Cicada วงไต้หวันกับดนตรี neo-classical ป๊อปน่าฟัง โชว์ที่แตกต่างที่สุดใน CINEMA SESSIONS
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Photographer: CINEMA SESSIONS
Cicada วงอินดี้ที่ฟอร์มมาครบ 10 ปี สร้างบรรยากาศอันคลาสสิกในทุกโชว์ด้วยอุณหภูมิพอเหมาะ เพลงของพวกเขายืนอยู่บนเส้นแบ่งของความเป็น post-rock กับ neo-classical พอดิบพอดี ไม่มีคำร้องหรือเนื้อเพลงมารบกวนเลย ใครได้ฟังครั้งแรกอาจจะคิดว่าว่ามันคือซาวด์แทร็คจากหนังที่ชวนขนลุกได้
“สไตล์ดนตรีของพวกเราเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว พวกเราใช้เครื่องดนตรีออเคสตราเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ซ้อนทับกันจนใช้เป็นบรรยากาศในการเล่าเรื่องได้” Jesy มือเปียโนของวงเชื่อแบบนั้น “ตั้งแต่ตอนตั้งวง เราไม่ได้อยากจำกัดความตัวเองว่าเราทำเพลงแนวอะไร จนถึงตอนนี้ พวกเราแค่นึกถึงใจความสำคัญและเรื่องราวที่เราอยากเล่า สถานที่ที่เราอยากไปแต่งเพลงให้กับเกาะนี้ (ประเทศไต้หวัน) ถ้าเราอยากพูดถึงสิ่งนี้ก็ต้องไปหามันถึงที่ ไม่อย่างนั้นเราจะเขียนหรือถ่ายทอดออกมาได้ไม่ถึงอารมณ์พอ”
ตั้งแต่ปี 2013 วง Cicada ออกเดินทางไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ตะวันออกถึงตะวันตก จนออกมาเป็นอัลบั้ม Hiking in the Mist ออกมา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากภูเขาชื่อดังในไต้หวันหลายลูกที่สมาชิกของวงได้เดินทางไปพิชิตยอดและถ่ายทอดมันออกมา เช่น Jiaming Lake, Qilai South Peak และ Hehuan North Peak เมื่อปีที่แล้ว
ในโปรเจกต์ CINEMA SESSIONS ครั้งนี้ พวกเขาเอาเพลง Twilight Clouds ในอัลบั้มใหม่ Hiking in the Mist มาโชว์ด้วย เพลงนี้ถ่ายทอดทิวทัศน์ของภูเขา Beidawu ท่ามกลางแสงจันทร์บนยอดเขา Xidoli ลำแสงสีทองที่สาดลงบนทะเลหมอก เกิดเป็นลำแสงที่ส่องแสงลงมาจากเมฆ พวกเขาทดลองบันทึกชั่วโมงต้องมนต์ ณ ตอนนั้นเป็นเสียงดนตรี Overlook Where We Came From พูดถึงเมืองที่อยู่ห่างไกลจากป่าเขา เฝ้ามองพื้นที่ตรงนั้นในจุดที่ไม่เคยเห็น บรรยายความเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์
ไม่แปลกใจเลยที่การรวมดนตรีคลาสสิกกับความป๊อปเอาไว้ด้วยกัน คือความโดดเด่นของ Cicada มือกีตาร์ Wei-Lun และ Jesy เคยเล่นอยู่ในวงอื่นมาก่อน ซึ่ง Kang-Kai มือไวโอลินและ Ting-Chen มือเชลโล่ก็มาจากสาขาดนตรีคลาสสิกในมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าพวกเขามีความเห็นที่ไม่ค่อยจะลงรอยกันบ่อย ๆ เวลาเขียนเพลง
“เวลาเราพูดถึงโน้ตดนตรี ทุกคนจะมีวิธีอ่านที่ไม่เหมือนกัน Jesy อาจจะพูดว่า ‘ใส่อารมณ์ลงไปหน่อยมั้ย’ แต่เราไม่รู้ว่าเธอหมายถึงการเติมจังหวะสนุก ๆ ลงไป หรือเติมเสียงเครื่องดนตรี (crescendo) ลงไปให้กึกก้องขึ้นกันแน่” Kang-Kai พูดขึ้นมาเพราะเขาเป็นคนเดียวที่ฟังแต่ดนตรีคลาสสิก ตอนนี้ต่างคนต่างเริ่มแนะนำเพลงแนวอื่น ๆ ให้กันและกันฟัง ทำให้สไตล์ดนตรีของทุกคนใกล้ชิดกันมากขึ้น “อย่างงานอันน่าทึ่งของ Rachmaninoff ที่ผมแนะนำให้ Jesy ในทางกลับกัน เธอก็แนะนำให้ผมฟัง Hans Zimmer หรือ Ólafur Arnalds เหมือนกัน”
มิถุนายนปีที่แล้ว Cicada ได้รับเชิญให้ไปทัวร์ถึงหกเมืองในรัสเซีย บ้านเกิดของนักประพันธ์เพลงสายคลาสสิกระดับโลกมากมาย โชว์ของพวกเขาสร้างเสียงอันน่าตื่นตะลึงไปทั่ว แถมยังแอบใช้เวลาที่เหลือไปประกวดดนตรีในงานประจำปี International Tchaikovsky Competition อีกด้วย ทุกคนมีประสบการณ์ที่ประทับใจในประเทศนี้
“คุณจะสัมผัสได้ทันทีว่าการฟังเพลงไปคอนเสิร์ตของพวกเขาเป็นกิจวัตรประจำวันของชีวิต” Wei-Lun บอก “พวกเราฟังเพลงกัน 6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะมันคือการแข่งขัน เมื่อเราลองฟังไปซัก 3-4 วง เราอาจจะรู้สึกว่ามันยังเป็นเพลงเดิม ๆ แต่เราจะค่อย ๆ เข้าใจเองว่าพวกเขามีเอกลักษณ์หรือสไตล์ที่แตกต่างกัน มันเหมือนกับเวทีประกวดเพลงป๊อปนั่นแหละ การเข้าถึงสไตล์ดนตรีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”
อัลบั้มใหม่ของพวกเขาอัดที่สตูดิโอ Yuchen ซึ่งบังเอิญว่า Wei-Lun ก็อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ที่นี่เหมือนกัน เขาเองก็เคยดูหนังในโรงหนังแห่งนี้ก่อนมันจะเปลี่ยนเป็นห้องอัดด้วย ในฐานะแฟนเพลงของ Ryuichi Sakamoto เขาคิดว่า Cicada ก็มีวิธีเขียนเพลงที่น่าสนใจ อาจจะเพราะว่ามันเขียนอยู่บนแก่นหรือฉากบางอย่าง ที่พยายามใช้เครื่องดนตรีในการบรรยายภาพ ไม่เหมือนกับวงที่เขาเคยเล่นอยู่เลยแม้แต่น้อย “แค่การใส่กีตาร์โปร่งลงไปในวงคลาสสิกก็แปลกใหม่มาก ๆ แล้ว”
Cicada ใช้ตัวโน้ตในการบรรยายภาพจำที่พวกเขาเคยสัมผัส เลยถ่ายทอดภูเขาและป่าเขาในความทรงจำของพวกเขาออกมาผ่านโชว์ในสตูดิโอ Yuchen ได้งดงามเหมือนเดิม