ความสำเร็จชั่วข้ามคืนไม่มีจริง! ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ศิลปินมีชื่อเสียง
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Peerapong Kaewthae
ไม่ผิดอะไรที่ศิลปินอยากจะมีชื่อเสียงบ้าง การที่เราดังก็หมายถึงมีคนชอบผลงานของเรา ทำให้งานเพลงของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือเงิน ที่จะช่วยต่อยอดผลงานใหม่ ๆ ให้กับเราจนสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องควบอีกงานที่ไม่ชอบเพื่อปากท้องของตัวเองไปเรื่อย ๆ
มีศิลปินหลายวง ที่มีผลงานเพลงดี ๆ ออกมาหลายเพลง แต่ก็ต้องที่ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเป็นที่รู้จักของคนฟัง แต่ก็มีศิลปินบางคนเหมือนกันที่อยู่ ๆ ก็ดังขึ้นมาแค่มีเพลงไวรัลเพลงเดียว ไม่แปลกถ้าจะมีคนกังขาในชื่อเสียงและความสามารถของพวกเขา แต่เบื้องหลังความสำเร็จชั่วข้ามคืนของศิลปินเหล่านี้ อาจแลกมาด้วยวันคืนอันยากลำบากที่ต้องฝึกฝนมาอย่างยาวนานหลายปี โดยที่ไม่มีใครสนใจมาตลอดเลยก็ได้
ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็ยังเดาไม่ค่อยได้เหมือนกันว่าเพลงไหนจะดัง ศิลปินคนไหนจะมา หลายคนเชื่อว่าจะมีชื่อเสียงได้ก็ต้องมีผลงานที่ดีให้ได้ก่อน แต่ผลงานที่ดีอย่างเดียวไม่ช่วยให้เราดังได้ มีสูตรพื้นฐานง่าย ๆ ที่ศิลปินหลายคนทำเพื่อสะสมชื่อเสียงของตัวเอง จะลองทำตามก็ได้ไม่ว่ากัน ดังนี้
มั่นคง+ปริมาณ = คุณภาพ การสร้างสรรค์เพลงขึ้นมาซักเพลงมันต้องใช้เวลาอยู่แล้ว ทำเพลงได้ซักเพลงก็อย่ามัวหลงระเริงกับมัน สิ่งที่ศิลปินมีชื่อทุกคนทำเหมือนกันคือตั้งใจทำงานและปล่อยผลงานออกมาสม่ำเสมอ ทำงานแต่ละชิ้นโดยที่มีประเด็นชัดเจนในใจ ก้าวข้ามตัวเองและหาเทคนิคใหม่ ๆ ที่ตัวเองสนใจอยู่ตลอดเวลา ยิ่งตั้งใจทำงานมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเก่งขึ้นแน่นอน
ปลุกปั้นสไตล์ของตัวเองให้แตกต่างชัดเจน มีเพลงมากมายที่แค่ได้ยินเสียงกีตาร์หรือดนตรีซักท่อนแล้วเรารู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงของศิลปินคนไหน การหาสไตล์ของตัวเองให้เจอก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราโดดเด่นเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้นด้วย ต่อให้อยากทำเพลงป๊อปก็ต้องเป็นเพลงป๊อปที่ไม่เหมือนใครให้ได้ อาจจะผสมแนวเพลงที่เราสนใจลงไปด้วยและฝึกฝนหาทางไปของตัวเองให้เจอ หรือทำโชว์ของวงให้น่าสนใจ ก็จะกลายเป็นคอนเทนต์ที่ให้สื่อนำไปเล่าต่อได้ หรือสร้างภาพจำให้คนฟัง
บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ถ้าอยากให้คนฟังจำเราแบบไหนก็อธิบายให้ทุกคนฟังด้วยตัวเองเลยเมื่อมีโอกาส การทำคอนเทนต์เฟซบุ๊กที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเพลงหรือวงของตัวเอง ก็ทำให้คนฟังเข้าถึงเพลงของเราได้มากขึ้น ศิลปินคนไหนคือแรงบันดาลใจของเรา เผื่อคนฟังชอบศิลปินคนนั้นจะได้ลองฟังเพลงของเราด้วย แต่ละคนก็มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน ออกแบบวิธีเล่าให้น่าสนใจแล้วเล่าออกมาเลย เพราะถ้าเราไม่พูดเอง ทุกคนจะสร้างเรื่องราวให้กับเราขึ้นมาซึ่งอาจไม่ใช่ตัวเราเลยซักนิดเดียว อาจจะลำบากในก้าวต่อ ๆ ไปของเราได้
การลงทุนกับรูปวงหรืออาร์ตเวิร์กของวงไม่มีทางสูญเปล่า มันจะช่วยเล่าได้แล้วว่าวงเราสไตล์เป็นยังไง หรือมีแนวดนตรีแบบไหน ในระยะสั้นนอกจากช่วยให้วงมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้นบนโซเชียลแล้ว ในระยะยาว รูปเหล่านี้ก็อาจจะไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่นโปสเตอร์คอนเสิร์ต บล็อกรีวิวเพลง หรือบทสัมภาษณ์ได้สะดวกรวดเร็ว เมื่อสื่อต้องการรูปเราไปใช้ก็ส่งให้ได้ทันที สร้างภาพจำให้กับทุกคนได้ด้วย
ทำให้เพลงของเราเข้าถึงง่าย การอัพโหลดเพลงขึ้นสตรีมมิ่งหรือ YouTube ทำให้เพลงของเรามีโอกาสถูกฟังได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าความสะดวกในการแชร์ไปยังโซเชียลต่าง ๆ ก็ทำให้เพลงถูกเผยแพร่ไปสู่คนที่สามสี่ง่ายตามไปด้วย สมัยนี้ยังได้เงินจากยอดการฟังอีก ได้ประโยชน์สองต่อเลย
ร่วมงานกับคนอื่น การออกมาแชร์วิธีการทำงานของเราไม่ใช่เรื่องเสียหายซะทีเดียว เมื่อความรู้หรือเคล็ดลับของเราสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ เราจะกลายเป็นที่จดจำและพูดถึงไปอีกนานแน่นอน การร่วมงานกับศิลปินคนอื่น หรือให้คนทั่วไปนำเพลงของเราไปต่อยอด คนที่ได้ชื่อเสียงมากที่สุดก็คือตัวเราเองเนี่ยแหละ
ศิลปินที่แท้จริงไม่ใช่คนที่มีแรงบันดาลใจ แต่คือคนที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่างหาก
แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ ในการโปรโมตงานศิลปะของตัวเอง หลายคนก็ยังพลาดไปบางข้อ แต่อย่างว่า มันไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่ใครทำทั้งหมดนี้แล้วจะดังได้ ต่อให้ถอดบทเรียนของวงดนตรีวงหนึ่งว่าเขาดังได้ยังไง ก็อาจเอามาใช้กับอีกวงดนตรีหนึ่งไม่ได้เหมือนกัน เราพยายามมองหาประสบการณ์หรือความเห็นที่หลากหลายมากขึ้น จึงลองไปดูใน Quora เว็บบอร์ดต่างประเทศที่ให้คนมาถามตอบกันได้เหมือนเว็บ Pantip บ้านเราว่า ‘คิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ศิลปินมีชื่อเสียงบ้าง’
หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจคือเขาบอกว่ามี 2 ทางเลือกสำหรับศิลปินที่อยากดัง แต่ถ้าเป็นไปได้ทำทั้งสองทางเลือกไปพร้อมกันก็ดี ทางแรกคือทำเพลงให้ดีมาก ๆ จนคนต้องหยุดฟัง เขียนเพลงที่มีเอกลักษณ์จนคนจำเราได้ แค่เราฟังเสียงร้องท่อนเดียวก็รู้เลยว่าเป็นเพลงของ Queen เราเห็นซีนหนังไม่กี่ซีนก็รู้เลยว่าเป็นหนังของ Wes Anderson จะให้ดีก็ฟังเพลงเยอะ ๆ เพื่อขยายขอบเขตของดนตรีที่เรารู้จัก หาคำตอบให้ได้ว่าเราชอบเพลงเหล่านี้เพราะอะไรแล้วเอามาปรับใช้กับเพลงตัวเอง ทำโชว์ให้น่าจดจำ และที่สำคัญคืออัดเพลงให้มีคุณภาพ ต่อให้อัดในห้องนอนก็ทำให้เป็นเพลงที่ฟังง่ายเสียงดังฟังชัดได้เหมือนกัน คุณภาพเสียงของเพลงสำคัญที่สุด
ทางที่สองคือทำการตลาดให้ดีมาก ๆ มีสัมพันธ์ที่ดีกับคนมากมายในวงการ ยากพอ ๆ กับข้อแรกสำหรับคนที่ไม่สุงสิงกับใคร แต่มันคือใบเบิกทางที่รวดเร็วมากเหมือนกัน การเป็นเพื่อนกับคนในวงการดนตรี นักลงทุน วงดนตรีอื่น ๆ เจ้าของร้าน นักข่าวหรือแฟนเพลง พวกเขาจะช่วยผลักดันวงของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตลอดเวลา สร้างเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับเพลงและวง ใช้โซเชียลให้เป็น สร้างคอนเทนต์ถ่ายวีดีโอที่เรียกให้คนมาลองฟังเพลงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ และต้องใจดีเอื้อเฟื้อกับทุกคน แฟนเพลงหรือคนที่ร่วมงานกับเราจะรู้สึกดีกับเราและช่วยเหลือเราเต็มที่เหมือนที่เราทำเต็มที่แน่นอน การเป็นศิลปินที่ไม่น่ารัก ไม่ตรงเวลา ไม่เห็นหัวแฟนเพลงในยุคนี้ นำมาแต่ความพังพินาศนาจา
ที่สำคัญที่สุดเลยคือเราต้องมีความอดทนมากพอที่จะรอให้มันเติบโตในแบบของมัน ความสำเร็จชั่วความคืนไม่มีจริง
อีกหนึ่งคำตอบจาก Quora ที่น่าสนใจคือเราต้องตอบสามคำตอบนี้ให้ได้ก่อนว่า ‘เราเป็นใคร’ การจะทำเพลงที่ดีขึ้นมาเราต้องใส่ตัวตนของเรา ภาษาและดนตรีของเราลงไป เพลงที่เราไม่เชื่อในสิ่งที่เราร้อง เราก็คงทำให้คนอื่นชอบไม่ได้ ‘เราทำให้ใครฟัง’ การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าใครคือแฟนเพลงของเรา ทำให้เราเข้าใจว่าจะเล่าอะไรด้วยวิธีแบบไหน ใช้คำยังไงเพื่อให้เพลงของเราเข้าไปนั่งในใจของเขาได้ ‘ใครรู้จักเราบ้าง’ การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ซัพพอร์ตงานของเรา ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ที่มีแฟนของเรา ถ้าทุกอย่างถูกที่ถูกเวลาก็ช่วยทำให้เราเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วมาก
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ จุดประกายมาจากนิทรรศการธรรมดา ๆ อย่าง ‘Inventing Abstraction: 1910–1925’ ที่รวบรวมงานศิลปะของศิลปินกว่า 80 คนเอาไว้ พร้อมแสดงเครือข่ายความสนิทสนมของศิลปินแต่ละคนให้ดู เมื่อลองใช้ AI มาประมวลผลงานทั้งหมดของศิลปินทุกคนดูและจัดอันดับว่าพวกเขามีความสร้างสรรค์มากแค่ไหน ผ่านการเชื่อมโยงใกล้ชิดของศิลปินแต่ละคน คะแนนที่ได้ก็ให้นักประวัติศาสตร์ด้านศิลปะมาช่วยให้ยืนยันคะแนนของศิลปินแต่ละคนอีกครั้ง
ผลที่ได้ออกมาน่าแปลกใจมาก ศิลปินหลายคนมีชื่อเสียงขึ้นมาได้เพราะมี connection ที่ดี หรือมีเครือข่ายเพื่อนที่พร้อมซัพพอร์ตพวกเขาอย่างตรงจุด โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องความสร้างสรรค์ในผลงานของตัวเองเลย
ยิ่งมีเครือข่ายจากต่างประเทศก็ยิ่งทำให้ตัวศิลปินได้ไอเดียประสบการณ์ที่หลากหลาย นำมาปรับใช้กับงานของตัวเองให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งความสร้างสรรค์กลับไม่สัมพันธ์กับชื่อเสียงซักเท่าไหร่ เพราะคนที่เก่งมากจริง ๆ พวกเขาก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาชื่อเสียงเลย การมี connection ที่ดีไม่เพียงนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่มีค่า แต่มันเต็มไปด้วยโอกาสที่หลายคนได้แต่ฝันหวานถึงมันด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็พาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่พร้อมจะส่งเสริมเราให้ได้
ที่เราพูดถึงมาทั้งหมดทั้งมวล ก็ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ทำให้วงดนตรีดังได้แน่นอน ส่วนตัวก็ยังมองว่าการทำเพลงที่ ‘ดี’ ในแบบของเราเองเนี่ยแหละที่จำเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จได้ ทั้ง connection หรืออะไรก็เป็นแค่ทางลัดสั้น ๆ เท่านั้น
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ใช่ทุกคนที่พยายามเท่าไหร่ ลงทุนลงแรงไปแล้วจะประสบความสำเร็จ ก็อยากให้ทุกคนทำเพลงต่อไปด้วยความสนุกมากกว่า นึกหน้าคนฟังเข้าไว้เวลาเขาบอกว่าเพลงของเราช่วยเปลี่ยนชีวิตเขายังไง อย่าเอาสมองและเวลาทั้งหมดไปโฟกัสกับชื่อเสียงให้เสียเวลาดีกว่า ถ้ายังมีความสุขที่จะทำมันต่อไป ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป ถ้าเราตั้งใจกับสิ่งที่เราทำอยู่และมีความอดทนมากพอ เราก็จะไม่เสียใจกับมันทีหลังเนอะ 😉
อ่านต่อ
Big Data อาจบอกได้ว่าเพลงไหนหรือศิลปินคนไหนกำลังจะดัง สิ่งที่ศิลปินต้องรู้
บินไปเรียน Popular Music Performance ที่ประเทศไหนดี
อ้างอิง
Quora.com
Quora.com
mariabrophy.com
artsy.net