แนวเพลงประหลาด ๆ แบบนี้มันมีจริง ๆ หรอ ? V.2 ประหลาดจนต้องลองฟัง
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Tas Suwanasang
การฟังเพลงก็ยังคงเป็นทุ่งร้างกว้างใหญ่อันไม่สิ้นสุดอยู่นั่นแหละ เราเคยแนะนำ แนวเพลงประหลาด ๆ แบบนี้มันมีจริง ๆ หรอ ? ไปถึง 6 แนวแล้ว แต่คงยังไม่สาแก่ใจ เพราะเรายังมีอีก 6 แนวเพลงที่ประหลาดกว่ามาให้ทุกคนลองฟังดู
Unblack Metal
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า christain black metal ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ black metal อย่างสิ้นเชิงจากความรุนแรง ลัทธิซาตาน พูดถึงการกินคนอย่างหยาบคาย แนวเพลงนี้กลับพูดถึงพระเจ้าอย่างงดงาม สรรเสริญพระเจ้าและการมีชีวิตอยู่ ส่งต่อแนวคิดทางศาสนาผ่านดนตรีเดือด ๆ แต่ความจริงแล้ว christain black metal ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะไอเดียของเพลงแนว black metal คือการต่อต้านศาสนา หลายวงก็ตระหนักดีในสิ่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อแนวเพลงเป็น unblack metal แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าการทำเพลงแบบนี้มันดีกับศาสนาจริง ๆ หรอ ทำให้มีวงน้อยมากที่ยังรันอยู่ตอนนี้
ศิลปินที่อยากแนะนำ: Golden Resurrection / Theocracy / Admonish / Temple of Perdition / Antestor และ Sanctifica
Elevator Music
อ่านตอนแรกอาจจะงง ว่าสิ่งนี้เรียกว่าดนตรีได้ด้วยหรอ ชื่อนี้ถูกพูดถึงกันตั้งแต่ปี 60 แล้ว เรียกชื่อหนึ่งว่า ‘muzak’ (Fungjaizine เคยเขียนถึงไปแล้ว อ่านได้ ที่นี่) แม้คอนเซ็ปต์ของมันจะไม่ได้ตั้งใจสร้างมาเพื่อความบันเทิง แต่ดนตรีของมันก็สร้างมาเพื่อให้คนฟังหายเบื่อและมีปฏิสัมพันธ์กับมันในช่วงเวลาสั้น ๆ ดนตรีในลิฟต์ถูกสร้างมาเพื่อไม่ให้หงุดหงิดกับความรู้สึกว่าต้องอยู่ในลิฟท์นาน ๆ หรือมีความรู้สึกว่าทำไมลิฟท์ช้าจัง ถึงปัจจุบันลิฟต์จะรวดเร็วปรู๊ดปร๊าดกว่าสมัยนั้นเยอะมากแล้ว ดนตรีแนวนี้ก็ยังต้องมีอยู่เพราะคนเราก็เหมือนจะใจร้อนขึ้นทุกวันเหมือนกัน ลิฟต์สมัยนี้บางที่จะติดกระจกแทน เพราะคนทั่วไปทนใช้เวลากับการตรวจรูปลักษณ์รูปร่างของตัวเองได้มากกว่าจะฟังเพลงชิล ๆ เหล่านี้
Vegetables
ตอนเด็ก ๆ เราถูกสอนว่าไม่ให้เล่นของกิน แต่แม่ไม่เคยเล่าให้ฟังเลยว่ามีคนที่ใช้เครื่องดนตรีเป็นผักอยู่บนโลกนี้ด้วย แม้ชื่อ vegetables จะไม่ใช่ชื่อแนวเพลงอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าได้เห็นโชว์ของพวกเขาเราจะเข้าใจทันที มันมาพร้อมกันการมาถึงของวง The Vegetable Orchestra ที่นำผักหลากหลายชนิดมาทดลองทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ แล้วจึงร้อยเรียงพวกมันเข้าด้วยกันจนกลายเป็นวงมโหรีที่รื่นเริงจนน่าเหลือเชื่อ หลังจากนั้นก็มีวงน้อยใหญ่โผล่ขึ้นมาอีกมากมาย
ศิลปินที่อยากแนะนำ: The Vegetable Orchestra, Junji Koyama และ Linsey Pollack
Nintendocore
เราเคยพาดพิงแนวเพลงนี้ไปแล้วในบทความอันเก่า แต่เจ้าเพลงแนวนี้น่าจะถูกใจเด็ก 80-90 โดยเฉพาะคนที่โตมากับเกม 16-bit ของ Nintendo เพราะเขาเอาซาวด์กุ๊งกิ๊งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของเกมยุคนั้น มาผสมกับ hardcore punk ได้ดุเดือดมาก บางวงก็กดสุดไปถึงขั้นเมทัลหรือ screamo เลยทีเดียว ในพายุของไลน์กีตาร์อันบ้าคลั่ง จะมีซาวด์แอนะล็อกน่ารัก ๆ ระบายไปมาอยู่ทั้งเพลง บาลานซ์ความดิบเถื่อนให้ดูเนิร์ดลงหน่อยแต่ความมันยังเต็มพิกัดเหมือนเดิม
ศิลปินที่อยากแนะนำ: N-Core Lives / Dinotrax / Monomate / 🙁 / Armcannon และ Bubblegum Octopus
Hokum Blues
ฟังผ่าน ๆ แนวเพลงนี้ก็อาจจะไม่ได้ต่างจากบลูส์ทั่วไปเท่าไหร่ แต่เนื้อเพลงของมันกลับพูดเรื่องเพศได้อย่างโจ๋งครึ่ม 18+ สุด ๆ โด่งดังและเป็นที่แพร่หลายมากในยุค 20-30 ที่การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องต้องปกปิดและกระทำกันหลังเที่ยงคืนเท่านั้น ดนตรีแนวนี้ก็ร่ำร้องเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ การขายตัวและการร่วมเพศเดียวกันโดยใช้การเปรียบเปรยหรือคำสองแง่สองง่าม ถ้าไม่คิดอะไรสกปรกก็จะไม่รู้เลย เช่น ‘เขาชอบให้ทำช้า ๆ’ หรือ ‘ฉันอยากให้ไส้กรอกสอดเข้ามาในขนมปัง’ หนึ่งในเพลงที่โด่งดังมากคือ My Sweet Petunia ของ Lucille Bogan ซึ่ง ‘petunia’ คือชื่อของดอกไม้ที่สวยงาม แต่มันมีแสลงแปลว่าการใช้ปาก
ศิลปินที่อยากแนะนำ: Lucille Bogan / Bo Carter / Lil Johnson / ZZ Top และ The Hokum Boys
Narcocorrido
สำหรับแฟนคลับซีรีส์อาชญากรรมสุดดังแบบ ‘Narcos’ ที่ตื่นเต้นกับการหักเหลี่ยมเฉือนคมและเรื่องราวสุดดราม่าในวงการเจ้าพ่อค้ายา ก็อาจจะสนุกไปกับแนวเพลงนี้ได้ ชื่อของมันประกอบมาจากคำว่า ‘narco’ ที่แปลว่ายาเสพติด และ ‘corrido’ ที่แปลว่าเพลงบันลาด แตกตัวเองมาจากเพลงเม็กซิกันพื้นเมือง ซึ่งเนื้อเพลงก็มักจะสรรเสริญเจ้าพ่อค้ายาทั้งหลายที่มีอยู่จริง ๆ ทั้งการถูกจับ การทำสงคราม การต่อสู้เพื่อครอบครัวและการหักหลัง แน่นอนว่ามันถูกแบนจากรัฐบาล ซึ่งนักดนตรีเหล่านี้จะทำเพลงตามวีรกรรมบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้นักค้ายาบางคนก็เลือกที่จะก่ออาชญากรรมเยอะ ๆ เพื่อให้มีเพลงที่พูดถึงตัวเองบ่อย ๆ แม้นักดนตรีจะพยายามไม่เมนชั่นถึงชื่อก็ตาม แต่ในวงการนี้ก็ไม่มีใครปลอดภัยทั้งนั้น เพราะเคยมีข่าวว่านักดนตรีถูกฆ่าตายปริศนาจากฝีมือคู่อริของแก๊งที่ตัวเองทำเพลงให้ก็มี หรือทำเพลงที่พูดถึงคดีที่มีคนไม่อยากให้พูดถึง ถึงยังไงเพลงแนวนี้ก็ยังถูกยกย่องในฐานะดนตรีที่บันทึกประวัติศาสตร์ของวงการค้ายาเอาไว้ด้วย
ศิลปินที่อยากแนะนำ: El Komander / Los Tucanes De Tijuana / Gerardo Ortiz / Angel Gonzalez และ Valentin Elizade