‘Death of Heather’ จาก Pop Punk สู่ Dream Pop จาก Blink-182 สู่ Turnover
- Writer: Krit Promjairux
- Photographer: Panot Kunsongkeit
หากคุณคือหนึ่งในผู้ติดตามข่าวสารและออกไปดูงานดนตรีนอกกระแสอยู่เป็นประจำ เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหลาย ๆ คนต้องสังเกตหรือรู้สึกได้ว่าซีนดนตรีนอกกระแสมีแนวดนตรีแนวหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เรากำลังพูดถึง ‘ดรีมป๊อป’ อีกหนึ่งสาขาของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยภาคดนตรีฟังดูสบาย เมโลดี้เพราะ ๆ ผสมเข้ากันอย่างลงตัวกับไลน์กีตาร์ และเต็มไปด้วยความล่องลอย ฟุ้ง ชวนฝัน แต่ยังรู้สึกได้ถึงความเป็นดนตรีร็อกในขณะเดียวกัน
Death of Heather เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีดรีมป๊อปสัญชาติไทยที่มีการเดินทางที่หน้าสนใจและกำลังเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราได้ไปพูดคุยกับวงที่สตูดิโอส่วนตัวของพวกเขาในย่านลาดปลาดุก เกี่ยวกับการเดินทางของพวกเขาทั้งจุดเปลี่ยนการเล่นดนตรี EP ชุดแรก ตะลุยงานดนตรีนอกกระแส หรือแม้แต่การบริหารค่ายเพลงแบบ DIY ซึ่งในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม นี้ ทางวงกำลังจะขึ้นโชว์ในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ‘Pink Cloud Festival’ ที่ THAI WAKE PARK คลอง 6 ลำลูกกา ร่วมกับศิลปินทั้งไทยและเทศกว่า 12 วง รวมทั้งวงที่เป็นเหมือนแรงบัลดาลใจให้กับพวกเขาอย่าง Turnover
สมาชิก
เต๊ะ—ธนกาญจน์ ต่างใจเย็น (กีตาร์, ร้องนำ)
ธง—บุญประดิษฐ์ เกียรติชาย (เบส)
นาย—ภาคภูมิ แหทอง (กีตาร์)
นน—ภัทรชนน โดดเสมอ (กลอง)
จากวงป๊อปพังก์ Anti Pants ทำไมถึงเลือกที่จะฉีกสไตล์เดิมของตัวเองและเปลี่ยนมาเป็น Death of Heather
เต๊ะ: จริง ๆ เราก็ไม่ได้ฟังแค่ป๊อปพังก์ เราฟังนู่น ฟังนี่ ฟังดรีมป๊อป รวมถึงฟังอะไรที่คนทั่วไปเขาฟังกัน แต่ว่าจริง ๆ แล้วช่วงท้าย ๆ ตอนที่พวกเรายังเป็นวง Anti-Pants เราก็เริ่มจะมีทิศทางการเขียนเพลงมาทางนี้อยู่แล้ว ไป ๆ มา ๆ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันฉีกจากแนวทางทางของวงเก่าเกินไป
นน: สำหรับผม Anti-Pants มันเหมือนวงที่เกิดจากอิทธิพลในวัยเด็ก จากพวกเพลงป๊อปพังก์ที่เราฟังกันหนัก ๆ ตอนสมัย ม.ปลาย
เต๊ะ: ช่วงตอนอยู่ ม.4 เราฟัง Blink – 182 เยอะจัด พอโตขึ้นเราก็ฟังอะไรที่มันเบาลง พอฟังบ่อย ๆ เลยเกิดความอยากที่จะทำเพลงแบบนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นของ Death of Heather ซึ่งตอนแรกผมตั้งใจไว้ว่าจะทำออกมาในฐานะไซด์โปรเจกต์ของผมคนเดียวก่อน แล้วก็ชวนเพื่อนจากวงเก่านี้แหละมาทำด้วยกัน ไป ๆ มา ๆ จากไซด์โปรเจก์เลยกลายมาเป็นวง full time อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ Anti-Pants ก็เลยพักไว้ก่อน
คือกำลังจะบอกว่า Death Of Heather ถือกำเนิดจากการไม่คิดอะไรมาก
นน: อย่างตอนที่เริ่มทำ EP ชุดแรก Demo I มันเริ่มจาก เต๊ะ กับ ธง จะไปสุมหัวกันที่ห้องแล้วก็เขียนดนตรีไกด์เป็นเดโม่ส่งให้คนที่เหลือฟังก่อน พอมาเช้าอีกวัน เราก็เข้าห้องอัดกันเลย
ธง: แล้วอัดเพลงกันข้ามคืน อีกวันนึงก็ไปเล่นสดต่อเลย ไปเล่นเปิดให้ METZ
เต้ะ: มันมาเอง มาอัดเพลงกันแบบไม่มีเนื้อร้อง ผมจะขึ้นคำแรกมาก่อนแล้วก็มาต่อประโยคกัน เหมือนแต่งกลอนเล่นกัน ตามฟีล คือไม่ได้คิดอะไร ตามอารมณ์ของดนตรีเป็นหลัก อารมณ์เพลงเป็นแบบไหนเราก็คิดคำขึ้นมาประมาณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องชีวิตของผมเองนี่แหละ รู้สึกอะไรก็เขียนออกมา (นน: ความรู้สึกในการเที่ยวข้าวสาร) เออ ใช่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไปเที่ยวข้าวสารหนัก ๆ อย่างเพลง I Can Tell ก็เป็นเพลงที่เกี่ยวกับชีวิตกลางคืน ตอนนั้นตั้งใจจะใช้ชื่อเพลงว่า Moonshine เพราะว่าพวกเราชอบไปเที่ยวที่ร้าน Moonshie Bar มาก (นน: ไปกินเหล้าป่า) ใช่ ส่วนเพลงอื่น ๆ ก็ อย่างมีช่วงดาวน์ ๆ อกหักอะไรยังงี้ ไม่ค่อยมีเพลงที่มันแฮปปี้นะ มันมีเพลงที่พูดถึงทั้ง อดีตคนรัก รักตอนกลางคืนจริง ๆ เพราะกลางคืนมันเป็นเวลาที่เราตื่น เพลงส่วนใหญ่เลยเขียนออกมาในช่วงกลางคืน
ธง: ผมว่าเราเน้นไปที่ภาคดนตรีมากกว่าครับ
เต๊ะ: ใช่ เราทำดนตรีก่อน ละเราก็ฮัมตามฟีลดนตรีไป ถ้าดนตรีมันพาไปเราไปนึกถึงเรื่องประมาณไหน เราก็จะขุดความรู้สึกจากก้นบึ้งที่ผมสะสมออกมาเขียนให้มันคล่องไปกับดนตรี
Death of Heather จำกัดความแนวดนตรีของตนเองว่าอะไร
เต๊ะ: เอาจริง ๆ พวกเราก็ยังไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร อัลเทอร์เนทิฟ ดรีมป๊อป?
แล้วถ้ามองในฐานะการเป็นวงดนตรี shoegazer, dream pop อะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากวงอื่น
นน: พวกเราไม่ได้มีซาวด์ฝันขนาดนั้นครับ ไม่ได้ดรีมป๊อปจ๋า
ธง: มันยังมีส่วนผสมของตัวตนของเราในตอนเด็ก ๆ อยู่ มีความพังก์อยู่หน่อย ๆ
เต๊ะ: มันยังมีความเป็นอัลเทอร์เนทิฟ มีพังก์ มีอีโม อย่างชุดแรกก็จะมี ตอนนั้นผมก็อินอยู่กับ Sonic Youth ผมก็อยากได้ความเป็น Sonic Youth เข้าไปในเพลงของตัวเอง บางเพลงก็ออกไปทางดรีมป๊อป ผสมเยอะ เพลงมันเลยไม่เหมือนวงดนตรีดรีมป๊อปทั่วไป ซึ่งดรีมป๊อปไทยพวกเขาทำได้ดีเลยแหละ แต่พวกเราก็แตกต่างจากเขาอย่างชัดเจนมาก ๆ
ถ้าอย่างงั้น คนที่ฟังเพลงเราส่วนใหญ่ที่เรามีโอกาสได้ไปรู้จักมักจะเป็นกลุ่มไหน
เต๊ะ: ส่วนมากเวลาเราไปเล่น เราจะไปเจอกับแฟนเพลงของวงอื่นที่เล่นงานเดียวกันกับเราก่อน แฟนเพลงของวงนั้น ๆ ที่เขาตามมาดู พอเขาได้มาดูเรา จนสุดท้ายเขาก็ชอบ ละก็มาถามซื้อสินค้า ก็ได้ทำความรู้จัก ฝากผลงานกัน ผมว่าคนที่มาดูงานซีนดนตรีทางเลือกตอนนี้ซัพพอร์ตกันดีนะ มีคนเข้ามาทักทาย เข้ามาคุยด้วยตลอด
ธง: จนเริ่มเกิดเป็นกลุ่มแฟนคลับ ที่เป็นคนหน้าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่ตามไปดูเราทุกงาน อย่างที่ผมจำได้ จะมีพี่ผู้ชายคนนึง เป็นผู้ใหญ่ละ เขาตามมาดูทุกงานเลย
นน: แต่ว่าเขาก็ไม่มาทักเรานะ เวลามาเขาก็จะยืนอยู่โซนของเขา มุมมของเขา
นาย: คือเขามาเพราะเขาชอบเสพผลงานของเรา ไม่ได้อยากรู้จักเรา
เต๊ะ: แต่ล่าสุดกูไปงาน Noise Market กูได้คุยกับเขาละนะ ก็คุยกันเรื่องงานเพลง มีงานเล่นไหนต่อบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำความรู้จักกันเท่าไหร่
ธง: ผมว่าพอเป็น Death of Heather ส่วนมากเพลงจะโดนใจสาว ๆ
เตํะ – ไม่นะ ผมว่าส่วนใหญ่สาว ๆ เขาก็จะรู้จักเราจากเพลง I Can Tell แหละ เพลงเก่า ๆ ที่ผ่านมาผู้ชายก็เยอะนะ จริง ๆ แฟนเพลงเราเท่าที่จับทางได้ส่วนมากจะเป็นแฟนเพลงของ DIIV และ Turnover ซะเยอะ ดูจาก feedback ของแต่ละเพลงที่เราปล่อยเพลงไป คนก็จะชอบมาเม้น ‘DIIV’s vibe’ ‘ได้กลิ่น DIIV’ ซึ่งเราก็ยอมรับนะ เพราะเราก็ประกาศตัวเองอยู่แล้วว่าเราชอบวง DIIV แล้วแฟนของวง DIIV เขาก็จะชอบวงเราด้วย ตอนนี้เราเลยสามารถสโคปแฟนเพลงของเราได้เลย จะเป็นคนฟังเพลงประมาณนี้
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้วงเราเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับตอนทำวง Anti-Pants
นน: คิดว่าเป็นเพราะช่วงนี้คนฟังแนวนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร โดยเฉพาะสาว ๆ (หัวเราะ) เพลงเพราะ ฟังง่าย
เต๊ะ: เรารู้สึกว่าตอนนี้ดรีมป๊อปกำลังมาเลย สังเกตจากหลาย ๆ วงที่เพิ่งเริ่มเปิดตัวกันมา เพลงที่มียอดฟังเป็นล้านวิวก็มี แต่สำหรับพวกเราก็ไม่ได้ดังขนาดนั้น แต่มีงานเล่นเยอะกว่าแต่ก่อน อย่างเราเองเริ่มจากการไปหาดูว่าถ้ามีงานไหนที่น่าจะเหมาะกับเราเราก็จะไปขอเขา ขอโอกาส แล้วหลังจากไปเล่นแล้วพอคนเริ่มชอบ คนเริ่มตาม มันก็มีคนมาชวนไปเล่น แตกต่างจากช่วง Anti-Pants เยอะอยู่ เพราะอันนั้นมันเฉพาะทางไปหน่อย การเล่นดนตรีพังก์มันก็วนอยู่กับวงกลุ่มเดิมๆ เล่นกับ Pistols99, Drunk All Day, Electra Complex วงในซีนก็จะเจอหน้ากันบ่อย เท่านั้นเอง แต่พอตอนนี้เราได้เจออะไรที่แปลกใหม่ คนฟังกลุ่มใหม่ วงใหม่ที่เรายังไม่เคยรู้จัก ก็เลยคนติดตามฟังเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพลงแบบนี้ คนฟังมันเยอะและงานเยอะจริง ๆในช่วงนี้
อิทธิพลทางดนตรี ช่วงนี้ฟังเพลงอะไรกันบ้าง
เต๊ะ: แน่นอนเราฟัง DIIV แล้วก็ Slowdive ชุดใหม่ หรือวงอย่าง Beach Fossils, Turnover สำหรับผมก็จะฟังประมาณนี้ ละผมก็ยัดให้เพื่อนฟัง เพื่อน ๆ ก็ฟัง อย่างนนนี่ก็ฟัง Turnover กันอยู่แล้ว
นน: Turnover เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของพวกเราเหมือนกัน
ธง: สำหรับผม มันเป็นอัลบั้มเปลี่ยนชีวิตเลยนะ นอกจากอิทธิพลที่มีต่อซาวด์ของวง ทัศนคติในการฟังเพลงของเราก็เปลี่ยนหมดเลย ถ้าให้เราพูดถึงวงที่ชอบที่สุดในชีวิตของเรา มันจะมี Turnover ติดมาด้วยตลอด แล้วก็มี Radiohead
เต๊ะ: วงนี้แหละที่เป็นวงต้นแบบเลย อย่าง Turnover เมื่อก่อนก็เป็นวงป๊อปพังค์ แล้วอยู่ ๆ ก็ฉีกสไตล์ตัวเองออกมาเป็นผลลัพธ์มันออกมาดีด้วย ทำออกมาได้ดีมาก ๆ ในอัลบั้ม Peripheral Vision เราก็เลยยกให้เขาเป็นต้นแบบของเรา มันเลยทำให้เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง ตั้งแต่ช่วงท้าย ๆ ของ Anti-Pants แล้ว เพลงเราก็เริ่มเปลี่ยนมาประมาณนี้ จนมาตอนนี้ดูจะมาสุดทางไปหน่อยก็เลยเปลี่ยนชื่อวงไปเลย
นอกจากจะทำวงดนตรีกัน ยังทำค่ายเพลงขึ้นมาเองอีกด้วย อยากให้พูดถึง Brand New Me Records ซักหน่อย
เต๊ะ: มันเป็นค่ายเพลงที่ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์หลัก ๆ เพื่อที่จะใช้เป็นที่ปล่อยผลงานต่าง ๆ ของตัวเอง ก็จัดการเองทุกอย่างเริ่มตั้งแต่ตั้งแต่ตอนทำ Anti-Pants เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีค่ายไหนที่จะรองรับวงแบบนี้ เพลงแบบนี้ เลยอยากหาชื่อสักชื่อนึงเพื่อปล่อยงานของเรา เอาง่าย ๆ มันคือชื่อ YouTube channel ที่ปล่อยผลงานของเรา พอทำไปทำมา ก็มีวงน้อง ๆ เพื่อน ๆ อยากจะมาขออยู่ด้วย เราก็จะบอกทุกวงก่อนจะมาอยู่ด้วยกันว่า เออ ค่ายกูไม่ได้สร้างรายได้นะ แต่กูสามารถช่วยเรื่องโปรดักชัน เรื่องโปรโมตอะไรแบบนี้ได้ มาอัดที่สตูดิโอไอ้นายได้นะ digital download เราทำให้ได้นะ มีงานเราก็แบ่งได้นะ มันเริ่มมาจากที่ไม่มีใครเอาเรามากกว่า เราเลยเลือกที่จะทำเองซะเลย พอมาเป็น Death of Heather ก็เลยใช้ต่อไป แต่ถ้ามีค่ายเพลงไหนสนใจเอาวงพวกเราไปอยู่ด้วยก็ได้ เราก็ไป (หัวเราะ)
ตอนนี้ Brand New Me Records มีวงอะไรบ้าง
นาย: วงในค่ายปัจจุบันจะเป็นวงจากซีนที่ Death of Heather ไปคลุกคลีอยู่ในสายดรีมป๊อปและชูเกซ
เต๊ะ: ตอนนี้มีน้อง ๆ วง Telever, Low Fly แล้วก็มีวงที่ซี้กันตั้งแต่ตอนทำ Anti-Pants ซึ่งก็คือ Electra Complex เป็นวงป๊อปพังก์จากขอนแก่นที่ยังมีชีวิตอยู่ที่อยากปล่อยเพลงกับเรา เรามาอยู่ด้วยกัน
แผนการในอนาคตของ Brand New Me Records
เต๊ะ: ตอนนี้เรายังไม่ได้วางแผนอะไรมาก ตอนนี้เราขอโฟกัสไปที่การทำอัลบั้มเต็มของ Death of Heather ก่อน แต่คิดว่าถ้าของเราเสร็จแล้วก็อยากจะผลักดันให้วงในค่ายออกผลงานตามกันมาในเวลาไล่ ๆ กัน ซึ่งอัลบั้มเต็มของเราตอนนี้ก็ประมาณ 69% ละ มีเพลงเก็บอยู่ประมาณ 5-6 เพลง
นาย: ตอนนี้กำลังเรียงคิวเข้าห้องอัด
นน: ตอนนี้วางไว้ว่าจะปล่อยซิงเกิ้ลอีกสัก 3-4 ก่อนปล่อยอัลบั้ม
เต๊ะ: เราตั้งใจให้ทำเสร็จกลางปี แต่ก็ไม่อยากให้งานมีเดดไลน์แล้วงานมันรีบเหมือนชุดแรก พยายามทำให้มันสบาย ๆ ที่สุด ถ้ายังไม่โอเคก็จะไม่อัด อย่าง EP ชุดแรกนี่ใช้เวลาอัดแค่วันเดียว จริง ๆ มันมีก่อนหน้านั่นแต่ยังไม่โอเคเลย เลยทิ้งไปแล้วมาอัดใหม่ ละตอนนั้นจะถึงงานเล่น เราตัดสินใจว่าจะไม่อัดแล้วแหละ แต่จะถึงงานแล้ว ผมก็เลยบอกเพื่อนว่า เฮ้ยเอาหน่อยว่ะ ทำหน่อย ทุกเพลงมันคือการอัดสดหมด อัดรวมทีเดียว ภายในคืนเดียวยันเช้าละก็ไปเล่น METZ Live in Bangkok คือรีบมาก ใช้เวลาทำคืนเดียว แล้วก็เปิดตัววงกันวันนั้นเลย
เป้าหมายต่อไปของ Death of Heather
เต๊ะ: ออกอัลบั้มเต็มที่รวมเพลงที่ดีที่สุดของเราไว้ในอัลบั้ม แล้วก็อยากทำทัวร์ของตัวเอง โดยชวนวงพี่ ๆ น้อง ๆ ของเราไปเล่นด้วยกัน อยากออกไปเล่นให้มันเยอะที่สุด คือไม่ได้ค่อยได้หวังอะไรกับแม่งหรอก เราทำเพราะแค่อยากทำมากกว่า ส่วนอะไรที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ถือว่ามันเป็นกำไรไป
ติดตาม Death Of Heather : https://www.facebook.com/deathofheather/
Pink Could Festival จะมีขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2019 ที่ THAI WAKE PARK ซื้อได้แล้ววันนี้ทาง Event Pop: http://bit.ly/PICF2019 รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/pinkcloudfestival/
#PinkCloudFest2019