‘Mother Earth’s Plantasia’ อัลบั้มอิเล็กโทร psychedelia จากยุค 70s ที่ควรเปิดให้ต้นไม้ฟัง (?)
- Writer : Montipa Virojpan
- Visual Designer: Tas Suwanasang
มีช่วงนึงที่เราสนุกมาก ๆ กับการสุ่มค้นหาเพลงใน YouTube น่าจะประมาณปี 2012-2014 มั้ง เป็นยุคที่เราชื่นชอบเพลงบรรเลง ambient, chill wave เป็นพิเศษ ทำให้บ่อยครั้งเหลือเกินที่ algorithm พาเราไปเจอกับเพลงบรรเลงเทือก ๆ นี้ แต่ความน่าทึ่งคือมันไม่ได้มีแค่เพลงร่วมสมัย แต่ยังย้อนไปถึงเพลงแอมเบียนต์สมัยพ่อแม่ยังสาวอยู่บ่อย ๆ และทำให้เพลงเก่าเหล่านั้นกลายเป็นเพลงใหม่ที่เราไม่เคยฟังในบัดดล
หนึ่งในอัลบั้มที่เราเคยฟังในตอนนั้นก็มี Mother Earth’s Plantasia ของ Mort Garson ที่รู้จักผ่านการแนะนำของเพื่อนเราคนนึงที่ชื่นชอบความสวยงามของพรรณไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (ปัจจุบันกลายมาเป็นคนชอบปลูกต้นไม้และดอกไม้เต็มตัว) มันเป็นเพลงที่เปิดโลกเรามาก ๆ เพราะนอกจากจะเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 1976 ที่หลายคนก็น่าจะคิดว่า ‘ยุคนั้นมีอะไรแบบนี้ด้วยหรอเนี่ย!’ ยังเป็นอัลบั้มที่ต้องให้ความสนใจกับมันในฐานะ ‘เพลงที่เอาไว้เปิดให้ต้นไม้ฟัง’ !?
Full of music to play for it and help it grow, like a sonic fertilizer!
เดิมทีอัลบั้ม Mother Earth’s Plantasia จะมีเพียงลูกค้าของร้านขายพรรณไม้ ‘Mother Earth Plant Boutique’ บนถนน Melrose Avenue ที่ Los Angeles ที่จะได้เป็นผู้ครอบครองเท่านั้น เพราะเมื่อคุณซื้อสินค้าจากร้านดังกล่าวก็จะได้อัลบั้มนี้จะแถมฟรีไปด้วย (ช่วงต้นยุค 70s ที่ฝั่ง West coast ของอเมริกาเขาคลั่งปลูก houseplant กันมาก ๆ มีร้านขายต้นไม้อยู่เต็มไปหมด ตอนนี้ที่ไทยก็มีช็อปต้นไม้ออนไลน์ผุดเป็นดอกเห็ดไม่แพ้กัน) ซึ่งคำโปรยบนปกอัลบั้มนี้ก็เป็นอะไรที่น่ารักมาก บอกว่าเป็น ‘warm earth music for plants…and the people that love them,’ โดยหวังว่าเมื่อได้ฟังอัลบั้มนี้ ก็คงรู้สึกชุ่มฉ่ำหัวใจเช่นกันกับต้นไม้ที่พวกเขาบรรจงปลูกจนงอกงาม
ดังนั้นกว่าเด็กรุ่นหลังอย่างเราจะมีโอกาสได้ฟังงานชุดนี้ ก็ต้องฟังผ่านไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ใน YouTube ที่มีมือดีเอามาปล่อย จนเกิดเรื่องน่าดีใจเมื่อปี 2019 อัลบั้ม Mother’s Earth Plantasia ก็ถูกเอามา reissue ใหม่กับค่าย Sacred Bones Record ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นสังกัดของศิลปินไซเคเดลิก ดิบ ๆ เมา ๆ เป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดเราก็ได้สนับสนุนผลงานของศิลปินผ่านแผ่นเสียง และแพลตฟอร์มสตรีมมิงถูกลิขสิทธิ์สักที
กดฟังไป อ่านไป ก็เพลินดีนะ
อัลบั้มนี้ประกอบไปด้วย 10 เพลง ที่บรรเลงไปด้วยซินธิไซเซอร์ Moog กับท่วงทำนองสุดหฤหรรษ์ ราวกับกำลังท่องอยู่ในโลก fantasy sci-fi ในหนัง ‘A Trip to the Moon’ ของ Georges Méliès บางเพลงที่บรรเลงออกมาด้วยเมโลดี้แบบ baroque ชวนหัว ไปจนถึงอิเล็กทรอนิก้าเท่ ๆ หรือบางเพลงก็ได้ฟีลเป็น ‘muzak’ หรือ elevator music รื่นรมย์ใจ เรียกว่าหลากหลายมาก ๆ โดยแต่ละเพลงถูกตั้งชื่อโดยให้มีความเกี่ยวข้องกับต้นไม้ประเภทต่าง ๆ ทั้ง ว่านเศรษฐีเรือนใน (spider plant) พลูด่าง (pothos) philodendron, เฟิร์นก้านดำ (maidenhair) หรือ ต้นลิ้นมังกร (snake plant) และยังมีพวกดอกไม้อีก ทั้ง African violet ดอกเดหลี (Spathiphyllum หรือ peace lily) ดอกบีโกเนีย เหล่านี้เป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกในบ้านทั้งสิ้น ไม่รู้ว่า Mort Garson เขาตีความ หรือได้แรงบันดาลใจอะไรมาจากต้นไม้ต้นนั้น ๆ ยังไงจนทำให้แต่งออกมาเป็นท่วงทำนองเหนือจินตนาการแบบนี้
พูดถึงแต่ตัวอัลบั้มมาตั้งนาน จะไม่พูดถึงคนแต่งเพลงได้ยังไง Mort Garson เป็นโปรดิวเซอร์ดนตรีอิเล็กทรอนิกชาวแคเนเดียน ในช่วงแรกเขาได้ร่วมเขียนเพลงให้กับค่ายเพลงใหญ่ ๆ ในอเมริกาทั้ง Capitol Records, Atlantic Records และโด่งดังจากการทำเพลง easy listening เพลงป๊อป และการอะเรนจ์เพลงดังของ The Beatles และ Simon & Garfunkel ออกมาในรูปแบบ bossa nova
จนเมื่อเขาได้เข้าร่วมการประชุมของสมาคม audio engineering เมื่อปี 1967 เขาได้พบกับ Robert Moog ผู้คิดค้นซินธิไซเซอร์ยี่ห้อ Moog ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของยุคนั้น ต่อมามันก็ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์หลักของ Mort Garson ทำให้เขากลายเป็นผู้บุกเบิกการใช้ซินธิไซเซอร์ Moog คนแรก และความหลงใหลในเครื่องดนตรีใหม่ชิ้นนี้ทำให้เขาถึงกับไม่กลับไปแตะเพลงป๊อปอีกเลย
เขาใช้ Moog ในผลงานหลายอัลบั้ม โดยผสมผสานเอาดนตรีแจ๊ส ซิมโฟนีออเคสตรา ป๊อป (บางทีมีร็อกด้วย) และไซเคเดลิกมารวมไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นซาวด์ sci-fi ชวนพิศวง ผู้คนตื่นเต้นกำสุ้มเสียงแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน จนทำให้เขาเป็นบิดาอิเล็กทรอนิก้าสายคัลท์ไปในบัดดล
อัลบั้มสำคัญ ๆ ของเขาก็มีซีรีส์อัลบั้มชุด Signs Of The Zodiac ที่ออกมาในปี 1969 เป็นเพลงที่ทำให้ฟังกันตามราศี (ออกมาทั้งหมด 12 ชุด!) และ Mother Earth’s Plantasia นี้เองที่เขาจงใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นเพลงไว้ให้ต้นไม้ฟัง เผื่อว่ามันจะได้โตไว ๆ (ไม่มีหลักพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่งให้ด้วยความรักล้วน ๆ) ซึ่งชุดนี้ก็ถือเป็น studio album ชุดสุดท้ายที่เขาทำ นอกจากนี้ เพลงของเขายังถูกนำไปใช้ประกอบการถ่ายทอดสด การลงจอดของ Apollo 11 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึก เมื่อมีมนุษย์เหยียบลงบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก
ไม่น่าเชื่อว่าดนตรีจากยุค 70s รวมถึงวัฒนธรรมการปลูกต้นไม้ในบ้าน จะกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งสำหรับคนในโลกยุคใหม่ แบบที่เขาพูดกันว่า ‘Pets become new kids and plants become new pets.’ ถึงขนาดที่ LA เคยจัดงาน tribute ที่มีทั้งนิทรรศการ คอนเสิร์ต เสวนา และเวิร์กช็อปเพื่อคนรักต้นไม้ และคนหลงใหลวัฒนธรรมกับเสียงดนตรีจากยุคก่อนมาไว้ด้วยกันที่ Ever Present: Mother Earth’s Plantasia เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2019 แน่นอนว่าภายในงานจะมีการเปิดอัลบั้ม Mother Earth’s Plantasia แบบวนลูปด้วย
“พ่อของฉันคงจะดีใจมากถ้ารู้ว่า ในที่สุดก็มีคนเข้าใจ และชื่นชอบผลงานในส่วนนี้ของเขา ทั้งที่ตลอดเวลาการทำงานในเวลาที่ผ่านมากลับไม่มีใครสนใจ” Day Darmet ลูกสาวของ Mort Garson พูดในบทสัมภาษณ์กับทาง Sacred Bones เธอยังบอกอีกว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงในชุดนี้ จากการที่ภรรยาของเขา (แม่ของเธอ) รักการปลูกต้นไม้มาก ปลูกอะไรก็ขึ้น ก็งาม ดังนั้นที่บ้านจะมีต้นไม้และดอกไม้รายล้อมอยู่เสมอ ขนาดพืชพรรณยังทำให้เรารู้สึกอิ่มเอาใจได้ขนาดนี้แล้ว จะดีแค่ไหนถ้ามีเพลงที่ทำไว้สำหรับให้ต้นไม้ได้ฟัง เป็นของขวัญตอบแทนที่พวกเขาสร้างความสวยงามให้กับโลกใบนี้
ใครที่คิดจะลองปลูกต้นไม้ หรือมีกระถางอยู่ตามมุมห้องอยู่แล้ว ถ้าชอบแนวเพลงบรรเลงอิเล็กทรอนิก futuristic, psychedelic ประมาณนี้ก็ลองเอาไปเปิดฟังระหว่างรดน้ำใส่ปุ๋ย ลองดูว่าวันรุ่งขึ้น ต้นไม้ของเราจะแจ่มใสเบิกบานขึ้นกว่าปกติหรือเปล่า
อ้างอิง
Kitschy ’70s L.A. Plant Culture Is Coming Back to Life
Sacred Bones Records
อ่านต่อ
Elevator Music เคยสงสัยไหม ทำไมต้องเปิดเพลงในลิฟต์