ทำไมเมืองของเราควรมี Music Festival
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Tunlaya Longsurname
เชื่อว่าคนรักเสียงดนตรีน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อของ Glastonbury, Coachella, , Fuji Rock, Tomorrowland หรือ Primavera Music Festival เพราะแต่ละงานต่างเป็นเทศกาลดนตรีในฝันสำหรับใครหลายคนที่ต้องไปให้ได้ซักครั้งในชีวิต นอกจากหลาย ๆ เวทีจะรวมศิลปินระดับแม่เหล็กที่ดูดคนจากทั่วโลกให้ไปที่งานได้แล้ว ยังมีการจัดแสดงงานศิลปะ ร้านค้า ความบันเทิง ไปจนถึงงานสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทุกแขนง บางเทศกาลยังสนับสนุน OTOP ของคนพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เครื่องประดับ หรืออาหาร ช่วยเปิดหู เปิดตา เปิดกระโหลกเราทุกมุมมองจริง ๆ แต่นอกจากความสนุกที่เราจะได้รับระหว่างไปเสพความสุขในงานแล้ว เมืองยังได้รับอานิสงส์ของเทศกาลเหล่านี้ไปด้วย
ตัวอย่างเทศกาลดนตรีที่ดีที่เราชอบมากคือ Mawazine Festival ที่จัดขึ้นในเมือง Rabat ประเทศโมร็อกโก กลายเป็นเฟสติวัลระดับนานาชาติที่ดึงดูดชาวเมืองหรือผู้มาเยือนจากทุกมุมโลกมาที่งานได้นับล้านคน มีตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงหญิงสูงวัยในชุดชาวพื้นเมือง คู่รักที่พากันออกมาสร้างประสบการณ์ประทับใจ และครอบครัวใหญ่ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ถึงสามรุ่นด้วยกัน
นอกจากจะมีศิลปินชื่อดังระดับโลก ยังมีศิลปินท้องถิ่นจากทั่วประเทศได้ขึ้นเวทีอย่างยิ่งใหญ่ด้วย และที่พิเศษกว่าเฟสติวัลไหน ๆ คือมี Justin Timberlake ในไลน์อัพของงาน แต่โดยปกติตั๋วคอนเสิร์ตของจัสตินเองในปีเดียวกันนั้นตกราคาประมาณ $165 หรือประมาณ 5,220 บาท แต่ในเทศกาลดนตรี Mawazine คุณสามารถไปดูเขาได้ ฟรี!! ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่อยากยกให้ Mawazine เป็นเทศกาลดนตรีของชาวโมร็อกโกโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
เทศกาลดนตรี Mawazine คือหนึ่งในโปรเจกต์หลักขององค์กรไม่แสวงหากำไร Maroc-Cultures ก่อตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 4 แห่งโมร็อกโก ที่มีเป้าหมายอยากผลักดันและสนับสนุนศิลปินมืออาชีพ หรือกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะทุกแขนงภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘ผลงานทรงคุณค่าแห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก’ ก่อนเทศกาลจะเริ่มขึ้น ทุกหัวมุมถนนในเมืองเต็มไปด้วยงานแสดงศิลปะทุกชนิด รวมไปถึง street show ที่ลูกเด็กเล็กแดงก็สามารถมาร่วมสนุก เป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้มาพบปะสังสรรค์อย่างสร้างสรรค์โดยทุกคนมีส่วนร่วมได้
เทศกาลดนตรีนี้ไม่เพียงทำให้ Rabat กลายเป็นเมืองระดับโลกแต่มันยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองหรือในประเทศอีกด้วย เทศกาลช่วยสร้างอาชีพกว่า 5,000 ตำแหน่ง และสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้คนพื้นเมืองรวมถึงชาวต่างชาติกว่า 40 ธุรกิจต่อปี แถมงานยังพึ่งพาเงินของรัฐน้อยลงทุกปีทำให้มันเฟสติวัลยั่งยืน นี่คือเหตุผลว่าทำไม Mawazine Festival ถึงเวิร์คมาก
เทศกาลนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดของ Jonathan R. Wynn ให้น่าสนใจขึ้น ซึ่งเขาเป็นคนเขียนหนังสือ ‘Music/City: American Festivals and Placemaking in Austin, Nashville, and Newport’ ซึ่งเขาไปสำรวจแนวคิด ‘festivalization’ หรือวัฒนธรรมการจัดเฟสติวัลโดยโฟกัสที่เทศกาลดนตรีระดับโลกสามแห่งในอเมริกาคือ South by Southwest (SXSW), Country Music Association (CMA) และ Newport Folk Festival ผ่านการสัมภาษณ์ศิลปิน ผู้จัดงาน และผู้นำของเมืองร้อยกว่าคน เหตุผลที่เลือกสามงานนี้ก็เพราะเมืองที่จัดงานเป็นเมืองขนาดกลางและมีพลวัตรทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนกว่าเมืองอื่น ๆ เศรษฐกิจในเมืองที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทุกปี แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ ก็คือศิลปินทั้งหลายที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีน้อยใหญ่ในงาน ในยุคที่รายได้จากการขายซีดีลดลงก็มีงานโชว์นี่แหละที่ช่วยชีวิตนักดนตรีไว้ ได้ทั้งค่าตัวและมีโอกาสได้โชว์เพื่อชนะใจแฟนเพลงหน้าใหม่ของพวกเขาด้วย ศิลปินที่ได้มาเล่นในเทศกาลดนตรีก็มีโอกาสที่จะถูกจองไปเล่นตาม venue รอบ ๆ เทศกาล เป็นการช่วยบุกเบิกตลาดให้นักดนตรีรุ่นต่อไปอีก
แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลหรือสิ่งท้าทายอยู่เหมือนกัน เมื่อการจัดเทศกาลก็มีปัญหาตามมามากมายทั้งขยะ การคมนาคม อาชญากรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจัดกับเมืองจะต้องคุยกันว่าแต่ละปัญหาจะแก้ได้ยังไง ก็ช่วยให้เมืองเกิดการตื่นตัวและเริ่มพัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน
กลับมามองที่เมืองไทยกันบ้าง เวลาเราพูดถึงอีเวนต์ที่ทำงานกับเมืองเราจะคิดถึง Chiang Mai Design Week เป็นงานแรกเลย เพราะเป็นงานที่ต้องการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริงผ่านการนำศิลปินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจจากการทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง โดยการกระจายงานศิลปะทุกแขนง นิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปทุกหัวมุมถนน โดยไม่แบ่งแยกระหว่างศิลปะร่วมสมัยและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นจนกลายเป็นเมืองศิลปะที่แท้จริง ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นงานที่เข้าถึงทุกคนได้ แถมยังได้ความร่วมมือจากนานาประเทศเพื่อทำลายข้อจำกัดของเมือง นอกจากจะช่วยเรียกเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วสารทิศมาได้แล้ว ยังได้ต่อยอดวัฒนธรรมและสืบสานประวัติของเมือง แถมในงานยังมีพื้นที่ให้ศิลปินและนักดนตรีพื้นเมืองได้ส่งเสียงอีกด้วย เรียกว่าตอบโจทย์ทุกด้าน เป็นอีกงานที่น่าชื่นชมมาก
แต่ถ้าให้เจาะไปที่เทศกาลดนตรีเลย ในบ้านเราก็มีงานที่น่าสนใจเกือบทุกเดือนไม่ว่าจะเป็น Wonderfruit, Stone Free, Big Mountain หรืองานล่าสุดอย่าง Yak Fest ซึ่งเลือกจะออกไปจัดที่นอกเมือง แม้มองผ่าน ๆ เราจะไม่ได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจในเมืองนั้น ๆ อย่างชัดเจน แต่ก็ช่วยระดมคนผ่านเข้าออกเมืองทำให้เกิดการจับจ่ายซื้อของหรือใช้บริการต่าง ๆ ในเมืองนั้นมากขึ้น หรือเทศกาลดนตรีอีกแห่งที่น่าสนใจคือ Cat Expo ที่เลือกจะจัดแถบชานเมือง หลายคนบ่นว่าการเดินทางไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่ถ้าผู้ว่าในเขตนั้นเห็นช่องทางการพัฒนาจริง ๆ ก็อยากให้มีการพูดคุยกับผู้จัดเพื่อพัฒนาระบบขนส่งให้ดีขึ้นได้ อนาคตก็จะมีเทศกาลต่าง ๆ ลงไปจัดแถวนั้นมากขึ้น สร้างความเจริญให้กับเมืองในระดับต่อไปได้
เราเชื่อว่าผู้จัดก็มีความตั้งใจอยู่ลึก ๆ ว่าอยากช่วยพัฒนาเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้นผ่านเทศกาลดนตรีที่พวกเขาถนัด ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะเห็นโอกาสแล้วลงมาพูดคุยและขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน เพราะเอกชนหลาย ๆ เจ้าอาจจะมีแนวคิดดี ๆ ที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่สำคัญที่สุดคือผู้ฟังทุกคนจะต้องช่วยกันอุดหนุน เพราะเงินของทุกคนก็จะหมุนกลับมาช่วยประเทศของพวกเราเองเนี่ยแหละ แต่ถ้าใครไม่แน่ใจว่าเงินภาษีของพวกเราจะกลับมาช่วยประเทศได้จริง ๆ รึเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันตั้งคำถามถึงภาครัฐ บางคนก็อาจจะต้องอยู่เมืองนี้ไปอีก 50-60 ปี เราไม่อยากให้มันน่าอยู่ขึ้นบ้างเลยหรอ?