บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยลงในคอร์ด กับบทเพลงของ วงสามัญชน
- Writer: Piyakul Phusri
- Photographer: Chavit Mayot
ถ้าจะถามว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ คืออะไร คำตอบอาจจะเป็นไปได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าจะเอาคำถามนี้ไปถามใคร บางคนอาจจะตอบเป็นชื่อวงเพื่อชีวิตระดับค้างฟ้าที่มีอยู่ไม่กี่วงในประเทศนี้ บางคนอาจจะตอบว่าเป็นเพลงอะไรก็ได้ที่ต้องโจ๊ะ ๆ มีกลิ่นอายลูกทุ่งซักหน่อย ในขณะที่บางคนอาจจะตอบว่า ต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงการต่อสู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องปากกัดตีนถีบ ฯลฯ
คงไม่มีคำตอบไหนถูกต้องที่สุด แต่เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเพื่อชีวิตแนวโฟล์กร็อก ลูกทุ่ง หรืออะไรก็ตาม แต่เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถบันทึกสภาพสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน โดดเด่น รวมไปถึงบันทึกความรู้สึกของนักแต่งเพลง หรือนักดนตรีที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงสามัญชน คือวงดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมจากต่างภูมิลำเนา และมีการเติบโตทางความคิดจากการทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองร่วมกัน ชวนให้เรานึกไปถึงจุดกำเนิดของวงดนตรีเพื่อชีวิตยุคก่อน ๆ ที่บ่มเพาะความคิดของตนเองจากการทำกิจกรรมร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การยึดมั่นในแนวคิดและต่อสู้อุดมการณ์บางอย่าง ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นบทเพลงเพื่อบอกเล่าถึงสภาพสังคม ความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความปรารถนาที่จะเห็นพลังทางสังคมจากภาคประชาชน
น่าสนใจว่าเพลงของ วงสามัญชน ไม่ได้พูดถึงการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง หรือการหาญหักกันด้วยกำลังระหว่างมวลชนกับฝ่ายผู้มีอำนาจตามอย่างขนบเพลงเพื่อชีวิตไทยยุคบุกเบิก แต่เพลงของสามัญชนพูดถึงความหวัง กำลังใจ ความคิดคำนึงถึงมิตรสหายนักกิจกรรม โดยใช้ทั้งภาษาและคอร์ดที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่เราสัมผัสได้ถึงความจริงใจและกระแสแห่งความคิดที่เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างตัวโน้ต
นี่คือบทสนทนาระหว่าง Fungjaizine กับ วงสามัญชน ในบ่ายวันศุกร์ที่กรุงเทพ ฯ มีฝนตกหนักจนประชาชนคนกรุงนับแสนถูกขังไว้บนถนนที่รถทุกชนิดจอดติดเครื่องอย่างนิ่งสงบเท่าเทียมกัน
สมาชิก
แก้วใส—ณัฐพงษ์ ภูแก้ว (กีตาร์, ร้อง)
เจ—ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ (กีตาร์, ร้อง)
ไผ่—จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (พิณ)
เริ่มฟอร์มวงกันตั้งแต่เมื่อไหร่
เจ: ตั้งแต่ปี 2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร เราไม่ถึงกับเป็นนักดนตรีอาชีพ แค่เคยหากินด้วยดนตรีอยู่บ้าง เมื่อก่อนก็เล่นในร้านอาหาร พวกเพลงโฟล์กซองเบา ๆ กับกีตาร์ตัวเดียว
แก้วใส: ส่วนผมไม่เคยเล่นดนตรีกลางคืนครับ
สมาชิกแต่ละคนมารู้จักกันได้ยังไง
เจ: เราเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกันผ่านค่ายเรียนรู้ปัญหาสังคม จริง ๆ ก็อยู่คนละกลุ่ม คนละภาค แต่ก็มารู้จักกันเพราะนักกิจกรรมค่อนข้างจะมารวมตัวกันบ่อย พอมาเจอกันก็มีการเล่นดนตรี แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เลยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน และได้ลองแต่งเพลงร่วมกัน ขึ้นเล่นดนตรีด้วยกัน ตอนแรกก็ไม่ถึงกับเรียกตัวเองว่าเป็นวงดนตรี แต่พอขึ้นเวทีไปแล้วมันก็ต้องมีชื่อวง เลยทำให้มีวงตามมา (หัวเราะ)
แต่ละคนเรียนจบจากที่ไหนกันมา
แก้วใส: ผมเคยเรียนพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่เรียนไม่จบ เจ จบกายภาพบำบัดจากมหิดล ส่วน ไผ่ เพิ่งจะเรียนจบนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น
วงสามัญชนเป็นวงดนตรีแนวไหน
เจ: เราคุยกันว่าเราเป็นวงเพื่อชีวิตยุคใหม่ แต่คำว่าเพื่อชีวิตมันดันไม่ใช่แนวเพลง เลยเป็นคำถามที่ตอบยากว่าแนวเพลงอะไร และการทำเพลงของเรามีทีมที่เข้ามามีส่วนร่วมเยอะ อย่างมือกีตาร์ของวง อมตะ ซึ่งเป็นวง progressive rock ก็เข้ามาช่วยเรียบเรียงดนตรีให้ แต่โดยเนื้อตัวเราจริง ๆ ก็คงเป็นโฟล์กแหละครับ เพราะเราร้องเพลง แต่งเพลงด้วยกีตาร์ตัวเดียว แต่ก็ค้นหากันไปเรื่อย ๆ ไม่อยากผูกมัดตัวเองเร็วนัก
แก้วใส: เพลงของเราถูกใช้ในหลายพื้นที่ หลายสถานการณ์ ถ้าเราไปเล่นให้พี่น้องชาวบ้านฟัง ก็จะมีเพลงอีกส่วนที่มีกลิ่นอายอีกแบบหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเล่นนอกเหนือจากเพลงที่เราเอามาลงใน ฟังใจ อย่างถ้าเราไปเล่นแถบอีสานก็จะมีกลิ่นอายของดนตรีอีสาน
ตอนนี้มีเพลงออกมากี่เพลง
เจ: ที่อัดเสียงและเรียบเรียงแล้วมีสี่เพลง กำลังทำอยู่เพลงนึง จริง ๆ ก็มีอีกหลายเพลงที่เราไปเล่นตามงานต่าง ๆ และยังไม่ได้บันทึกเสียง เราแต่งเพลงกันเรื่อย ๆ วันไหนนั่งเคลิ้ม ๆ หน้าบ้านก็แต่งเพลงใหม่ เรื่องอัดเพลงเราจะทำร่วมกับ Triple H Music ที่เป็นค่ายของเรา ก็ช่วยกันเลือกว่าถ้าจะอัดเพลงที่เราเคยเล่นเพื่อทำซีดีขายตามงานกิจกรรม เราก็คัดเพลงที่เวลาไปเล่นตามกิจกรรมทางการเมืองแล้วมีแฟนเพลงของเราพอติดหูหรือเขาร้องตามได้บ้าง
แก้วใส: บางเพลงเราแต่งไว้แล้วก็คิดว่าน่าจะใช้มันกับสถานการณ์แบบนี้ แต่มันยังไม่ถึงเวลา หรือยังไม่มีสถานการณ์ที่เราจะใช้เพลงนั้นให้เหมาะ เราก็ยังไม่ได้ปล่อย ไม่ได้ทำก็มี เราอ่านกลุ่มคนฟังรวมเข้ากับสถานการณ์ เหมือนเพลง บทเพลงของสามัญชน ทำไมฟังแล้วติดหู และเกิดการร้องต่อ เพราะเพลงมันอยู่ในช่วงที่มัน match กับสถานการณ์ และคนฟัง (สืบเนื่องจากสถานการณ์การจับกุมแกนนำนักศึกษา นักคิด นักกิจกรรม ที่ต่อต้านรัฐบาลหลังเกิดเหตุรัฐประหาร 2557)
แสดงว่าวงสามัญชนค่อนข้างให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่อินกับเพลงนั้น ๆ
เจ: ใช่ครับ บางเพลงเราอธิบายสถานการณ์บางสถานการณ์ที่เราก็รู้ว่าในประเทศนี้มันไม่ได้อินกันทุกคนหรอก บางเรื่องก็เลยต้องสื่อสารกับกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะพอสมควร แต่เราก็พยายามแต่งเนื้อให้มันคุยกับทุกคนได้แหละครับ แล้วค่อยให้เขาค้นหาความหมายที่มันซ่อนอยู่ พยายามอยากทำแบบรุ่นใหญ่ พยายามจะซ่อนอะไรเท่ ๆ แต่ยังไม่สำเร็จ (หัวเราะ)
เพลงของวงสามัญชนยังไม่มี digital download นอกจากให้ฟังฟรีบน ฟังใจ YouTube กับซื้อซีดีตามงานกิจกรรม แล้วแบบนี้วงจะสร้างรายได้จากเพลงของตัวเองได้ยังไง
เจ: เราไม่เคยคิดเลยครับว่าจะหารายได้จากมันยังไง
แก้วใส: มันเริ่มมาจากการที่เราทำเพราะอยากทำ และเราเห็นว่าเราควรจะทำ เบื้องต้นเราไม่เคยคิดว่าจะหาเงินจากตรงนี้ เพราะเราอยากเผยแพร่วิธีคิดออกไปสู่คนอื่น ๆ แต่ถามว่าเคยคิดอยากได้ตังค์จากตรงนี้มั้ย มันก็เคยคิด เพราะต้องยอมรับว่ามันก็ใช้ทุนในการทำ ถ้าเราใช้ทุนหมดไป เราจะทำอะไรต่อได้ถ้ามันไม่มีทุนมาสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะได้กำไรร่ำรวย ขอแค่ได้เงินกลับมาทำงานแบบนี้เพื่อขยายมันออกไปอีก
แบบนี้รายได้หลักของวงก็มาจากการแสดงสดตามงานกิจกรรมต่าง ๆ หรือเปล่า
เจ: ส่วนใหญ่ได้น้อยมาก
แก้วใส: ถ้าเขาว่าบอก ‘เฮ้ย สามัญชน มาเล่นให้หน่อย’ เราก็รับปากว่าไปไว้ก่อน จะได้เงินหรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง บางทีคนจัดเขาก็เลี้ยงข้าว บางทีก็ได้ค่ารถ บางทีเจ้าภาพเขามีตังค์เขาก็ให้มา คือเราไม่ได้อยู่ในระบบที่ซื้อขายงานกันแบบนั้น เราไปเล่นตามงานกิจกรรมทางสังคมการเมืองเป็นปกติของเรา
พอจะพูดได้ไหมว่านักกิจกรรมชอบทำเพลงเอามันไว้ก่อน
เจ: ก็ได้นะ เราทำเอามันไว้ก่อน เล่นให้เพื่อนฟัง กรอกหูมันจนมันร้องตามและเอาไปใช้ต่อ ซึ่งต้องให้เครดิตกับ Triple H ว่าเป็นค่ายเพลงที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากทำเพลงเพื่อสื่อสารกับสังคมมารวมตัวกัน และเกิดเป็นชุมชนที่แลกเปลี่ยนความคิดกัน ซึ่งชุมชนแบบนี้มันทำให้เราตั้งคำถาม และท้าทายเราว่ามันจะมีเพลงไหนที่เป็นเพลงของยุคสมัยของเรา จะมีเพลงไหนที่สื่อสารถึงประวัติศาสตร์ และบันทึกข้อความในช่วงนี้ ประกอบกับช่วงนั้น (ช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องจนถึงการรัฐประหาร 2557) ศิลปินรุ่นใหญ่ในวงการเพื่อชีวิตก็ถูกตั้งคำถามเยอะเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมือง ถึงกับเลิกร้องเพลงกันไปมากมาย เราก็ตรวจสอบตัวเองว่าแล้วเราจะทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เพลงเขาเราก็ไม่อยากร้อง เพลงใหม่ ๆ ก็ไม่มี งั้นกูทำเพลงเองก็ได้วะ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่านักกิจกรรม หรือเด็กค่าย ส่วนใหญ่คงเติบโตมาจากการฟัง และเล่นเพลงเพื่อชีวิตสไตล์ซ้าย ๆ ยุคคนเดือนตุลา พอถึงตอนนี้วงรู้สึกว่าเพลงเหล่านั้นมันไม่ตอบโจทย์กับสังคมปัจจุบัน หรือมันเชยไปแล้วหรือเปล่า
เจ: ไม่นะ ผมยังร้องมันได้ แต่ว่าการผลิตซ้ำมันก็เป็นอำนาจแบบหนึ่ง เวลาที่เราให้ความชอบธรรมกับบางเพลง ก็แสดงว่าเรากำลังให้ความชอบธรรมกับอำนาจที่อยู่ใน message ในเพลงนั้น และมันไม่ใช่แค่สนับสนุน message ของเพลง มันยังเป็นการสนับสนุนตัวศิลปินด้วย มันเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกันและแยกไม่ออก เวลาเราจะปาร์ตี้ เล่นเพลงกันขำ ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่เวลาเราขึ้นเวที เราก็จะระแวดระวังกับการใช้งานเพลงเหล่านั้น
แก้วใส: ไม่ได้บอกว่าเพลงสมัยก่อนมันไม่ตอบโจทย์หรือเชยซะทีเดียว เพราะคนในยุคนี้บางกลุ่มก็ยังฟังและใช้งานมันอยู่ แต่เราไม่ได้ฟังแค่เพลง เราถามถึงชุดความคิดและอุดมการณ์ที่มันฝังอยู่ในเพลง ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ชุดความคิดตอนนี้ผมก็ไม่ใช้ ถ้าเราสังเกตว่าทำไมสมัยก่อนเพลงพวกนี้ถึงดัง เพราะมันตอบโจทย์กับบริบทสังคมในตอนนั้น แต่ปัจจุบันมันเป็นเพลงที่เล่นกันในผับในร้าน แล้วมันเป็นเพลงที่ตอบโจทย์การทำงานด้านสังคมได้จริงหรือ หลายคนที่เคยคิดเคยเชื่อแบบนั้น ปัจจุบันเขาคิดยังไง มันเห็นนัยยะว่าทำไมเพลงที่มันเคยมีคุณค่าแต่ทำไมปัจจุบันมันเสื่อมลง ในขณะที่การทำงานด้านสังคมมันยังต้องเคลื่อนต่อไป แล้วเราจะหยิบเพลงที่เราคิดว่ามันเสื่อมลงมาขับเคลื่อนในบริบททางสังคมที่มันเข้มข้นตอนนี้ได้อย่างไม่กระดากใจได้ยังไง เราเลยรู้สึกว่าเราต้องผลิตเพลงกันใหม่แล้วล่ะ
เจ: คนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบนั้นแรง ๆ แล้ววันหนึ่งเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น เราก็เริ่มตั้งคำถามที่จะใช้เพลงเหล่านั้นแหละครับ เลยทำเพลงของเราขึ้นมา แต่เราก็ไม่กล้าหาญพอที่จะบอกว่ามันตอบสนองสังคมหรือเปล่า ผมคิดว่าคนที่จะตอบคำถามนี้คือคนฟังที่จะตรวจสอบเรา วันหนึ่งเราอาจจะเป็นแบบเดียวกับพวกรุ่นใหญ่ก็ได้ที่หลุดจากวิธีคิดเดิมแล้วโดนรุ่นเด็กด่า
แก้วใส: หรือรุ่นใหญ่เขาไม่เคยคิดอย่างนี้ตั้งแต่ต้น แต่เราไปคาดหวังกับเขาเองมากกว่า (หัวเราะ)
เพลงของวงสามัญชนมีเนื้อหาที่พูดถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม การตั้งคำถามกับสังคม และการต่อสู้… วงกำลังต่อสู้กับอะไร
เจ: ก็แล้วแต่เพลงนะครับ อย่างบทเพลงของสามัญชน มันต่อสู้กับบรรยากาศของความหวาดกลัวที่ปกคลุมอยู่ในช่วงที่มีคนโดนจับบ่อย ๆ เราจะพาคนทะลุความกลัวช่วงนั้นออกไปยังไง ส่วนเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ มันคือภาวะที่เราดึงความรู้สึกของเพื่อน ความรัก ความห่วงใย เข้าสู่บรรยากาศของการต่อสู้ เพราะหลายครั้งที่เราคุยเรื่องการต่อสู้ เรานึกถึงภาพการฟาดฟันปะทะสังสรรค์ทางอุดมการณ์ ซึ่งความรู้สึกมันหายไปจากเรื่องราว แต่เราเชื่อว่าความรู้สึกคือสิ่งที่ขับเคลื่อนทุกอย่าง แม้แต่เพลง วังวน ก็ทำงานกับความรู้สึก ความกลัว เรื่องราวที่มันหมุนวนกลับมา สถานการณ์บ้านเมืองในตอนนี้ คนกำลังต้องการกำลังใจ เพลงส่วนใหญ่เลยเป็นการให้กำลังใจคนที่ทำงานด้านสังคม เพราะตอนนี้เขากลายเป็นผู้ร้าย เป็นคนสร้างความไม่สงบไปเสียแล้ว
แก้วใส: อย่างเพลง ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ มันเป็นการต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองว่า กูจะทำให้สังคมมันดีขึ้น แต่ถึงจุดหนึ่งกูถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ถูกเบียดขับออกไปจากประเทศนี้ ไม่ได้เจอหน้าคนรัก ไม่ได้เจอหน้าครอบครัว ต้องอยู่อย่างลำบาก ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง มันก็ไม่แปลกหากจะคิดถึงบ้าน เราเห็นเพื่อนคนที่ทำแบบนั้น บางคนก็ติดคุก บางคนก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมาด้วยความคิดถึงกัน ถ้าเทียบกับเพลง เดือนเพ็ญ ผมก็นึกภาพ นายผี–อัศนี พลจันทร ที่ต้องลี้ภัยไปฝั่งลาว มองข้ามฝั่งโขงแล้วคิดถึงเมียที่ชื่อ ป้าลม และก็อยากส่งความคิดถึงไปให้คนในประเทศ ให้คนในครอบครัว
แล้วทางวง balance ระหว่างเนื้อหาหนัก ๆ กับคนฟังที่อยากฟังเพลงเพื่อความบันเทิงยังไง
เจ: เป็นสิ่งที่เรายังทำได้ไม่ดีครับ แต่เราเลือกใช้คำง่าย ๆ คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พยายามลดคำใหญ่คำโต ความไพเราะภาคดนตรีเราก็พยายามดึงเพื่อน ๆ มาช่วย backup เพราะเรื่องทักษะทางดนตรีของเราถือว่ายังไก่กาเมื่อเทียบกับนักดนตรีทั่วไป
แก้วใส: เพลงของเรามันจะทำให้คนชอบกระแสหลักมาชอบยาก เพราะอย่างที่เจบอกว่าเราไม่เก่งเรื่องดนตรี เราฟังเพลงของศิลปินใน ฟังใจ หลาย ๆ เพลงแล้วก็รู้สึกว่า ‘ไอ้เหี้ย ทำไมมันทำได้วะ’ รู้สึกว่าเขามีไอเดียทางดนตรี และมีเนื้อหาซ่อนอยู่ ซึ่งเรายัง balance ได้ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ เราจะคิดเรื่องเนื้อหา และการสื่อสารมากกว่า
เจ: อีกเรื่องหนึ่งคือเพลงที่ร้องในการจัดกิจกรรมทางการเมือง คำร้องมันต้องสั้น เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมบางเพลง อย่างเช่น เราคือเพื่อนกัน เนื้อหามันนิดเดียว และเนื้อมันต้องซ้ำ เพราะฟังก์ชันของมันคือการร้องในกิจกรรมทางการเมือง เลยต้องทำให้มันง่ายที่สุดแต่ได้อารมณ์ คือคุณจะไปสอนให้คนที่มาร่วมกิจกรรมทางการเมืองวัย 40-50 ร้องอะไรเร็ว ๆ รัว ๆ เขาจะไม่อิน ในขณะที่เรามีหน้าที่ต้องโอบทุกช่วงวัยเข้าด้วยกัน เลยเป็นเรื่องที่ยากอยู่ครับ แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นที่เสพเพลงเรา เอาเพลงเราไปเปิดไปใช้ในค่ายอยู่ครับ
อุปสรรคในการทำและเผยแพร่เพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองในประเทศไทยในตอนนี้คืออะไร
เจ: มันก็หลายระดับครับ ทั้งเรื่องบรรยากาศทางการเมืองที่ยากกับการพูดอะไรตรง ๆ เพลงเสียดสีสังคมแม้แต่วงใหม่ ๆ ก็น้อยมากที่จะกล้าเสียดสีถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจ แตะขอบได้มากสุดก็ตำรวจ นักการเมือง นายทุน แต่ยั้ง ๆ มือที่จะไปไกลกว่านี้ ที่เห็นโดดเด่นขึ้นมาหน่อยก็ mv เพลง เผด็จเกิร์ล ของ Tattoo Colour อันนี้ฉลาดมาก ขอชื่นชมเลย เรื่องต่อมาคือช่องทางในการเผยแพร่ เพลงคนอื่นอาจจะมีช่องทางเผยแพร่ที่หลากหลาย แต่เพลงของเราส่วนใหญ่จะเผยแพร่ตามการจัดกิจกรรมทางสังคมการเมืองและในค่ายกิจกรรม ซึ่งมันมีอุปสรรคเฉพาะหน้าและช่องทางเผยแพร่มันแคบกว่า อีกเรื่องก็คือฝีมือเราเองที่เป็นอุปสรรคใหญ่ (หัวเราะ) และการจัดการเวลาของเราเองด้วย เพราะผมก็มีครอบครัวแล้ว
แก้วใส: เรื่องทุน แรงสนับสนุน การเข้าถึงโอกาสของคนที่จะสามารถโปรโมทเราได้ ผมมองว่าบางครั้งเพลงของเราอาจจะอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กับสมัยก่อนที่เพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองมันไม่มีทางไปอยู่บนค่ายใหญ่ ๆ ได้ เพราะมันเป็นเพลงที่อยู่กับงานเคลื่อนไหว งานการเมือง งานชาวบ้าน มันเหมือนเพลงใต้ดินที่ถูกห้ามร้องด้วยซ้ำ แต่พอถึงยุคหนึ่ง เพลงพวกนี้มันก็กลับมาอยู่กับค่ายเพลง คือสถานการณ์มันยังไม่เอื้อกับการได้รับการเผยแพร่ มันมีคนพยายามทำเพลงแหย่อำนาจรัฐ อย่างเพลงแร็ป เพลงเมทัลใต้ดิน แล้วถามว่าเพลงพวกนี้มันดังได้แค่ไหน มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายในการใช้ชีวิตสำหรับการทำเพลงแบบนี้
เจ: ถึงในแง่หนึ่งถึงเราจะออกตัวบ่อย ๆ ว่าฝีมือทางดนตรีของเราไม่ถึงขั้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เรารักจริง ๆ เราจับกีตาร์ และแต่งเพลงได้ทุกวัน 5-6 ปีมานี้เราแต่งเพลงใหม่กันได้ตลอด จดบ้าง ไม่จดบ้าง ลืมบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีเป็นหนทางหนึ่งในการปลดปล่อยความรู้สึกของเราอย่างแน่นอน ซึ่งผมไม่ได้กำหนดโครง คอร์ด หรือ เนื้อก่อนแต่งเพลง มันมาพร้อมกัน ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่งแบบอื่นไม่เป็น และไม่ค่อยจดเนื้อเพลง ต้องให้เครดิตพี่ในค่ายเลยว่าทุกเพลงที่อัดกันขึ้นมาได้เพราะพี่เขาเป็นคนหยิบกระดาษมาจดเนื้อ ถ้าไม่จดเราจะไม่มีเพลงอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย
อยากให้ฝากอะไรไปถึงคนฟังเพลงของวงสามัญชนหน่อย
เจ: อยากให้ลองเปิดใจฟังเพลงของพวกเราดูนะครับ ลองสำรวจสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ต่อให้มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันหรือไม่ตรงกัน ผมคิดว่าดนตรีก็ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเราได้ ถ้าไม่เห็นด้วย อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักกันมากขึ้น ถ้าเห็นด้วย ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะได้ร้องเพลงพวกนี้ด้วยกัน
แก้วใส: เพลงของเราไม่ใช่เพลงรักกระแสหลักแน่นอน ผมเชื่อว่าคนฟัง ฟังใจ ส่วนหนึ่งก็หันเหจากการฟังเพลงกระแสหลักมาฟังดนตรีทางเลือก ทั้งเชิงเนื้อหาและสไตล์ดนตรี ของเราเนี่ย สไตล์ดนตรีไม่รู้ยังไง แต่เรามีเนื้อหาที่ถอดมาจากการทำงานจริง ๆ และถ่ายทอดมันออกมา อยากให้คนอื่นได้ฟังวิธีคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ของเรา มันไม่ได้บอกว่าปลายทางสุดท้ายคืออะไร แต่ในเพลงของเราพวกเราตั้งคำถามกับตัวเอง กับสังคม ถ่ายทอดชุดประสบการณ์ บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มันเป็นอยู่ปัจจุบันในยุคของเรา ถ้าเพลงของเรามันเข้าไปถึงจิตใจคุณได้ และคุณคิดตั้งคำถามกับตัวเองได้ แค่นั้นผมก็รู้สึกโอเคมาก ๆ และขอบคุณที่ฟังเพลงของพวกเรา
เจ: อีกเรื่องหนึ่งคือ ฝากผู้ฟังเพลงใน ฟังใจ และผู้อ่าน Fungjaizine ลองมาทำความรู้จักกับ ไผ่ สมาชิกอีกคนของพวกเราที่ไม่ได้นั่งให้สัมภาษณ์อยู่ตรงนี้ ว่าเขาโดนคดีอะไร และอยู่ในสถานการณ์แบบไหน
สุดท้ายแล้ว ‘สามัญชน’ คือใคร
เจ: ผมตอบตรงไปตรงมาเลยนะ อย่างไรก็ตาม พี่ไม่มีทางเอาไปเขียนได้ (หัวเราะ) มันคือความหมายเดียวกับคำว่า commoner น่ะครับ ลองไป google กันดู
แก้วใส: สามัญชน คือ คนที่เชื่อในสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ที่บังเอิญเล่นกีตาร์เป็น
ฟังเพลงของ วงสามัญชน ได้แล้วที่ ฟังใจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ วงสามัญชน ได้ ที่นี่
*หมายเหตุ – ปัจจุบัน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน สมาชิกอีกคนหนึ่งของวงสามัญชน ถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังจากเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไผ่ เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เคยทำงานเรียกร้องสิทธิร่วมกับภาคประชาชนในหลายพื้นที่ โดยได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 จัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ประเทศเกาหลีใต้ และเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2549