Interview

มารู้จักกับ Rasmee หมอลำอีสานโซลจากเชียงใหม่ ก่อนพบกับเธอที่กรุงเทพ ฯ สิ้นเดือนนี้

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Jarupong Jarana

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ระหว่างที่กำลังตรวจเช็กตารางอีเวนต์ว่าจะมีศิลปินคนใดทำการแสดงที่ไหนบ้าง สายตาของเราก็เลื่อนไปพบกับตารางโชว์ของศิลปินหญิงคนนี้ และได้รู้ว่าเธอกำลังจะลงมาจากเชียงใหม่เพือเริ่มแสดงในอีกไม่กี่วัน ด้วยความตื่นเต้นเราจึงไม่รีรอที่จะโทรศัพท์ไปหาเพื่อชวนมาพูดคุยถึงเรื่องราวความเป็นมาของเธอ หลังจากที่เคยได้รับความประทับใจจากการชมการแสดงสดของเธอและเพื่อน ๆ มาแล้วเมื่อไม่กี่เดือนก่อน นี่คือโอกาสอันดีที่เราจะได้ไปทำความรู้จักเธอและเพลงของเธอไปพร้อม ๆ กัน เธอคือ แป้ง – รัสมี เวระนะ

 

ค้นพบว่าตัวเองชอบร้องเพลงตอนไหน

จริง ๆ พี่ร้องตั้งแต่เด็ก เพราะว่าพ่อเป็นนักร้อง ก็เลยเหมือนร้องได้โดยอัตโนมัติเพราะฟังพ่อร้องตลอด

คุณพ่อเป็นครูสอนเพลงเจรียง เพลงเจรียงเป็นยังไง

เพลงเจรียงจะคล้าย ๆ กับลิเกภาคกลาง แต่ว่าเป็นภาษาเขมร ก็เป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อย่างรามเกียรติ์ก็มี

ได้เอาทักษะตรงนั้นมาใช้ในเพลงบ้างไหม

ก็มีบ้าง แต่ว่าพี่ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งอะไร จริง ๆ เพราะก่อนหน้าคุณพ่อเขาก็สอนลูกทุ่ง หมอลำ เราได้ยินเขาร้อง ส่วนเจรียงนี่เขาร้องก่อนเราเกิดอีก เหมือนเดินสายไปร้องตามหมู่บ้าน

เพลงแรกที่รัสมีได้ร้อง

เพลง นางบังเงา ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เหมือนพ่อร้องแล้วเราก็ฟัง ร้องตาม จริง ๆ เป็นเพลงเศร้านะ เกี่ยวกับผู้หญิงขายตัว แต่สำหรับเด็กตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่านางบังเงาคืออะไรนะ แต่เราก็รู้ว่ามันเศร้า เสรี รุ่งสว่างก็ฟัง

เข้าสู่การเป็นนักร้องอาชีพได้ยังไง

ก่อนหน้านั้นพี่ร้องตามงานที่โรงเรียน เวลามีคนมาเยี่ยมโรงเรียนก็ร้องโชว์ พอจบประถม ตอนอายุ 13 ก็ไปอยู่วงดนตรีที่ศรีสะเกษ ตอนนั้นทำเป็นอาชีพเลย ไปร้องตามงานบุญ งานบวช งานวัด คอนเสิร์ต ทุกอย่าง คือตอนนั้นเหมือนเป็นวงสัญจรมาเล่นที่บ้านญาติพี่พี่ก็เลยขึ้นไปร้อง จริง ๆ มันเป็นเขตติดต่อกันระหว่างอำเภอ พี่เป็นคนอุบล ฯ อำเภอกันธรักษ์กับน้ำยืนก็อยู่ติดกัน เดินทางจากบ้านพี่ไปก็แค่ 50 กิโล ไม่ไกลมาก แล้วเจ้าของวงเขาชอบเลยมาหาที่บ้าน พ่อก็บอกถ้าอยากไปก็ไปอยู่กับเขา

เขามองเราเป็นเด็กมหัศจรรย์เลยหรือเปล่า

เขาบอกเขาชอบเสียงเรา แล้วเหมือนจะเอาไปเป็นตัวหลัก เราก็ไปเลย ไม่คิดอะไร สมัยก่อนเขามีแค่คีย์บอร์ดตัวเดียว เหมือนเป็นวงอิเล็กโทนอะ เราก็ร้องตั้งแต่เขามีอิเล็กโทนตัวเดียว จนมีเบส มีกลอง มีแซ็กโซโฟนเข้ามา ร้องเพลงคัฟเวอร์ แต่เราก็มีความสุขเพราะเขาเป็นนักดนตรีทั้งบ้าน เหมือนเขาเป็นครูสอนตอนกลางวัน กลางคืนเขาก็เล่นดนตรี ลูกสาวลูกชายเขาก็รุ่น ๆ เดียวกันกับเรา แต่เขาได้เรียนหนังสือ เราก็เหมือนไปทำงาน ไปอยู่อาทิตย์ สองอาทิตย์ก็กลับบ้านทีนึง ตอนนั้นสนุกที่ได้ลอง ได้ทำงานและทำเงินส่งให้ที่บ้านด้วย สมมติเดือนนี้มี 10 งานก็เก็บเงินส่งที่บ้าน ตัวเองก็ใช้ทิปไป คือเราอยู่กับครอบครัวนี้เราไม่ลำบาก เขาเลี้ยงดูเราเหมือนลูก ดูแลดีมาก ก็อยู่วงหมอลำมาตลอด แล้วถึงไปอยู่ขอนแก่น ไปเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน อันนี้เป็นอีกสเต็ปนึงแล้วของหมอลำ คือที่ขอนแก่นจะมีวงหมอลำใหญ่ ๆ อย่างเสียงอีสาน ซึ่งเราก็ไปร้องด้วย เล่นหมอลำต่อกลอนด้วย ก็เหมือนลิเก แต่เป็นของอีสาน เราเลยไม่ค่อยได้ศึกษาเพลงเขมรเท่าไหร่เพราะทำงานด้วยตัวเองตลอด พ่อก็ไม่ค่อยได้ร้องให้ฟังหลังจากที่เราโตมา

ชอบแบบไหนมากกว่ากัน

พี่ชอบหมอลำร้องปกติมากกว่า จะเป็นคัฟเวอร์ก็ตาม เพราะมันมีจังหวะ มันสนุก แต่หมอลำเรื่องต่อกลอนส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนแก่ที่นั่งฟังเรื่องราว มีเป็นฉาก ๆ ต้องมีแอคติ้ง เหมือนเล่นละครเลย ซึ่งยาวมาก แล้วต้องจำกลอนให้ได้ ของเราเล่นเป็นตัวนี้ก็ต้องท่องจำบทตัวนี้ไว้เยอะเหมือนกัน แล้วเราก็เหนื่อยเพราะต้องเล่นดึก หลังจากวงดนตรีเลิกแล้วตีหนึ่งถึงจะเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนถึงตีสามตีสี่

เกิดอะไรขึ้นที่บอกว่าวงการดนตรีลูกทุ่งไม่ใช่ตัวเรา

ตอนนั้นเหมือนความฝันของทั้งเราและคุณพ่อ อยากให้เป็นนักร้อง ก็พยามยามส่งเสริม ให้ไปประกวดร้องเพลงที่นั่นที่นี่ แต่พอเราได้เข้าไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่ง่ายสำหรับเรา เพราะว่าการที่จะเป็นนักร้อง พอเขาเห็นลุคเราก็บอกว่าดำ ไม่สวย ซึ่งพี่ว่ามันยากสำหรับพี่ตอนนั้น แล้วตอนไปประกวดพี่ก็ไม่เคยได้ที่ 1 เลย บางทีก็เข้ารอบอาทิตย์ รอบเดือน นอกนั้นก็เป็นคนอื่นได้เข้า โดยส่วนตัวพี่คิดว่ามันมีเส้นสายเยอะ ก็เลยพักประกวดไป แต่ยังร้องมาเรื่อย ๆ จนพี่มีแฟนตอนอายุ 21 ก็เลิกร้องไปพักนึง ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ นี่ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนนึงที่ทำให้กลับมาทำดนตรีอีกครั้ง

เริ่มฟังแจ๊ส บลูส์ ตอนนั้นด้วย

ใช่ แล้วก็กลับไปเรียนหนังสือด้วย เรียน ปวช ศิลปะ painting จนเลิกกับแฟน แล้วเราก็ไม่มีเงินเรียน แต่ตอนนั้นพอดีมีเพื่อนมาชวนให้ไปเล่นดนตรี ถามว่าสนใจไหม เป็นเพลงสากลนะ ชั่วโมงละ 150 เราก็โอเคเพราะคิดว่ามันเยอะสำหรับเราแล้ว ก็ได้ศึกษาเพลงป๊อป เพลงตลาดทั่วไปที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมันยากสำหรับพี่แต่ก็ฝึกตั้งแต่ตอนนั้น แล้วมันก็เปิดทางให้เราได้รู้จักนักดนตรีเยอะขึ้น ได้ฟังแนวเพลงใหม่ ๆ แกะและซ้อมเพลงของฝรั่งเยอะขึ้น แล้วมีคนแนะนำให้พี่รู้จักมือแซ็กโซโฟน มาจากชิคาโก้ คนผิวดำ ชื่อ Rous Thomas เล่นดนตรีแจ๊ส ก่อนหน้านั้นเขาเคยทำวงชื่อ บุญฮักษา ที่เขียงใหม่ เป็นวงหมอลำผสมแจ๊ส แต่เป็นดนตรีบรรเลง ไม่มีนักร้อง เพื่อนก็แนะนำเราว่าเป็นนักร้องหมอลำ ก็ชวนเราเข้าไปร่วม แล้วเขาก็ถามว่าสนใจทดลองทำดนตรีแจ๊สกับไหม เราก็สนใจ คือพอมีอะไรเข้ามาเราก็เปิดรับหมด จนได้มารู้จักกับคนทำเพลง Afro เขาก็ถามว่าสนใจทำเพลงแอฟริกันไหม เราก็ขอลองฟังเพลง พอเราฟังแล้วก็ชอบ เพราะจังหวะมันคล้าย ๆ ทางอีสาน ทางเขมร ในความรู้สึกของเราตอนนั้น ก็เลยแต่งเพลงจากภาษาแอฟริกันเป็นภาษาเขมร ภาษาลาว ไทยบ้าง

จากนั้นก็ได้ไปทัวร์ต่างประเทศ

ใช่ ก็ทำวงชื่อ Bamako Express ประมาณปีกว่า ๆ ก็ได้มากรุงเทพ ฯ บ้าง ทัวร์กับวง world music วงนี้ แล้วหลังจากวงนี้ก็มีคนสนใจให้ไปร้องหมอลำแจ๊สที่ฝรั่งเศส

แล้วมาเริ่มทำวง Rasmee ได้ยังไง

หลังจากเรากลับมาจากฝรั่งเศส เราก็อยากทำเพลงมากตอนนั้น เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจให้เราเยอะมาก รู้สึกว่าเพลงหมอลำมีคนยอมรับ และเราทำเองได้ ก็มาเจอกับก้อง เลยทดลองเล่นดนตรี ทำเพลงกัน จนน้องไปเขียนดนตรีให้เราเพลงนึง ชื่อเพลง ประกาปรูย ในอัลบั้ม Isan Soul พอฟังดนตรีแล้วก็รู้สึกว่าน้องเขาทำมาดี เข้าใจถึงความเป็นอีสาน แอฟริกัน เลยเริ่มทำเพลงเลย

ตอนคุณก้องเจอคุณแป้ง รู้สึกว่าต้องปรับตัวเยอะไหม

ก้อง: มันเป็นความประทับใจแรกดีกว่า ตอนแรกเราแจมเพลงทั่วไป ไม่ได้กะว่าจะมาทำเพลงจริงจัง ในตอนนั้นที่เชียงใหม่ การเล่นเพลงอีสานมันคล้าย ๆ กับเล่นเพื่อความสนุกสนาน ไม่จริงจัง เป็นมุกตลกไป แต่พอเขาร้องมาปุ๊บ เขาทำให้ผมลืมภาพเหล่านั้นไปเลย ไม่ได้ร้องจบเพลงด้วย แค่ไม่กี่ท่อนแค่นั้น แบบ มันเจ๋งมาก ขลังมาก ด้วยความประทับใจนั้นก็เลยกลับไปทำดนตรีมาให้เขาฟัง

การรวมศาสตร์ของดนตรีสากลเข้ากับดนตรีพื้นบ้าน

แป้ง: ตอนเราคุยกันตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นสากลผสมหมอลำขนาดนั้น เราบอกให้น้องเขาเป็นตัวเขาไปเลย เล่นป๊อป เล่นร็อกมาก่อน ก็ให้มันเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเราก็จะเป็นตัวเรา เป็นหมอลำแบบนี้ แต่พอเราเล่นด้วยกันแล้วองค์ประกอบมันดี ก็เลยทดลองทำมาเรื่อย ๆ เป็นหน้าที่ของคนฟังที่เขาจะตัดสิน เราก็ไม่รู้ว่าเป็นแนวอะไร แต่ถ้าให้เราพูดมันก็เป็นอีสานร่วมสมัย มันคลุมได้มากสุด

ก้อง: ผมคิดว่าตอนเราทำทีแรกไม่ได้คิดถึงแนวเพลง คิดว่าอะไรที่ทำแล้วเรารู้สึกดี ดนตรีมีสเน่ห์ตรงที่ทุก ๆ แนวมันเชื่อมกันได้ด้วยความรู้สึก ถ้าเราเอาอันนั้นอันนี้มาผสมกันแล้วยังรู้สึกดีก็โอเค ก็ลองทำกันมา มันใหม่สำหรับเราด้วย เป็นการทดลองของเราสองคนที่เราชอบ ส่วนรายละเอียดเขาจะตีความว่าจะเป็นเพลงแนวไหน มันก็เป็นแค่องค์ประกอบที่เราใช้ ไม่ได้กะว่าจะตั้งใจเอาแจ๊สมาผสมขนาดนั้น เพราะในอนาคตเราไม่ได้กะหยุดที่แค่แจ๊ส หรือโซล เราจะไปต่อเรื่อย ๆ ก็ทดลองทำกันไปเรื่อย ๆ คิดว่าจะทำอีกหลาย ๆ แนว ตอนนี้เขาก็เริ่มทำเร็กเก้บ้างแล้ว ด้วยสเน่ห์ของดนตรีอีสานจริง ๆ มันเอามาประยุกต์กับอะไรก็ได้

ใน EP Isan Soul ได้ใส่เรื่องราวของตัวเองเข้าไปด้วยไหม

แป้ง: ตั้งแต่เอาเพลงของพ่อมาทำใหม่ใน เพลงรักของบุญเริน เกี่ยวกับความรักของคุณยายในเพลง ลำดวน หรือความรักของตัวเองด้วยในเพลง ประกาปรูย เรื่องที่เราไปเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบกับใจเรามาก ๆ อย่างเพลง มายา เราก็เขียนออกมาด้วยความที่มันเป็นตัวเราจริง ๆ

เพลงภาษาเขมรเพลงเดียวในอัลบั้ม

แป้ง: ประกาปรูย เป็นเรื่องความรักของพี่ พี่รู้สึกว่าเลิกกับแฟนได้ประมาณ 3 ปี มันก็มีคำถามเก่า ๆ ว่า เขาอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ตอนนี้ ก็เปรียบเทียบความรักของเราเหมือนกับเรือที่ล่องไปตามสายน้ำ แล้วไม่มีวันหวนกลับ แต่เราอยากเล่าเรื่องนี้ให้อากาศธาตุฟัง เล่าให้พระจันทร์ฟังถึงความเศร้า หัวใจของฉันกำลังจะแตกสลาย ฉันอยากรู้ว่าคนรักของฉันเขาอยู่ยังไง มันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ดนตรีมันลึกซึ้งมาก

อิทธิพลทางดนตรีในชุดนี้

แป้ง: เราอาศัยความเป็นตัวเองที่สุด ซึ่งก็มาจากหมอลำ สมมติเพลง ลำดวน จังหวะเป็นหมอลำเต้ย ก็ให้น้องไปเลยฟัง น้องก้องเขาก็เป็นป๊อป เป็นร็อก ก็ให้ไปทำไลน์กีตาร์มา ดัดแปลงดนตรีให้มันโมเดิร์น วิธีการร้องของเราก็ไม่ได้ร้องแบบหมอลำซะทีเดียว มีหางเสียงของบลูส์บ้าง ป๊อป แจ๊ส มาบ้าง มันเลยดูแปลกตรงนี้

เพลงที่ชอบที่สุด

ก้อง: ส่วนตัวผมเป็น อ้ายอยู่ไส วิธีการร้องของเขาตั้งแต่โน้ตแรกที่ผมได้ยินในเพลงมันกินใจมาก แล้วเพลงมันก็มีเรื่องราวด้วย เหมือนเขาไปพิพิธภัณฑ์สงครามเขมรแดง แล้วผู้หญิงทำกับข้าวรอผู้ชาย แต่เขาไม่กลับมาอีกเลย

แป้ง: ตอนเราไปเขมรแล้วเราเล่าให้เขาฟังว่า เห็นในพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกัน เราเห็นภาพขาวดำในเพลงนี้ตลอดเวลา เห็นภาพการรอคอย เห็นควัน ภาพมาก่อนเลย แล้วเสียงค่อยตามมา แล้วเราก็คิดว่าถ้าเราอยู่ในยุคนั้นมันคงต้องทรมานมากแน่ ๆ อยู่ ๆ ก็โดนกวาดต้อน โดนจับไป แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีชะตากรรมชีวิตยังไง อีกฝ่ายหนึ่งก็คือผู้หญิงก็ทำกับข้าวรอ จะแต่งยังไงดี ก้องก็เล่นเศร้า ๆ มันเป็นเพลงที่โหยหวน โหยหา ว่าคนรักของเราอยู่ที่ไหน แปลกมาก เป็นเฉพาะกับเพลงนี้จริง ๆ ที่เห็นภาพ

ส่วนพี่ชอบแทบทุกเพลงเพราะมันมีเรื่องราวเยอะสำหรับพี่ เพลงพ่อพี่ก็ชอบ มายาพี่ก็ชอบ ลำดวนก็ชอบ มันมีมิติเพราะเป็นเพลงของยายด้วย เรารักยายเรามาก แล้วช่วงชีวิตที่อยู่ด้วยกันก็ไม่นาน แล้วแกก็ตายตอน 42 แต่เรารู้ว่าตาเราไม่ดี คือมีเมียน้อยหลายคน แต่ยายก็ไม่เคยมีใคร ทนอยู่จนตรอมใจตาย เรารู้สึกว่ามันเป็นชีวิตของสังคมในยุคนั้นด้วยว่าผู้ชายทำอะไรก็ได้ แต่ผู้หญิงต้องรักสามี ต้องมีผัวเดียว ยอมตรอมใจตายดีกว่าทำให้ตัวเองมีความสุข มันเป็นความเหลื่อมล้ำของสังคมในยุคนั้น เป็นความรักที่ยายมีให้ตา การถ่ายทอดอารมณ์เพลงนี้คือความรักที่มีให้ยาย

คิดยังไงกับมายาคติที่ว่า คนต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพ ฯ เพราะหลงแสงสี กับคนกรุงเทพ ฯ ไว้ใจไม่ได้

แป้ง: มันอาจจะนานมาแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อพี่ จริง ๆ ปัจจุบันตอนแกแต่งเพลงแกก็พูดถึงเรื่องพวกนี้นะ วนเวียนอยู่กับเรื่องราวเก่า ๆ การเข้ามาในกรุงเทพ ฯ การเข้ามาแสวงหาอะไรบางอย่างของคนบ้านนอก มาหาเงินเพื่อจะเอาเงินกลับไปสร้างชีวิต แต่เราไม่รู้ว่าปัจจุบันยังมีอยู่ไหม เรารู้สึกแตกต่างจากเมื่อก่อน แต่ถ้าตอนเด็ก ๆ เรามากรุงเทพ ฯ เราก็กลัวจะโดนหลอกเหมือนกันนะ

ก้อง: ผมคิดว่าด้วยประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยรวมแล้วสังคมมันมีให้เห็นเป็นปกติอยู่แล้วไม่ว่าจะด้วยเป็นคนจากภูมิภาคไหน

ได้ฟังเพลง world music วงอื่น ๆ ไหม

แป้ง: ก่อนหน้านั้นรู้จัก Paradise Bangkok Molam International Bandแต่นอกจากนี้ไม่ได้ฟังแล้ว จะฟังชองต่างประเทศมากกว่า วง Limousineที่เราเคยไปร้องด้วยที่ฝรั่งเศส แล้วก็จะมีพวกแจ๊ส แอฟริกัน พวกนี้ เป็นดนตรีผสมผสาน แล้วจะมีวงกัมพูชา-อเมริกา ชื่อ Dengue Fever เป็นผู้หญิงร้องเพลงเสียงเขมรเลย แล้วมีนักดนตรีฝรั่งมาทำดนตรีให้ เราก็ฟัง ๆ ไว้เพื่อการศึกษา แล้วก่อนหน้านี้ที่มีเพลงไทยลูกทุ่งถูกเอาไปทำเป็น funk มันมีอะไรหลายอย่างที่คุ้นแต่ไม่รู้ประวัติ มันมีสเน่ห์

จะมีผลงานใหม่เร็ว ๆ นี้ไหม

ก้อง: ตอนนี้ก็ทำ 3-4 เพลงแล้ว ทำอยู่ตลอด ทุกครั้งที่เราทัวร์ก็จะได้เพลงใหม่เรื่อย ๆ ได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ผมเชื่อว่าเพลงใหม่ทีกำลังจะทำจะเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์เข้าไปอีก

แป้ง: อย่าให้ความหวัง ๆ (หัวเราะ)

ก้อง: สำหรับตัวเอง ๆ สำหรับคนอื่นนี่ไม่รู้ เราว่าเพลงใหม่นี่เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับเราและส่วนตัวเราก็ชอบ

แป้ง: คือตอนเราทำเพลงชุดแรก เราไม่ได้ตั้งความหวังอะไร ความหวังพี่คือแค่อยากเป็นนักร้อง แล้วสมัยก่อนการอัดแผ่นเสียงมันเป็นเรื่องที่ลำบากมากอย่างที่เล่าให้ฟัง ต้องสวย ต้องเซ็นสัญญา 5-6 ปี แต่ที่ทำอัลบั้มนี้ มันเป็นการทำเพื่อตัวเอง อยากมีเพลงไว้ให้ลูกหลานฟัง ตอนที่เราตายไปแล้วยังมีเสียงเราอยู่ เราคิดแค่นั้นเอง แต่ผลที่ตามมามันเกินคาดจริง ๆ ว่ามีคนชอบเราเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เซอร์ไพรส์มาก ส่วนอัลบั้มที่สองก็ไม่ได้คิดอยากจะทำเลยนะ โดยส่วนตัวของพี่คิดว่ายังไม่ทำ แต่คนเรียกร้องมากว่าเมื่อไหร่จะปล่อย เรายังคุยกับก้องอยู่เลยว่าจะไม่ทำตอนนี้เพราะคนคาดหวัง เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้ความรู้สึกเราเหมือนเดิม มันจะได้ fresh คือทำที่เราอยากทำ ทำเรื่อย ๆ แต่หลังจากนั้นมา พอขึ้นคอนเสิร์ตแล้วร้องเพลงเดิมบ่อย ๆ เราไม่ไหวแล้ว ต้องทำเพลงใหม่แล้ว คืออยากร้องเพลงใหม่บ้าง (หัวเราะ)

จะได้ฟังเพลงใหม่ในโชว์ที่กำลังจะเกิดขึ้นไหม

แป้ง: เล่นไปบ้างแล้วนะ บางงานเราก็ไม่ได้ลงตารางเพราะเหมือนเป็น private party เป็นงานจ้างวันเกิดเราก็ไป ก็เล่นเพลงใหม่บ้าง

ดนตรีจะแปลกใหม่กว่าชุดก่อนไหม ยังไง

แป้ง: African music มีแน่นอน แล้วอยากมีเครื่องดนตรีที่มากกว่าอะคูสติก อยากทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นเด็กน้อยที่ทำเพลงกันแค่สองคนในตอนแรก อยากให้คนเห็นว่าเรามีความก้าวหน้านิดนึง อยากมีแซ็กโซโฟน เบส เปียโน เข้ามาในอัลบั้ม

สมาชิกคนอื่น ๆ มาช่วยเล่นได้ยังไง

แป้ง: จริง ๆ เชียงใหม่เล็กมาก นักดนตรีก็รู้จักกันแทบทุกคน และด้วยความที่เขาชื่นชอบเราด้วย พอชวนก็มาตลอด ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหน

ตอนที่ได้รางวัล ศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม และเพลงยอดเยี่ยม (เพลง มายา) จากคมชัดลึกอวอร์ดส์ ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง

ก้อง: เราไม่ได้กะทำอัลบั้มเพื่ออะไรเลย กะทำเล็ก ๆ แล้วการเข้าชิงรางวัลนี้เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนไปเจอเราด้วยซ้ำ เรามารู้อีกทีก็มีรายชื่อแล้ว

แป้ง: เซอร์ไพรส์นะ ไม่ได้คิดจะส่งประกวดอะไร แต่ก็เข้าใจว่าในวงการเพลงเขาก็หาเพลงดี ๆ ฟังแหละ เคยโทรปรึกษาเพราะไม่อยากไป มีคนพูดหลายอย่างว่า ไปก็ไม่ได้หรอก ไปเป็นตัวประกอบ เดี๋ยวคนอื่นก็ได้ บางคนเขาก็บอกว่า ตั้ง 3 รางวัล มันก็น่าจะได้ซักรางวัลแหละ ไปเถอะ เราก็เลยไป

แล้วคืนนั้นก็ไปเล่นต่อที่ Studio Lam ด้วย

แป้ง: เราแพลน Studio Lam ก่อน แล้วก็บอกก้องว่า ไม่ต้องคาดหวังกับรางวัลนะ เราไปกรุงเทพ ฯ ก็เพราะมีที่เล่นดนตรี เอาซีดีไปวางขาย แล้วให้การไปที่งานนั้นเป็นผลพวง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แล้วก็ได้หมดเลย

ทีนี้บรรยากาศตอนที่เล่นก็คึกคักแฮปปี้กันทุกคนเลยสิ

แป้ง: ใช่ ๆ คนดูก็เยอะ ดีเนาะ ไม่คิดว่าจะมีคนชอบ ไม่คิดว่าเราจะทำให้มีคนเปิดรับเพลงหมอลำมากขนาดนี้

ก้อง: อีกอย่างคือมันเป็นเพลงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสด้วย ใครที่ชอบเราแสดงว่าเขาอยากมาฟังจริง ๆ และจริงใจระดับนึง ดีใจครับ

งานนั้นร้อง Valerie ของ Amy Winehouse mashed up กับ สาวขอนแก่น

แป้ง: คือเราเล่นจบปุ๊บ คนจะขอเพิ่มตลอด เราก็นึกไม่ออกว่าจะเล่นเพลงอะไรดี หมดมุกแล้ว แต่ก็เคยเล่นคัฟเวอร์กันมาก่อนหน้านั้น ก้องบอกให้ร้อง สาวขอนแก่น เข้าไปด้วย มันก็เข้ากันได้นะ เป็นการทดลอง

Improvise เลยหรือเปล่า

แป้ง+ก้อง: ใช่ค่ะ/ครับ (หัวเราะ)

ซีดียังมีขายอยู่ไหม

แป้ง: ขายเรื่อย ๆ ค่ะ ใครอยากได้ก็สั่งได้ inbox มาในเพจ

ใครเป็นคนส่งเพลงมาลงกับฟังใจ

แป้ง: คนแรกที่ส่งมาเลยคือพี่ชา Harmonica Sunrise ต้องขอบคุณเขามาก ๆ เขาเป็นคนที่กระจายเพลงของเรามาที่กรุงเทพ ฯ เพราะตอนคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเราเขาก็ไป แต่คนมันเต็ม พี่เขาเข้าไม่ได้แต่ซื้อแผ่น ซื้อแล้วก็กลับมาซื้ออีก 2-3 แผ่น เหมือนส่งมากรุงเทพ ฯ ก่อนหน้านี้ส่งมา Cat Radio ก่อน แล้วพี่ชาก็แนะนำให้เอามาลงฟังใจด้วย

จากวันแรกที่ทำงานชุดนี้มาถึงตอนนี้นานหรือยัง เจออุปสรรคอะไรบ้างไหม

แป้ง: น่าจะประมาณ 10 เดือน เจอนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาที่ต้องไปแก้ จะเป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า อย่างมีคนบอกก้องว่า ทำเพลงเขมรอะไรวะ ใครจะไปฟังรู้เรื่อง เป็นคนที่อยู่ในวงการเพลงด้วยนะ พูดกับน้องก้องต่อหน้าคนเป็นสิบ แล้วเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น น้องมาบอกเราว่าพี่ผมคิดถึงพี่มากเลยมีคนพูดแบบนั้น

ก้อง: พูดก่อนจัดคอนเสิร์ตด้วยนะ ผมเสียเซลฟ์เลย อายด้วย ต่อหน้าเพื่อนนักดนตรีเป็นสิบคน คนนี้เป็นคนที่เขาเคารพกันในวงการเพลงด้วย เขาบอกว่าที่คนจะมาดูคอนเสิร์ตเพราะเกรงใจนะรู้มั้ย แล้วไม่ต้องมาชวนผมไปคอนเสิร์ตนะ เขาจะพูดเรื่องการตลาดด้วย ทำการตลาดไม่ได้หรอก เพราะไม่ได้ขึ้นค่าย แล้วอย่างเพลงประกาปรูยน่ะ ฟังไม่รู้เรื่อง ใครเขาจะมาฟัง จะขายได้หรอ สิ่งเหล่านั้นมันแค่ความบั่นทอนทางจิตใจ ปัญหาจริง ๆ ไม่มีหรอก แต่หลังจากนั้นนะ คอนเสิร์ตบัตรหมดก่อนถึงงาน หรือบางทีคนเข้าไม่ได้เพราะเต็มแล้ว คำพูดที่เราเจอมามันรุนแรงมากสำหรับผม ด้วยการทำงานของเราด้วย เราทำงานกันแบบพี่น้อง เวลามีอะไรเราจะคุยกันทันที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่ววนตัว หรือความผิดพลาดอะไรพี่เขาจะเดือนผมตลอด ให้กำลังใจกันตลอด ผมว่าตรงนี้คือส่วนสำคัญ

แป้ง: เราทำก็ทำไป เราต้องเจอคนแบบนี้อีกเยอะในอนาคต นี่แค่เริ่มต้น (หัวเราะ) พี่ ๆ นักดนตรีหลายคนเขาก็บอกไม่ต้องไปสนใจ คนแบบนี้มันจะมีอีกเยอะ ถ้าเขาไม่ชอบแนวแบบนี้มันก็มีแนวตลาดให้ฟัง คุณก็ไม่ต้องมาคอนเสิร์ต เพราะคอนเสิร์ตนี้ไม่เหมาะสำหรับคุณก็ไม่ต้องมา

คนทั่วชอบบอกว่าหมอลำเข้าถึงยาก แจ๊สเข้าถึงยาก

แป้ง: แล้วแต่คนคิด อย่างเราก็ไม่ค่อยอะไรกับเพลงแจ๊ส ชอบเป็นบางเพลง ชอบแค่บางอย่างของมัน แต่หมอลำพี่ก็ฟังได้ทั้งวัน (หัวเราะ)

รัสมีในตอนนี้ อยากบอกอะไรกับเด็กหญิงรัสมีอายุ 13 ปีคนนั้น

แป้ง: …เออเนาะ ตัวเองถามปุ๊บพี่แปล๊บเลยอะ (หัวเราะ) พี่รู้สึกว่าเด็กหญิงรัสมีในสมัยนั้นน่ะ ไม่มีความมั่นใจเลย เด็กหญิงรัสมีในวันนั้นรู้สึกว่ามีสิ่งที่ดีในตัวเอง เพราะสังคมบอกเด็กหญิงคนนี้ตลอดว่า เธอเป็นนักร้องไม่ได้หรอกเพราะเธอตัวดำ มันทำให้เราขาดความมั่นใจมาก แต่ว่าตอนนี้เรารู้สึกเปลี่ยนไป เราไม่ใช่เด็กหญิงคนนั้น เขาหายไปแล้ว คนคนนี้มีแต่ความมั่นใจ ไม่แคร์ว่าคนอื่นจะคิดยังไง มันต่างจากเมื่อก่อน เราว่าด้วยความที่สังคมที่เราอยู่มันทำให้รู้สึกแบบนั้น แต่พอเราออกมาจากสังคมนั้นได้แล้วเรามีความมั่นใจ ความสวยมันไม่จำเป็นต้องเป็นในแบบที่คนอื่นมาบอกว่าสวยคืออะไร หรือต้องร้องเพลงป๊อป ต้องแต่งตัวทันสมัยคนจะได้ชื่นชมเรา อยากบอกว่าวันนี้เราทำสำเร็จแล้ว เราข้ามกำแพงหลาย ๆ ชั้นมาได้ พี่ขอบคุณเขานะ เพราะพี่รู้สึกว่าเราเจออะไรหนักมาก กว่าที่เราจะมาถึงตรงนี้เราเจอหนักมาก แล้วไม่น่าเชื่อว่าเรายืนหยัดทำสิ่งที่เราทำตอนอายุ 13 จนตอนนี้จะ 33 แล้ว เราก็ยังทำสิ่งนี้อยู่ แต่พี่ก็ไม่เคยคิดถึงสิ่งที่เราถามนะ พี่ไม่เคยคิดว่าพี่จะนึกถึงเด็กหญิงคนนั้น แต่จริง ๆ แล้วเด็กหญิงคนนั้นยังอยู่กับเราตลอด เขาเป็นคนที่แข็งแกร่ง ยืนหยัดกับสิ่งที่ตัวเองเป็น

ฝากถึงคนที่ติดตามผลงาน

ก้อง: รู้สึกอยากขอบคุณนะ มันคือความจริงใจที่เราได้รับ จากวันแรกที่เราเริ่มทำด้วยกัน บางคนที่เขาเป็นฝรั่ง เราไปไหนเขาก็ตามไปดู เรามาเล่นคอนเสิร์ตที่กรุงเทพ ฯ เขาก็บินจากเชียงใหม่ลงมา ทุกครั้ง เขาเป็นแฟนเรา ชอบเราจริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายคนที่เขามาฟังสิ่งที่เราทำ อยากชอบคุณ มันพิเศษมากสำหรับการทำงานของเรา ส่วนความสนุกสนานหรือเพลง ความประทับใจต่าง ๆ เราจะทำให้เต็มที่

แป้ง: มาดูกันเยอะ ๆ นะคะ บางทีอาจจะมีปัญหาทางเทคนิกที่ฉุกละหุกนิดนึงเพราะบางทีเราก็ยังใหม่อยู่ เวลาเรารับงานบางทีก็ลืมไปว่าตรงนี้มีเครื่องเสียงรองรับเราไหม มันเยอะหลายอย่างเหมือนกัน แต่ก็อยากให้มา ถึงองค์ประกอบภายนอกจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ด้วยความที่เป็นเรา เราเต็มที่ทุกครั้ง

 

ติดตามการแสดงสดในกรุงเทพ ฯ ของ Rasmee ได้ที่ตารางโชว์ด้านล่างนี้ พร้อมทั้งตามความเคลื่อนไหวของเธอได้ใน Facebook fanpage ฟังเพลงจาก Rasmee บนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้