว่าแน่นอน แต่ส่วนมากวงที่ได้มาออกแนวจะโชคดีมากกว่า คือเอเจนซี่เขาอีเมลมาหาเราเอง เช่น Asobi Seksu ได้ทำเพราะทำกับพี่ป๊อกกับตั้ม แล้วพอทำเสร็จ เหมือนวงเขากลับไปแล้ว feedback กับเอเจนซี่เขาว่าโปรโมเตอร์คนนี้โอเค ไม่ต้ม ดูแลเขาดี ทีนี้พอมีวงไหนอีกเขาก็ส่งมาให้เรา จริง ๆ มีหลายวงมาก แต่บางวงก็แพงมาก (หัวเราะ) ก็ต้องปล่อยผ่าน อย่างDeerhoof ก็เป็นเพื่อนของยูกิวง Asobi Seksu เขาก็แนะนำกันมาว่าถ้าอยากเล่นเมืองไทยก็ให้ติดต่อมาทางเรา มันก็จะเป็น mutual friends กันไปหมด อย่าง Shonen Knife รู้จักเพราะว่ารู้จักกับสักวงนึง แล้วก็คุยกันในรถตู้กับเขา เขาถามว่าวงต่อไปอยากได้วงไหน เราชอบMelt-Banana มาก แต่ติดต่อไปเขาไม่เคยตอบอีเมลเลย วงเขาก็โอเค ๆ เข้าใจละ พอเขากลับไปญี่ปุ่น อีกสองสามอาทิตย์ อากาตะซัง มือกีตาร์วง Melt-Banana ก็อีเมลมาหาเราว่าได้คอนแทกต์มาจาก Shonen Knife ถามว่าอยากให้วงเขามาเล่นหรอ เขาก็โอเค มาเลย หรืออย่าง Dustin Wong เมื่อก่อนผมเคยฝึกงานหนังสือชื่อ Supersweet เขาก็จัดคอนเสิร์ตอะไรแบบนี้ด้วย แต่เมื่อก่อนเขาอยู่ที่อังกฤษ พี่ที่เป็นเจ้าของเขาก็เป็นเพื่อนกับดัสตินเราก็สวมรอยเข้าไปคุยกับเขาให้มาเล่นเมืองไทย เขาก็โอเคเลย เหมือนเป็นความบังเอิญหมดเลย เราไม่ได้ไปบีบให้มันเกิดขึ้น ช่วงนั้นเราก็ไฟแรงมาก อยากทำ
หลายวงที่ว่ามานี่เป็นตัวท็อปเลย แต่พอมาบ้านเราได้เล่นงานสเกลเล็กมาก
ใช่ เมืองไทยเรา ultimate taste มากครับ ผมว่าปัญหามันก็หลายอย่าง ถ้าเกิดเราชอบอะไรจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ใครมากระหน่ำใส่หูเรา ก็ค่อย ๆ ฟัง ไปดูงานเขา ไอ้ความชอบส่วนตัวเนี่ย แต่เหมือนตอนนี้ทุกอย่างมันเป็น media แล้วแข่งกันตรงที่มี marketing ดีแค่ไหน แล้วเมืองไทยอาจจะมีเรื่องฝนฟ้าอากาศ รถรา วันที่จัด ถ้าจัดโชว์กันกลางสัปดาห์ คนน้อยแน่นอน แต่ก็ไม่แน่ บางทีถ้าอากาศดี รถไม่ติด อยู่ ๆ ก็คนเยอะ มันเดายากครับ
ร้าน Good Space นี่เปิดนานหรือยัง
สัก 3 – 4 เดือนแล้วครับ ทำกับเพื่อน ใช้เวลาทำนานนิดนึง เหมือนเราไม่ได้เร่งตัวเองว่าต้องให้เสร็จภายในกี่วัน จาก 6 เดือน เป็นปีนึง แล้วก็ปีครึ่ง เป็น 2 ปี กว่าจะเสร็จ คือเริ่มทำตั้งแต่ช่วงที่เลิกทำ Harmonica ที่นี่ก็จะมีร้านกาแฟ มีของกินด้วย แล้วก็ co-working space กับออฟฟิศให้เช่า ออฟฟิศที่นี่ก็ชิลล์ ๆ ครับ พอทำงานเครียดก็ลงมาเล่นสเกตบอร์ดหน้าร้านกัน ช่วงสุดสัปดาห์ก็จะจัดโชว์ คล้าย ๆ ร้าน 1979 Vinyl and Unknown Pleasures ที่เขาจัดเป็น afternoon session จะไม่ full on เหมือน Harmonica เมื่อก่อน ตอนนั้นจะเหนื่อยมาก อยู่ตั้งแต่ 5 – 6 โมง จนถึงตีสอง (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ก็ยังเงียบ ๆ ครับเพราะก็ยังไม่อยากตะโกนประกาศ ก็ให้ค่อย ๆ รู้จักบอกกันปากต่อปากดีกว่า
คิดว่าจะเป็น the next Harmonica ได้ไหม
คงยังไม่ได้ไปทางนั้นครับ ผมว่าเรื่องดนตรีเราค่อนข้างยอมรับตัวเองแล้วว่าเราสลัดดิ้นไม่หลุด ยังไงก็อยู่ในสายนี้ว่าต้องได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ เดี๋ยวก็ต้องได้ชวนเพื่อนเก่า ๆ มาร่วมงานกัน คงไม่ถึงกับทำซ้ำว่าร้านเก่าเป็นยังไง ร้านใหม่ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ตรงนี้อยากให้เป็น format ใหม่ เดือนนี้ก็คิดไปอีกสเต็ปนึงว่า ถ้าเอาวงมาเล่นก็อาจจะทำให้มันเป็น intimate session อย่างเมื่อก่อนเป็น underground show มืด ๆ มีไฟ เครื่องเสียง อันนี้จะเหมือนคนดูกับคนเล่นจะใกล้กันมากขึ้น เห็นเขานิยมทำกันในเมืองนอกแล้วถ่ายวิดีโอ Sofar Sound น่ะครับ จะออกเป็นแบบนั้นมากกว่า
จัดงานอะไรไปบ้างหรือยัง
ล่าสุดที่จัดไปแล้วมีงานซิต้า ของนพ Govinda Bhasya เขามีอาจารย์จากอินเดียที่มาเล่นที่นี่ แล้วก็งานของ Plastic Plastic เป็นโชว์แรกและโชว์สุดท้ายในอีกสักพัก เพราะคุยกับปกป้องบอกว่าพอเล่นเสร็จ กลับบ้าน อาบน้ำ ขึ้นเครื่อง ไปทัวร์ญี่ปุ่นกับ Gym and Swim ต่อ แล้วคงโปรโมตยาว เพราะ CD เขาก็เพิ่งออก คงจะทำทีละอย่าง
คนจากที่ Harmonica ถามถึงหรือตามมาบ้างไหม
โห รัว ๆ เลยครับ บ่อยมาก บางทีไปเดิน flee market จะเจอคนมาถามตลอดว่าที่นี่จะมีอะไรที่คล้าย ๆ ที่เก่าเกิดขึ้นไหม เราก็บอกคงไม่เหมือนนะ ต้องลองมาดูเอาเอง
ภาพรวมของ live events ตอนนี้ดีขึ้นไหม
ผมว่าก็ดีนะ มันไม่ขึ้นไม่ลง ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว แต่ตอนนี้เราชอบที่มันมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น อย่าง Pow Fest เนี่ยก็เอาวงญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเล่น มันก็เหมือนเป็น community แล้ว พอวงต่างชาติมาเล่นที่นี่ วงไทยก็ไปเล่นที่นู่นได้ มันทำให้ option ทั้งสองฝั่งเยอะขึ้นในความรู้สึกผมนะ อย่างเมื่อก่อนก็เล่นกันแค่นี้ ดูกันเอง แต่ถ้า underground ไทยมันจะรอดได้เราก็อาจจะต้องลุย AEC กันก่อน เป็น format ที่วงอินดี้ไม่ค่อยทำ แต่วงเมทัลอย่าง Annalynn ก็ไปเล่นเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ช่วงหลังวงอินดี้ก็เริ่มมาแล้วนะ อย่าง Fwends ก็ไปไต้หวัน รุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Desktop Error ก็ไปมาเก๊า ไปญี่ปุ่น คือผมว่าถ้าเราคิดแค่ว่าเราอยู่กันเองแค่นี้มันอาจจะตันไปนิดนึง ต้องออกไปข้างนอกบ้าง คือยังมองในมุมเอเชียอยู่นะ ไม่ถึงขั้นต้องบินไปอเมริกาหรอก
อยากเห็นอะไรอีกในซีนดนตรีบ้านเรา
อยากให้วงอยู่กันยาว ๆ จากที่ผมทำงานกับวงที่เขาเล่นทัวร์ได้ทั่วโลก คือเขาไม่ได้เก่งกว่าเรา แต่สิ่งที่แตกต่างคือเขาทำนาน ใช้เวลานาน อย่าง Deerhoof, Shonen Knife ก็ 20 ปี Melt-Banana ก็น่าจะประมาณนั้น คืออยากให้วงอย่าง Desktop Error อยู่ไป 20 – 30 ปีมันถึงจะวัดได้จริงว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน หรือ Fwends, Gym and Swim เนี่ย ผมว่าเดี๋ยวนี้ life span ของวงมันสั้นไปหน่อย อย่างผมทำ Wednesday วงมันก็ไม่เก่ามากนะ ประมาณ 4 ปี หรือaire, PLOT, Two Million Thanks, Hariguem Zaboy สำหรับคนฟังเพลง underground ดันกลายเป็นวงเก่าไปแล้ว หรือถ้าเราไปดูวง mid-level underground แล้วอยู่ได้นานแล้วดี อย่าง Yo La Tengo, Liars คือไม่ได้เล่นขนาด stadium แต่พิสูจน์ฝีมือผ่านระยะเวลายาว ๆ ของวง อย่างผมชอบ Shonen Knife มากตรงที่เขานับวันเล่นไลฟ์ บนโปสเตอร์งานที่เขาไปเล่นก็จะเขียนว่าโชว์นี้คือวันที่เท่าไหร่ของวง ตอนนี้ไม่รู้วันที่พันเท่าไหร่แล้ว แล้วก็จะขึ้นเลขว่าเป็นทัวร์ที่เท่าไหร่ อย่างเวลาเขาไปเล่นอเมริกาทีนึงเขาจะไปเล่น 20 – 30 โชว์เล็ก ๆ ไปแต่ละเมือง เยอะมาก มันบ้ามาก ผมว่าวงไทยจะอยู่รอดได้ก็ต้องกัดฟันผ่านจุด 10 – 20 ปีไปให้ได้ ถ้ามาวัดกัน 2 – 3 ปี เจ๋งแล้วจบ อันนี้เป็นสิ่งที่ถ้ามีการพัฒนาไปได้ก็น่าจะดี เพราะวงเราก็เก่งไม่แพ้ประเทศอื่น
“เราก็ยังเชื่อในการดำเนินชีวิตด้านดนตรี แล้วยังเชื่อแบบที่ Bob Dylan เคยพูด เหมือนมันไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างแรงบันดาลใจในสิ่งที่ดีที่ให้คนอื่นพอจะสานต่อไปได้ ในแง่มุมของเราเราก็อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้กับคนอื่นที่บางอย่างตรงนี้เราอาจจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเขาทำได้ แล้วเขาเอาไปทำให้ดีขึ้น เราก็อยากจะ push ตรงนี้”
เพราะการที่บางวงเล่นโชว์บ่อย คนดูเลยไม่ได้ตื่นเต้นหรือขยันที่จะไปดูเพราะจะดูเมื่อไหร่ก็ได้ หรือบางทีก็เบื่อ
มีส่วน ๆ ก็เป็นไปได้นะ แต่พูดถึงญี่ปุ่น เขาก็เล่นโชว์กันถี่ แต่เหมือนคนเขาเสพดนตรีกันจริงจัง ถ้าสมมติเขาชอบวงนี้ เล่นกี่โชว์เขาก็ดูอยู่นั่นอะ เพราะนี่คือสิ่งที่เขาชอบ แต่มันคงเป็นดาบสองคมมั้ง คือถ้าญี่ปุ่นบ้าอะไรก็บ้ามาก ถ้าคนชอบฮาร์ดคอร์เขาก็จะดูแต่โชว์แบบนั้น ไม่มีทางไปดูเพลงแนวอื่น แต่คนไทยยัง flexible มาก คือดูได้ทุกอย่าง เดี๋ยววันนี้ดูอันนี้ พรุ่งนี้ไปดูอีกอันนึง
แต่ไม่ยอมจ่าย
ก็จ่ายนะ (หัวเราะ) คนมี culture ที่จะยอมจ่ายมากขึ้น แต่วงการมันเล็กน่ะครับ วงมันจะเยอะก็เยอะ แต่จะน้อยก็น้อย เพราะเวลาหายก็พากันหายไปฮวบเลย
หลังจากนี้จะมีโปรเจกต์อะไรอีกบ้าง
Basement Tape หรือ Plastic Section ก็ไม่ได้เล่นแล้วเพราะ Ben Edwards ไม่อยู่ไทยแล้ว เดี๋ยวก็คงทำ Wednesday ให้เสร็จก่อนครับ ผมมองว่าโปรเจกต์นี้อยากทำให้ถึง 10 ปีก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน แล้วนับ phase ต่อไปอีกเป็น 20 ปีแล้วดูว่าจะไปไหนได้อีกบ้าง ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นตำนานหรืออะไรขนาดนั้น เราคิดว่าเราทำงานเพื่อส่งไม้ต่อ คือคนยุคหลังยังไงมันก็ต้องเก่งกว่าคนยุคก่อน เด็กรุ่นใหม่เก่งกันเยอะมาก อย่างณป่าน Hariguem Zaboy ก็เล่นกีตาร์เก่งมาก มีสไตล์ของตัวเอง พี่เดือน จงมั่นคง วง Sasi เขาก็ experimental แต่ก็ฟังรู้เรื่อง เราว่าคนที่เป็นนักเขียนเพลง นักดนตรี มันเยอะมาก มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเราคนเดียวที่เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง เหมือนเราก็เป็นเส้นเส้นนึงในภาพใหญ่ ๆ ก็ทำไปเรื่อย ๆ ให้คนได้ฟังนาน ๆ คิดว่ายี่สิบปีน่าจะทำได้สิบอัลบั้ม (หัวเราะ)
แอบเห็นว่าแฟนเพจ Harmonica ก็ยังแชร์บทความดนตรีหรืออีเวนต์ต่าง ๆ อยู่
ผมจะบอกเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ว่าถึงไม่ได้ทำร้านแล้วแต่เพจก็ยังมีอยู่ ผมก็จะใช้เพจเป็น platform ให้เห็นว่ามีอะไรที่เราชอบ มีอะไรที่เข้าท่า เราก็แชร์ ไม่ใช่แค่ Fungjaizine นะ ทุกอย่าง คนที่จัดคอนเสิร์ต underground คนที่ทำอะไรพวกนี้เราก็ช่วยกัน อยากให้วงการนี้มันมั่นคง ประสบความสำเร็จ พูดกันตรง ๆ อย่างเรา พี่พาย (ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี) หรือพี่ป๊อก ที่ทำงานตรงนี้ เขาไม่ได้ได้เงินไปซื้อเฟอร์รารีขับเล่นหรอก เขาก็เอาเงินไปเลี้ยงครอบครัว เหมือนเวลาเราเลือกได้ไม่ว่าจะอะไร เราก็จะจ้างคนที่เป็นเพื่อนกัน หรือถ้ากินข้าว กินกาแฟ ก็ไปร้านที่เพื่อนเราทำ เพราะรู้ว่าเขาได้เงินไป เขาจำเป็นกว่า corperate ใหญ่ ๆ ที่ถ้าเราใช้เขาแล้วแล้วเงินมันไปถึงใครบ้าง
อยากฝากอะไรถึงคนที่ทำงานตรงนี้บ้าง
ก็สู้ ๆ ครับ ทำต่อไป ทำอัลบั้มเยอะ ๆ อย่าทำแต่ซิงเกิลอย่างเดียว เราว่า album culture ยังไม่ตาย คือทุกวันนี้ก็ยังชอบอยู่ การไม่ได้ฟัง shuffle ฟังเรียง 1 – 10 อย่างที่ซื้อมาใหม่ก็ Gym and Swim เป็นอัลบั้มที่สนุก ฟังแล้วมันเห็นภาพรวมมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนดูโชว์เฉย ๆ ก็สนุก แต่คิดไม่ออกว่าอัลบั้มเต็มจะเป็นยังไง พอได้ฟังแล้วซาวด์กลอง ซาวด์ดนตรีมันเป็นก้อนดี ก็รู้ว่าเขาพยายามจะทำอะไร หรือ Plastic Plastic อัลบั้มใหม่ ก็เสียดายที่มันไม่ค่อยบูมเท่าไหร่ แต่ผมว่ามันดีนะ detail ดนตรีดี ถ้าเก่า ๆ อย่าง Stylish Nonsense อัลบั้มแรกมันเห็นภาพรวมทุกอย่างดี Hariguem Zaboy ชุดแรกก็ดี เห็นว่าจะมีอัลบั้มสอง อยากให้ตามวงพวกนี้ครับ เราคิดว่า 350 บาทซื้อซีดีเขา มันไม่ได้ทำให้เราจนลง แล้วก็ไม่ได้ทำให้เขารวยขึ้นมากหรอก แต่ว่ามันก็ push ให้เขามีกำลังใจทำต่อ ซื้อไปเหอะ ซีดี เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ มันช่วยได้แน่นอน มันทำให้เขาภูมิใจว่าสิ่งที่เขาทำมันก็มีคนฟัง มีคนชอบ เราก็ต้องยอมรับนะว่าเราไม่แคร์ feedback เลยก็ไม่ได้ คนทำศิลปะมันอยากให้คนชอบอยู่แล้ว
ติดตามผลงานของ Wednesday ได้ที่ Facebook Fanpage และรับฟังเพลงของเขาบนฟังใจได้ ที่นี่