ทำไมคนฟังเพลงผ่านกันน้อยลงในช่วงกักตัว มันกำลังบอกอะไรเราได้บ้าง
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Peerapong Kaewthae
ในช่วงกักตัวเองให้ห่างไกลจากโรคระบาดตอนนี้ คงมีกิจกรรมไม่กี่อย่างที่เราพอทำได้เพื่อผ่อนคลายตัวเองในช่วงวิกฤต มันอาจจะดูสนุกในตอนแรก ทั้งฟังเพลงได้ทั้งวัน ร้องรำทำเพลง เต้นได้แบบไม่อายใคร ดูหนังมาราธอนข้ามคืนเท่าไหร่ก็ได้ตามต้องการ แต่เมื่อต้องอยู่แต่ในบ้านมาเป็นเดือน ก็อาจทำให้เราเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการเงิน การงานและอนาคต จนเราไม่มีกะใจจะทำอะไรแล้ว
หลายคนคิดว่าคนต้องอยู่บ้านก็จะฟังเพลงกันมากขึ้น เพราะเพลงช่วยทำให้ผ่อนคลาย หลับสบายมากขึ้น สตรีมมิ่งเนี่ยแหละจะกลายเป็นรายได้หลักของศิลปิน แต่กลายเป็นว่ายอดฟังเพลงค่อย ๆ ตกลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรงอย่างอิตาลี ที่ยอดฟังเพลย์ลิสต์เพลงฮิต top 200 บนสตรีมมิ่ง Spotify เฉลี่ยที่ 18.3 ล้านครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อประธานาธิบดีอิตาลีจะสั่งปิดเมือง ทำให้เดือนมีนาคมยอดฟังเพลงลดลงมาเหลือ 14.4 ล้านครั้ง หายไปถึง 4 ล้านครั้งเลยทีเดียว
We see regular dips in streaming numbers for our catalogue every weekend, so this fits with work/commute stoppage – and poses the question: is Spotify in truth a work tool, not a leisure time entertainment…? https://t.co/wceOQWiNft
— Damon K (@dada_drummer) March 19, 2020
Damon Krukowski หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจสตรีมมิ่งที่จ่ายเงินศิลปินได้จริง ให้ความเห็นว่า ชีวิตประจำวันของคนที่เปลี่ยนไปทำให้ยอดตกเป็นธรรมดา การกักตัวทำให้กิจวัตรของเราเปลี่ยนไปทุกด้าน การอยู่บ้านมากขึ้นทำให้เรากิจกรรมปกติอย่างการดูหนังดูซีรีส์ ดูกีฬา ออกกำลังกาย หรือการใช้เวลากับคนในครอบครัว มาเบียดบังเวลาฟังเพลงเข้าไปอีก เฉลี่ยแล้วคนใช้เวลาฟังเพลงกันไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำในช่วงเดือนนี้
ซึ่งตามสถิติแล้วปกติยอดฟังจะพีคมาก ๆ ในช่วงสี่โมงเย็นถึงสองทุ่ม แต่ทุกวันนี้หลายคนไม่ได้ติดอยู่บนถนนเป็นชั่วโมงทุกเย็นอีกแล้ว แถมห้างร้านต่าง ๆ ที่มักจะเปิดเพลงตลอดเวลาก็ต้องปิดชั่วคราวกันหมด
รวมถึงยอดขายซีดีหรือสินค้าทุกอย่างก็ตกลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ศิลปินระดับโลกหลายคนถึงกับล้มเพราะปล่อยอัลบั้มใหม่ไปแล้วแต่แผนการตลาดต้องหยุดชะงักจากโรคระบาด เพราะท่ามาตรฐานของการปล่อยเพลงคือมีบทสัมภาษณ์หลังจากปล่อยอัลบั้มซัก 2 อาทิตย์ และพาเพลงใหม่เหล่านั้นไปทัวร์ทั้งปี
ตลาดเพลงค่อนข้างเป็นระบบนิเวศที่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปทุกอย่างพังแน่นอน การที่พวกเขาโปรโมตเพลงไม่ได้ก็หมายความว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปอาจไม่กลับคืนมาเร็ว ๆ นี้แน่นอน ถึงการออก limited edition หรือเปลี่ยนฟอร์แมตเป็นไวนิลกับเทปคาสเซตจะสร้างกระแสได้บ้าง แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ค่อนข้างเสี่ยงเอาเรื่อง
แน่นอนว่า ตัวศิลปินเองก็โดนตัดช่องทางรายได้ไปเกือบหมดเลย Spotify พยายามจ่ายค่าตอบแทนจากยอดสตรีมมิ่งถึง 3 เท่าจากปรกติ เพื่อมาซัพพอร์ตในส่วนที่ศิลปินถูกยกเลิกงานแสดงกันหมด ส่วน Bandcamp ก็งดเว้นหักส่วนแบ่งจากศิลปินวันหนึ่ง เพื่อให้เงินจากการซื้อขายเพลงบนเว็บเข้ากระเป๋าศิลปินเต็ม ๆ ก็เป็นแนวทางการซัพพอร์ตศิลปินที่ดีเหมือนกัน เพราะศิลปินอินดี้บางคนที่พึ่งงานเล่นเป็นหลักก็คงไม่ได้เงินจากสตรีมมิ่งเป็นก้อนเท่าไหร่
แต่ถึงอย่างไร ทุกคนก็ยังมีเลือดศิลปินในตัว แถมช่วงกักตัวก็ทำให้เขาโฟกัสกับงานเพลงมากขึ้น หรือเพราะว่างไม่รู้ ศิลปินบางคนก็ปล่อยเพลงกันออกมารัว ๆ ทั้งศิลปินต่างชาติที่ทำเพลงเกี่ยวกับโควิดออกมามากมาย บางคนก็อยากทำเพลงเพื่อให้กำลังใจทุกคนบนโลกให้ต่อสู้กับโรคระบาดตอนนี้ต่อไป แม้แต่ตำนานอย่าง Bob Dylan ยังปล่อยบัลลาดป๊อป เพลงใหม่ในรอบ 8 ปี เพื่อขอบคุณแฟน ๆ ที่ติดตามเขามาเนิ่นนานและอวยพรให้ทุกคนปลอดภัย
ส่วนศิลปินไทยก็ขยันปล่อยเพลงไม่แพ้กัน อ้างอิงจากบทความบน Fungjaizine เฉพาะเดือนนี้มีเพลงออกใหม่ 50 กว่าเพลงเลยทีเดียว ถ้าใครอยากลองหาอะไรใหม่ ๆ ฟัง หรืออยากซัพพอร์ตศิลปินที่กำลังต่อสู้อย่างสุดตัวในช่วงนี้ ก็ลองไปส่องในคอลัมน์ Hot and Trending ได้น้า บอกเลยว่าไม่ผิดหวัง เพราะเราคัดเลือกแต่เพลงที่น่าสนใจมาพูดถึงแน่นอน อย่างน้อยในช่วงโควิดก็ไม่ได้มีเรื่องแย่ไปซะทั้งหมด
แต่ยังไง ศิลปินทุกคนก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐและแฟนเพลงเพื่อให้วงยังรันต่อไปได้ เหมือนที่ตัวผมเคยเขียนไว้ในเหตุผลที่ทุกคนควรฟังเพลงใหม่ ๆ ตลอดเวลา เรายังจำเป็นต้องฟังเพลงต่อไป เพราะศิลปินยังต้องการคนฟังตลอด
ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ซึ่งทุกคนนในวงการต้องหันมาทบทวนกันจริงจังแล้วว่ามีวิธีไหนที่จะช่วยพวกเขาได้มากกว่านี้อีก ถ้าต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนาน แล้วเราจะทำยังไงให้ซีนดนตรีไม่ล้มสลายตามไปด้วย
อ้างอิง
mic.com
civicscience.com
theguardian.com
theguardian.com