The New Abnormal รวบรวมดนตรีแปลกใหม่แต่คุ้นเคยจาก The Strokes ในอัลบั้ม 6 ที่เรารอคอย
- Writer: Montipa Virojpan
The Strokes วงดนตรีดาวเด่นแห่งยุค 2000s จากนิวยอร์ก ประกอบไปด้วย Julian Casablancas (ร้องนำ, คีย์บอร์ด) Albert Hammond Jr. (กีตาร์, ร้องประสาน) Nikolai Fraiture (เบส) Fabrizio Moretti (กลอง, เพอร์คัสชัน) Nick Valensi (กีตาร์, ร้องประสาน) ฝากผลงานเด็ด ๆ ไว้มากมายทั้ง Last Nite, Under Cover of Darkness, You Only Live Once และกลายเป็นที่จดจำเพราะริฟฟ์ดีดดิ้น กับการคิดค้นให้กีตาร์ส่งเสียงประหลาดจนกลายเป็นเอกลักษณ์ และเป็นต้นแบบของกีตาร์แบนด์รุ่นหลังไม่รู้กี่วงต่อกี่วง
หลังจากที่ The Strokes ออกผลงานมาหลายอัลบั้ม บางคนก็แยกย้ายไปทำ side projects (Julian มี The Voidz และทำค่าย Cult Records ส่วน Albert ก็มีอัลบั้มเป็นของตัวเอง) เมื่อปี 2019 พวกเขาก็กลับมารวมตัวกันเล่น live show และมีชื่ออยู่ในไลน์อัพเทศกาลดนตรีต่าง ๆ (รวมถึง Fuji Rock ที่กำลังจะเกิดขึ้นหากไม่เจอพิษ COVID-19 ไปเสียก่อน)
แต่ใครจะไปคิดว่าในวาระปีที่ 20 นิด ๆ ของวง พวกเขาจะมอบของขวัญอีกชิ้นที่แฟนเพลงอยากได้รับมากที่สุด กับ The New Abnormal อัลบั้มใหม่ในรอบ 7 ปีหลังจากชุด Comedown Machine (2013) บรรจุ 9 เพลงที่จับทางไม่ถูก ทั้งล้ำสมัย หลงยุค ชวนกระโดดโลดเต้น และชวนนั่งซึมในขณะเดียวกัน ซึ่งความ variety นั้นก็ถูกนวดรวมให้กลมกล่อมด้วยกลิ่นอายความเป็นการาจร็อกหัวก้าวหน้าแบบ The Strokes ที่เราคุ้นเคย
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ artwork ของอัลบั้ม ลายเส้นแบบนี้จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก Jean-Michel Basquiat ศิลปินอเมริกันชื่อดังที่ทำผลงานกราฟิตี neo-expressionist แฝงนัยยะทางสังคมและการเมืองช่วงยุค 70-80s โดยภาพนี้ชื่อว่า ‘Bird on Money’ (1981) ทั้ง สี form และสไตล์งานของเขา สามารถถ่ายทอดทิศทางของอัลบั้มนี้ได้เป็นอย่างดี
และมีใครสังเกตไหมว่า มันคือชุดสีที่คล้ายกับปกอัลบั้ม Is This It ซึ่งเป็น debut album ของ The Strokes เมื่อปี 2001 นี่อาจเป็นการเปรียบเปรยว่างานชุด The New Abnormal ก็ได้อิทธิพลมาจากเพลงยุคแรก ๆ ของพวกเขาเช่นกัน
หากคุณยังอินกับอัลบั้ม Is This It ชอบความเพี้ยนและไอเดียหลุดโลกของจูเลี่ยน ชอบลวดลายกีตาร์เท่ มีชั้นเชิง และคาดไม่ถึงของอัลเบิร์ต หรือยังละจาก post punk revival ไม่ได้ The New Abnormal คือผลลัพธ์ที่ลงตัวสำหรับส่วนผสมตั้งต้นนั้น
ทันทีที่กดฟัง The Adults Are Talking สวิตช์ไทม์แมชชีนเริ่มทำงาน ริฟฟ์กีตาร์สุดโดดเด้งและติดหูทำให้เราต้องโยกหัว คลอไปด้วยกีตาร์คอร์ดสุดไพเราะ ไหนจะกลองเร้า ๆ กับเบสลุ่มลึกชวนให้ขยับขาในทันที ความพิเศษของเพลงนี้คือการมิกซ์ซาวด์ชวนจั๊กจี้ เมื่อองค์ประกอบทางเสียงแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เราสนุกกับการเลือกผสมเสียงด้วยตัวเองอย่างที่เราชอบใจ
บรรยากาศช่วงต้นเพลง Selfless ทำให้นึกถึงภาพของวงหยิบเบียร์ขึ้นมากระดก และพูดเข้าเพลง เป็นเหมือนเพลงที่เล่นหลังช่วงพักหายใจในไลฟ์โชว์ แม้ฟังรอบแรกจะรู้สึกแปลก แต่หากวนมาประมาณรอบที่ 3-4 นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเพลงที่คุณชอบที่สุดจากอัลบั้มเพราะไลน์กีตาร์สำเนียง melodrama อันนั้น
Brooklyn Bridge To Chorus ดึงเอากลิ่นคีย์บอร์ดซินธิไซเซอร์ 80s และกลองฟุ้ง ๆ ที่สามารถฉายภาพ New Order ทับลงไปได้สบาย ๆ ในช่วงเวิร์ส กับท่อนโซโล่ที่เราเผลอนึกถึง I Will Survive โดยไม่ได้ตั้งใจ แม้ท่อนคอรัสถอดแบบวง new wave ออกมา แต่ก็ได้ซาวด์แบบ The Strokes เพราะเมโลดี้ร้องแสนแปลกประหลาดและเสียงของจูเลียน
Bad Decisions กลองและกีตาร์สุดจะน่ารักในเวิร์สทำให้เราอยากลุกขึ้นมาเต้นรำและปรบมือเข้าจังหวะ มันได้ฟีลแบบวง post punk 80s ถึงเครื่อง จากนั้นก็เพิ่มความเข้มข้นในสไตล์ของวงแบบที่คิดถึงกันเข้าไปในท่อนคอรัส และต้องยิ้มออกมาให้กับ outro สุดสดใส ยังไม่รวม interlude สั้น ๆ แสนไพเราะเพื่อเข้าไปถัดไปอีกนะ
Eternal Summer จากที่เผิน ๆ ดูเป็นเพลงจังหวะกลางฟังได้เรื่อย ๆ แต่กลายเป็นว่ามันเป็นเพลงที่มีสี และอุณหภูมิที่ชัดเจนที่สุดเพลงนึงในอัลบั้ม สามารถเป็นตัวแทนของหน้าร้อนที่เราไม่อยากให้สิ้นสุดลงได้สมชื่อเพลง ซินธิไซเซอร์พร่างพราว แสนจะเข้ากันดีกับ cowbell เบา ๆ และกีตาร์ซาวด์หนา ๆ ได้อารมณ์ nu-funk นิด ๆ การแผดร้องราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้ของท่อนเบรกดาวน์ แทรกมาด้วยเสียงกีตาร์แสนฉวัดเฉวียน ผสมกับเบสพร่า ๆ และซาวด์กีตาร์ชวนนึกถึงร็อก 70s แล้วยังจะมีท่อนบริดจ์ท้ายเพลงสุดเท่อีก
At The Door เพลงที่ถูกตัดปล่อยเป็นซิงเกิ้ลแรก สร้างความเหวอให้แฟนเพลงอยู่ไม่น้อย ระหว่างที่ฟังก็เฝ้ารอคอยว่าเมื่อไหร่จะมีเสียงกลองกันก็หลายคน แต่พอฟัง ๆ ไปแล้วนี่คือเพลงที่ตั้งใจให้เสียงซินธิ์มาชูทุกสิ่ง ระคนไปกับเสียงร้องสุด dramatic ซึ่งทำให้เรานึกถึง I’ll Try Anything Once ในแบบที่ดาร์กกว่า และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมโลดี้ในเพลงนี้เพราะมาก กับการผสมซินธิไซเซอร์ที่ชวนล่องลอยไปถึงไหนต่อไหน กับอีกอย่างที่ถูกใจมากคือมิวสิกวิดิโอที่ทำให้นึกถึงการ์ตูนแอ็คชันแฟนตาซียุค 80s เรื่อง ‘He Man & She Ra: The Secret of the Sword’ ยังไงยังงั้น
มาถึงเพลงที่เราชื่นชอบที่สุดในอัลบั้ม Why Are Sunday’s So Depressing คือเพลงที่ดึงเอากลิ่นอายแบบ The Strokes ที่ทุกคนหลงรักกลับมาได้มากที่สุด มีลูกเล่นในการผสมเลเยอร์ไปกับการร้องยืดยาน ใส่สัดส่วนของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแต่น้อย และใช้เสียงกีตาร์ประหลาด ๆ มาเป็น rhythm part ในเพลงได้น่าสนใจ
ถ้าเปรียบทั้งอัลบั้มเป็นเหมือนบรรยากาศในโชว์โชว์หนึ่งแล้ว Not The Same Anymore ก็เป็นเหมือนซีนอารมณ์สุดซึมที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลัง climax ที่ต้องเกิดการแตกหักกันก่อนที่จะเกิดการแก้ไข เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดคลี่คลาย ความ emotional ในเพลงนี้ทำเอาคนฟังอย่างเรา ๆ ขนลุกไปด้วย
และเดินทางมาสู่แทร็คสุดท้าย Ode To The Mets เพลงช้าที่การเรียบเรียงในเพลงมีความแปลกประหลาด แต่เลือกใช้ทำนองที่เพราะและแสนเศร้าทำให้เพลงนี้สวยงามขึ้นมา ตัดด้วยความเกรี้ยวกราดในพาร์ตร้องและไลน์กีตาร์สุดเท่ พุ่งพล่าน แต่รวดร้าวในขณะเดียวกัน เป็นเหมือน anthem ของวัยรุ่นที่งดงามและเจ็บปวด
การฟัง The New Abnormal ทำให้นึกถึงวันวานที่กีตาร์แบนด์ยังรุ่งโรจน์ ในคืนวันศุกร์ เสาร์ ที่เราไปรวมตัวกันในบาร์เล็ก ๆ วัยรุ่นประหลาด ๆ กลุ่มนึงกระโดดโลดเต้นไปบนพื้นชุ่มฉ่ำด้วยเบียร์ กับเพลงที่ไปแบ่งให้ใครฟังก็คงไม่สนใจ มีแต่พวกเรากันเองที่เมื่อเสียงเพลงอันคุ้นเคยดังขึ้น เราก็พร้อมจะกู่ร้องด้วยกันราวกับนั่นคือคำสอนของศาสดา เป็นเพลงชาติแห่งความเยาว์วัย และเมื่อเพลงสุดท้ายจบลงก็ได้พบว่า The Strokes ได้นำเอาช่วงเวลาอันสดชื่นนั้นกลับมาทำให้สดใหม่ แปลกประหลาด และมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
รับฟังเพลงทั้งหมดได้แล้ว ที่นี่