The Clash the only band that matters

Article Import

5 สิ่งที่เราอยากเล่าเกี่ยวกับ The Clash — The Only Band That Matters

  • Writer: Malaivee Swangpol

ถ้า Joe Strummer ฟรอนต์แมนแห่ง The Clash ยังมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ เขาจะมีอายุ 67 ปีบริบูรณ์​ แต่ด้วยโรคหัวใจที่พรากชีวิตเขาไปก็ทำให้เราได้แต่จดจำเขาผ่านผลงานเพลงที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการพังก์ไปตลอดกาล วันนี้เรารำลึกถึงเขาผ่านเรื่องราวสนุก ๆ เกี่ยวกับ The Clash 5 เรื่อง ที่คุณอาจยังไม่รู้

Happy Birthday Joe Strummer The Clash

Fighting Racism

ตั้งแต่เพลงแรก White Riot ของวงก็พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นและสีผิว ซึ่งความตั้งใจของวงคืออยากให้วัยรุ่นผิวขาวใส่ใจกับการกดขี่โดยรัฐบาลที่คนผิวสีโดนมาตลอด โดยเพลงนี้วงได้แรงบันดาลใจจากการไปร่วมการเดิน Notting Hill Carnival เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1976 ซึ่งเป็นพาเหรดของคนผิวสีชาวอังกฤษเชื้อสายแคริบเบียน แต่จากความสนุกสนานก็กลายเป็นจลาจลเนื่องจากตำรวจถูกทำร้ายหลังจากจับโจรล้วงกระเป๋า ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บกว่า 100 คน และผู้เข้าร่วมงานอีกกว่า 60 คน ซึ่งความวุ่นวายนั้นก็มีชนวนมาจากจากความบาดหมางเรื่องสีผิวทั้งวัยรุ่นผิวสีกับเจ้าหน้าที่ผิวขาว ซึ่งในวันนั้น Strummer, Paul Simonon (มือเบส) และ Bernie Rhodes ผู้จัดการก็อยู่ด้วย ทำให้วงเขียนเพลงนี้และเอาภาพจากการจลาจลมาใส่เป็นปกหลังของอัลบั้ม ซึ่งนอกจากเพลงนี้ ในหลาย ๆ เพลงของพวกเขาก็ยังพูดถึงเรื่องชนชั้นล่างและความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ มาตลอด นอกจากนี้ในปี 1978 พวกเขายังเล่นคอนเสิร์ต Rock Against Racism ซึ่งสนับสนุนให้คนทุกเชื้อชาติมารวมตัวกันด้วยพลังของดนตรี และไม่แบ่งแยกเชื้อชาติกัน

Black man gotta lotta problems
But they don’t mind throwing a brick
White people go to school
Where they teach you how to be thick

Experimental Rock

พวกเขาวงที่ไม่เคยหยุดอยู่แค่พังก์ร็อก พวกเขาเป็นแฟนเพลงเรกเก้ตัวยงโดยคัฟเวอร์เพลง Police and Thieves ของศิลปินเร็กเก้ Junior Murvin ตั้งแต่อัลบั้มแรก หรืออย่างเพลง Complete Control ที่แต่งด่าค่ายเพลง CBS ซึ่งเอาเพลงออกจากอัลบั้มโดยไม่บอก ก็โปรดิวซ์โดย Lee ‘Scratch’ Perry โปรดิวเซอร์สายดั๊บแห่งยุค 70s และ (White Man) In Hammersmith Palais ก็เกี่ยวกับการที่ Strummer ไปเที่ยวผับเร็กเก้ยันเช้า ซึ่งพาร์ตดนตรีก็ได้รับอิทธิพลเร็กเก้มาเต็ม ๆ ส่วนอย่างวัฒนธรรมใหม่ในยุค 80s อย่างแร็ปและฮิปฮอป The Clash ก็ได้รับมาตอนที่พวกเขาไปอัดเพลงที่ Electric Lady Studios ใน New York ซึ่งทั้งวงโดยเฉพาะ Mick Jones (มือกีตาร์) ก็ตกหลุมรักเพลงฮิปฮอปมาก ๆ จนถือวิทยุไปทั่ว ทำให้เกิดเพลง Lightning Strikes (Not Once But Twice), The Magnificent Seven ฯลฯ ในอัลบั้ม Sandinista! ขึ้นมา ซึ่งนี่คือครั้งแรกที่มีวงร็อกมาแต่งเพลงแร็ป รวมถึงยังเป็นครั้งแรกที่คนผิวขาวร้องเพลงแร็ปอีกด้วย โดยนอกจากเรกเก้และฮิปฮอปที่ยกตัวอย่างแล้ว พวกเขายังเคยทำเพลงทั้งสายฟังก์ แจ๊ซ กอสเปล rockabilly โฟล์ก ดั๊บ r&b คาลิปโซ ดิสโก้ นิวเวฟ ฯลฯ

Anti-Violence

Clash 21051980 12 800.jpg

ขึ้นชื่อว่าเป็นวงพังก์ ก็มักจะมาคู่กับการก่อเรื่องยุ่ง ๆ ต่อยตี แต่จริง ๆ แล้ว The Clash ไม่ยินดีกับเรื่องความรุนแรงเลย โดยครั้งหนึ่ง Strummer เคยใช้กีตาร์ทุบผู้ชมคนนึงที่มีพฤติกรรมรุนแรงต่อผู้อื่น ทำให้ Strummer โดนจับ เขาเลยเข้าใจแล้วว่าการใช้ความรุนแรงสู้ความรุนแรงนั้นไม่มีประโยชน์เลย หลังจากนั้นเขาเลยเลิกการใช้ความรุนแรงเด็ดขาด “ผมคิดว่าผู้คนควรรู้ว่าเราต่อต้านฟาสซิสม์ ต่อต้านความรุนแรง และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ เราไม่เห็นด้วยกับการเพิกเฉยทั้งปวง” Strummer เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของ The Clash นอกจากนี้การไม่เห็นด้วยกับลัทธิสุญนิยม (Nihilism) และการแยกตัวจากสังคม ก็ทำให้พวกเขากลายเป็นตัวแปลกแยกในวงการพังก์ยุค 70s

Triple album for the price of one!

ด้วยความบ้าพลัง วงเคยทำ Double Album (ความยาวสองแผ่นไวนิล) และ Triple Album (ความยาวสามแผ่นไวนิล) กับอัลบั้ม London Calling และ Sandinista! ตามลำดับ แต่ก็ยืนยันกับค่าย CBS ว่าต้องขายในราคาอัลบั้มเดี่ยวเพื่อแสดงจุดยืนว่าพวกเขาต่อต้านเรื่องแรงจูงใจจากกำไรในวงการดนตรี ทำให้วงเสียรายได้จากสองแสนอัลบั้มแรกที่ขายได้ ทำให้กว่าพวกเขาจะคืนทุนก็สามปีต่อมาเลยทีเดียว นอกจากอัลบั้มแล้ว ราคาบัตรคอนเสิร์ตไปจนถึงสินค้าที่ระลึกของวงก็ต้องขายในราคาที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

The Only Band That Matters

สโลแกนที่ติดตัววงตลอดไป โดยในตอนแรกที่ทางค่ายคิดในปี 1979 ตอนปล่อยอัลบั้ม London Calling แล้วนำออกมาใช้ก็ฟังดูเกินจริงไปหน่อย ทางวงก็ฟังแล้วเขิน ๆ แถม Strummer ก็ไม่ค่อยชอบใจนักเพราะพังก์ควรเป็นของทุกคน ไม่ควรมีใครมาจำกัดความแบบนี้ แต่หลังจากผ่านมาจนถึงปีที่ 43 นับตั้งแต่โลกรู้จัก The Clash ก็คิดว่าเป็นสโลแกนที่ไม่ผิดนักกับการเป็นหัวหอกในหลาย ๆ ด้านมากมายเกินที่วงพังก์ร่วมรุ่นหลาย ๆ วงไปมาก ตามที่เราเล่าไปด้านบน และยังส่งอิทธิพลให้วงการดนตรีจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราก็เชื่อว่าสำหรับแฟน ๆ The Clash ทุกคนก็น่าจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับคำ ๆ นี้ต่อไปอีกแล้วล่ะ

 

อ่านต่อ

การมาเยือนไทยของ The Clash ในปี 1982 กับที่มาสุดป่วงของปกอัลบั้ม Combat Rock ที่ต้องพัวพันกับพระสงฆ์!

 

อ้างอิง

White Riot White Riot Sandinista! 10 of the best Strummer calling 50 Things You Never Knew AboutThe Clash. Joe Strummer, Terrorist? Joe Strummer ‘The only band that matters’ remembers 40 Years Later, Still the Only Band That Matters How They Became ‘The Only Band That Matters’

Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่