Monaural Mini Plug เหล่าคนญี่ปุ่นที่หลงใหลในเสียงพิณแคนของหมอลำ
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Photographer: Monaural mini plug พิณแคนประยุกต์ ญี่ปุ่น – โมโนมินิปลั๊ก
หมอลำเป็นศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่ถูกส่งออกจากไทยไปม่วนกันหลาย ๆ ที่ต่างประเทศ เห็นได้จากความสำเร็จของวงรุ่นพี่อย่าง The Paradise Bangkok Molam International Band ที่พาหมอลำประยุกต์ไปขจรขจายทั่วโลก อีกหนึ่งประเทศที่นิยมชมชอบหมอลำเหมือนกันโดยที่เราอาจไม่รู้ก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่หลงใหลซาวด์ย้อนยุคพื้นบ้านของเรากันอย่างบ้าคลั่ง คนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งที่รักในเสียงพิณและแคนมาก ๆ จึงรวมกลุ่มกันเพื่อฟอร์มวงหมอลำประยุกต์ในแดนปลาดิบเองซะเลย พวกเขาคือ Monaural Mini Plug
จุดเริ่มต้นของวงมาจากการที่สมาชิกวงเจอคลิป ‘Pinpurayuk’ (พิณประยุกต์) บน YouTube จนพบกับความหลงใหลในเสียงแห่งความสุข สนุกตื่นเต้น ดิ้นกันสะบัด เขาเริ่มหัดเล่นด้วยตัวเองจนอยากศึกษาจริงจัง ต้องมาจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อหาครูที่จะสอนเขาเล่นให้เก่งกว่านี้ให้ได้ เมื่อได้มิตรภาพมากมายและเทคนิกการเล่นลำเพลินมาแล้วพวกเขาก็ตั้งใจนำเสียงพิณเสียงแคนกลับไปเผยแพร่ที่บ้านเกิดของตัวเอง หลังจากฝึกฝนและได้ไปเล่นสดตามที่ต่าง ๆ พวกเขาก็ได้เดบิวต์อัลบั้มแรกในชื่อ Samurai Mekong Activity ประกอบด้วยแทร็คอย่าง ลำภูไท ที่เข้าถึงต้นฉบับได้อย่างถ่องแท้ หรือ สวรรค์ ที่ม่วนอีหลี มีการดรอปจังหวะแคนแบบสามช่าที่คนไทยคุ้นเคยกันด้วย
แต่แทร็คสุดท้ายที่น่าสนใจที่สุดชื่อว่า ซามูไรลำเพลิน 2561 ที่มีความยาว 24 นาที อินโทรด้วยเสียงสตาร์ทรถนี่ก็รู้เลยนะคะ มันคือการจำลองการแห่ขันหมากเมดเล่ย์นอนสต็อป เต้นกันให้ตีนแตกไปข้างเลย มีการเร่งจังหวะผ่อนจังหวะไปมาเรื่อย ๆ เพื่อความสนุกต่อเนื่อง ต้องบอกว่าพวกเขาเข้าใจวัฒนธรรมหมอลำพอสมควรเลยทีเดียว
ด้วยความที่ชอบมากจึงลองเข้าไปส่องเพจวงก็พบว่าเขาใช้ภาษาไทยในการโปรโมตควบคู่ไปกับภาษาญี่ปุ่นด้วย เราเลยลองติดต่อไปขอสัมภาษณ์เขาทางอีเมล์ดู เขาก็ยินดีที่จะตอบคำถามเป็นภาษาไทยด้วย! เราก็ชวนเขาคุยถึงที่มาที่ไปของวงทันที
ทำไมถึงหลงใหลดนตรีหมอลำ
ตอนดู YouTube ทำให้พบวิดิโอวงแห่ไทย มันสนุกมาก เล่นนาน ไม่หยุด ก็เลยหลงใหลดนตรีแบบนี้
เรียนพิณแคนมาจากไหน
ตอนเพิ่งเริ่ม เรียนใน YouTube เข้าใจพื้นฐานแล้วไปหานักดนตรีไทยกับลาวโดยเฉพาะวงฅนภูธร (อาจารย์แต๊ก) กับวงสำรวยเสียงแคน สอนให้หลายสิ่ง
แล้ววงมารวมตัวกันได้ยังไง
โนเอรุ (พิณ) กับ ฮิโระ (กลอง) รู้จักและรวมตัวกันประมาณ 8 ปีก่อน ตอนเป็นนักศึกษาในชมรมดนตรีร็อกที่มหาลัย ตอนนั้นเล่นร็อก เริ่มเล่นดนตรีหมอลำประมาน 3 ปีก่อน โทชิโระ (เบส, กีตาร์) กับ อายุมุ (แคน) เข้ามาปีที่แล้ว
แต่ละคนในวงเคยเดบิวต์กับวงอื่นมากันก่อนรึเปล่า
ไม่มีคนที่เคยเดบิวต์
แล้วชื่อวง Monaural Mini Plug มีที่มาหรือความหมายยังไง
ไม่มีความหมายพิเศษ ชื่อตั้งแต่ตอนรวมตัว
ส่วนใหญ่เรียนรู้วัฒนธรรมไทยจากไหน
เรียนจากเพื่อนคนไทย เที่ยวไทย อ่านหนังสือเกี่ยวกับไทย ดูหนังไทย ฟังเพลงไทย ฟังหมอลำทุกวันครับ 555 (FJZ: หัวเราะ 555 ได้แสดงว่าเข้าถึงแล้วครับ)
อยากให้เล่าเบื้องหลังการทำเพลง ซามูไรลำเพลิน 2018 ให้ฟังหน่อย เหมือนมันถอดแบบมาจากขบวนแห่จริง ๆ เลย
เรียนมาจากวงแห่ไทย โดยเฉพาะวงฅนภูธรกับสำรวยเสียงแคน ไปหาเรียนกับ 2 วงนี้บ่อย อยากบันทึกเสียงเพลงยาวเหมือนคนไทยบรรเลง ก็เลยทำ ซามูไรลำเพลิน คนญี่ปุ่นเกือบทุกคนไม่เคยฟังดนตรีไทย ก็เลยอยากแนะนำคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติด้วย อยากทำให้คนที่ฟังรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นดนตรีไทยจริง ๆ แล้วก็ถ้าคนที่ฟังรู้สึกว่าอยากไปไทย เราดีใจมาก
แล้วขบวนแห่ของญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง คล้ายกับของไทยบ้างไหม
มีขบวนแห่แต่น้อยที่ญี่ปุ่น ไม่ก็ขบวนแห่ในงานแต่งงาน บางเมืองมีงานเทศกาลเหมือนขบวนแห่ แบบ มิโกฉิ (神輿) บง โอโดริ (盆踊り) ทุกงานเทศกาลต่างกันแล้วแต่เมือง แล้วก็ส่วนมากปีละครั้ง ใช้เครื่องดนตรี กลอง ปี่ อื่น ๆ แต่ว่าปกติเสียงไม่ดัง
ในเมืองหาฟังเพลงโดยวงสดยาก เรารู้สึกว่ามีนักดนตรีเยอะที่ไทย ที่ญี่ปุ่นต้องเล่นเสียงเบา ๆ ถ้าเล่นดังเหมือนไทย คนมาร้องทุกข์ทันที คนญี่ปุ่นไม่คุ้นเสียงดัง คิดว่ามันจะไม่เปลี่ยนในอนาคตด้วย
กระแสเพลงหมอลำในญี่ปุ่นเป็นยังไง
คนญี่ปุ่นเกือบทุกคนไม่รู้จักและไม่เคยฟังดนตรีไทย แค่คนที่ชอบดนตรีทั่วโลกรู้จักคำ ‘ลูกทุ่ง’ ‘หมอลำ’ แต่ว่าไม่มีคนที่รู้วงแห่แบบเราเล่น แต่ช่วงนี้ดีเจบางคนที่เล่นเพลงไทยออกมา DJ Soi48 เป็นคนแรกที่แนะนำและเล่นหมอลำกับลูกทุ่ง เราเรียนเรื่องเพลงไทยจาก Soi48 ด้วย เขาเขียนหนังสือเกียวกับหมอลำปีที่แล้ว ได้รู้เรื่องเยอะมาก
มีวงดนตรีญี่ปุ่นที่ทำเพลงหมอลำอีกไหม
มีแต่วงเรา
แล้วดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นเป็นยังไง
มินโย (民謡) เป็นเหมือนหมอลำ
มีคนต่างชาตินำดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นไปประยุกต์บ้างไหม
Jah Wobble ทำอัลบั้ม Japanese Dub มีเพลงที่จัดให้มินโยในอัลบั้มนี้ แต่ว่าอัลบั้มนี้เป็นดั๊บ ไม่ใช่ดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่นประยุกต์
แล้วกระแสการเล่นดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้างในยุคนี้ มีคนรุ่นใหม่สานต่อรึเปล่า มีการส่งเสริมกันยังไง ภาครัฐเข้ามาช่วยไหม
ดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่นไม่ไปประยุกต์ ไม่หลอมรวมกับดนตรีอื่น ๆ เพราะมีระบบไม่ยืดหยุ่นก็เลยไม่เป็นที่นิยมแล้ว ไม่ค่อยมีผู้สืบทอบนักดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่นด้วย เครื่องดนตรีญี่ปุ่นประเพณีใช้ในแค่ดนตรีเก่า ไม่ทราบว่าเรื่องการส่งเสริมการช่วยโดยภาครัฐ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่คิดว่าคงไม่ค่อยมี แต่ว่าช่วงนี้เพิ่งเกิดกระแสใหม่ ดีเจที่เล่นมินโยออกมา ชื่อ Riyosanmyak (俚謡山脈) เขาตีความว่ามินโยคือเพลงแดนซ์แล้วก็มีวง Minyo Crusaders (民謡クルセイダーズ) วงนี้เล่นเพลงที่หลอมรวมมินโยกับเพลงละติน
ฝากอะไรถึงคนที่เพิ่งรู้จักวง Monaural Mini Plug หน่อย
ถ้าคนไทยทุกท่านได้รู้จักโมโนมินิปลั๊ก ดีใจมาก ๆ ครับ มาเล่นเมืองไทยได้ มี Facebook page ด้วย ติดต่อภาษาไทยก็ได้นะครับ ขอบคุณครับ
อยากให้เอาใจช่วย Monaural Mini Plug ต่อไป การได้เห็นคนต่างชาติหลงใหลและประยุกต์ดนตรีพื้นบ้านของเราก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง เพราะพวกเขากำลังจะพัฒนามันไปในแบบที่เราจะไม่เคยได้ฟังมาก่อนอย่างแน่นอน ถ้าใครชอบพวกเขาก็ไปตามกดไลค์และพูดคุยกับพวกเขาได้ที่เพจ Monaural mini plug พิณแคนประยุกต์ ญี่ปุ่น – โมโนมินิปลั๊ก