‘Abuse the Youth’ การกลับมาครั้งแรกในรอบ 5 ปี คุยกับคุณพ่อ, ดีเจ, คนต้มเบียร์ และคนขายรถโฟล์ก
- Writer: Malaivee Swangpol
- Photographer: Tas Suwanasang
หลังจาก Abuse the Youth ทิ้งทวนไปด้วย ชีวิตเดิมเริ่มใหม่ เมื่อห้าปีที่แล้ว เราก็ไม่ได้ยินข่าวคราวใด ๆ จากวง นอกจากนี้สมาชิกก็ได้ไปทำอาชีพต่าง ๆ ตามความถนัดของตัวเอง จนเราก็ได้แต่แอบลุ้นว่าจะมีโอกาสได้ฟังเพลงใหม่บ้างไหม ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ความฝันของเราก็เป็นจริง พวกเขาก็กลับมาแล้ว (โว้ยย) กับ We Meet Again ที่มาพร้อมกับซาวด์ที่เราคิดถึง (อ่านบทความต้อนรับการกลับมาของพวกเขาได้ที่นี่) ซึ่งวันนี้ Fungjaizine ก็มีโอกาสได้ทักทายเหล่าจอมยุทธทั้ง 4 อีกครั้ง ตามมาย้อนรำลึกอดีตตั้งแต่ยุคแรกของวง 5 ปีที่ห่างหายกันไป และแผนการเขย่าวงการดนตรีร็อกปี 2019 ของพวกเขา
เป็นยังไงบ้าง การกลับมาเป็นศิลปินหลังจากห่างหายไปเกือบ 5 ปี
มิก: ก็ดีครับ แต่จริง ๆ พวกเราหลาย ๆ คนก็มีทำวงบ้าง ยังได้สัมผัสชีวิตศิลปินอยู่ อย่างผมก็มี Cold Black Vines ชาลีก็มีโปรเจกต์อะไรของมันเยอะแยะ อย่างจุก็เล่นแบ็กอัพมาเรื่อย ๆ
ตูน: ได้นั่งรถตู้มาเดินสายแบบนี้ก็เท่ดีครับ (หัวเราะ)
เล่าเรื่อง Abuse the Youth ยุคแรกให้ฟังหน่อย
มิก: ตอนแรกออก ep ที่ทำเอง เคยเอาไปขายที่งาน Fat Fest 6 ด้วย ชื่อ Accidental Epidemic จากนั้นก็ไปอยู่ค่าย New Destiny ก่อน แต่ไปอยู่ได้สามวันค่ายก็ยุบ (หัวเราะ) หลังจากนั้นถึงได้ไปอยู่กับ Music Help ออก 3 เพลงใน M.A.D.S Compilation มีเพลง Electricity, Out of My Face, Coming Home แต่ได้ทำ mv จริง ๆ เพลงเดียวคือ Electricity
ตูน: หลังจากนั้นก็เป็น Mind the Gap ที่ Abuse the Youth ได้ออกอัลบั้ม Under Skin แต่ Mind the Gap ก็เจ๊งอีก เลยมาเป็น BEC-Tero
วงการดนตรียุคนั้นเป็นยังไงบ้าง
มิก: ตอนนั้นที่มี Myspace, Hi5 เราก็มีแบบ เอาลิงก์ไปแปะตามโปรไฟล์คนอื่น พอกดลิงก์ก็จะขึ้นเป็นโปสเตอร์วงพวกเรา อะไรแบบนี้ แล้วพวกเราก็ได้รู้จักพวกงานปาร์ตี้ต่าง ๆ ตามเว็บพวกนี้แหละ ผมก็จะแบบว่าทักไปขอเล่น ‘ผมมีผลงานนี่นะ ฝากหน่อย’ ส่งลิงก์ไปให้ ‘ขอไปเล่นงานหน่อยครับ’ งานมันก็จะเป็นคนจัดอย่าง Mind the Gap, Club Soma, Happy Alone อะไรทั้งหลาย จริง ๆ มันมีมากกว่านี้แต่นึกชื่อได้แค่นี้ แล้วเค้าก็จะเวียนไปเล่นตามที่ต่าง ๆ เช่น The Tube, Noriega สีลม ตอนนั้นก็ยังมีร้าน Lullaby อยู่ มันจะค่อนข้างต่างจากสมัยนี้ที่ค่อนข้างจะเป็นสถานที่ตายตัว เป็นไลฟ์เฮาส์ อะไรแบบนี้
ตูน: จริง ๆ ตอนนั้นเราก็อยากได้เวทีเล่นมาก เราก็จะไปทุกที่ ผมก็จะปลอมตัวเป็นคนดูก่อน แล้วสแกนหาคนจัดงาน เอาแผ่นไปยื่นให้เค้า แล้วก็แบบ ‘พี่ครับ ผมมีผลงานดังนี้ ขออนุญาตเล่นด้วยครับ’
วงรุ่นเดียวกันกับ Abuse the Youth มีวงอะไรบ้าง
ชาลี: ก็มี Zero Hero, Tabasco, Revenge of the Cybermen นี่คือแก๊งที่ไปทัวร์มาด้วยกัน มี Naked ของ วิน The Ginkz กับ บูม The Yers มี Caramel Camel ที่เห็นว่ากลับมาทำเพลงกันด้วย
ตูน: เคยไปทัวร์ต่างจังหวัดแล้วมีเข้าคลื่นท้องถิ่นด้วย (หัวเราะ) พอกลางคืนเล่น คนก็มากินเหล้ากันงง ๆ ถ้าได้เล่นวงหลัง ๆ ก็โชคดีหน่อย คนเมาแล้ว (หัวเราะ)
ชาลี: แต่นอกจากนี้ก็แตกไปเยอะแล้ว เหมือนอย่าง Abuse the Youth มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง เลยยังอยู่มาได้ แต่อย่างวงผม Revenge of the Cybermen มีแค่ไม่กี่ซิงเกิ้ล ไปแปะอยู่กับ compilation อันนู้นทีอันนี้ที พอห่าง ๆ กันก็แตกไป
ตอนที่มีสามคน กับตอนที่ได้พี่ชาลี มาอยู่ในวง มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมั้ย
ชาลี: ก็.. คนเยอะขึ้น (หัวเราะ) เมื่อก่อนจะมี tension อะไรบ้างอย่าง
มิก: บรรยากาศมันก็ดูครึกครื้นผ่อนคลายขึ้น มันมีการตลกโปกฮามากขึ้น แบบ คนเรามันอยู่ด้วยกันมา พอมันเริ่มนานถึงจุดนึงแล้วแบบว่า…
ตูน: บทสนทนามันไม่สมบูรณ์อะ ชาลีมันเป็นตลกชั้นนำอยู่แล้ว (หัวเราะ) มันก็จะสามารถเชื่อมได้ทั้งหมด
ชาลี: ผมคุยได้ คุยกับทุกคนได้ มีความสนใจทุกแบบ
มิก: เมื่อก่อนมันจะมีความรู้สึกว่าโยนมุกไปให้ตูนสองคนอะ แบบว่าเหงา ๆ หน่อย คือจุจะเป็นคนไม่ค่อยเก็ตมุกตลกเด็กผู้ชายเท่าไหร่ คุยกับตูนสองคนมันก็จะเจื่อน ๆ บ้าง เดี๋ยวนี้มีชาลีมามันก็จะโยนมุกกันแล้วเกิดการกระเด้งกระดอนมุกกันไปเป็นสามเหลี่ยม
ชาลี: เป็นแฟนบริษัทฮาไม่จำกัดอะผมอะ (หัวเราะ) สามารถพูดอะไรก็ได้ที่ยำทุกอย่างมารวมกันได้
ตูน: อย่างเมื่อก่อนผมอยากชวนคุยเรื่องสาวเวลาไปทัวร์งี้ พี่มิกเค้าก็จะรักเมีย จะไม่คุยด้วย (มิก: ตอนนั้นยังไม่มีเมียโว้ย (หัวเราะ)) แล้วก็จะแบบ ‘ทำไมเราต้องมาคุยเรื่องแบบนี้กันด้วย’ อ่าว ทำไม แล้วกูจะคุยเรื่องอะไร (หัวเราะ) หันไปหาเจ๊ (จุ) เจ๊ก็ไม่คุยด้วย เจ๊ก็จะคุยเรื่องแฟชั่น แบบ ‘ชั้นว่าอันนี้มันเท่กิ๊บเก๋ดี’ ผมก็จะแบบ ไม่เข้าใจอีก อะไรงี้ (หัวเราะ)
ชาลี: ประมาณนั้นฮะ ก็เข้ามาแล้วก็พยายามช่วยหลาย ๆ เรื่องที่เราทำได้ อย่างเรื่องอัดเพลง โปรดักชัน ทำให้กระบวนการมันเร็วขึ้น
มิก: เหมือนพอชาลีมาช่วยเลยสามารถทำงานหน้าคอมได้ ทุกคนมี input ของตัวเอง ช่วย ๆ กันใส่เข้ามา
ตูน: จากที่เมื่อก่อนต้องไปเช่าห้องสตูดิโอเพื่อทำเพลง ก็เสียเวลาและเปลืองเงินอีก
จุ: ชาลีเค้าจะมี sound design มีไอเดียบางอย่างที่ปกติถ้าเราทำสามคนแล้วมันจะไม่เกิดขึ้นอะ ก็จะมาผสมลงไปในการทำเพลง
ชาลี: ส่วนมากจะเป็นเรื่องเทสต์ด้วยมั้ง คือผมจะเข้าใจว่ามิกแบ็กกราวด์เป็นไง ตูนเป็นไง จุเป็นไง แล้วพยายามจะเบลนด์สิ่งที่จุอยากได้ สิ่งที่มิกอยากได้ อะไรงี้ คือเวลาที่ทำงานในระบบประชาธิปไตย มันจะมี 3 คน แล้วสองเสียงกับหนึ่งเสียงอะ มันจะง้างกันแบบไม่ค่อยดี คนนึงจะรู้สึกแบบ อ้าวเหี้ยกูแปลกแยกปะวะ คราวนี้พอมันเป็น 4 เสียง มันจะมีโหวตชนอยู่แล้วไง พอโหวตชนงี้เราก็สามารถใช้ communication skills ในการบิดให้มันได้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ง่ายขึ้น ประมาณนั้น ก็จะพยายามมาช่วยเรื่องนี้ แปลภาษาของแต่ละคน มี solution อะไรอื่น ๆ ที่มัน soft กว่าการไม่เอาไอเดียนี้เลยมั้ย ไอเดียนี้ก็อาจจะบิด ๆ มาใช้ได้
ชาลีเข้าวงมาช่วงไหน
ชาลี: ช่วงหลังจากผมกลับจากไปเรียนที่อเมริกา คือตอนที่ตูนออก ออกไป 1 สัปดาห์ (หัวเราะ) คือตอนนั้นบอกมิกว่า เดี๋ยวกูไปช่วยเล่นเบสให้ได้ระหว่างนี้ แล้วถ้ามึงหามือเบสใหม่ได้ค่อยว่ากัน
มิก: คือตอนนั้นตูนเขียนสเตตัสอย่างดราม่า (หัวเราะ) มึงลบไปยังนะ (ตูน: ยัง (หัวเราะ))
ชาลี: แล้วเหมือนอยู่ดี ๆ เจ๊ก็โทรไปง้อตูนให้กลับเข้าวงมา แล้วอยู่ดี ๆ ตูนก็กลับมา คือสรุป 1 สัปดาห์นั้นกูยังไม่ได้แตะเบสเลย (หัวเราะ) มิกเลยให้มาเล่นกีตาร์แทน งง ๆ (หัวเราะ)
มิก: แล้วประเด็นคือมันเล่น mv ชีวิตเดิมเริ่มใหม่ แต่ไม่มีไลน์กีตาร์มันด้วยนะ (หัวเราะ)
ชาลี: คือเพลงที่ทำไว้ก่อนหน้านั้นอะ มี แต่เพลงนี้ไม่มี (หัวเราะ)
ตอนที่ ‘บทเพลงกระซิบ’ ไปอยู่ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น แล้วเด็ก ๆ ก็อินกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองรู้สึกยังไงบ้าง
มิก: ก็ดีครับ ดังดี (หัวเราะ)
จุ: เหมือนก็ได้เห็นน้อง ๆ รุ่นที่เด็กลงมาจากปกติมาฟังเพลงเรา แบบจากที่จะเริ่มจากเด็กอายุ 20 หน่อย ๆ ก็อาจจะเริ่มมีน้องนักศึกษาปี 1 หรือมัธยมมาดูเรา
ตูน: ผมไปเที่ยวเชียงคานยังได้ยินเพลงตัวเอง ก็แปลกดีครับ
อะไรทำให้ตัดสินใจกลับมารวมตัวกัน
มิก: จริง ๆ มันก็ไม่เชิงว่าเราหายไปนะ
ชาลี: คือต้องเข้าใจก่อนว่าวงดนตรีไม่ใช่แบบ นั่งอยู่ในน้ำตก 5 ปี แล้วพอถึงเวลาแบบ ‘เฮ้ย สัญญาณมาแล้ว! ไปรวมตัวกัน’ ก็ไม่ใช่แบบนั้น (หัวเราะ)
มิก: คือระหว่างที่เราหายไปเราก็ทำเพลงกันอยู่เรื่อย ๆ แค่เหมือนวงเราถ่างระยะการทำงานนิดนึง อย่างวงอื่นเค้าอาจจะอัด 1 สัปดาห์ มิกซ์ 2 สัปดาห์ สัปดาห์ถัดไปปล่อย mv แต่ Abuse the Youth คือ อัด 4 เดือน มิกซ์อีก 6 เดือนอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)
จากศิลปินอิสระ มาเป็นศิลปินที่ผ่านมา 5 ค่าย วงต้องปรับตัวเยอะมั้ย
ตูน: ก็อ่านสัญญาละเอียดขึ้นครับ (หัวเราะ) (มิก: งี้เหมือนคนที่ผ่านชายมาเยอะเลยนะ เยอะขนาดนี้ (หัวเราะ)) คือจริง ๆ ก็รู้จักพี่บอล (Whattheduck) มานานแล้วเนอะ แกก็ถามประจำว่ามีอะไรให้ช่วยมั้ย
จุ: จริง ๆ ก็เชื่อมือมากกว่า เพราะว่าทำงานกับพี่บอลมาตลอด รู้ว่า พี่บอลทำงานทุกอย่างเป็นระบบระเบียบ พี่บอลรู้ว่าการดูแลศิลปินเป็นยังไง การ pr เป็นยังไง การ marketing เป็นยังไง ก็เลยเชื่อมือ เท่านั้นเอง แล้วก็เคยคุยกับพี่บอลมาตลอดว่า Abuse the Youth เป็นงี้นะ แล้วจังหวะที่เราตั้งใจว่าจะทำเพลงเอง ปล่อยเอง marketing เอง แต่คิดว่า.. (ตูน: ไม่รอด (หัวเราะ)) เออ คิดว่าไม่น่าจะรอด (หัวเราะ) ทุกคนยุ่งกันหมดเลยอะ มีภาระหน้าที่ของตัวเอง ก็เลย เออ มีคนมาช่วยน่าจะดีกว่า ช่วย push เราด้วย ก็เลยคุยกับพี่บอล พี่บอลก็ โอเค ลองมาคุยกันดู
มิก: ด้วยการที่เราผ่านค่ายมาเยอะด้วยแหละ มันก็เลยเป็นข้อดี ทำให้เรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราตอบตัวเองแล้ว แล้วมันก็เลยทำให้รู้ว่าเราควรจะมองหาอะไร แล้ว Whattheduck ก็น่าจะตอบโจทย์เราได้ เราโอเคที่เค้าก็ยอมรับเราในสภาพที่เราเป็นอย่างนี้ เราบอกเค้าบอกว่า ผมทำแบบนี้นะ แล้วไม่ทำแบบนี้นะ เค้าก็โอเค เราก็โอเค
ชาลี: Whattheduck ดูมีความ customize ให้แต่ละวงได้ ความรู้สึกของผมนะ คือด้วยความที่ศิลปินในค่ายเค้ามัน various มาก ตั้งแต่พี่กอล์ฟ F. Hero ไปยัน วงน้องใหม่อย่าง mints หรือว่า The Toys คือมันไม่ใช่สูตรสำเร็จที่เหมือนบางค่ายเค้าจะใช้ เค้าจะไม่ใช่แบบว่า คุณต้องมีอย่างนี้ตาม template ของเค้า แต่ Whattheduck เค้าจะมีความ customize ให้ได้
จุ: เหมือนทางค่ายเข้าใจธรรมชาติของวงเราที่ทำกันเอง pre production กันมาเอง
มิก: แต่เอาจริง ๆ ถ้าจะให้แฟร์กับทุกค่ายนะ คือมันทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าเราจะคุยกับเค้ายังไง จริง ๆ ทุกค่ายอาจจะสามารถให้เราได้เหมือนกันแหละ แต่แค่เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเราต้องพูดยังไง เหมือนเด็กอะ เรามีแต่ความคาดหวังอย่างเดียว เราไม่ได้มีความเข้าใจ แต่ตอนนี้เราก็ผ่านมาเยอะ เราก็มีประสบการณ์แล้ว เราก็รู้แล้วว่าเราควรทำยังไง แล้ว timing มันก็มาเจอกับ Whattheduck พอดี ก็เลยทำให้ลงตัวกัน
ก่อนหน้า Whattheduck เคยมีที่อื่นเสนอดีลเข้ามาไหม
มิก: ไม่เลย
ตูน: ตอนแรกจะอยู่กับ Bad Daddy ของคุณมิกเค้า แต่ต่างคนก็ต่างไม่มีเวลา เลยให้คนที่เค้ามืออาชีพทำให้ดีกว่า (หัวเราะ)
แรงบันดาลใจในเพลง We Meet Again
มิก: เพลงนี้เป็นเพลงแรก ๆ ของเดโม่ที่ทำหลังจากเพลง ชีวิตเดิมเริ่มใหม่ เลย จำได้ว่าขึ้นมาท่อนนึง แล้วก็มาคุยกันในสตูดิโอ คือเราเปลี่ยวิธีการทำงานมาละ จากตอนแรกที่ผมจะขึ้นกีตาร์ตีคอร์ดมา ตูนมาอัดเบส จุก็ตีกลองเข้าไป ป๊าบ ๆๆๆ แต่ทีนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นว่า มาแบบ ศูนย์ ๆ มานั่งในสตูดิโอ มาอยู่ด้วยกันหมด แล้วก็ขึ้นมา คนนึงอาจจะแบบว่า ‘เฮ้ย กูมีอันนี้’ ตั้งต้นมาท่อนนึง แล้วก็มาวางโครงสร้างเพลงด้วยกันเลย อย่างเพลงนี้ตอนแรกก็ขึ้นมาแค่พาร์ต ๆ นึงอะ ท่อนเวิร์สมั้ง จากนั้นเริ่มคุยกัน จำไม่ได้แล้วว่าที่มาของเนื้อร้องมันมายังไง ทำไมถึงกลายมาเป็นพูดถึงเรื่องนี้ แต่จำได้ว่าตอนนั้นพอทำดนตรีไปประมาณนึงแล้วมันเห็นภาพว่าเออ เพลงนี้แม่งน่าจะเป็นเพลงแรกที่ใส่ไปในอัลบั้ม แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นซิงเกิ้ลแรกที่ปล่อย เพราะมันเหมือนเป็นการเปิดตัว overture แล้วมันก็เลยเป็นที่มาของเรื่องที่จะพูดมั้ง ถ้าฟังดนตรีที่คิดไว้ตอนแรกมันก็จะเป็นอารมณ์ประมาณ มีภูเขา มีดวงอาทิตย์ตก แล้วแม่งมีเงาคน ๆ นึงเดินขึ้นมาจากภูเขา แบกเป้มาแบบ (ทำเสียงการ์ตูนญี่ปุ่น) ‘กูกลับมาแล้ว แงงง’ อะไรแบบนี้
ชาลี: จากน้ำตกเหรอวะ อ้อ ใช่กูไปน้ำตกมา (หัวเราะ) จริง ๆ อันนี้เป็นซิงเกิ้ลที่ถ่าย mv ล็อตใหม่เพลงที่ 2 ด้วยซ้ำเนอะ จริง ๆ มี mv อีกอันนึงที่เสร็จก่อน
ตูน: จริง ๆ เพลงที่กำลังจะออกเนี่ย คิดว่าเป็นเพลงแรก แต่อันนี้มาแซง ด้วยที่ว่าหายไปนานก็เลยเขินเลยต้องปล่อยเพลงนี้ออกมาก่อน
มิก: ความหมายมันก็ได้ด้วยไง ก็โอเค ก็เออ ก็ดี
ตูน: มันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ ก็หายไปห้าปีก็จะเพราะทำเพลงนี้น่ะแหละครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ
ครั้งแรกที่วงแต่งเพลงไทยคือ คืนสุดท้ายของแสงไฟ
มิก: ตอนนั้นมีเดโม่อยู่สองเพลงครับ เป็นเพลงไทยเหมือนกันทั้งสองเพลง อีกเพลงนึงอะมาก่อน คืนสุดท้ายของแสงไฟ เป็นเพลงที่สอง มันก็มีเหตุที่เลือกให้ คืนสุดท้ายของแสงไฟ มาปล่อยเป็นเพลงแรก จะบอกว่าเป็นเพลงแรกที่แต่งภาษาไทยก็ได้
พอมาถึง We Meet Again หลังจากแต่งเพลงไทยมาหลายเพลง ความยากยังมีอยู่ไหม
มิก: มันง่ายขึ้นที่ว่าเราก็เริ่มมีประสบการณ์ในการเขียนเนื้อเพลงไทยละ เราก็เริ่มรู้แล้วว่า โอเค เราควรจะเลือกคำแบบไหนมาลงให้มันเป็นเมโลดี้ที่มันยังฟังดูลื่นไหลอยู่ ไม่ขัดใจมาก แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ค่อยเต็มที่อยู่ดี ก็เลยเรียกวินมาช่วย ตอนนั้นเราอัดดนตรีเสร็จละ แล้วก็ไปอัดร้องเล่น ๆ อยู่เทคนึง ก็แบบ ‘เฮ้ยวินลองดูให้หน่อยว่ามีตรงไหนที่พอจะเกลาได้บ้าง’ วินก็ช่วยเกลา
ชาลี: วินก็โทรหาแร็ปเอก (หัวเราะ) แร็ปเอกก็เข้ามาอยู่ในลูป
มิก: ส่งกลับมา ตกใจ เสียงแร็ปเอกร้องมาในเพลงกู เยดโด้ ไม่ใช่! (หัวเราะ)
ตูน: เนี่ย อย่าไปเชื่อพวกมันมาก (หัวเราะ)
มิก: แล้วก็ วินก็ช่วยเกลา ๆ มาให้ ตรงนี้เป็นอย่างนี้ดีมั้ยพี่ ก็ให้วินมาช่วยดูตอนอัดด้วยว่าอะไรยังไง เพราะเราก็ยังไม่ชินอยู่ดีกับการอัดเองคนเดียวแล้วไม่มีคอมเมนเตเตอร์ (ชาลี: ไม่มีไลฟ์โค้ช (หัวเราะ)) ไม่มีใครมาคอยดูให้ว่า อันนี้โอเคหรือยัง
ชาลี: โทรไปถามขุนเขาไหม (มิก: อะไรวะ (หัวเราะ)) ขอโทษ ๆ (หัวเราะ)
ซึ่งเดิมคนที่คอมเมนต์ให้กับวง คือทางค่าย BEC-Tero หรือว่าใคร
มิก: คือเมื่อก่อนเราก็จะมีโปรดิวเซอร์ไง มีพี่แพท บาร์บี้ เขาก็เหมือนเป็นคนคุมว่า งี้นะ งี้นะ เป็นคนฟันธงให้ ‘ท่อนนี้มึงร้องแบบ ใช้อารมณ์ประมาณนี้ดิ๊ ลองดิ๊ โอเค ได้ ผ่านละ’ แต่พอเราทำคนเดียวเราก็เริ่มแบบ มันโอเคป่าววะ ก็เลยมีวินมาช่วยนี่แหละ แล้วเอาจริง ๆ วินเป็นนักร้องของไทยที่เราชอบที่สุดที่เรารู้จัก ว่าเออ วินแม่งได้
ตูน: รองจากวินก็ ไมเคิล ตั๋งนี่แหละครับ (หัวเราะ)
ชาลี: ไมเคิล ตั๋งหรือตู้ ดิเรก (หัวเราะ)
ก่อนที่จะแก้เนื้อ มีท่อนไหนที่จำได้มั้ย เล่าให้ฟังได้มั้ย
มิก: จริง ๆ เพลงนี้มันแก้มาหลายครั้ง (ชาลี: มีเวอร์ชั่นเด็กดอยด้วยนะ ‘ยินดีที่ได้โพะกานหม่าย’ (หัวเราะ)) คือเพลงนี้มันมีหลายเวอร์ชันไง ก่อนหน้านี้แทบจะต่างกับแบบนี้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเนื้อในอีกนัยยะนึงอะ เป็นการพบกันใหม่แหละ แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภาพคือพูดด้วยอีกคนที่คิดอีกแบบนึง คือเราใช้เวลาทำนาน แล้วพอเวลาผ่านมาเรื่อย ๆ เราก็เอาเพลงนี้มานั่งฟังแล้วก็นั่งคิดเล่น ๆ ว่าแบบอื่นได้มั้ย บางที บางเพลงที่เราฟังแล้วเรารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ มันต้องการทำอะไรมากกว่านี้ ยิ่งเพลงนี้ฟังเวอร์ชันเดโม่แรก ๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่า เออ มันฟังดูแข็ง ๆ ว่ะ มันยังไม่ไฟนอลอะ ก็คิดไปเรื่อย ๆ มันก็เลยใช้เวลานานมากขนาดนี้ เคยได้ยินมาที่เค้าบอกว่า เพลง ถ้าเราอินกับมันจริง ๆ ถ้าเราแต่งด้วยเรื่องที่เราอินจริง ๆ คนจะรู้ได้เลยว่านี่คือเรื่องจริง แล้วคนก็จะเชื่อ (ตูน: แล้วอายุมันจะยืนกว่า) เราก็เลยพยายามเอาเรื่องจริงใส่ลงไปด้วย อาจจะไม่ได้ 100% มีใส่ไข่ด้วย แต่เราก็เอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงใส่ลงไป
ชาลี: ก็มีคำในท่อนเวิร์สเนอะ อะไรเงี้ย
มิก: อย่างตอนแรกเพลงพูดเกี่ยวกับว่า ‘ฉันกลับมาแล้ว ได้เจอกันใหม่ ยินได้ที่ได้เจอกันนะ แล้วก็ จากนี้นะเราจะจับมือเดินไปด้วยกัน ก้าวไปด้วยกัน ไม่ต้องกลัวแล้วนะ’ แม่งฟังดูลั้ลลามากเลย (ตูน: ฟังดูพี่ติ๊กดีนะ) แต่พอฟังแล้วเราก็แบบ เหี้ย กูไม่สามารถพูดประโยคนั้นได้ว่ะ จริง ๆ
ชาลี: มันเป็นช่วงเวลาของอายุด้วยมั้ง เคยคุยกันกะมิกเหมือนกัน พอถึงอายุเท่านี้ เราไม่ใช่เด็ก ๆ แล้ว เรารู้สึกว่า ถ้าเราพูดด้วยเรื่องที่มันจริงอะ มันจะพูดด้วยสิ่งที่มันเหมาะกับช่วงอายุของเรา ณ ช่วงนั้น มันก็เลยกลายมาเป็นมุมที่มันเหมือนโตขึ้นเหมือนกันนะ ฟังแล้วจะรู้สึกว่า เอ้ย มัน aging อะ มันขึ้นไปอีก มันเป็นการพูดของคนวัยกลางคนซึ่งอย่างมิกเองก็มีลูกแล้ว มันก็เลยดูมีความจริงอยู่ในนั้น ซึ่งผมว่ามันก็เป็นข้อดีที่ว่า ที่พอมันเกลาจนเป็นเวอร์ชันนี้แล้วมันเลยสำหรับผมเองฟังแล้วมันเหมาะกับช่วงอายุพวกเรา อย่างเคยคุยกับ Zero Hero เหมือนกัน คือเค้าเล่นดนตรีประมาณนี้มาตั้งนานละ มีดอกนึงที่เค้าบอกว่า ‘ด้วยความที่เพลงที่เราเล่นมีความเป็นเพื่อชีวิตอยู่ ถ้าไม่แก่ พูดไม่ได้นะเว้ย ไม่มีหนวดกูพูดไม่ได้นะเว้ย คนมันไม่เชื่ออะ มึงจะมาเข้าใจชีวิตตอนมึงอายุ 25 ไม่ได้ พูดไปคนอายุ 40 เค้าก็ไม่เข้าใจ’ ซึ่งเราว่ามันก็ match กับโมเมนต์อะไรหลาย ๆ อย่างที่พอเพลงนี้ออกมาแล้วพูดเรื่องนี้พอดี มันฟังแล้วเออมันจริงนะ แบบ ค่อนข้างชอบมันในเวอร์ชันนี้ ซึ่งก็ดีที่มันไม่ลั้ลลา มีทั้งลบและบวก ประมาณนั้น
ได้ชาย BrandNew Sunset มาช่วยด้วย
มิก: ก็คือเราไปอัดที่บ้านพี่ชายเลย อัดกลองอัดกีตาร์อัดเบสที่ห้องพี่ชาย คือพี่ชายก็เป็นลูกพี่ ช่วยคุม วางไมค์อย่างนั้นอย่างนี้
ตูน: พี่ชายก็ช่วยดูซาวด์ให้ (ชาลี: พี่ชายก็ขายหวีด้วยครับ (หัวเราะ) ก็ฮาดี คือเจอพี่ชาย ก็คุยสนุกสนานดี) เป็นคนที่คุยสนุกดี
มิก: ก็เพิ่งรู้ว่าแกใช้เวลาทั้งชีวิตซื้อของมาเก็บไว้ เยอะมาก ของเป็นกะตั๊กเลย แบบ อยากใช้อะไรได้หมดเลย แล้วแกก็แนะนำเต็มที่
ชาลี: คือมีไม่กี่คนหรอกที่ มี access ขนาดนั้น คือพี่ชายแกเป็นสจ๊วตใช่มั้ย แกก็จะมี access ในการขนของง่ายขึ้นกว่าคนอื่น บินต่างประเทศบ่อย หาของได้ง่ายขึ้น ของเล่นเยอะ
ตูน: อันนี้ต้อง tie-in หน่อยขอฝาก Sixthirty Recording Studio ไว้ด้วยครับ พี่ชายช่วยเรื่องอุปกรณ์เยอะ
จุ: ไมค์กลองดีมากค่ะ
ชาลี: เจ๊ specific เพราะว่าเจ๊ชอบ ตีแล้วซาวด์มันใหญ่
มิก: จริง ๆ ก็ช่วยปรับแทบทุกอย่าง (หัวเราะ) เราก็บอกเค้าบอกว่า ท่อนนี้คิดมาว่ามันจะเป็นยังงี้ จึ๊ง ๆๆๆๆ (ร้องริฟฟ์ให้ฟัง) มีดีเลย์ มีว้อง ๆ อะไรหน่อย เค้าก็จะแบบ ผมว่าตัวนี้ เค้าก็เดินไปหยิบมา เสียบ กึ้ก ๆๆๆ ลองเล่นดิ๊ (ชาลี: กีตาร์ต้องตัวนี้ รุ่นนี้เลย) แล้วถ้าเกิดแบบ โอ๊ย ยังไม่ได้อะ ยังไม่ได้ ไม่ได้อ่อ เดี๋ยวดิ๊ แล้วก็เดินไปปรับใหม่ ๆ เอาจนได้อะ
เป็นโปรดิวเซอร์ไม่พอของเล่นยังเยอะด้วย
มิก: ใช่ แล้วเค้าก็เป็นขาร็อก เค้าก็ฟังเพลงเหมือนกับที่เราฟัง แล้วเค้าก็เล่นดนตรีเหมือนแบบที่เรามีภาพอยู่ในหัวอยู่แล้ว พูดอะไรไปเค้าก็เห็นภาพค่อนข้างตรงกัน คือเวลาเราทำงานร่วมกันสิ่งสำคัญที่สุดคือการเห็นภาพตรงกัน ต่อให้คุณมีโปรดิวเซอร์ระดับโลกมาโปรดิวซ์ให้ แบบเค้าโปรดิวซ์ให้ Adele ให้ใครมา แต่ว่าคุณไม่สามารถอธิบาย หรืออธิบายไปแล้วเค้าไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด มันก็ไม่สามารถทำงานออกมาให้คุณพอใจได้
ที่มาของ mv We Meet Again
มิก: ก็เป็นอะไรที่เราต้องการอยู่ละนะ mv นี้ มันเริ่มมาจากว่า ไหน ๆ เราแม่งทำเองกันแล้วอะ เราโตแล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ป่าววะ เราอยากทำดิ อยากใส่อะไรของตัวเองก็ใส่ลงไปดิ เรื่องของกู ใครจะมาว่าอะไรก็ช่างดิ ก็สนุกดี วันนั้นก็เป็นวันที่สนุกมากอีกวันนึง
ชาลี: มันมีอะไรหลาย ๆ ยอ่างที่เห็นแล้วรู้สึกชอบ ไม่ว่าจะเป็น easter egg เล็ก ๆ อย่างการเดินผ่านมา มี mv เก่าฉายอยู่ จริง ๆ มันมี little details ซ่อนอยุ่เต็มไปหมด มันก็หนุกดีที่เจอ
มิก: ก็ต้องขอบคุณผู้กำกับของเรา น้องเฟิร์ส เท้าความไปก็เฟิร์สเป็นคนทำ บทเพลงกระซิบ unofficial ให้เป็นโปรเจกต์สมัยเรียนอะ ทำเสร็จ เราก็ไปเห็น แล้วก็ โห! มันคือใครวะ ทำไม่มันลงทุนทำขนาดนี้วะ พอคลิกไปดู ชื่อนี้มันคุ้น ๆ นิ ก็เห็นว่ามันโพสต์คลิปหลายอันบน YouTube เป็นคลิปเล่นสดของวงเรา ก็ อ่อ น้องคนนี้ที่ตามไปดูเรา แล้วก็เคยมาทักเราในเฟสบุ๊กด้วย แล้วก็คุยกันไป หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นสิ่งที่เฟิร์สมันแชร์ในเฟสบุ๊ก ซึ่งเราก็เริ่มเห็นวงที่มันฟัง เพลงอะไรที่มันชอบ ก็เห็นว่า เอ้อ มันเทสต์คล้าย ๆ เราว่ะ เลยคิดว่าน่าจะคุยกันรู้เรื่อง เห็นภาพเข้าใจกัน พอมาทำนี้ก็เลยรู้สึกว่าได้เวลาแล้วที่ให้เฟิร์สมันทำซะที เพราะว่าตั้งแต่วันที่มันทำบทเพลงกระซิบจบ มันก็เรียนแล้วทำงานแล้ว เราก็เลยให้เฟิร์สมันทำดิ เพราะอย่างที่บอกไปมะกี้ว่า mv นี้เรามีสิทธิ์ทำเอง เราจะใช้ใครก็ได้อะ ก็เลยใช้คนที่มันผูกพันกับเรา เพราะมันมีอารมณ์ความคิดถึงอยู่ในนั้นด้วย มันกลับมาไง ก็เฟิร์สละกัน เลยถามมันก่อนเลยอยากทำมั้ย มันบอกอยากครับ ‘แต่พี่มีตังค์ไม่เยอะเลยนะ พี่มีตังค์แค่นี้ (หัวเราะ)’ มันก็บอกว่าไม่เป็นไรครับ ได้ อยากทำ ก็ขอบคุณเฟิร์สมาก ๆ แล้วก็ได้ mv นี้ออกมา (ชาลี: ก็คิดว่าทุกคนก็ถูกใจนะ) ตอนแรกก็บอกไปก่อนบอกว่า มีไอเดียประมาณนี้ วันที่นัดมาฟังเพลงก็นัดไปที่ Rockademy แหละ แล้วเฟิร์สมันบอกว่า เอ้อจริง ๆ มีไอเดียอยู่ในหัวแล้ว ว่างี้ ๆ เฟิร์สมันก็ดู ๆ แล้วก็ โอเค! เฟิร์สมันก็กลับไปแล้วก็ ส่งสตอรี่บอร์ดมาให้ดู ผมวางแพลนไว้แบบนี้ ๆๆ ให้ดูแล้วก็คุยกันว่าเออ ตรงไหนที่มันแบบว่าดูเว่อร์เกินไปว่ะ ก็คุยกันตบ ๆ จนเป็นประมาณที่ได้เห็นกัน ซึ่งเราก็วางให้มันเป็น lyric video ตั้งแต่แรก เพราะเราก็เป็นคนร้องเพลงค่อนข้างงึมงำฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยแบบ ว่า อยากให้คนเห็นเนื้อไปเลย เพราะมีความรู้สึกว่า ถึงแนบเเนื้อไปข้างล่าง คนก็ไม่ค่อยดู ก็เลยแบบใส่ไปเลยละกัน แต่ใส่ให้มันดูมีชั้นเชิงอะ เป็นกราฟิก เป็น cg หน่อยนึง (ชาลี: ก็คือลายมือของมึงนั่นเอง) ใช่ ก็คือลายมือเขียน ๆ แล้วส่งให้มันไปทำเป็นไฟล์ใส่ลงไป
ใน mv มีซีนที่เกี่ยวกับอาชีพของแต่ละคนช่วงที่พักวงไป เฉลยให้แฟน ๆ ฟังกันนิดนึงเผื่อใครที่ยังไม่รู้
ตูน: เริ่มจากผมละกัน ผมออกมาคนแรก ฉากแรกถ้าทำเป็นเพจรีวิวหนังก็จะเห็นว่าพี่ตูนกำลังเสิร์ฟเบียร์อยู่ ซึ่งตอนนั้นผมก็ทำเบียร์แล้ว ผมเป็นนักตัมเบียร์ที่มีเป้าหมายว่าจะเป็นเบียร์ระดับโลก เดี๋ยวเดือนหน้าจะไปทำเบียร์ที่อเมริกา แล้วส่งขึ้นเครื่องบินกลับมา ฝากติดตามด้วยนะครับเพราะเป็นครั้งแรกที่เราไปทำเบียร์ไกลขนาดนั้น เรียกว่า สดมาก ส่วนถามว่าส่งผลอะไรกับวงบ้างก็ ตัวใหญ่ขึ้นอะครับ (หัวเราะ) เมื่อก่อนใส่เสื้อไซส์ L ตอนนี้ก็เป็น XL แล้ว (หัวเราะ)
ชาลี: นี่เค้าเป็นความหวังของหมู่บ้านเลยนะ
ได้เอาประสบการณ์จากวงการคราฟต์เบียร์มาใช้กับวงมั้ย
ตูน: ผมรู้สึกว่าผมอะ เอาประสบการณ์ที่อยู่ในวงมาทำเบียร์มากกว่า มันกลับกัน เพราะการดีไซน์รสชาติก็เหมือนตอนทำเพลง เบียร์ตัวนี้เป็นเพลงเร็วก็ต้องจัดจ้านหน่อย ตัวนี้เพลงช้าก็ต้องติดหวานนิดนึง อะไรอย่างนี้ ซึ่งผมทำได้ดีกว่าแต่งริฟฟ์เบสเยอะเลย (หัวเราะ) อะไรประมาณนี้ครับ มันก็เกื้อหนุนกันอะครับ แต่ว่า จากวงการเบียร์กลับไปสู่เพลงนี่ไม่ค่อยได้เท่าไหร่ อย่างมากก็คือได้ไปเล่นตามงานเบียร์มากขึ้น
ชาลี: ได้คอนเน็กชันด้วย คือการทำเบียร์ก็เป็นอะไรที่ดูแปลกใหม่ มันเป็นอีกวงการนึง ซึ่งมันดีอยู่แล้วแหละเพราะการไปเล่นให้คนเมาฟังมันก็สนุกกว่า อย่างเนเจอร์ของบ้านเราก็คือต้องการความสนุกนิดนึง พอมีเบียร์ช่วยมันก็ครึกครื้นมากขึ้น ก็มีคนมาจ้องเจ๊ตีกลอง อะไรอย่างนี้
ได้เล่นเฟสติวัลคราฟต์เบียร์ด้วยไหม
ตูน: อ่อ ก็จริง ๆ ก็มีส่วนร่วมเรื่อย ๆ ครับ คงต้องรอช่วงปลายปีก่อน เพราะว่าส่วนใหญ่เค้าก็จะหลบฝนกัน
ของจุเป็นอย่างไรบ้าง
จุ: ก็ทำช็อปเล็ก ๆ ชื่อ volkstorybkk ก็คือมีของแต่ง accessories เกี่ยวกับรถโฟล์กคลาสสิก แล้วก็ restore รถ ทำรถ คลาสสิก กับพี่สาว น้องชาย แล้วก็เพื่อนอีกคนช่วยเรื่องเว็บ เราเริ่มจากศูนย์เลย แต่ก็มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายคนที่เค้าช่วย อย่างช่างหรือเพื่อนที่เค้าอยู่ในวงการนี้มานานแล้วเค้าก็จะช่วยให้คำแนะนำ คือจริง ๆ เราชอบรถคลาสสิกอยู่แล้ว ตอนแรกไม่คิดว่าจะเอามาทำเป็นอาชีพ แค่ชอบเฉย ๆ แต่พอมาทำอันนี้ก็ต้องเริ่มศูนย์ใหม่ เพราะเราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับทั้งเครื่องยนต์ ทั้งช่วงล่าง เรียกได้ว่าไม่รู้ซักอย่างอะ เลยต้องมาศึกษาประวัติเกี่ยวกับรถทุกอย่าง พาร์ตอะไหล่ต่าง ๆ (ชาลี: ตอนนี้เจ๊ใช้ประแจอันเดียวนี่แกะรถโฟล์กได้ทั้งคัน (หัวเราะ)) ไม่ใช่ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ รถโฟล์กมันขโมยง่ายมากเลยนะ มีไขควงอันเดียวมันไขอะไหล่ได้รอบคัน ใช้แค่น็อต
มิก: จุเป็นทอเร็ตโต้แล้ว (หัวเราะ)
จุ: มันก็เหมือนได้แรงบันดาลใจ คือได้มิตรภาพดี ๆ จากคนในวงการเยอะมาก ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติที่ต่างออกไปจากวงการดนตรี เหมือนได้ไปเบรก ได้ไปพักร้อนอะ แล้วพอกลับมาทำเพลงมันก็สนุกขึ้น เล่นดนตรีสนุกขึ้น ยิ่งตอนนี้ที่ไม่ได้เล่นแบ็กอัพ เราพักมา 5-6 เดือนแล้ว คือเราเล่นมาตลอดตั้งแต่พอมาเล่นดนตรีอาชีพ ก็เล่นให้กับวงนู้นวงนี้ ไม่ได้หยุดเลย 10 กว่าปี ก็เลยรู้สึกว่าเออ อยากลองเบรกดูว่าอารมณ์มันจะเป็นยังไง แล้วกลับมาเล่นดนตรีทำแต่วงตัวเอง แฮปปี้ดีค่ะ ดีมาก เหมือนได้โฟกัสมากขึ้น (ชาลี: โตขึ้นก็ยุ่ง ยุ่งเวลาก็มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม (หัวเราะ)) วันนึงหมดไปเร็วมาก
คนวงการรถโฟล์กเป็นใคร
จุ: จริง ๆ range อายุมันกว้างมาก ตั้งแต่ประมาณ 22-23 ไปจนถึง 50-60 กว้างมาก แล้วก็จะมี new generation ขึ้นมาตลอด คนเล่นใหม่ ๆ เข้ามาตลอด
ชาลี: คนดังวงการโฟล์ก
ตูน: ส่วนคนนี้ (ชาลี) นอกจากคิวทองแล้วยังวัวทองอีกด้วย
ของชาลีบ้าง
ชาลี: คือหลัก ๆ แล้วสัมมาชีพหลัก ๆ ของผมจะเป็นด้านซาวด์ดีไซน์ หนัง โฆษณา อื่น ๆ คือผมเพิ่งเริ่มทำซาวด์ดีไซน์ก็หลังจากกลับมาจากเรียนที่อเมริกาประมาณ 7-8 ปีละ ซึ่งหลัง ๆ มันก็ตกใจเหมือนกันเพราะปกติที่เราทำงานบางทีมันก็คิดถึงแค่เพลง แต่คราวนี้พี่ ๆ น้อง ๆ ก็ชักชวนไปทำงานแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกเยอะ ช่วงหลัง ๆ ซึ่งมันก็ดี ในเชิงของการป็นซาวด์ดีไซน์ มันก็ได้ไปเจองานที่เราชอบ คืออย่างล่าสุดเราก็ไปญี่ปุ่นมา ได้ inspired ของ TeamLab รู้สึกว่า การดู TeamLab เปิดโลกเราประมาณนึง เราอยากให้มีงานแบบนี้ให้กับคนที่ทำ light and sound ที่เมืองไทยมาก ๆ ซึ่งพอกระจายไอเดียนี้ออกไปก็มีคนแบบ เฮ้ย เราน่าจะมารวมกัน น่าเอาไอเดียนี้ไปทำอะไรซักอย่าง แล้วมันก็มีงานที่มีคนพร้อมจะ spend budget ให้เราได้ลองไปทำอะไรแปลก ๆ อีกเยอะ
ตอนนี้ก็มีงานใหม่เพิ่งเข้ามาก็น่าสนใจอยู่ มันเป็นเทคนิคที่เราได้เอาความรู้เราไปประกอบอีกหลาย ๆ งาน คือเราต้องคิดว่าเราจะทำยังไงให้คนรู้สึก มันไม่ใช่แค่เรื่องเพลงละมันเป็นเรื่องซาวด์จริง ๆ ซึ่งผมก็มองว่าจะใช้ในส่วนนี้ประกอบกับการทำดนตรีด้วยเพราะมันก็อยู่ในละแวกเดียวกัน ซึ่งเวลาทำหลาย ๆ วงมันก็แตกต่างกันไป คนแตกต่าง มู้ดแตกต่าง มันเป็นโจทย์ที่ทำให้ผมไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเวลาไปทำโฆษณาอย่างนี้ ลูกค้าบอก ‘ชั้นอยากได้เพลงร็อก’ สบายมาก! ผมทำวงร็อกมา ผมก็เล่น แอ๊ด ๆๆๆ โชว์ ก็ได้ ชั้นอยากให้มัน ’ดูอิเล็กทรอนิก’ ก็ได้ ผมก็มีวงอิเล็กทรอนิกนะคร้าบบ ก็เล่นได้ อะไรงี้ มันก็กลายเป็นสิ่งที่เราทำได้ไป ซึ่งการมาทำวงดนตรีหลาย ๆ วง อย่างตอนนี้ก็ทำ 3 วง มันก็ เหมือนสวมหมวกคนละอัน ทำหน้าที่ต่างกันไปหมด ประมาณนั้นครับ แล้วตอนนี้ก็ยังทำอีกอันนึง คือถ้าเกิดเสี่ยงหนักมาก นอกจากเล่นดนตรีแล้วยังมีเป็นดีเจอีก ก็เปิดไปตามเรื่อง ซึ่งพอมันโดนดนตรีหนัก ๆ บางทีก็อยากอยู่ในความเงียบบ้าง (หัวเราะ) ก็เลยไปคิดอย่างอื่น คิดไปคิดมาก็เลยรู้ว่าเราสนใจอยากทำร้านอาหาร ก็เลยพยายามจะทำกับเพื่อนสมัยมัธยมนี่แหละ พยายามจะเปิดร้านอาหารซักอย่างขึ้นมา คือเราเคยเปิดร้านอาหารกึ่งบาร์มาละ เราก็มีประสบการณ์ประมาณนึง ก็อยากทำ มาลองดูว่า การที่เราเอาแนวคิดทุกอย่างมาผสมกันเนี่ย…
ตูน: ก็จะได้ก๋วยเตี๋ยวชามนี้ออกมา (หัวเราะ)
ชาลี: ซึ่งมันก็สนุกดีนะ มันเหมือนการลงดีเทล คือเวลาเราทำดนตรี ทำซาวด์ดีไซน์หรือทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นรถโฟล์กหรือเบียร์เองก็ตาม เรามั่นใจว่าทุกคนจะมีความคราฟต์อยู่ในหน้าที่ของตัวเองประมาณนึง รวมถึงการเป็นตากล้อง หรือการเป็นคนทำคอนเทนต์ด้วย ความคราฟต์มันคือความตั้งใจ แล้วทีนี้เวลาเราผสมสิ่งนี้ลงไปในโจทย์ใหม่ ๆ มันน่าสนใจมาก เรารู้แล้วว่าเราทำอะไรกับมันได้บ้าง อย่างกับเบียร์เราก็เอาไปหาฮ็อปที่ดี ค้นหาแก้วที่ดี ค้นหาอะไรที่ดี ทุกอย่าง อย่างผมตั้งโจทย์ว่าอยากทำก๋วยเตี๋ยวเนื้อซักอัน มันก็เหมือนการทำวง เราจะทำยังไงให้มันมีสิ่งที่เราชอบอยู่ แล้วมันผสมผสานไปด้วยสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ มันก็เป็นการเอาโจทย์ใหม่มาครอบในวิธีการทำงานที่เรารู้อยู่แล้ว ก็พยายามพัฒนามันไป ผมว่ามันก็สนุกดี ก็กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มันดึงเราไปจากดนตรีเลย ไปไกล ๆ แต่เราก็สามารถเอาดนตรีไปช่วยได้ ไปเปิดเพลงในร้านมั้ย สร้างบรรยากาศ สร้างมู้ด สร้างนู่นสร้างนี่ มันก็สนุกดีฮะ ในการที่เรา หาเนื้อ หานู่นหานี่ ที่ให้ความรู้สึกแบบนี้ หาน้ำซุป หาเส้น หาอะไร ซึ่งพอยิ่งโตขึ้นมันก็ได้ access ไปในโลกยุคใหม่ด้วยอะ อย่างเจ๊ทำรถโฟล์กงี้ เจ๊ก็บินไปเยอรมันเพื่อไปหาอะไหล่มาขาย อย่างตูนทำเบียร์ (ตูน: ผมไปมาเกือบทั่วโลกละ) ตูนรู้ว่าน้ำที่ไหนมันดี อย่างผมทำ ผมก็แค่การทำร้าน ๆ นึงอย่างมิกน่าจะรู้เพราะมิกเป็นสถาปนิกเงี้ย ผมต้องการกระเบื้องสีเนี้ย ผมจะหาจากไหนได้ ไปคุ้ยมาจนมันได้กระเบื้องที่เราชอบเงี้ย มันก็เหมือนการทำร้าน หม้อที่ไหนเหมาะ แค่เนี้ย โคตรเบสิก เราก็ตั้งให้ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เราดีไซน์ไว้ ก็เลยฝากติดตามด้วยครับ วัวทองโภชนา แลนด์อย่างสวย เป็นไงล่ะ (หัวเราะ) กูเป็นดีเจนะเว้ย กูต้องรู้วิธีการ transition (หัวเราะ)
ตูน: เยดเข้ long-take (หัวเราะ)
จุ: คุณแดงแซวด้วยอะว่าใน mv โลโก้โฟล์กใหญ่มาก นี่มันไม่ใช่ tie-in แล้วนี่มันสปอนเซอร์ (หัวเราะ)
ชาลี: แล้วเจ๊ก็เอาไปขายดิ ไปขายโฟล์กไทย (หัวเราะ)
ของมิก พักไป 5 ปีทำอะไรบ้าง
ชาลี: ทำลูก (หัวเราะ)
มิก: จริง ๆ ของเราก็ค่อนข้าง เออ ทำเมียทำลูก (หัวเราะ) เหี้ยจริง ๆ เลย (หัวเราะ) มีลูก ก็เลี้ยงลูก แล้วก็ทำงาน ของเราค่อนข้างต่างจากคนอื่น ๆ เพราะอาชีพเราค่อนข้างเรียบ ๆ ก็เป็นสถาปนิก แล้วก็เป็นครูสอนอยู่ที่ Rockademy ด้วย จะว่าไปก็สอนอยู่ไม่เท่าไหร่หรอก สอนอาทิตย์ละวันเดียวเอง (หัวเราะ) สอนตั้งแต่โรงเรียนเปิดอะ กูเป็นครูที่เก่าแก่ที่สุดในโรงเรียนแล้วอะตอนนี้ (หัวเราะ) โรงเรียนเปิดตั้งแต่ปี 2012 อะ 7 ปีแล้ว ก่อนกูแต่งงานอีก (ชาลี: ลูกศิษย์เต็มเมือง) แต่ว่าเลิกเรียนละ หายไปหมดละตอนนี้
ชาลี: เด็ก gen ที่โต ๆ ไปก็จะมีครูมิกเป็นที่ตั้ง (มิก: เราก็ผูกพันเนอะ แล้วก็ จริง ๆ แล้วที่นี่ก็ให้อะไรเรามาเยอะมากเลยนะ mv ตัวที่แล้วเราก็ถ่ายที่นี่ ชีวิตเดิมเริ่มใหม่ ) ในพาร์ตไลน์ซิงก์วงนะ
มิก: ถ่ายที่นั่น แถมอัดก็ยังอัดที่นั่นนะ เพลงก็อัดที่ Rockademy หมดเลย แล้วพี่แพทที่เป็นเจ้าของเค้าก็เป็นคนที่… คือเราได้อะไรจากเค้าเยอะมาก เราได้ความรู้จากเค้าเยอะมาก เค้าโปรดิวซ์เพลงให้เราตั้งแต่ คืนสุดท้ายของแสงไฟ ด้วยความจริงใจ บทเพลงกระซิบ แล้วก็ ชีวิตเดิมเริ่มใหม่ งี้ เออเรา เรียนรู้จากเค้าเยอะมากในหลาย ๆ ด้าน เราก็ เอาวะ mv นี้ กูจะเดินให้ทั่วโรงเรียนแม่งเลย จะได้ทำว่าเป็นแบบว่า ถ่ายโปรโมตโรงเรียนเล็ก ๆ
ตูน: ทำไมกูรู้สึกว่ากูเรียนรู้ผิดด้านจากพี่แพท (หัวเราะ) (ชาลี: ทำไมวะ เรื่องไรวะ) ไปเรียนรู้ด้านมืดมา (หัวเราะ)
การเป็นครูและเป็นคุณพ่อ ส่งผลอะไรกับวงมั้ย
มิก: มันทำให้เราซอฟต์ลง (ชาลี: มันทำให้เราต้องซ้อมดนตรีเร็วขึ้น (หัวเราะ) เดี๋ยวลูกจะนอน) ด้วย ทำให้ซ้อมดนตรีเร็วขึ้นด้วย (หัวเราะ) ทำให้บางทีเวลาทำงานมันก็หายไปส่วนนึง แต่มันก็ทำให้เราได้อารมณ์บางอย่างที่เราคิดว่าเออ ถ้าไม่ได้สัมผัสชีวิตแบบนี้ก็คงไม่มีอารมณ์แบบนี้ มันก็ได้มาในนั้นเหมือนกัน ก็ได้อย่างเสียอย่าง
ชาลี: ก็ฝากผลงานของมิกไว้ด้วยนะครับ น้องริกก้า
ตูน: ผลงานชิ้นแรก
มิก: ตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะโตไปเป็นคนยังไง หวังว่าคงจะไม่เหี้ย คิดว่าเป็นคนกวนตีน ประมาณนึง (ตูน: กูสัมผัสได้ ดูจากรูปนิ่ง) คือตอนนี้แม่งกวนตีนมากนะ แต่ไม่รู้ว่าถึงจุดเปลี่ยนมันจะเลือกเป็นคนยังไง คือมันอาจจะเลือก ไม่เอา กูจะไม่กวนตีนในโมเมนต์ที่มันคิดได้ มันอาจจะเลือกเดินสวนทางไปก็ได้ หรือมันอาจจะคิดไม่ได้กวนตีนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ (ตูน: กวนตีนไปถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เลยเป็นคนข้ามไปเลย) เพราะว่าตอนนี้มันก็แค่เด็กอะ ก็บอกอะไรไม่ได้เท่าไหร่
การกลับมาในยุค 2019 ที่ซีนดนตรีมันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วเยอะมาก มีอะไรที่กังวลไหม
ชาลี: ไม่ค่อยกังวลมั้ง เนอะ ถ้าถามผมนะ ผมไม่ค่อยกังวลเพราะไม่ได้คาดหวังอะไร (มิก: กังวลว่า เอ้ย เวลาเราถ่ายรูปไปจะเห็นหัวเราล้านหรือเปล่า (หัวเราะ)) นี่จะมีช่วงที่ไปตัดผมมา แล้วโดนช่างตัดผมทัก นี่ก็หัวบางใช้ได้นะ!
มิก: เหี้ย บ้า นี่ต้องรีบปล่อยเพลงก่อนที่ผมจะหมด นอกนั้นก็ไม่กังวลอะไรเท่าไหร่
ชาลี: มีวันนึงวงเคยคุยกัน แล้วเราก็แบบ ‘เออ วันนี้พักก่อนมะ พอก่อนมะ แบบ เสียเวลาว่ะ มานั่งคุยเรื่องนี้ เอาเวลาไปคุยเรื่องโปรโมตดีกว่า’ แต่มิกบอกว่า ‘ไม่เห็นต้องคุยเหี้ยอะไรนักหนาเลย ยังไงกูก็จะเล่นไปเรื่อย จนแม่งแก่’ เราฟังแล้วก็แบบ เข้าใจ อ่อ โอเค เราผ่านจุดอยากดัง อยากมีชื่อเสียง อยากอยู่ได้ คือมันจะมี goal ไม่กี่ goal หรอก ของคนเล่นดนตรี เช่นการที่เราใช้ชีวิตในการเป็นนักดนตรีแล้วเราอยู่ได้ เทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้มีชีวิตที่ด้อยกว่า หรืออะไรก็ตาม มันมีอีกเยอะ แต่สุดท้ายแล้วพอมันย้อนมาถึงแกนหลักจริง ๆ โอเคเรา ทำมันแล้วยังมีความสุข ยังอยากทำ (ตูน: รู้สึกว่าบาลานซ์ได้) คือมันง่ายมากเลย มันเป็นหลักคล้าย ๆ พุทธศาสนาอะ ถ้าเราไม่ได้คาดหวัง เราก็จะไม่ผิดหวัง พอเราไม่ได้คาดหวังว่า เพลงแม่งต้องถึงล้านวิว เงี้ย กี่วิวก็ได้แต่คนดูต้องชอบ หรือว่าคนดูไม่ชอบ อะไม่ชอบก็บอก ไม่เป็นไร เราก็ห้ามเค้าไม่ได้
ตูน: แต่จริง ๆ เราตั้งใจทำให้คนฟังอยู่แล้ว แต่โดยพื้นฐานเราก็ค่อนข้างเชื่ออยู่ว่ามันน่าจะชอบแหละ อะไรงี้ (ชาลี: อย่าไปคาดหวังดิ เอ้ย (หัวเราะ) ลึก ๆ ในใจก็ไม่ค่อยคาดหวัง) แต่ผมอะตัวคาดหวังเลย แต่มันก็ไม่ได้ซีเรียสนะ ความคาดหวังของผมก็คือให้น้องข้างบ้านได้ฟังเพลงบ้าง อีกอย่างคือปล่อยซะทีเถอะเพราะเราสัญญากับคนมามาก สัญญาตลอดเวลาว่า เดี๋ยวจะมีนะ รอแปปนึงนะ (หัวเราะ) คาดหวังให้มันออกมาเร็ว ๆ มาก ไม่น่าเชื่อว่าต้องใช้เวลานานขนาดนี้ (หัวเราะ)
ชาลี: แต่ถึงจุดนึงก็ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นจะต้อง อู้หูว ต้องอยู่ได้ เพราะว่าตอนนี้ยิ่งโตขึ้น ยิ่งเราทำอย่างอื่นด้วย เราก็ไม่ได้มีเวลาว่างมานั่งรออะ แบบ รอดูว่าเดี๋ยวมันต้อง พุ่งแน่เลย ดีแน่เลย ถ้าไม่ดีแล้วเป็นยังไง เมื่อก่อนอะคงมี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีละ ก็เป็นแนวว่า ทำไปเรื่อย
มิก: อีกอย่างที่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นเราก็คือ เราเห็นวงไอดอลเราในสมัยเด็ก วง Ash หัวล้านแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้น Ash แม่งดังมาก รุ่นใหญ่มาก ๆ ในโลกนี้ แต่วงพวกนี้มันก็จะมีอายุของมัน ถ้ามันไม่สามารถที่จะพุ่งทะลุชั้นโอโซนได้ มันก็จะมีอายุของมันไป ซึ่ง Ash ก็เป็นอีกวงที่คงจะพุ่งทะลุขึ้นไปไม่ได้ ก็ตกไปตามอายุของวง แต่ว่า น้อง ๆ ยคนที่จะรู้ว่าจริAsh ก็ยังเล่นกันอยู่ เล่นดนตรีต่อไปเรื่อย ๆ เพลงในอัลบั้มก่อนหน้านี้ที่ออกมาประมาณปี 2014-2015 ใน YouTube มียอดวิวประมาณ 20,000 แม่งแบบ เหี้ย มึงวง Ash นะเว้ย ยอดวิวน้อยกว่า Live Session บางอันของกูอีก (หัวเราะ) แต่ Ash ก็ยังเล่นดนตรีกันต่อ ก็ทัวร์ต่อ แล้วก็เพิ่งมาเล่นเมื่อปลายปี (ตูน: แล้วก็ยังมีคนที่รอฟังเพลงของ Ash) แล้วคือ Ash ก็ยังเล่นคอนเสิร์ตกันแบบวัยรุ่นอะ สนุกสนานเต็มที่ ซัดกัน ก็เลยรู้สึกว่า เนี่ยแหละ เราก็ไม่ต้องคาดหวังอะไร สิ่งที่เราคาดหวังก็แค่ว่า เราอายุเท่า Ash แล้วเราเล่นแบบ Ash ได้ ก็พอใจแล้วอะ แค่นั้นแหละ มันทำให้เราคิดว่าถ้าย้อนกลับมาถึงคำถามว่า 2019 มันเปลี่ยนไป แล้วเรากลัวอะไร เรากลัวแค่ว่าเราจะตัน เราจะคิดเพลงใหม่ไม่ออก อะไรงี้
ตูน: กลัวไม่ได้ปล่อยเพลงนี่แหละ กูบอกเลยสัส (หัวเราะ)
มิก: แต่ถ้าตราบได้ที่เรายังคิดออก เรายังคิดได้อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรอะ เราก็ทำแล้ว แล้วก็ปล่อยออกมา เพราะเราทำด้วยการสนองนี้ดตัวเอง
ตูน: จะไปกลัวอะไรอะ เพลงตอนนี้ปล่อยได้ถึง 2030 ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เดือนละเพลงก็ปล่อยได้ทั้งปี
ซาวด์ของเพลงต่อ ๆ ไปจะเป็นประมาณไหน
มิก: ก็จะร็อกแหละ แต่ว่าบางเพลงก็จะมีแบบว่า ลูกเล่นบางอย่างมาผสม คือ เราค่อนข้างมี input ที่ต่างกันเนอะ แล้วตอนทำเพลงอะ อย่างว่าตอนนี้กระบวนการมันเปลี่ยนไป อยากให้ทุกคนได้ใส่ input ของตัวเอง บางเพลงก็อาจจะฟังแล้วฉีกไปเลย (ตูน: บอกเลยว่าเพลงหน้าพีคมากเลย เพราะว่ามันดีมาก) เพิ่งอ่านบทความของชาลี Headbangkok ที่เขียน
ชาลี: ไม่ใช่ผมนะครับ แล้วก็ไม่ใช่ผมที่ขึ้นไปตีกลองในงาน The Killers ด้วยครับ (หัวเราะ)
ตูน: ทำไมมันมีข่าวนั้นออกมาได้ (หัวเราะ)
มิก: ชื่อชาลีเหมือนกันไง อะ ต่อ เพิ่งอ่านบทความที่มันเขียนถึงอัลบั้มล่าสุดของ Imagine Dragons ที่เค้าด่ากัน ชาลีมันก็บอกว่า เพราะว่ามันหลากหลายมาก จนมันจับความเป็นตัวตนในอัลบั้มไม่ได้ ซึ่งกำลังจะบอกว่า ของกูก็คงหลากหลายคล้าย ๆ กัน (ทำเสียงเขิน) มันก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำอะเนอะ ถามว่าตัวตนเราคืออะไร ก็คืออะไรที่เราทำแล้วมีความสุขก็คือสิ่งนั้น งั้นก็รอพบกับตัวตนของพวกเราแล้วกันครับ
ตูน: world music บ้าง (หัวเราะ)
ชาลี: แต่สุดท้ายผมยังรู้สึกว่า Abuse the Youth มันยังมีความ based on ร็อกที่จริงใจอะ มันต่างจากวงอื่นตรงที่ว่า แม่งดูเหมือนไม่ได้คิดเยอะ แต่ก็คิดมาประมาณนึง มันเป็นไลน์ที่ดูไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้คิดง่ายนะ ซึ่งบางทีไลน์ที่คิดง่าย ๆ แล้วดันผ่านก็มีเยอะ คือมันก็เลยเป็นอะไรที่แบบ เราไม่จำเป็นต้องโชว์อะไร เราไม่จำเป็นที่ต้องพยายาม เราก็เล่นที่เราอยากเล่นไป มันมีช่วงนึงที่ตูนไปอัดเบสที่ Rockademy แล้วโดนพี่แพทบอกว่า มึงจะเล่นยากทำไม มึงเป็นศิลปิน มึงจะเล่นเหี้ยอะไรก็ได้ (ตูน: จริงเหรอ! ก็เลยไม่เล่นเลย (หัวเราะ) เดินไปแดกเบียร์เลย) คือสุดท้ายมันก็มีความจริงใจของมันอยู่ ตรงที่เราไม่ต้องไปอยากเก่ง
ตูน: ผมว่าเราทำมาจนถึงจุดที่ว่า มันมีลายเซ็นของเราแล้วล่ะ ผมก็เชื่ออย่างนั้นว่า มันฟังแล้วจะนึกออกว่าเป็นของเรา แต่ก็ โลกก็หมุนไปเร็ว ปีหน้าเราอาจจะกลายเป็นแบบว่า (มิก: ฮิปฮอปแล้วก็ได้) หรืออาจจะเป็นเร็กเก้แล้วก็ได้ เข้ากับกระแสกัญชาอะไรงี้ ถ้าปล่อยเร็กเก้ทัวร์งานกัญชาทั่วประเทศไทย (หัวเราะ)
ชาลี: ทุกอย่างมันก็เป็นไปได้ อะไรก็ตามที่เรายังสนุกกับมัน หลัง ๆ พอมี session ในห้องซ้อม ก็จะมีความ.. ‘นี่มึงเล่นแนวนี้กันหรอก’ แต่ก็เป็นอะไรที่เราพยายามลองดู คือเราทุกคนจะหลีกหนี tension อะไรบางอย่างที่เราเล่นไม่ได้ เจ๊ก็จะมี signature ของเจ๊ ตูนก็จะมีลูกของตูน มิกก็จะมี ผมก็จะมีของผม อะ วันนี้ชอบซาวด์เร็กเก้ซักหน่อย ก็เล่น ก็มีอะไรโผล่เข้ามา ทำไปแก้เบื่อ จริง ๆ เดโม่ที่ทำเมื่อก่อน ก็ 40-50 เพลงเหมือนกันนะ อะไรที่ดูซ้ำ ๆ น่าเบื่อก็ทิ้งไป อะไรที่ดูมีอะไรก็หยิบขึ้นมา แบบ กูว่า เอาเพลงนี้มามิกซ์กับเพลงนี้บ้าง
ตูน: เอาเถอะ มีเพลงขนาดนี้ จะหายอีก 5 ปีก็คงไม่เป็นไร (หัวเราะ) คงขี้เกียจแล้วแหละตอนนั้นน่ะ
วงอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้กับอัลบั้มนี้
ตูน: ผมบอกเลยว่า Bruno Mars ช่วงนั้นฟังบ่อยมาก แต่ว่า ไม่ได้ใช้กับเพลงนี้นะ ใช้กับเพลงที่จะปล่อยต่อไป ความดึ่งดึ๋ยมันก็มี เมื่อก่อนเราเป็นมือเบสที่ฟังเพลงร็อก เราก็จะปรับเบสเบา ๆ ไง ไม่ค่อยได้ยิน พอไปฟัง Bruno Mars แล้วก็แบบ เอ้อ เบสมันก็ชัดดีนะ (หัวเราะ)
ชาลี: ไม่ค่อย คือถึงผมจะเล่น Abuse the Youth แต่เอาจริงผมไม่ค่อยได้ฟังร็อกทันสมัยอะ ไม่ได้ keep on ไปเรื่อย ๆ Bring Me the Horizon คืออะไร เอาจริงไม่เคยฟัง (หัวเราะ) ไม่ได้เป็นแฟน ผมก็จะแถไปอีกเวย์นึงซะเยอะ อย่างล่าสุดออกเพลงมา มีคนพูดถึงวง Biffy Clyro ใน YouTube ซึ่งผมอาจจะเคยฟังแล้ว แต่ก็จำไม่ได้ พอกลับมาฟังอีกทีก็ เพลงเค้าดีนะ ก็เลยฟังเพลงนั้นบ่อยมาก Different People อะ ชอบ มันเป็น remind เราในยุคที่เรายังฟังร็อกอยู่เยอะ ๆ อะไรงี้ หลัง ๆ มาก็ไม่ค่อยได้ฟังร็อกซักเท่าไหร่ แต่กลับมา ก็ยังชอบอยู่ ก็เลยนึกไม่ออก หลัง ๆ ผมไปอินพวกเพลงญี่ปุ่นซะเยอะ (มิก: เจ๊ dream pop คนนั้นที่เค้าพูดถึงกันหรือเปล่า) ไม่ใช่ ๆ ไปฟังเก่า ๆ หรือพวกแบบ (ตูน: Sukiyaki อะนะ) เก่าไป (หัวเราะ) ฟัง Hello My Friend อะไรซักอย่าง จำไม่ได้แล้ว ผมชอบไปฟัง ไปคุ้ย ๆ ของเก่ามาฟัง มันดูแปลกดี เล่นชามิเซ็ง อะไรอย่างนี้ พอดีบ้านผมอยู่ใกล้ร้าน Garage Records ลาดพร้าวซอย 8 ล่าสุดไปก็ไปได้แผ่นเล่นชามิเซ็งอะไรก็ไม่รู้มา จะไว้เปิดฟัง พยายามหาอะไรที่มันหลุดไปเลย หาว่าเค้าเล่นอะไรกัน
สรุปอัลบั้มหน้ากลายเป็น traditional
ชาลี: ก็พยายามลองอยู่ เพราะผมทำเพลงโฆษณาไง ผมก็ทำให้ range มันกว้างมากอยู่แล้ว
จุ: จริง ๆ ส่วนตัวไม่ได้ฟังเพลงร็อกเยอะ ถึงแม้จะทำวงร็อกก็ตาม จริง ๆ ชอบกรู๊ฟกลองเด้ง ๆ หน่อย สนุก ๆ แล้วก็ชอบฟังพวกไซคีเดลิกอย่าง Warpaint, Mutemath ที่มันจะมีกรู๊ฟสนุก ๆ หน่อย เต้น ๆ หน่อย (ชาลี: แกชอบขัด ๆ) ก็เลยจะแอบมาผสมในเพลงของ Abuse the Youth
มิก: ของเราก็ คือพอเราอายุขนาดนี้แล้ว เมื่อก่อนอาจจะ เราชอบ เรามีแรงบันดาลใจ วงนี้แม่งเท่ เพลงแม่งมัน เราอยากจะเล่นอย่างเค้า เราอยากจะเป็นเหมือนเค้า อะไรอย่างนี้ แต่ว่าพออายุขนาดนี้ เราเริ่มมองศิลปินด้วยชีวิตของเค้าอะ เราเริ่มดูว่า เออ เค้าเป็นคนยังไง แล้วคนที่เป็นแรงบันดาลใจสุด ๆ ก็คือ Tom Petty ด้วยเพลงของเค้าด้วยแล้วก็ด้วยการใช้ชีวิตของเค้าด้วย เอาจริงวันที่ Tom Petty ตายคือร้องไห้แบบร้องไห้เลย เพราะเค้าเป็นอีกคนที่เราฝันไว้ว่า เราอยากจะไปเมกาไปดูเพราะว่าเค้าไม่ทัวร์นอกประเทศแล้ว เราฝันว่าสักวันเราจะไปแล้วถ้าพาลูกไปด้วยได้ก็จะไป เอาลูกไปฟังเพลง แล้ววันที่เค้าตายแบบเหี้ยแม่งอย่างช็อก พอได้ดูสารคดีชีวิตเค้า วิธีคิดของเค้า ก็รู้สึกว่าเออ เค้าจริงใจ ฟังเพลงก็รู้สึกว่าเพลงแม่งจริงใจ ทั้งคำพูดทั้งการใช้ชีวิต เนี่ยแหละ ก็เป็นแรงบันดาลใจของเรา อย่างล่าสุดก็เพิ่งดู Tom Delonge ที่แบบเป็นสารคดีที่ Ernie Ball มันทำ ชื่อ Pursuit of Tone คือ Tom Delonge ก็มานั่งเล่าชีวิตตัวเอง ตั้งแต่ทำ Blink-182 ทำ Angels & Airwaves แล้วก็ทุกวันนี้ก็ทำบริษัทตัวเอง To The Stars แล้วเราก็ได้รู้ว่าเออ ชีวิตมันเป็นไง แต่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้ เราแค่ฟังเพลงเค้าเฉย ๆ (ตูน: เราจะมองเห็นเค้ามุมเดียว) แล้วพอเรารู้ว่าแบบ เอ้อ ในนันเค้าเล่าเรื่องให้ฟัง ว่ามันเป็นมายังไง ตอนเค้าทำ Blink-182 เลิกทำ Blink-182 ไปทำ Angels & Airwaves ไปทำโปรเจกต์ เพราะว่าอะไร เราได้รู้เหตุผล ได้รู้ว่าชีวิตเค้าเจอกับอะไรบ้าง ทำไมเค้าถึงทำแบบนั้น ทำเพื่ออะไร เค้าไม่ได้ทำแค่ว่า กูแต่งเพลงได้กูก็ปล่อยเพลงเฉย ๆ หรือว่าแบบ เพลงนี้ไม่เหมือน Blink-182 ว่ะ กูก็ปล่อยในอีกชื่อนึง มันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นสิ่งที่เค้าทำเพื่อหาตัวตนตัวเอง เพื่อรักษาสภาพจิตตัวเอง หลัง ๆ เราก็จะเริ่มอินกับการดูอะไรแบบนี้มากกว่า (ชาลี: โคตรแก่เลย (หัวเราะ)) ก็แก่จริง ๆ อะ (หัวเราะ)
ชาลี: เอ้ยแต่ผมชอบนะ หลัง ๆ ผมเล่น Abuse the Youth ผมได้ความรู้สึกร็อกเวลาเล่นมัน ยิ่งพอโตขึ้น ได้เข้าไปในห้องซ้อม หรือการเล่นคอนเสิร์ตแล้วแบบซัดอะ มันะมีความรู้สึกแบบ โป๊ะป๊ะ โป๊ะป๊ะ สนุกดี ๆ (มิก: งั้นพรุ่งนี้ก็ไปให้ตรงเวลาดิ (หัวเราะ)) บอกกูเหรอ (หัวเราะ)
ตูน: เอ้ย คราวที่แล้วผมไปก่อนเลยนะ (หัวเราะ)
เป้าหมายของ Abuse the Youth ในปีนี้
ตูน: ก็เอาเพลงที่อัดเนี่ยปล่อยมาให้หมด (หัวเราะ) ฟังคนเดียวบ่อยแล้วโว้ย (หัวเราะ)
มิก: ถ้าเป็นไปได้เราก็จะปล่อยอัลบั้มนะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า (หัวเราะ) ตอนนี้ยังครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่ แต่เวลาเพลงต่อไปมาแน่ ๆ
ชาลี: ล็อกไว้แล้วประมาณนึง แพลนปีนี้ก็ถูกวางไว้แล้วประมาณนึง
ตูน: หรือถ้าตอบให้เท่ ๆ หน่อยก็ จะไม่ทำให้รู้สึกว่าหายไปอีกแล้ว นี่!
จุ: ระวังนะ
มิก: ถึงมึงหายไปจริง ๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าหายไป
ตูน: ว่าแต่พี่เป็นใครครับ (หัวเราะ)
มิก: ยังไม่มีชื่อด้วย (หัวเราะ)
ชาลี: ยังไม่มีเพราะว่าองค์รวมมันยังไม่ครบขนาดที่จะเกินจำนวนที่เรารู้สึกว่าตัดสินใจได้
มิก: แอบเคยคิดชื่อไว้หลายชื่อมากแต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือเปล่า แล้วก็ดูด้วยตัวเพลงอีกทีว่า พอมันมีเพลงมาครบแล้ว มันจะมีอะไรที่เข้ากับมันได้เองแหละ มันจะมีความที่ oh my god! อุทานออกมาเองแหละ
ชาลี: นั่นแหละ ฝากไว้ด้วย แต่มันไม่น่าเสร็จหรอกอัลบั้ม (หัวเราะ)
มิก: ก็กูบอกว่า หวังว่าไง เต็มไปด้วยความหวัง (หัวเราะ)