Elephant Gym ชวนมาสำรวจดนตรีอันซับซ้อนของพวกเขาใน Cinema Sessions พร้อมเล่าถึงความประทับใจใน Maho Rasop Festival
- Translator: Nattapat Suthapornpat
- Photographer: Cinema Sessions Staff
เดินทางมาถึงวงที่สี่ในโปรเจกต์ Cinema Sessions รอบนี้เป็นคิวของ Elephant Gym วงที่เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักพวกเขากันมาบ้าง หลังจากที่เคยมาวาดลวดลายฝืมือดนตรีในงาน Maho Rasop Festival ไปเมื่อปีที่แล้ว
แม้จะเป็นเวลาเที่ยงคืนแล้ว แต่ประตูที่สตูดิโอ YuChen ก็ยังเปิดกว้าง และแสงไฟก็ยังคงส่องสว่าง เมื่อเข้าไปข้างในแล้วเราก็จะได้พบกับสมาชิกทั้งสามของวง Elephant Gym รวมไปถึง Andy Baker ผู้เป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ และสต๊าฟคนอื่น ๆ ของสตูดิโอกำลังอัดเพลงกันอย่างขะมักเขม้น
ในวันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างที่พวกเรากำลังอัดเพลง Half โดยทุกคนได้ตัดสินใจให้ Tell Chang มือกีตาร์ของวงไปเล่นเปียโนจริง ๆ แทนที่จะใช้เปียโนไฟฟ้าตามที่ใช้อัดในอัลบั้ม ด้วยเหตุนี้ทำให้ทั้งสองเพลงที่จะอัดต้องมีการเรียบเรียงเพลงขึ้นมาใหม่ ทำให้งานในวันนี้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
“ตอนที่เราอัดอัลบั้ม เราเลือกใช้ซาวด์คีย์บอร์ดไฟฟ้าที่ให้เสียงเสมือนจริง แต่ในรอบนี้เราเลือกใช้เปียโนจริง ๆ เพราะเราอยากให้มันมีเสียงแอมเบียนต์ที่เป็นธรรมชาติและมีย่านความถี่ต่ำที่ไพเราะ” KT Chang มือเบสสาวผู้มีอายุครบ 26 ปี ไปไม่กี่วันก่อนได้เล่าถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ในการอัดเพลง เธอได้เล่าต่อว่า “ตอนที่ฉันคุยกับ Andy เขาบอกว่า ถึงแม้วงจะไม่อยากปล่อยผ่านข้อบกพร่องนิด ๆ หน่อย ๆ ไป แต่ว่าบางครั้ง บรรยากาศเพลงโดยรวมกับการส่งอารมณ์ผ่านเพลงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อัด live session แบบนี้ เราต้องเก็บอารมณ์บางอย่างไว้เพื่อให้คนรับรู้ถึงความสมจริงของการอัดเพลงรวดเดียว” โดยสาว KT ก็ยังเป็นพี่น้องกับมือกีตาร์ Tell Chang อีกด้วย
Elephant Gym คือวงทรีโอ้สาย instrumental math-rock จากไต้หวัน ประกอบไปด้วยกีตาร์ เบส และกลอง ซึ่งแม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะเคยมาเยือน YuChen สตูดิโอเพื่ออัดเพลงเป็นครั้งแรก แต่สมาชิกในวงนั้นเคยร่วมงานกับ Andy มาแล้วก่อนหน้านี้
พวกเขาตั้งวงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 ตอนที่เหล่าสมาชิกยังเรียนอยู่ที่มหาลัยในไทเป จนเมื่อปี 2016 Tell กับ Chia-Chin ผู้เป็นมือกลองได้ปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหาร ทำให้พวกเขาได้กลับไปบ้านเกิด ที่เมืองเกาสง เพื่อก่อตั้งบริษัทและสร้างสตูดิโอขึ้น จากนั้นพวกเขาก็ทำวงมาเรื่อย ๆ จนเริ่มมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
‘เห็นว่าลาออกจากมหาลัยแล้วมาเป็นนักดนตรีฟูลไทม์ ตอนนี้เป็นไงบ้าง’ เสียงคำถามหนึ่งได้ลอยขึ้นมา ซึ่ง Tell ก็ตอบไปว่า “พวกเราได้เก็บเงินค่าตัวจากการไปเล่นในที่ต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยที่พวกเรายังเรียนมหาลัยเพื่อเอามาลงทุนตอนนี้แหละ เราก็ได้แต่หวังว่าเราจะมีสถานะการเงินที่มั่นคงก่อนที่จะใช้เงินเก็บจนหมด แต่โชคยังดีที่พวกเรามีคนชวนให้ไปเล่นคอนเสิร์ตตลอด พวกเราก็เลยมีเงินหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งนี่ก็ปาเข้าไปปีที่สามแล้วที่เราอยู่กันแบบนี้” คุณ CEO Tell ได้กล่าวต่อว่า “เรามักจะทำแผนในระยะยาวเสมอ และการเล่นโชว์ของพวกเราก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดการเดินทางของพวกเรา”
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Elephant Gym ได้ปล่อย Underwater อัลบั้มลำดับที่สองของทางวง ซึ่งเหล่าสมาชิกได้ลองสวมบทบาทใหม่ด้วยการมาเป็นโปรดิวเซอร์ ซึ่งแต่ละแทร็คในอัลบั้มได้สะท้อนถึงรสนิยมทางดนตรีของสมาชิกที่ต่างกัน โดย Chia-Chin ผู้ชื่นชอบดนตรีฮิปฮอปและซิตี้ป๊อปได้เล่าว่า “ทุกเพลงในอัลบั้มนี้เป็นซาวด์ที่พวกเราคิดขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เหมือนกับในอัลบั้มแรกที่พวกเรารวบรวมเพลงที่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนตั้งวงใหม่ ๆ แต่ในอัลบั้มนี้พวกเราเริ่มทำเพลงใหม่หมดเลย เราเลยต้องหาวิธีที่จะทำให้กระบวนการทำเพลงรวดเร็วขึ้น เลยสรุปกันว่าให้สมาชิกทุกคนในวงเขียนเพลง แล้วค่อยเอามาประกอบร่างให้จบเพลงกับวงอีกที”
หนึ่งในเพลงที่ต้องใช้อัดวันนี้ก็คือ Half ที่แต่งโดย Tell ซึ่งมิวสิกวิดิโอของเพลงนี้กำกับโดยผู้กำกับที่ร่วมงานกับทางวงมาอย่างยาวนาน โดยฟุตเทจที่เอามาใช้ใน mv นั้นถ่ายมาจากสถานที่ที่ห่างออกไปครึ่งโลกได้เลยทีเดียว ซึ่ง Tell ได้เล่าเพิ่มว่า “มิวสิกวิดิโอเพลง Half นั้นถูกถ่ายขึ้นมาก่อนที่จะมีตัวเพลงจริง ๆ เสียอีก ผู้กำกับเลยเลือกเพลงจีนมาหนึ่งเพลงเพื่อที่เอามาเป็นไอเดียตั้งต้นในการเริ่มการถ่ายฟุตเทจ โดยหลังจากที่ตัดต่อวิดิโอเสร็จแล้ว เราก็ทำเพลงนี้จากการดูวิดิโอนี่แหละ”
ถือเป็นเรื่องบังเอิญที่ Cinema Sessions เองก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ที่เป็นเรื่องของดนตรีกับวิชวลมาก่อนแล้ว โดยสำหรับแต่ละเพลงที่ใช้อัด Alulu ผู้เป็นผู้กำกับจะเป็นคนเริ่มตัดวิดีโอออกมาก่อน จากนั้น Andy ก็ค่อยมาดูวิดีโอเพื่อมาปรับรายละเอียดและมิกซ์เสียงให้ซิงค์เข้ากับภาพ แล้วก็ให้ Alulu เป็นคนจัดการเรื่องโพสต์โปรดักชั่นทั้งหมดอีกที
ตอนนี้ชื่อเสียงของ Elephant Gym ได้ขยายออกไปสู่ตลาดนอกประเทศมากขึ้น ทั้งหมดนี้เริ่มตั้งแต่ที่ทางวงได้ปล่อยอัลบั้ม Underwater ไป หลังจากนั้นพวกเขาก็ค่อนข้างวุ่น ๆ อยู่กับการไปทัวร์ตลอด โดยมีงานไปเล่นหลายเมืองในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา แถม merch ต่าง ๆ ของวงยังขายดีอีกด้วย นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วพวกเขายังได้มาเล่นในงาน Maho Rasop Festival ที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นงาน music festival ใหม่และมีขนาดงานที่ใหญ่โตในไทย โดยทางวงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟน ๆ คนไทย ผู้มีความหลงใหลในซีนดนตรีไทยที่มีการเปิดรับดนตรีหลากหลายแนวด้วย “แฟน ๆ ที่กรุงเทพ ฯ มีความเป็นสากล และกระตือรือร้นในการเสพดนตรีจากต่างประเทศมาก แถมยังแสดงความชื่นชอบอย่างเฉพาะเจาะจงอีกด้วย”
นอกจากเรื่องการแสดงสดแล้ว พวกเขายังได้ไปล่องเรือตามฝั่งแม่น้ำ และได้แวะไปสถานที่ท่องเที่ยวดัง ๆ อย่างตลาดนัดจตุจักร “มันบ้ามาก ๆ!” KT พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “ฉันช็อปปิ้งเสื้อผ้าไปเยอะมาก ๆ แต่ไม่กล้าบอกให้พวกเขารู้เลย ฉันก็เลยพยายามพับเสื้อผ้าให้เล็กที่สุด แล้วก็ยัดมันใส่กระเป๋าแบ็คแพ็คของฉันโดยไม่ซื้อใบใหม่ จะได้ไม่โดนจับได้ว่าซื้อเยอะ!”
พอย้อนกลับมาเล่าถึงความทรงจำสนุก ๆ ระหว่างการแสดงสดของพวกเขาในงาน Maho Rasop Festival ที่กรุงเทพ ฯ ทางวงได้บอกว่าพวกเขาเพลิดเพลินไปกับการตอบรับอันดีเยี่ยมของแฟน ๆ ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก พวกเขาหวังว่าจะได้กลับมาเล่นที่ไทยอีกครั้งถ้าหากว่ามีโอกาส แล้วก็ยังตั้งตารอที่จะได้ไปทัวร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย รอติดตามพวกเขาได้เลย!
อ่านต่อ
Cinema Sessions ส่งตรงวงไต้หวันสุดเจ๋ง ผ่านโชว์สุดเนี้ยบในสตูดิโอโรงหนังเก่า
‘I Mean Us’ เบื้องหลังจาก YuChen Studio สู่เบื้องหน้าที่คุณจะได้สัมผัสใน Cinema Sessions
เบื้องหลังการทำงานอวลด้วยเสน่ห์ของ The Chairs สู่ดนตรีที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาใน Cinema Sessions
ตามมาชมเบื้องหลังดนตรีป๊อปพังก์อันเดือดดาลของ Angry Youth ใน Cinema Sessions
ติดตามเราได้ ฟังใจ – Fungjai