ร่วมหาทางออกให้อนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ในเวิร์กช็อป ‘The Future of Thai Music Industry’
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: CEA
เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Fungjaizine ได้ไปเข้าร่วมเวิร์กช็อป The Future of Thai Music Industry ของ CEA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะเราเองก็อยากรู้ว่า ‘อนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีของไทย จะไปทางไหนดี’ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่พวกเราที่สงสัย แต่มีศิลปินไม่ว่าจะเป็น ตั้ม Monotone พิซซ่า วงพราว ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เจ Penguin Villa แพท นัท Klear เท็ดดี้ วิ Flure บิว Lemon Soup ข้น Bomb At Track แดน Yew ชาลี DCNXTR Tontrakul นักศึกษา และคนทำงานเบื้องหลังวงการดนตรีเกือบ 40 ชีวิตมาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้
งานเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงบ่ายแก่ ๆ ที่ชั้น 4 ของ TCDC ไปรษณีย์กลาง โดยมีทีมงานของ CEA เล่าวัตถุประสงค์ของเวิร์กช็อปครั้งนี้ และแนะนำเครื่องมือที่เรียกว่า ‘design thinking’ เพื่อช่วยระดมความคิดในการจัดระเบียบแก้ไขปัญหาที่หลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมดนตรีไทยเล็งเห็นได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งก็มีการแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่มเพื่อนำเสนอหัวข้อปัญหาที่แต่ละคนสนใจ แล้วให้ทุกคนฟุ้งปัญหา อะไรก็ตามที่มองเห็นผ่านสายตาของเราต่อวงการดนตรีว่างมีอะไรบ้าง เขียนลงไปใน post-it หัวข้อละแผ่น โดยระหว่างนี้มี พาย ฟังใจ มาร่วมเป็นวิทยากรมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวงการดนตรี ไปจนถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งผู้ผลิต เทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภค ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
จากการบรรยายของพาย เราพบว่าในยุคดนตรีร่วมสมัย เทคโนโลยีมีส่วนมากในการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค จากเทป ซีดี กลายมาเป็นไฟล์ MP3 ที่คนพากันฟัง โดยไม่มองว่าดนตรีเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องได้รับการคุ้มครอง จากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ผลิตและจัดจำหน่ายซีดี ก็เหลือกลุ่มกระจุกตัวอยู่สามเจ้าทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจคือตลาดในไทย สามเจ้านี้นับเป็นแค่ส่วนน้อย เมื่อตลาดส่วนใหญ่ถูกถือครองโดย GMM Grammy ความเป็นเมนสตรีมยังคงแข็งแกร่งในตลาดเอนเตอร์เทนเมนต์ และนอกจากนี้ยังมี Joox เป็นสตรีมมิงหลักของประเทศ ซึ่งผู้ผลิตผลงานค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้เพราะรายได้ที่ได้จากสตรีมมิงนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น ๆ อย่าง Spotify หรือ Apple Music และยังสนับสนุนพฤติกรรมฟังเพลงฟรี ทั้งยังมีตัวเงินที่ต้องนำมาลงทุนในโปรดักชันกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งเพลง เวิร์กช็อปนี้จะเป็นการมาร่วมระดมสมองว่าเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
พอเขียนเสร็จแล้ว แต่ละกลุ่มก็จะเอาหัวข้อต่าง ๆ มาจัดระเบียบ ข้อดี ข้อเสีย เกิดขึ้นในอดีต หรืออนาคต และสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่อะไรได้บ้าง จากนั้นก็นำมาเสนอต่อที่ประชุมว่าใครเล็งเห็นประเด็นอะไร และจะให้แต่ละคนเลือกย้ายไปกลุ่มที่ทำประเด็นที่ตัวเองสนใจก็ได้ แล้วก็นำมาแยกว่ามีใครเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกันในด้านการใช้งาน หรือการได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่าน ‘stakeholders map’ ซึ่งหลังจากแยกกันระดมความคิด เสนอไอเดีย และหนทางแก้ปัญหา เราก็แบ่งแนวทางแก้ไขออกได้หลายแนวทาง
ทั้ง การสร้าง creative district โดยมองเห็นว่าเราอาจจะเปลี่ยน RCA ตอนนี้ที่เป็น Royal City Avenue ให้กลายมาเป็น Royal Creative Avenue พื้นที่สำหรับ creative space จัดสรรพื้นที่ให้ใช้เสียงดังได้ จำหน่ายแอลกอฮอล เปิด 24 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ มีฮอลคอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ ร้านค้า ร้านอาหาร co-working space รองรับนักศึกษาและผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้มีพื้นที่ส่วนกลาง อาจจะมีอุปกรณ์ระดับ hi-end ให้ใช้ในงานโปรดักชันได้ และความที่มี ‘avenue’ ซึ่งแปลว่าถนนอยู่ในชื่อ เราอาจจะเปลี่ยนทางรถข้างบนให้กลายเป็น walking street และนำการจราจรลงไปไว้ที่ชั้นใต้ดิน มีลานจอดรถ หรือ live house สำหรับวงหรือดีเจที่เล่นเพลงหนัก ๆ หรืออาจทำโครงการ artist in residence ให้มาทดลองใช้พื้นที่ได้ฟรีเหมือนกับเมืองท่าแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย เพื่อดึงให้มีธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ และดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ด้วย
การร่วมมือกันในแบบผ่านตัวกลางก็เป็นอีกสิ่งที่หลายกลุ่มเห็นตรงกัน คือการมีองค์กรส่วนกลางเพื่อกระจายอาชีพสำหรับศิลปิน โปรดิวเซอร์ ครีเอทิฟ โดยไม่ขึ้นกับค่ายหรือบริษัทใดเป็นหลัก เพื่อให้คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้เกิดการ collaborate กัน เป็นเหมือนตลาดที่ทุกคนมาช็อปปิ้งกันได้เลย หรือถ้าศิลปินมีเพลงแล้ว ไม่ต้องการความช่วยเหลือด้านโปรดักชัน แต่อยากให้คนช่วยทำแผนการตลาดให้ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากโปรโมเตอร์ค่ายใหญ่ผ่านส่วนกลางก็ได้ โดยค่าแรงก็คิดตามเรตประสบการณ์ทำงานของแต่ละคนไป อันนี้สามารถทำได้ทั้งในสเกลของวงเล็ก ๆ ไปจนถึงวงใหญ่ที่อยากร่วมงานกับบุคลากรที่ตนสนใจก็ได้
อีกทางคือการ cross industries กับภาคส่วนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวงการดนตรี อย่างเช่นการจับมือกับธุรกิจ OTOP เป็นน้ำตาลปึกตรา Bomb At Track หรือผ้าบาติก Penguin Villa จับมือกับธุรกิจหนังโป๊ที่มีเม็ดเงินอยู่ตลอดทั้งในและนอกประเทศ อาจเก็บเป็นค่าสมาชิก regular, premium ได้ฟีเจอร์พิเศษ หรืออาจจะสร้างศิลปินในวงการด้วยเลยก็ได้ ไปจนถึงการเข้าสู่วงการเครื่องราง โหราศาสตร์ เอาศิลปินไปเป็นสัญลักษณ์บนไพ่ oracle หรือยิปซี เช่น เอา ตูน Bodyslam แทนสัญลักษณ์ The Sun หรือดัดแปลงรูปแบบการดูดวง เช่น เพลงนี้เป็นคอร์ด 7 เยอะ เลข 7 เป็นเลขไม่ดี ให้เปลี่ยนเป็นคอร์ดอื่นซะ (เออ เขาก็คิดได้เนาะ) ไปจนถึงการให้นักร้องไปลงเสียงในเทปบทสวดมนต์ หรือแต่งเพลงร็อกสำหรับเพลงสวดหากไม่ขัดต่อหลักศาสนา ส่วนใหญ่เป็นการมองเข้าไปยังอุตสาหกรรมที่เราคาดไม่ถึง แต่มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอทางออกสำหรับอุตสาหกรรมเพลงไทย แม้ตอนนี้จะยังเป็นขั้นเริ่มต้นที่ทุกคนกำลังพยายามจับต้นชนปลาย หาต้นสายปลายเหตุและวิธีแก้ไข ซึ่งจะนำไปต่อยอดเป็นการกำหนดเส้นทางเดินที่ทำให้วงการดนตรีของเราคึกคักและสร้างรายได้ได้เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต นอกจากการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับทัศนคติในการมองให้เห็นคุณค่าของดนตรีกรรมว่าเป็นสิ่งที่ต้องจ่าย สร้างเครือข่ายนักดนตรี หรือพยายามเอาดนตรีไปผนวกกับธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาครัฐมีส่วนสำคัญจริง ๆ ที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ที่เสนอเกิดความเป็นไปได้ ก็มารอดูกันในอนาคตว่าเสียงของคนในอุตสาหกรรมดนตรีจากเวิร์กช็อปครั้งนี้จะไปถึงพวกเขาเหล่านั้นบ้างหรือไม่