Cornelius เบื้องหลังอัลบั้มละมุน Mellow Waves และโชว์เต็มรูปแบบครั้งแรกในไทย
- Writer: Montipa Virojpan
ก่อนที่จะได้พบกับ Keigo Oyamada หรือ Cornelius แบบตัวจริงเสียงจริงในวันพรุ่งนี้ท่ีงาน Singha Light Live Series Vol 3.3 – Cornelius เรามาอ่านเบื้องหลังแนวคิดในอัลบั้มล่าสุด Mellow Waves และโปรเจกต์ต่าง ๆ ของเขากันเป็นการอุ่นเครื่องกันดีกว่า
จากอัลบั้มชุดก่อนจนมาถึง Mellow Waves หายไปทำอะไรมาเป็นสิบปี
Metafive, Salyu x Salyu ซึ่งผมก็ได้มาเมืองไทยตอนเขามาแสดงสดรอบก่อนด้วย แล้วก็ได้ร่วมงานกับ Yellow Magic Orchestra, Yoko Ono Plastic Ono Band, ทำซาวด์แทร็คให้ ‘Ghost in the Shell : Arise’ ทำเพลงให้รายการเด็ก ‘Design Ah’ ออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ แล้วก็ทำ collaboration กับรีมิกซ์โน่นนี่นั่น เยอะมากครับ
ช่วยเล่าคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มล่าสุดหน่อย
ความละมุนละไม (mellow) คลื่น (waves) การเติบโต อวกาศ ความฝัน ความทรงจำ…
ชอบเพลงไหนที่สุดในชุดนี้
If You’re Here เป็นเพลงที่ถ่ายทอดความเป็นอัลบั้มชุดนี้ได้ดีที่สุดเลยครับ แต่เพลงที่เอาไปเล่นสดแล้วดูน่าสนใจที่สุดคงจะเป็น Surfing on Mind Wave Pt2
ทำไมอาร์ตเวิร์ก ไปจนถึงมิวสิกวิดิโอของชุดนี้ถึงเป็นภาพขาวดำทั้งหมด
ผมใช้งานภาพพิมพ์ของคุณลุงของผมมาเป็นภาพปกอัลบั้มครับ แล้วผมก็เริ่มทำอัลบั้มนี้โดยมีภาพพิมพ์อันนั้นอยู่ในหัวตลอดเลย
คุณสามารถบาลานซ์ระหว่างการใช้เครื่องดนตรีอะคูสติกกับอิเล็กทรอนิกได้ยังไง
กีตาร์ยังคงเป็นเครื่องดนตรีหลักของ Cornelius อยู่ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ทำกีตาร์แบนด์ (Flipper’s Guitar) อีกต่อไปแล้ว แล้วผมก็คลุกคลีกับมันอยู่ตลอด แม้แต่การเขียนเพลงหรือการแสดงสดผมก็ยึดมันเป็นหลักครับ
รู้จักกับ Beach Fossils ได้ยังไง แล้วได้ฟังเวอร์ชัน remake ของ The Spell of a Vanishing Loveliness แล้วรู้สึกยังไงบ้าง
ลูกชายของผมทำงานที่ร้านแผ่นเสียง แล้วเขาพูดถึงวงนี้ให้ผมฟัง ผมไม่เคยฟังงานรีมิกซ์ของวงนี้มาก่อนแต่ผมชอบเพลงของพวกเขา ก็เลยลองถามว่ามาทำเพลงของผมขึ้นใหม่ดูไหม ซึ่งผมก็ชอบเวอร์ชันของพวกเขามากครับ
ทำไมทุกโชว์ของ Cornelius ถึงให้ความสำคัญกับวิชวลไลท์ติ้งอยู่เสมอ
ผมรู้สึกว่าทั้งภาพและเสียงคือสิ่งที่คุณต้องได้รับประสบการณ์จากมันสด ๆ และทั้งสองอย่างคือส่วนประกอบสำคัญในทุกการแสดงสดของ Cornelius ครับ
ในฐานะโปรดิวเซอร์ คุณมองหาอะไรในตัวศิลปินที่คุณร่วมงานด้วย และคุณคิดว่าจะนำเสนอสิ่งนั้นออกมายังไง
ผมแค่คิดว่าจะได้ทำอะไรสนุก ๆ ขณะที่ได้ร่วมงานกับพวกเขาครับ
คุณได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Audio Architecture ในโตเกียว อะไรทำให้คุณสนใจที่จะเข้าร่วมในโปรเจกต์นี้
ผมเคยร่วมงานกับ Yugo Nakamura ตอนที่ทำ Metafive, Design Ah แล้วก็ Salyu x Salyu มาก่อนแล้วครับ เพราะเราสนิทกันเขาก็เลยชวนผมมาทำด้วย (หัวเราะ)
รู้สึกยังไงเวลาเห็นเพลงของคุณถูกตีความออกมาเป็นงานภาพ บรรดาผลงานที่ผ่านมาชอบชิ้นไหนที่สุด
สำหรับปกอัลบั้มผมจะเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์แล้วส่งให้ Masakazu Kitayama ไปทำต่อ อันที่จริงก็ไม่เชิงว่าผมเป็นคนเลือกเองแต่เหมือนว่าเราทำงานร่วมกันมากกว่า จริง ๆ ผมชอบทุกงานเลยนะครับตั้งแต่ Fantasma แล้ว
อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมา 20 กว่าปีแล้ว วิธีการทำงานรวมถึงความสนใจทางดนตรีของคุณเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ไม่คิดอะไรมากเลยครับผมแค่รู้สึกสนุกที่จะได้ทำมัน
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเปลี่ยนจาก Shibuya-kei มาทำดนตรีทดลอง
ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนะครับ แต่คิดว่าจุดเปลี่ยนจริง ๆ มาจากอัลบั้ม Point ซึ่งผมเริ่มหาแนวทางเฉพาะของตัวเองเจอในอัลบั้มนั้นแหละ
รู้หรือเปล่าว่า Shibuya-kei เคยได้รับความนิยมมาก ๆ ในไทย แล้วศิลปินไทยบางกลุ่มก็เคยหยิบเพลงของ Flipper’s Guitar ไปคัฟเวอร์ด้วย
ผมเคยได้ยินว่ามีคนเอาเพลง Flipper’s Guitar ไปทำนะครับ เพราะงั้นแล้วจ่ายค่าลิขสิทธิ์มาให้ผมซะดี ๆ ผมยังไม่ได้อนุญาตให้เอาไปทำเลย (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ
คุณเคยมาเล่นที่ไทยบ้างแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทั้งในฐานะ Cornelius และคน curate วงในงาน Japanese Invention ที่พา Buffalo Daughter กับ Salyu x Salyu มาด้วย คุณชอบโชว์ไหนที่สุด
ตอนงาน Japanese Invention สนุกมากครับ จริง ๆ แล้วตอนมาไทยสนุกแทบทุกครั้งเลยเพราะผมได้เพื่อนใหม่ ๆ ตลอด นี่ตื่นเต้นที่จะได้กลับมาอีกครั้งมากเลยครับ
ฝากอะไรถึงแฟน ๆ ที่จะได้ดูคุณในวันพรุ่งนี้
นี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้แสดงโชว์ Cornelius อย่างเต็มรูปแบบในไทย อดใจรอไม่ไหวแล้วครับ เจอกันนะครับ