Article Guru

Welcome to Our Tribe! เพลงของเรา บูมของเรา เผ่าของเรา

  • Writer: Piyakul Phusri

เสียงหายไปไหนหมด!?! บูมให้ดังกว่านี้!?!
คนเป็นร้อย ร้องเพลงคณะได้ดังแค่นี้เหรอ? ร้องใหม่!!!

หลังการประกาศผลสอบแอดมิชชั่น 2560 ก็คงมีทั้งคนผิดหวังและสมหวังในการเข้าไปเป็นเฟรชชี่ของมหาวิทยาลัยต่าง ทั่วประเทศ คนที่สมหวังก็จะต้องผ่านกระบวนการเข้าเป็นนิสิตนักศึกษา และการขึ้นทะเบียนต่าง กันต่อไป พอเปิดเทอมก็จะเป็นช่วงเวลาของการรับน้องก็คงจะมีทั้งรับน้องสยองขวัญ รับน้องสันทนาการ และรับน้องในแนวต่าง นานา ว่ากันไปตามคอนเซปท์ของแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย (ปีนี้ขอให้ไม่มีใครเจ็บหรือตายจากการรับน้องอีกเลยนะ)

แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน กิจกรรมแรก ที่เฟรชชี่จะต้องได้ทำก็คือการร้องเพลง ทั้งเพลงประจำคณะ เพลงประจำมหาวิทยาลัย เพลงฮิตของแต่ละคณะ แต่ละสาขา และการก้ม เงย บูมกันจนคอเคล็ดไปข้างนึง สำหรับบางคนนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต แต่สำหรับบางคนก็อาจจะเป็นเวลาที่น่าเบื่อที่สุดได้เหมือนกันกับการร้องเพลง เต้น บูม วนไปวนมา หรือโดนว้ากอย่างดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น

แล้วทำไมเราถึงต้องร้องต้องเต้นกันมากมายขนาดนั้นในช่วงแรก ของชีวิตเฟรชชี่? ลำพังวิชาเรียนมันก็เยอะอยู่แล้วนะเฮ้ย!

Arnold van Gennep นักคติชนวิทยาชาวฝรั่งเศสได้บัญญัติคำว่า Rite of Passage (ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า Rites de Passage) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านขึ้น เพื่อใช้อธิบายการกระทำ หรือ พิธีกรรมที่บุคคลหนึ่งเปลี่ยนสถานะของตนเองจากสถานะหนึ่งไปสู่สถานะหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือ การแยก (separation) คือ การแยกบุคคลนั้นออกจากโครงสร้างสังคมเดิม การเปลี่ยน (transition) เป็นห้วงเวลาที่บุคคลนั้นจะไม่ใช่ทั้งสมาชิกของสังคมเดิม และ ยังไม่มีสถานะใหม่ เรียกว่าเป็นสถานะครึ่ง กลาง จะเป็นฉันคนเดิมก็ไม่ใช่ จะเป็นฉันคนใหม่ก็ยังไม่ได้ เพราะว่ายังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งหมด และ ช่วงสุดท้ายคือ การกลับมารวมกันใหม่ (integration) ที่บุคคลจะกลับเข้าสู่สังคมด้วยสถานะใหม่ บทบาทใหม่ และ หน้าที่ใหม่

ตัวอย่างที่ชัดเจนของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านคือพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ในบางชนเผ่าดั้งเดิมทั้งในแอฟริกา อเมริกา หรือในหมู่เกาะแปซิฟิกอันห่างไกล วัยรุ่นเพศชายที่มีอายุถึงเกณฑ์จะถูกแยกตัวออกไปจากเผ่าไปอยู่รวมกันในสถานที่ปิดแห่งหนึ่ง พวกเขาอาจจะถูกโกนหัว ทำสัญลักษณ์บนร่างกายให้เกิดแผลเป็น ถูกสอนให้ร้องเพลงและเต้นรำร่วมกัน ถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท ฯลฯ จนเมื่อผ่านพิธีกรรมที่ถูกกำหนดไว้ทั้งหมดแล้ว ขบวนแห่ของเหล่าวัยรุ่นก็จะกลับเข้าสู่เผ่าอีกครั้งและได้รับการยอมรับจากสังคมว่าพวกเขาได้เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ดังนั้น ที่บอกว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มันยากแล้ว การจะกลายมาผู้ใหญ่ในสังคมชนเผ่าอาจจะยากมากกว่าหลายเท่า

การรับน้องสู่รั้วมหาลัยก็เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านที่เป็นเหมือนมรดกจากสังคมชนเผ่าที่เรายังคงนำมาใช้ในสังคมปัจจุบัน แม้ว่ามันจะมีเบื้องหน้าเป็นกิจกรรมสันทนาการสนุกสนาน (แหงล่ะ พี่ เค้าก็ต้องเอาความสนุกมาขายสิ) แต่ในอีกมิติ การรับน้องก็คือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากสถานะนักเรียนมัธยม หรือ นักศึกษาสายอาชีพ  สู่การเป็นเฟรชชี่ของมหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมต่าง ที่อาจจะทำสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น และเมื่อเสร็จสิ้นการรับน้อง เฟรชชี่เหล่านั้นก็อาจจะได้สัญลักษณ์อะไรบางอย่าง อาจจะเป็นหัวเข็มขัด ตุ้งติ้ง หรืออะไรก็ว่าไปที่แสดงให้เป็นว่าเป็นนิสิตนักศึกษาของสาขา ของคณะ และ ของมหาวิทยาลัยนั้นอย่างสมบูรณ์ หรือ มีสถานะเป็นคนเผ่าเดียวกันแล้วอย่างเต็มตัว

เท่านั้นยังไม่พอ บางคนอาจจะต้องผ่านการรับน้องหอพัก รับน้องชายล้วน รับน้องหญิงล้วน รับน้อง LGBTQ รับน้องต่าง นา เป็นก๊อกสองสามสี่ห้าอีก แต่ทั้งหมดก็คือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมใหม่กลุ่มต่างๆ นั่นแหละ ซึ่งหลายสาขาหลายคณะ ในหลายมหาวิทยาลัย ก็ให้ความสำคัญกับการรับน้องมาก เฟรชชี่ที่ไม่ผ่านกิจกรรมรับน้องทั้งหมดก็อาจจะถูกทั้งเพื่อนทั้งพี่แบน หรือ ถูก social-sanction แบบว่าอยู่ดี ก็โดนคำสาปลึกลับทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้ รุ่นพี่ก็ไม่ชอบ สุดท้ายหากจิตไม่นิ่งพอก็อาจจะต้องย้ายที่เรียน หรือซิ่วจากไป (ซึ่งเราไม่สนับสนุนนะ เราอยู่ในโลกซิวิไลซ์แล้ว จะมาบังคับกันทั้งทางตรงทางอ้อมทำไม?)

ดนตรีและการเต้น เป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านทั้งในกลุ่มชนเผ่าในพื้นที่ห่างไกล และ ในการรับน้องมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าการต้อนรับเฟรชชี่ด้วยการกอดคอร้องเพลงคณะแบบซึ้ง อิน แล้วกอดคอบูมให้น้องด้วยเสียงดังแปดหลอดของบรรดารุ่นพี่ ก่อนที่จะให้น้อง เฟรชชี่ทำบ้างหลังจากเข้าสู่ช่วงรับน้องอย่างเป็นทางการ การร้องเพลง และ การเต้น เป็นทั้งกิจกรรมเสริมสร้างความเป็นหมู่คณะที่มีพลัง เพราะทุกคนจะต้องร้องและเต้นเหมือน กัน การร้องเล่นเต้น เลยเป็นเครื่องมือเพื่อเน้นขับเอกลักษณ์ของคณะนั้น ให้เด่นขึ้น เช่น คณะนี้ต้องร้องเพลงนี้ให้ดังเป็นพิเศษ หรือ บิดเนื้อเพลงให้ทะลึ่งตึงตังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมันก็ยังเป็นช่องทางระบายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในกิจกรรมรับน้องได้ด้วย เช่น  เวลาคุณเกลียดรุ่นพี่บางคนที่บ่น ๆๆ ด่า ๆๆ แต่คุณก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากระบายความเซ็งออกมาด้วยการตะโกนแหกปากร้องเพลงให้ดัง แล้วก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ๆๆ แบบนี้เป็นต้น

แม้ว่าทุกวันนี้การรับน้องจะคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หลายแห่งยกเลิกการรับน้องด้วยความรุนแรงไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่า การร้องเพลง และการเต้น จะยังคงเป็นกิจกรรมมาตรฐานของการรับน้องไปอีกนาน (หรืออาจจะตลอดกาล ตราบใดที่ระบบมหาวิทยาลัยไทยเป็นแบบนี้) เพราะในมุมหนึ่งมันก็คือกิจกรรมบันเทิง และเป็นเครื่องมือที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำที่ใช้ในการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน และสร้างเอกลักษณ์เฉพาะสาขา เฉพาะคณะ และเฉพาะมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

ว่าแต่ คุณ เข้าสู่เผ่าของคุณด้วยการร้อง การเต้น การเล่น อะไรกันบ้างล่ะ? เราก็อยากรู้เหมือนกันนะ

TIPS:

ว่ากันว่า ประเพณีรับน้องใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อปี .. 2475 เป็นการต้อนรับน้องนักศึกษาแพทย์จากโรงเรียนเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เดินทางข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยามาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และยังคงปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันในชื่อประเพณีรับน้องข้ามฟากเพื่อต้อนรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่เรียนวิชาพื้นฐานจบจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มาศึกษาต่อในชั้นปีที่สูงขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ส่วนระบบโซตัส (SOTUS) เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อมีการตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ซึ่งมีการนำระบบ Fagging System จากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษมาใช้ โดยให้นักเรียนอาวุโสที่มีความประพฤติดีเป็นผู้ช่วยครูเพื่อดูแลพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละระดับชั้น และเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งต่อมาก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้นำเอาระบบโซตัสเข้าไปใช้ก่อนจะแพร่หลายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ในเวลาต่อมา โดยตัวอักษรแต่ละตัวของคำว่า SOTUS มีความหมาย ดังนี้

‘S’ หมายถึง Seniority: นักศึกษารุ่นน้องต้องเคารพอาจารย์ และนักศึกษารุ่นพี่
‘O’
หมายถึง Order: นักศึกษารุ่นน้องต้องเชื่อฟังคำสั่งของอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่
‘T’
หมายถึง Tradition: คือ การรักษาเฉพาะประเพณีที่ดีงามและเหมาะสมไว้
‘U’
หมายถึง Unity: นักศึกษาต้องรักษาความสามัคคีในหมู่นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา และ
‘S’
หมายถึง Spirit: นักศึกษาต้องมีจิตใจที่ดีงามและมีคุณธรรม มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม

สำหรับการว้าก ต้นตำหรับของพิธีกรรมนี้ในประเทศไทยคือ โรงเรียนป่าไม้ภาคเหนือ หรือวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน เนื่องจากคณาจารย์รุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยสำเร็จการศึกษามาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมในฟิลิปปินส์ หรือ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประเพณีการว้ากที่สืบเนื่องมาจากโรงเรียนเตรียมทหารอีกที จึงได้รับเอาการว้ากมาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง

ที่มา: Stokrocki, Mary. 1997. Rites of Passage for Middle School Students, Art Education (50)3: 48-55
http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/130

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี