ฟัง Xavier Boyer จาก Tahiti 80 เล่าเบื้องหลังอัลบั้มล่าสุด Sunsh!ne Beat Vol. 1
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Saind Pradthana
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแฟนชาวไทยก็ได้ดูโชว์สด ๆ จากวงอินดี้ป๊อปฝรั่งเศส Tahiti 80 ที่ห่างหายจากโชว์รอบล่าสุดในบ้านเราไปประมาณ 10 ปีได้ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ของพวกเขาก็มีสตูดิโออัลบั้มชุดล่าสุด Sunsh!ne Beat Vol. 1 ปล่อยออกมาพอดี เราเลยชวนพี่ Xavier Boyer ฟรอนต์แมนของวงมาคุยถึงที่มาที่ไปของอัลบั้มนี้แบบลงลึกกันเลย
ช่วยเล่าเกี่ยวกับ Sunsh!ne Beat Vol. 1 ให้ฟังหน่อย
มันเริ่มมาจากการ re-issue เมื่อสามปีที่แล้วในอัลบั้ม Puzzle ซึ่งเป็นงานชุดแรกของเรา เป็นครั้งแรกที่พวกเราย้อนกลับไปมองการทำงานที่ผ่านมา แล้วเราก็ได้เล่นโชว์ของชุด re-issue บ้าง เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เล่นเพลงพวกนั้นอีกครั้งทั้งที่เวลาผ่านมาเกือบ 20 มาแล้วแน่ะ บางเพลงเนี่ยแทบจะหายไปจากเซ็ตลิสต์ใหม่ ๆ ของพวกเราเลย มันก็เลยน่าสนใจที่เราได้เชื่อมต่อกับตัวเองตอนที่ยังเด็กกว่านี้ คือมันมีความซื่อ ๆ อยู่แต่ไม่ถึงขั้นอ่อนต่อโลกนะ แล้วมันก็มีความสดมาก ๆ ในการเขียนเพลงเพราะทุกอย่างมันใหม่สำหรับเราเพราะเพิ่งทำวงกัน เราก็อยากจะเขียนเพลงที่มีผลกระทบกับคนฟังโดยตรง แต่หลังจากนั้นเราก็ยังเขียนเพลงป๊อปอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการสื่อสารมัน ซึ่งผมก็อยากจะทำอะไรแบบนั้นอีกครั้งอย่างเช่นการเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังมีความเป็นเพลงแบบ Tahiti 80 อยู่ เช่นทางคอร์ด หรือความซับซ้อนในเพลง ซึ่งมันไปช่วยเสริมให้ซาวด์ในอัลบั้มนี้เป็นแบบนั้น แล้วผมก็ทดลองเขียนจากวัตถุดิบใหม่ ๆ อย่างการใช้ sampling จากงานที่ผมชอบ อย่างบางช่วงบางตอนในเพลงของ Camera Obscura แล้วก็สร้างซาวด์ใหม่ ๆ ขึ้นมาหุ้มมันไว้อีกที มันก็ดูเป็นที่ทางใหม่ ๆ ของเรา
และเมื่อไหร่ที่มีคนถามว่าเรากำลังทำเพลงแบบไหนกันอยู่ ก็มีคำว่า ‘sunshine beat’ โผล่ขึ้นมาในหัวของผม มันเป็นส่วนผสมของ sunshine pop กับพวกเพลงที่มีจังหวะอย่าง big beat จากยุค 90s แต่มันก็มีความเป็นเพลงร่วมสมัยอยู่ไม่ใช่แค่ดึงมาแต่เพลงยุคเก่า ก็เลยเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มและคอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คำนี้มันผุดมาตอนที่เราเริ่มทำงานชุดนี้กันแรก ๆ เพราะตอนที่ทำเพลงในสตูดิโอเราก็จะคุยกันว่า ‘อันนี้มัน sunshine beat พอหรือยัง’ หรือ ‘เพลงนี้มันไม่ sunshine beat เลยว่ะ’ ดังนั้นแล้วคำนี้มันเลยกลายมาเป็นการอธิบายเพลงของ Tahiti 80 ผมคิดว่าเราทำเพลงประมาณนี้กันมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไอเดียคือเราพยายามจะไปให้สุดทางของมัน เพราะจริง ๆ แล้วเราก็ทดลองอะไรอยู่เรื่อย และปกติเราจะไม่ทำอัลบั้มที่มีเพลงเยอะจนเกินไป อย่างอันนี้เรากำหนดเลยว่าชุดนี้จะมี 10 เพลงนะ
เนื้อหาก็ยังเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์เหมือนงานก่อน ๆ
ใช่ครับ ผมพยายามจะเขียนถึงลมฟ้าอากาศแต่ก็ทำไม่ได้ พวกเพลงประท้วงอะไรงี้ก็อยากเขียนนะ แต่ผมคิดว่าตอนนี้คุณตื่นมาแล้วต้องคอยภาวนาให้สงครามโลกไม่เกิดขึ้น อะไรหลายอย่างในอเมริกาหรือประเทศต่าง ๆ มันวุ่นวาย ไม่มั่นคงแค่อ่านข่าวก็หดหู่แล้วครับ ผมเลยคิดว่าถ้าเราทำเพลงที่เป็นแง่บวกมาก ๆ อาจจะเป็นแค่ซาวด์เพลงที่ทำให้คนมีความสุขก็พอ เราแค่ต้องการเพลงที่ปลอบประโลมจิตใจ ผมก็เชื่อว่านี่คือหน้าที่ของพวกผมที่จะทำอะไรแบบนั้นออกมา เลยคิดว่ามาทำอัลบั้มที่จะทำให้คนฟังมีความสุข ทำให้คนอยากเต้นหรือเป็นแรงกระตุ้นจิตวิญญาณเขาดีกว่า
รู้สึกยังไงเวลามีคนบ่นหรือเบื่อเพลงรัก หรือชอบบอกว่าเพลงป๊อปทำกันได้ง่าย ๆ
ผมว่าจริง ๆ มันก็ทำง่ายนะ แต่เพลงที่ดีมันทำยากไง มันมีเพลงอยู่แค่สองประเภทเท่านั้นแหละ เพลงดีกับเพลงห่วย
ผมว่าตอนนี้สถานะของเพลงมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วคุณอาจจะต้องขุดหาเพลงมาฟังจากร้านขายซีดี หรือต้องรอให้เพื่อนแนะนำเพลงเจ๋ง ๆ ให้คุณ บางคนทำ mixtape หรือไรต์แผ่นให้ แต่ตอนนี้แค่คุณไปร้านเสื้อผ้าหรือไปห้างเขาก็เปิดเพลงอินดี้แล้วอะ มันเป็นอะไรที่ดีแหละที่แทบทุกที่มีเพลงพวกนั้น แต่ผมคิดว่าบางทีมันก็ทำให้คนเบื่อ เมื่อก่อนมันมีกระบวนการเคลื่อนไหวทางดนตรี แต่ตอนนี้มีแต่ฮิปฮอปหรือ r&b ร็อกหรืออินดี้มันไม่ได้บูมแบบแต่ก่อนแล้ว บางทีก็เฉพาะกลุ่มมากหรือเด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็ไม่ชอบ ซึ่งผมว่ามันเปลี่ยนไปมากนะ แม้แต่เดี๋ยวนี้คุณมีมือถือที่สามารถเขียนเพลงขึ้นมาจากตรงนั้นได้ บางทีผมก็ทำเพราะคิดว่ามันเจ๋งดี คุณสามารถทดลองอะไรต่าง ๆ ได้จากในนั้น ลองจิ้มบีตดูก่อนไรงี้ คือมันสร้างแรงบันดาลใจเหมือนกัน เมื่อก่อนเพลงเป็นอะไรที่ค่อนข้างเฉพาะตัว หรือคุณต้องอยู่ในห้องร่วมกับคนอีกหลายคนเพื่อแจมกันจนได้เพลงขึ้นมาเพลงนึง แต่ตอนนี้คุณอยู่คนเดียวแล้วทำเพลงขึ้นมาจากคอมเครื่องเดียวหรือมือถือของคุณก็ได้ ซึ่งนั่นมันทำให้เพลงดูน่าสนใจน้อยลง หรือแม้แต่สมัยนี้ก็ต้องยอมรับว่าการทำเงินจากเพลงเป็นเรื่องยากนะครับ ทั้งด้วยการมีอยู่ของสตรีมมิงและการละเมิดลิขสิทธิ์ ตอนนี้คนฟังเป็นผู้บริโภคมากกว่า คือเขาสามารถเลือกฟังอะไรก็ได้ แต่ผมว่ามันอาจจะแค่ในระยะนี้ อีกสองสามปีเพลงอินดี้อาจจะกลับมาเป็นที่นิยมในพวกเด็กรุ่นหลัง หรือแม้แต่ตอนนี้คนในสายงานสร้างสรรค์ก็ไปสนใจอะไรอย่างอื่นนอกจากเพลง สองสามปีก่อนคุณอาจจะอยู่ในวงดนตรี แต่เดี๋ยวนี้เขาอาจจะไปทำงานออกแบบ ทำเสื้อผ้า หรือไปทำอาหารแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่ Tahiti 80 ยังอยู่ตรงนี้ครับ (ยิ้ม)
เพลงของคุณได้แรงบันดาลใจจากดนตรีฟังก์มาเยอะเหมือนกัน ทำไมถึงชอบ และคิดว่านี่เป็นยุคที่ดนตรีฟังก์กลับมาอีกหรือเปล่าเพราะหลาย ๆ วงก็ได้อิทธิพลมาจากตรงนี้
ครับ หลาย ๆ วงดนตรีผิวขาวได้อิทธิพลมาจากแจ๊สผสมกับร็อกนะ มันเหมือนกับเป็นช่วงที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมา อย่างตอนที่เราเริ่มทำ Tahiti 80 เราเป็นวงอินดี้ร็อก กีตาร์แบนด์จ๋า ๆ เลย แต่ตอนเราเด็ก ๆ เราชอบ The Beatles, Michael Jackson, Slime, Manifesto แต่ก็ชอบเพลงโซล Motown ด้วย แต่ตอนที่เราทำวงแล้วร้านที่ไปเล่นในฝรั่งเศสเราก็จะเจอแต่วงที่ร้องเป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนใหญ่เป็นเพลงร็อกจ๋า ๆ แต่พอเป็นวงเรานี่เหมือนไม่มีใครเก็ตเท่าไหร่เพราะเราเล่นอินดี้ร็อก ยกเว้นแต่ตอนที่เราเข้าท่อนกรูฟเงี้ย เราเลยคิดว่าหรือว่าเราต้องทำเพลงที่ติดกรูฟ แต่ก็มีเมโลดี้หรือซาวด์แบบ Tahiti 80 ไปวะ ก็คือมันเริ่มได้ไอเดียมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วครับ
เรารู้สึกว่าเรื่องของเพลงมันเกี่ยวกับซาวด์ จังหวะ ทำนอง ถ้าเรามีกรูฟหรือเมโลดี้ที่ดีคนก็จะชอบมัน แต่ความคิดนี้ก็เป็นอะไรที่ปัจเจกมากครับว่าอะไรคือเมโลดี้ที่ดี อะไรคือกรูฟที่ดี ผมคิดว่าตอนนี้คนใช้คอร์ดแบบแจ๊ส หรือคอร์ดที่ซับซ้อนกันมากขึ้น มีการพัฒนาทางคอร์ด ซึ่งเป็นอะไรที่เจ๋งครับ คือเราก็เปิดรับเทรนด์ใหม่ ๆ นะ แต่เราก็คงจะยึดดนตรีในแบบของเรา อยากเก็บความเป็นเราไว้ด้วย คงไม่เปลี่ยนตามของใหม่ไปในทันทีครับ
กว่าเราจะทำเพลงใหม่ ที่ผ่านมาเราใช้เวลาเยอะมากในการฟังเพลงของคนอื่นเพราะเราก็เป็นแฟนเพลงของวงเหล่านั้น ซึ่งเราก็อยากจะทำดนตรีเองได้บ้าง จากที่เป็นคนอยู่นอกวงการก็กลายมาเป็นนักดนตรีที่จะได้สนุกกับการเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แล้วตอนที่เราทำเพลงเราก็อยากจะทำซาวด์ที่ไม่เหมือนใคร ผมคิดว่าหลาย ๆ วงอย่าง The Clash แต่ละอัลบั้มเขาก็มีซาวด์ใหม่ ๆ หรือมีการทดลองกับสิ่งต่าง ๆ ค้นพบเร็กเก้ ดิสโก้ ฟังก์นิดหน่อย combat rock นิดหน่อย พวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งที่ต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วพอเราได้ฟังอัลบั้มที่ออกมาก็บอกได้ว่านี่คือ The Clash ผมคิดว่าพวกเราเข้าใจอะไรแบบนี้เร็วกว่าคนอื่น ตราบใดที่ผมมีเสียงที่เฉพาะตัว จากแค่พูดก็รู้แล้วว่าไม่เหมือนคนอื่น คุณก็ยังสามารถฟังเพลงของพวกเราได้โดยที่รู้ว่านั่นคือผมที่กำลังร้องอยู่ เราพบว่าเราแค่ต้องมีเอกลักษณ์ แล้วก็ทำมันออกมาจากใจ คุณก็จะรู้สึกว่านั่นมีความออริจินัลในตัวละ… อันนี้ไม่ได้วางแผนมาว่าจะตอบแบบนี้นะ แต่คือผมให้สัมภาษณ์มาหลายเจ้า แล้วก็ใช้เวลาพอสมควรในการวิเคราะห์เพลงของตัวเองจนพบว่านี่คือวิธีการทำงานของเรา แต่มันไม่ใช่งานที่ออกมาจากไอเดียดั้งเดิม เราคิดว่าทุกอย่างมันคือสิ่งใหม่ มันเป็นวิถีของ Tahiti 80 เวลาเราชอบอะไร เราก็จะเอาแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้นนิดหน่อย แต่เราก็ฉลาดพอที่จะสร้างองค์ประกอบใหม่ ๆ มันเลยซาวด์ไม่เหมือนว่าเราไปเอาของเขามาทั้งดุ้น มันมีความเป็นเรา อย่างในชุดแรกที่มีความไซคีเดลิกนิดหน่อย คือเราชอบเพลงแทบจะทุกประเภทแต่ไม่ได้แปลว่าเราเล่น LSD ตลอดเวลา (หัวเราะ) อันนั้นเหมือนกับเราใช้เวลา 3 ชั่วโมงแจมกีตาร์กัน มันดีกับการที่ โอเคคุณมีเพลงป๊อปความยาว 3 นาที แต่ช่วงกลางเพลงมันมีพื้นที่ให้คุณใส่ลูกบ้าเข้าไปได้นิดหน่อย อันนั้นเป็นความไซคีเดลิกที่เราพูดถึงครับ เหมือนเป็นหน้าต่างบานเล็ก ๆ ในเพลงที่เปิดประตูไปสู่อะไรที่ไกลจากเดิมนิดหน่อยแล้วค่อยกลับมาในโลกความเป็นจริงที่สื่อสารตรงไปตรงมา
แล้วทำไมอาร์ตเวิร์กถึงเป็นรูปกีวี่
ผมเป็นแฟนของ The Stone Roses ซึ่งบนปกอัลบั้มเขามีเลมอนถูกไหม ผมคิดเสมอว่านี่เป็นอาร์ตเวิร์กที่เจ๋ง แล้วเวลานึกถึงงานของวงอะ มันคือการที่มือกีตาร์ทำภาพขึ้นมาอันนึงที่คล้ายงานของ Jackson Pollock แต่เขาเอาเลมอนวางลงไปมันเลยกลายเป็นงานอีกชิ้นขึ้นมา ก็เลยคิดว่า เฮ้ย! มันมีผลไม้อะไรที่ยังไม่เคยมีใครใช้ไหมวะ เลยลองกูเกิ้ลหา ‘ปกอัลบั้มที่มีกีวี่’ ก็ไม่เจอ จำได้ว่าตอนนั้นคนที่ทำอาร์ตเวิร์กให้เราลองส่งงานบางส่วนมาให้ก่อน แล้วผมก็ลองทำต่อในมือถือของตัวเองด้วยการถ่ายรูปกีวี่แล้วโฟโต้ช็อปห่วย ๆ ใส่เข้าไปก็คิดว่า เฮ้ย! มันก็พอจะใช้เป็นอาร์ตเวิร์กได้จริงนะ ก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ผมไม่ได้ชอบกีวี่ขนาดนั้น นึกออกปะเวลาไปตลาดก็ซื้อมาเพราะรู้ว่ามันก็ดีต่อสุขภาพ แต่พอจับแล้วมันเป็นลูกกลม ๆ ขน ๆ จับแล้วหยึย ๆ จนผมลืมประโยชน์ของมันไปหมดเลย แต่ผมชอบรสชาติมันนะ แค่ไม่ได้เป็นผลไม้ที่ชอบที่สุด แค่เวลามันผ่าออกมาแล้วหน้าตามันดูดีอะ ยังไม่เคยถูกเอาไปใช้ในงานไหน แถมยังทำให้นึกถึง The Stone Roses ด้วย
ตอนแรกนึกว่าใช้กีวี่เพราะนึกถึงหน้าร้อนซะอีก
ใช่ ๆ คือกีวี่อาจจะดูเป็นผลไม้แปลกพิสดาร แต่จริง ๆ แล้วที่ฝรั่งเศสก็ปลูกกันนะ เวลาหน้าร้อนคนชอบนึกถึงสับปะรด แต่ที่ฝรั่งเศสเราไม่มีสับปะรดไง แอปเปิ้ลก็มีใช้ไปแล้ว หรือถ้าส้มมันก็จะดู The Stone Roses เกินไป กีวี่เลยเหมาะสุดครับ สีเขียวด้วย
อัลบั้มต่อไปจะใช้ชื่อว่า Sunsh!ne Beat Vol. 2 หรือเปล่า
ไม่รู้สิครับ คำว่า ‘sunshine beat’ นี่เราก็ได้คำนี้มาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะทำอัลบั้มเสร็จกันละ แล้วเราก็ใช้เครื่องหมาย ‘!’ เพื่อทำให้มันดูพิเศษขึ้นนิดนึง ทั้งหมดนั่นก็น่าจะดูเจ๋งแล้วนะ แต่ก็อยากให้มันดูลึกลับขึ้นอีกนิดเลยใส่ ‘Vol. 1’ เข้าไปด้วย คนจะได้คิดว่ามันเป็นอัลบั้มรวมเพลงหรือเปล่า หรือบางทีเราอาจจะทำ Vol. 2 จริง ๆ หรืออาจจะไม่ทำ Vol. 2 แล้วข้ามไป Vol. 3 เลยก็ได้ แค่ทำให้มันรู้สึกว่า เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้นกับ Vol. 2 วะ (หัวเราะ) ซึ่งมันดีครับที่ทำให้ดูลึกลับเข้าไว้ คุณไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่างกับคนตรง ๆ เวลาคุณนึกอะไรขึ้นมาได้จะได้ดูน่าสนใจ… ไม่รู้สิครับ ถ้า Vol. 1 อันนี้เวิร์กเราก็อาจจะทำ Vol. 2 แต่ถ้าไม่เราก็คงเปลี่ยนไปใช้คอนเซ็ปต์อื่น
ชอบเพลงไหนที่สุดในชุดนี้
ผมชอบ Hurts เพราะว่ามันเล่าเรื่องที่สำคัญสำหรับผม แล้วก็การอัดเพลงมันเริ่มจากการนึกถึงเพลง The Ballad of Chicken Soup ของ Carol King แล้วเราก็ลองหั่นเพลงนั้นออกมาเป็นส่วน ๆ ผมอัดเสียงร้องเพลงนี้ตอนเช้าหลังจากที่เราไปเล่นโชว์กันมาดึกมาก ๆ เพราะรู้สึกว่าเพลงนี้น่าจะเหมาะกับเสียงที่เหมือนคุณเพิ่งลุกจากที่นอนมาร้องอะ เสียงของผมในเพลงนี้มันจะไม่ได้แหบขนาดนั้น แต่มันดูเหมือนเต็มไปด้วยอารมณ์บางอย่าง แล้วเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นในสตูดิโอที่เราทำงานเข้าไปในเพลง ซึ่งผมก็ชอบมัน บางทีคุณไม่รู้หรอกว่าต้องทำอะไรมันถึงจะออกมาดี แต่พอดีว่าจังหวะมันประจวบเหมาะกันตอนนั้นในแบบที่คุณคาดไม่ถึงก็เลยทำให้ผมชอบเพลงนี้มาก ๆ
เราจะได้เจออะไรในพิพิธภัณฑ์เสียงของคุณ (Sound Museum เป็นชื่อเพลงในอัลบั้ม Sunsh!ne Beat Vol. 1)
คุณจะได้พบกับกลองชุดแรกของ Ringo Starr หรือไม่ก็เปียโนตัวแรกของ Brian Wilson ที่เขาเริ่มเขียนเพลงที่บ้าน อาจจะมีกีตาร์ 12 สาย Roger McGuinn จากวง The Byrds หรือซินธิไซเซอร์ของ Kraftwerk ดรัมแมชชีนของ New Order หรือ mixing board รุ่นเก่าที่ Elvis Presley ใช้ในอัลบั้มแรก ๆ ที่มันมีแค่ตัวปรับ 2-3 ช่อง ผมจะจัดแสดงเครื่องดนตรีของศิลปินเก่ง ๆ ไว้ที่นี่ มันอาจจะดูเหมือน Hard Rock Cafe แต่เจ๋งกว่า กีตาร์อาจจะน้อยกว่า… คือผมชอบกีตาร์นะ แต่ว่าจะมีพวกดรัมแมชชีนถูก ๆ ที่คุณไม่คิดว่าคนดัง ๆ เขาจะใช้กันอยู่ในนี้ด้วย นี่แหละถึงจะเป็นพิพิธภัณฑ์เสียงของผม มันจะเกี่ยวกับดนตรีทั้งหมด
จะเก็บค่าเข้าเท่าไหร่
ถ้าผมมีของทุกอย่างที่ว่ามานี่แปลว่าผมต้องรวยมาก (หัวเราะ) งั้นผมจะให้เข้าฟรี แต่คุณต้องทำแบบทดสอบให้ผ่านก่อนถึงจะเข้าได้ ความคิดดีมั้ยล่ะ
แล้วใครเป็นผู้มีอิทธิพลในการฟังเพลงของคุณ
ผมอ่านนิตยสารเพลงเยอะครับ ก็จะได้เจอศิลปินใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก แต่เดี๋ยวนี้ผมมีเพื่อนที่ชอบบอกว่า ‘เฮ้ย! อันนี้เจ๋งนะ มึงลองไปฟัง’ เพราะเวลาผมอ่านข่าวออนไลน์ที่พูดถึงวงนั้นวงนี้ ผมก็ลองไปฟังดู มี 60-80% ที่ผมจะไม่ค่อยชอบวงที่เขาเชียร์ แต่บางทีก็มีอะไรดี ๆ บ้าง ตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาเข้าสตรีมมิงอย่าง Spotify มันจะมีเพลงที่คุณไปกดไลก์ไว้ แล้วข้าง ๆ มันจะมีขึ้นว่า วงที่คล้ายกันกับที่เราชอบแล้วมีคนอื่น ๆ ที่ชอบ เราก็เข้าไปตามฟังตรงนั้นเหมือนได้สำรวจอะไรใหม่ ๆ ซึ่งหลายครั้งมักจะเป็นการค้นพบเจ๋ง ๆ แต่ส่วนตัวผมเองจะชอบการอ่านเจอหรือรอคนแนะนำมามากกว่า เพราะจริง ๆ ผมก็สามารถนอนอยู่บ้านแล้วฟังอัลบั้ม The Beatles ทั้งวันก็ได้ แต่ผมก็อยากรับรู้อะไรใหม่ ๆ ด้วย
เวลาพูดถึง French pop คนจะนึกถึง Tahiti 80 เป็นวงแรก ๆ ช่วยอธิบายหน่อยว่ามันต่างจากป๊อปอื่น ๆ ยังไง
มันเคยเป็น French ที่เป็นเพลงอิเล็กทรอนิก แต่พอมาเป็น French pop เวลาคุณนึกถึงมันก็จะมีแค่ไม่กี่วงอย่างเราหรือ Phoenix นอกจากนี้มันก็มี Swedish pop ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นแค่วิธีจำแนกจากภาษาที่เราร้อง French pop มันน่าจะเป็นแบบ… เราเป็นคนฝรั่งเศสแต่ร้องเป็นภาษาอังกฤษ มันอาจจะไม่ได้มีซาวด์เหมือนวงอเมริกันหรืออังกฤษ แล้วเราก็ไม่มีประวัติศาสตร์ดนตรียาวนานแบบที่วงบริตร็อกมี ผมจำได้ว่าตอนนั้นเราไปไนต์คลับในอังกฤษแล้วพวกเขาเล่นแต่เพลงวงอังกฤษอะ เล่นแต่ The Jam, Franz Ferdinand, The Kinks, Radiohead, Supergrass แล้วผมก็รู้สึกว่า มันค่อนข้างยากนะเวลาที่เรายังเป็นวงเด็ก ๆ ที่ชอบเพลงพวกนี้แล้วจะทำเพลงแบบนี้ เราได้รับแรงกดดันมหาศาล ยิ่งตอนที่ทำวงใหม่ ๆ มันแทบจะไม่มีวงฝรั่งเศสที่ร้องเพลงภาษาอังกฤษเลยในบ้านเรา แต่ขณะเดียวกันมันก็ง่ายที่ทั้งเราและ Phoenix ได้การนำเสนอตัวเองกับคนฟังทั่วโลก แล้วด้วยความที่เราไม่มีวัฒนธรรมดนตรีแบบนั้นมาแต่แรก เราเลยดึงองค์ประกอบบางอย่างจากอเมริกันอินดี้ หรือแม้แต่สวีดิชป๊อป เรารัก The Cardigans เราเลยผสมอะไรแบบนั้นเข้าไป ดังนั้น French pop มันน่าจะหมายถึง คนฝรั่งเศสที่ทำเพลงของตัวเองโดยได้แรงบันดาลใจจากวงอังกฤษและอเมริกัน แต่มีเซนส์ของความเป็นฝรั่งเศสอะ คุณจะบอกได้ว่าในการเรียบเรียงเพลงของเรามันจะมีความกรูฟกว่าชาวบ้านในแบบของเพลงป๊อปฝรั่งเศส แล้วมันก็จะต่างจากต้นฉบับพอสมควรเพราะเรามีอิสระในการนำเสนอ เราพยายามสร้างซาวด์ใหม่ ๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มี นี่ก็คงจะเป็นคำจำกัดความของมันครับ
อะไรคือคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เคยได้รับในฐานะนักดนตรี
ผมไม่แน่ใจว่ามีคนเคยให้คำแนะนำผมหรือเปล่า แต่ส่วนมากเขาเชื่อใจผมไม่ก็ยอมให้ผมทำในสิ่งที่ต้องการอยู่เสมอ ๆ ผมหวังว่าคนจะบอกผมว่า ‘อย่าเสียใจในสิ่งที่คุณได้ทำ’ …ไม่รู้สิผมดีใจมากที่ไม่มีคนมาให้คำแนะนำผม เพราะการยึดกับคำแนะนำขนาดนั้นมันทำให้คุณเริ่มเป๋และเริ่มไม่แน่วแน่กับความคิดของตัวเอง ดังนั้นถ้าทุกอย่างมันไปได้สวยอยู่แล้ว คุณก็อย่าไปขัดเขาเลย คือก็มีหลาย ๆ คนที่ให้คำแนะนำที่เป็นมิตรกับผมนะ แต่ไม่ได้บอกให้ทำอย่างนั้น ให้ใช้เสียงแบบนี้ ผมทำงานแต่กับคนที่เชื่อว่าผมทำสุดกำลังความสามารถ นั่นเลยทำให้ผมกล้าถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาได้มาก
ฝากอะไรถึงแฟน ๆ หน่อย
เป็นเวลานานมากแล้วที่ไม่ได้เจอกัน เราได้ไปเล่นในหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกับที่ญี่ปุ่นซึ่งค่อนข้างต่างจากที่อื่น อันที่จริงทุกประเทศในเอเชียก็ต่างกันหมดแหละ แต่ครั้งแรกที่เราได้ไปเล่นที่เอเชีย นอกประเทศญี่ปุ่น ก็มีที่ไทยเนี่ยแหละที่เรายังจำความรู้สึกครั้งแรกที่มาเล่นได้ น่าจะเกิน 10 ปีแล้วที่เราได้รับข้อความจากแฟน ๆ เนี่ยแหละ ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีคนรู้จักเพลงของเรา และทุกคนดูอยากเจอเรามาก ทุกคนเป็นแฟนตัวยงของพวกเราในยุคนั้น ซึ่งตอนมาถึงเราก็คิดว่าจะได้เล่นให้คนดูแค่หยิบมือ แต่ไป ๆ มา ๆ คือมีคนเยอะมาก ทุกคนตื่นเต้น แล้วเราก็รู้สึกถึงความรักจากพวกคุณ เราได้รับความรู้สึกจากแฟนที่อยู่นอกยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เป็นความรู้สึกที่ดีมาก และดีใจครับที่เราได้กลับมาอีกครั้ง เราคิดถึงการได้มาเล่นที่นี่ มาครั้งนี้ก็จะได้มารู้จักกับแฟนเพลงใหม่ ๆ แต่อันที่จริงอาจจะดีกว่านะถ้าเราไม่ได้กลับมาบ่อย ๆ เพราะคนจะเบื่อ คุณอาจจะรู้สึกว่า ‘โอ๊ะ มาอีกละ โชว์ไม่มีความพิเศษแล้ว’ แต่เราก็ยังอยากจะกลับมาอยู่ดีครับ