Not Waving But Drowning อัลบั้มสุดประทับใจจาก Loyle Carner ที่ฟังแล้วกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
- Writer: Montipa Virojpan
เมษายนปี 2019 อากาศในเมืองไทยก็ร้อนระอุจนไม่อยากกระดิกตัวไปไหน แต่เมื่อ Benjamin Coyle-Larner หรือที่เรารู้จักในชื่อ Loyle Carner แร็ปเปอร์จากเซาธ์ลอนดอนวัย 24 ปี ได้ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่สอง Not Waving But Drowning มาให้เราได้ฟังในช่วงนี้พอดี นี่จึงเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่เรายินดีจะเปิดรับ และเราก็ได้พบกับอัลบั้มที่อบอุ่นที่สุดอัลบั้มหนึ่งที่เคยมีมา
ตามปกติเราจะคุ้นชินกับแร็ปที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรง เงินทอง ชื่อเสียง ผู้หญิง หรือความกระเสือกกระสนที่จะทำตามความฝันที่ไม่มีใครเข้าใจ แต่เพลงของ Loyle Carner ตั้งแต่ EP จนถึงอัลบั้มล่าสุดนี้เป็นการนำเสนออีกแง่มุมของแร็ป ที่บอกเล่าเรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและแม่ ความเปราะบางและอ่อนแอของชีวิต หรือการระบายความเศร้าที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป
“แม่กับคุณยายเลี้ยงดูผมมา พวกท่านมักจะพูดว่าตัวเองรู้สึกยังไงในทุก ๆ วัน ซึ่งการอยู่กับพวกท่านก็ทำให้ผมคิดว่า ‘กูจะเล่าสิ่งที่กูรู้สึกจริง ๆ ลงในเพลงเว่ย’ ซึ่งมันเจ๋งนะ เป็นการได้ปลดปล่อยที่ช่วยผมได้เยอะมาก เมื่อก่อนคนจะคิดว่าการที่ผู้หญิงแสดงออกเยอะ ๆ แล้วดูอ่อนแอ ผู้ชายเลยไม่ค่อยแสดงออกอะไรใช่ไหม แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปทีละนิด ๆ ผู้ชายไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าอายที่จะระบายอะไรออกมา จะเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการของผู้ชายในขั้นต้นก็ได้ และมันก็เป็นหนึ่งในภาวะ ADHD ของผมแหละ ผมพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดออกมาเยอะมาก แต่นั่นเป็นเพราะว่าผมอยากได้ยินเสียงของตัวเอง”
การที่เขาเริ่มสนใจฮิปฮอปเกิดมาจากการหัดเขียนกลอนสมัยเรียน เพื่อไว้อาลัยให้กับเพื่อนของเขาที่เสียชีวิตไป อันที่จริงการเรียนภาษาเป็นปัญหากับเขามากเพราะเขามีอาการ dyslexia ที่จะมีสะกดและจัดเรียงลำดับคำไม่ได้ แต่ความน่าสนใจและการมีรูปแบบตายตัวในฉันทลักษณ์ของบทกลอนทำให้เบ็นสามารถก้าวข้ามมันได้สำเร็จ ดังนั้นการแปลงนามสกุล ‘Coyle-Larner’ เป็นชื่อ Loyle Carner ไม่ใช่การทำเก๋สลับตำแหน่งเอาเท่แต่อย่างใด แต่มันเป็นภาพสะท้อนภาวะ ADHD ที่เขาเป็นจริง ๆ
ในอัลบั้ม Not Waving But Drowning มาจากบทกวีชื่อเดียวกันของ Stevie Smith ในปี 1957 เกี่ยวกับชายที่จมน้ำตายเพราะมีคนคิดว่าเขาแค่กำลังเล่นน้ำอยู่ ไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือด้วยการตะกายขึ้นจากน้ำ ซึ่งเขารู้สึกว่ากำลังเห็นตัวเองในบทกวีนั้น คนมักจะคิดว่าเขาประสบความสำเร็จแล้วทั้งที่นี่เพิ่งจะเป็นก้าวแรก “ตอนเริ่มทำอัลบั้มใหม่นี่ผมกำลังจมน้ำชัด ๆ เพราะไม่รู้จะทำเพลงให้ไปทางไหนต่อดี”
Nobody heard him, the dead man,
But still he lay moaning:
I was much further out than you thought
And not waving but drowning.Poor chap, he always loved larking
And now he’s dead
It must have been too cold for him his heart gave way,
They said. Oh, no no no, it was too cold always
(Still the dead one lay moaning)I was much too far out all my life
And not waving but drowning.— Stevie Smith, Not Waving But Drowning 1957
ทั้ง 15 เพลงเราได้พบกับบีต laidback ที่มีความฟังสบายขึ้นกว่า Yesterday’s Gone ที่ดูจะเท่และเครียดกว่า ทว่าเนื้อหาใน Not Waving But Drowning กลับดูเติบโตขึ้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่แทร็คเปิดที่ชื่อ Dear Jean กับบีตที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่เขาเปิดอกคุยกับแม่ที่ดูแลเขามาตลอดชีวิตว่า วันนึงเขาตัดสินใจจะย้ายออกไปอยู่กับแฟนสาวและเริ่มต้นความสัมพันธ์ของตัวเอง แต่ไม่ได้จะทอดทิ้งเธอ แทร็คอย่าง Ice Water ก็ทำให้เรานึกถึงงาน old school จาก sampling ที่เขาเลือกใช้ มีเสียงสแครชแผ่น แถมยังติดกลิ่นเอเชียน ๆ เข้ามา เช่นกันกับ Sail Away Free Style ส่วนเพลง Still ก็เป็น lo-fi chill hop เมโลดี้สดใสที่ดีไซน์การร้องได้มีเสน่ห์มาก ตอนท้ายก็แถมไลน์เบสเท่ ๆ ให้ต้องโยกหัวตาม แต่ก็มีเพลงที่ดาร์กอยู่ Looking Back เป็นการทบทวนความรู้สึกตัวเองหลังจากรู้สึกเคว้งคว้าง เพราะแม่ของเขาเป็นคนขาว และพ่อของเขามีเชื้อสายกายยานีส (ประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ ผู้คนมีลักษณะคล้ายคนแอฟริกัน) การเป็นลูกครึ่งทำให้ไม่เป็นที่ต้อนรับจากทั้งสองฝั่ง เขาเลยหยิบเอาความสับสนนี้มาระบายเป็นเพลง
ที่สำคัญ อัลบั้มนี้ก็ได้ศิลปินและคนดังมาร่วมแจมมากมาย ในเพลง Angel ก็ได้ Tom Misch เพื่อนที่ชอบชวนกัน feat. ไป feat. มาบ่อย ๆ ก่อนที่ต่างคนต่างจะดังเปรี้ยงอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเราจะสัมผัสได้ถึงส่วนผสมในเพลงของทั้งคู่รวมอยู่ในเพลงนี้เท่า ๆ กัน ส่วน Desoleil (Brilliant Corners) ก็เป็นอะไรใหม่ ๆ สำหรับเบ็นเมื่อได้ Sampha มาร่วมแจมในเพลง r&b ลุ่มลึก รวมถึง Jorja Smith ก็ได้ฝากเสียงหวาน ๆ ไว้ในเพลงสุขปนเศร้าอย่าง Loose Ends ซึ่งเป็นอีกเพลงที่เราชอบมากในงานชุดนี้ เล่าถึงตัวเขาเองในวัยเด็กที่คาดหวังจะได้รับการซัพพอร์ตเช่นเดียวกับตอนที่เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ซึ่งแทร็คต่อไปที่เป็นชื่อเดียวกับอัลบั้ม ใช้ backing track เป็นเพลงก่อนหน้า แต่เป็นเสียงของ Stevie Smith เล่าที่มาของบทกวีของเธอโดยเปรียบเทียบเรื่องคนจมน้ำกับชีวิตจริงว่า มีหลายคนที่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เลย แม้กระทั่งการสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ยังเป็นเรื่องยาก เลยได้แต่หัวเราะทำทีว่าเขาโอเคดี คนอื่นก็เลยคิดว่าไม่เป็นไร แต่แล้ววันนึงความเข้มแข็งที่สร้างขึ้นได้พังลง คนคนนั้นก็รู้สึกเคว้งยิ่งกว่าเดิม ซึ่งเพลงนี้ยิ่งทำให้เมสเสจในเพลง Loose Ends ยิ่งแข็งแรงขึ้น เป็นเงาสะท้อนตัวตนของเบ็นอย่างที่เขาเคยเล่าไว้ได้ดีมาก
และถ้าเราติดตามผลงานของเขามาพักนึงก็จะพบว่าเบ็นเปิด ‘Chilli Con Carner’ โรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเด็กพิเศษ เพราะการที่อาการของเขาดีขึ้นได้ก็มีการทำอาหารเป็นตัวช่วยหนึ่งเหมือนกัน เลยมีเพลงชื่อ Ottolenghi ที่ตั้งตามเชฟคนดังของอังกฤษ Yotam Ottolenghi ผู้เขียนหนังสือทำอาหารชื่อ ‘Jerusalem’ ที่ออกมาเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นหนังสือที่เบ็นอ่าน เนื้อหาในเพลงเกี่ยวกับจินตนาการของเบ็นขณะที่อ่านหนังสือ Jerusalem บนรถไฟ เขาคิดว่ากำลังนั่งไปกับออตโตแลงกี้ ซึ่งตัวเชฟเองก็ถูกเชิญให้มาร่วมแสดงในมิวสิกวิดิโอเพลงนี้ และในเพลง Carluccio ก็ตั้งชื่อตาม Antonio Carluccio เชฟอิตาเลียนคนดังของลอนดอนที่เสียชีวิตไปในปี 2017 ซึ่งเขาเสียใจมาก เบ็นเล่าว่าเขาไม่มีบุคคลต้นแบบในการใช้ชีวิตหลังจากที่เสียพี่ชายและพ่อแท้ ๆ ไป แต่หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่อง ‘The Godfather’ และเริ่มทำอาหาร ก็พบว่าสามารถยึดคาร์ลุคชิโอเป็นต้นแบบได้ เพราะเป็นทั้งเชฟและเป็นคนอิตาเลียนที่มือไม่ต้องเปื้อนเลือด (มนุษย์) ทั้งยังให้แง่คิดและปรัชญาในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้แบบในหนัง
แน่นอนที่สุด เมื่อเบ็นชอบบอกเล่าเรื่องราวของคนใกล้ชิดลงในผลงานของเขา Krispy คือเพลงที่เขียนให้กับ Rebel Kleff (ซึ่งชื่อเล่นของเขาคือ Krispy) เป็นนักดนตรีและ beatmaker ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่เริ่มทำเพลง ซึ่งเขาก็ไปร่วมแจมในเพลง You Don’t Know ในอัลบั้มนี้ด้วย แม้แต่ interlude It’s Coming Home? ยังเป็นเสียงที่ทั้งบ้านกำลังนั่งเชียร์บอลกันอยู่ มีเสียงคุณแม่ เสียงน้องชาย เสียงสุนัขของเขา ตามมาด้วยเสียงตะโกนดีใจเมื่อทีมที่เชียร์ทำประตูได้ หรือแทร็คสุดท้าย Dear Ben ที่ใช้บีตเดียวกันกับเพลง Dear Jean ก็เป็นเหมือนจดหมายตอบกลับอย่างเข้าอกเข้าใจผ่านบทกวีของแม่ จีนเล่าว่าเธอเฝ้าดูเขามาตลอดตั้งแต่เล็ก ไม่มีวันไหนที่เธอไม่ห่วงเขาเลย จนเมื่อเขาเติบโต เธอก็ภูมิใจที่เขาประสบความสำเร็จและเป็นเขาในทุกวันนี้ แม้กระทั่งการที่ลูกขอย้ายออกจากบ้านไป จีนก็รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ลูกจะเจอคนสำคัญของชีวิต หน้าที่ของเธอสิ้นสุดลงแล้ว แต่เธอก็เชื่อว่ายังไงเบ็นก็ไม่ได้ทิ้งเธอไป แถมยังได้ลูกสาวเพิ่มมาอีกคน
เบ็นและแม่เคยฝากผลงานคล้าย ๆ กันนี้มาแล้วใน Sun of Jean ซิงเกิ้ลสุดท้ายที่ถูกปล่อยออกมาจากอัลบั้มแรก เราสัมผัสได้ว่าเบ็นเป็นคนที่จริงใจต่อความรู้สึกและให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ๆ ความอบอุ่นอันท่วมท้นในทุกไรห์มแร็ปผูกโยงความรักของเขาที่มีต่อแม่ Jean Coyle-Larner และพ่อเลี้ยงของเขา Steven Vengeance ผ่านแทร็คนี้ เสียงเปียโนและเสียงร้องคอรัสที่เราได้ยินกันเป็นของพ่อเลี้ยงของเขาที่บันทึกไว้ก่อนเสียชีวิต ในอัลบั้มที่ไม่เคยเอาให้ใครฟัง ซึ่งชื่ออัลบั้ม Yesterday’s Gone ของเบ็นก็ตั้งตามเพลงหนึ่งในนั้น เบ็นเล่าว่าสตีเว่นเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ แต่น่าเสียดายที่โอกาสนั้นมาไม่ถึงเขา จึงแต่งเพลงชื่อ BFG และ Cantona มอบให้ ส่วนท้ายเพลงนี้ก็เป็นบทกวีของแม่ที่เนื้อหาคล้ายกับในเพลง Dear Ben ที่จริงใจและกินใจจนเราต้องเสียน้ำตาให้เช่นเดียวกัน
“ตอนที่แม่ผมเจออัลบั้มนั้น ผมเอามาเปิดฟังในแล็ปท็อปแล้วเจอเพลง Yesterday’s Gone เหมือนพ่อกำลังพูดกับผม หลังจากที่เขาเสียไปแล้วน่ะนะ ว่า ‘เฮ้ย เอาเลย ทำอะไรสักอย่างกับมันหน่อย’” เพลงของพ่อที่เล่นด้วยกีตาร์โปร่งเพลงนี้ถูกบรรจุไว้เป็น hidden track ในอัลบั้มชุดแรกของ Loyle Carner และอัลบั้มนี้เองที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อในรางวัล Mercury Prize และ Brit Awards ปี 2017
เรื่องราวของ Benjamin Coyle-Larner ผู้คนสำคัญรอบตัวเขา และแรงบันดาลใจต่าง ๆ ที่ทำให้เขาก้าวมาอยู่ในจุดนี้ ถูกรวมอยู่ในอัลบั้ม Not Waving But Drowning สามารถเข้าไปฟังเพื่อความอิ่มเอมใจ และไปทำความรู้จักตัวตนของเขามากยิ่งขึ้นได้แล้วที่ Spotify