ศิลปินฮ่องกง ผู้เปลี่ยนคีย์เพลงชาติเพื่อสนับสนุนการประท้วงของคนรุ่นใหม่
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Visual Designer: Tas Suwanasang
ในวันที่รัฐบาลฮ่องกงตัดสินใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามม็อบ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ที่ตัวเองพึงมี จนต่อยอดไปสู่การที่คนรุ่นใหม่แสดงพลังเพื่อต่อต้านการแทรกแซงอำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่ Kevin Cheung คือหนึ่งในพยานของเหตุการณ์อันน่าสลดวันนั้นด้วย หลายคนอาจวิ่งหนีหลบภัย หลายคนเลือกเข้าไปช่วยม็อบหรือฝั่งตำรวจ แต่ Kevin เลือกที่จะเก็บร่ม 36 คันกลับบ้านไปด้วยแบบเงียบ ๆ
ร่มกลายเป็นอาวุธอย่างเดียวที่ผู้ชุมนุมใช้ต่อสู้กับอำนาจรับอันไร้ก้นบึ้ง ทำได้แค่กางออกมากลายเป็นโล่บาง ๆ ที่ป้องกันได้แค่แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเท่านั้น ในที่สุดมันก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงมาจนถึงทุกวันนี้
“ผมยังรู้สึกถึงความรุนแรงที่ถูกฝังอยู่ในร่มทุกครั้งที่ได้ถือมัน” Kevin คือนักออกแบบในวงการแฟชั่น ที่หยิบจับของไร้ประโยชน์ในสายตาคนอื่นมาสร้างงาน โดยเฉพาะสิ่งของหลังการชุมนุมทางการเมือง “ขยะที่เหลืออยู่คือหลักฐานอันน่าสลดของสิ่งที่เคยเกิดขึ้น” เขาจึงค่อย ๆ แกะตัวร่มทีละคันและนำวัสดุที่ยังพอใช้ได้มาประกอบเป็นคาริมบา เครื่องดนตรีที่ประกอบแท่งเสียงไล่ตามตัวโน้ตบนเครื่องไม้รูปร่างสวยงาม เปร่งเสียงอันไพเราะของมันด้วยการดีดแต่ละบาร์ด้วยนิ้วโป้งของเรา เขาเริ่มทำคาริมบาตัวแรกขึ้นมาในปี 2015
28 กันยายนที่ผ่านมา ครบรอบ 5 ปีของ “ขบวนการร่ม” Kevin ปล่อยวีดีโอตัวเองบรรเลงเพลงชาติของฮ่องกง Glory to Hong Kong ผ่านคาริมบาทำมือเก้าตัวโน้ต แต่เสียงของมันกลับผิดเพี้ยนไปบ้างด้วยแท่งเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่มันถูกหยิบมาใช้เป็นเพลงสำหรับประท้วงในทันที ซึ่งเจ้าคาริมบาตัวนี้ คือหนึ่งในงานศิลปะที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ซึ่งเขาใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแสดงความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมือง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่การประท้วงการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลายเป็นการเรียกร้องประธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่
Kevin ขายคาริมบาไปหลายตัว ตั้งแต่ราคา 250 ดอลลาร์ฮ่องกงจนไปแตะถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว โดยเขานำเงินทั้งหมดไปบริจาคให้กับม็อบในทางที่ถูกกฎหมาย เช่นการซื้อเครื่องมือการแพทย์เพื่อรักษาผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ ซึ่งการทำธุรกรรมจะต้องปิดบังตัวตนในการโอนอย่างมิดชิด ไม่ให้ตำรวจรู้ว่าเขากำลังสนับสนุนม็อบอยู่
“เราเรียกร้องสิ่งเดียวกัน คือสิทธิ์ในการโหวตผู้นำประเทศของเราเอง” Kevin เปรียบเทียบว่าม็อบเมื่อ 5 ปีก่อนกับม็อบตอนนี้มีพลังที่มากมายพอ ๆ กัน แต่ครั้งนี้พวกเขากลับมาพร้อมความรู้สึกสิ้นหวังจนอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซักที ห้าปีที่แล้วพวกเขาอาจมีแค่ร่ม แต่ครั้งนี้พวกเขากลับมาพร้อมหมวกนิรภัย หน้ากากแก๊สและโล่ ซึ่งเป็นของที่ประดิษฐ์กันเองทั้งหมด พวกเขาลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่ Glory to Hong Kong เวอร์ชั่น Kevin ถ่ายทอดออกมาได้ดีที่สุดคือความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เพราะเศษเหล็กจากร่มแต่ละคันก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นเครื่องดนตรี แต่มันถูกประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ เพลงชาติในเวอร์ชั่นนี่สื่อถึงประเทศที่ประกอบขึ้นมาจากคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง แม้เสียงของมันเพี้ยนไปบ้าง ไม่ตรงตามความถูกต้องทางดนตรี แต่มันคือประเทศที่เป็นของพวกเขาจริง ๆ และกำลังจะเดินหน้าต่อไปในแบบของพวกเขา
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องทำลายชาติแบบนี้ เราจะแตกแยกไปทำไม แต่เด็กรุ่นใหม่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความเชื่อของพวกเขาเป็นของจริง ไม่มีใครจ้างมาและพวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงกันจริง ๆ ศิลปินก็เป็นอีกหนึ่งกำลังที่ใช้ศิลปะในการแสดงออกหรือสร้างความเข้าใจให้กับสิ่งที่เขาเชื่อ ไม่ว่าอนาคตของฮ่องกงจะเป็นยังไง หรือเราจะมีความเชื่ออยู่บนพื้นฐานของฝั่งไหนก็ตาม ฮ่องกงก็คงไม่มีทางกลับไป ‘ปกติ’ ได้อีกครั้งแน่นอน เราก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้
อ้างอิง
Hong Kong’s piano man changes his tune to protest anthem
Hong Kong’s Piano Man Changes Tune to Protest Song