อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่เคยฟังมานี่นา : เมื่อศิลปินเปลี่ยนแนวเพลง เขา หรือใครสั่งให้เปลี่ยน ตอนที่ 2
- Writer: Mokara Chitteangtham
ในตอนที่แล้วเราได้พูดถึงวงดนตรีหลาย ๆ วงในตลาดเพลงไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางดนตรี หนึ่งในวงเหล่านั้นที่เกิดเป็นกระแสพูดถึงทั้งในแง่บวกและลบมากที่สุด เห็นจะเป็นวง Clash ที่พออัลบั้มที่ 3 Brainstrom ได้เปลี่ยนแนวดนตรีจาก pop rock/ J-rock เป็น (so-called) hip hop
ภายหลังจากการประกาศยุบวงใน พศ. 2553 แบงค์ นักร้องนำ เริ่มมีผลงานเดี่ยวในชื่อ Bank Ca$h และได้ทำเพลงร่วมกับ Thaitanium ก็ออกมาให้คำตอบผ่านสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงแนวดนตรีไว้ว่า เขาเริ่มหมดความสนใจในดนตรีร็อกตั้งแต่ก่อนจะทำอัลบั้ม Brainstrom เพราะเป็นเวลานาน ตั้งแต่เขาและเพื่อน ๆ ร่วมกันทำวง Clash ช่วงมัธยม พอโตขึ้นเขาก็เริ่มอิ่มตัว จนรู้สึกว่า เพลงร็อกและ nu-metal มันไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับเขาอีกแล้ว ระหว่างนั้นตัวเขาเองก็มีพัฒนาการในการเสพดนตรีที่เปลี่ยนไปตามวัยจึงเริ่มสนใจฮิปฮอป และอย่าคิดว่าเขาทำเพลงแค่ตามกระแส เพราะนอกจากฮิปฮอป เขายังฟังดนตรีในสายนี้ประเภทอื่น ๆ ด้วยเช่น r&b, soul แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อมีผู้อ้างถึงส่วนหนึ่งที่เขาเคยโต้ตอบแฟนเพลงหัวอนุรักษ์นิยมในทำนองว่า
“ผมเคยได้ยินฝรั่งเขาพูดกันว่าคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ชอบในทุก ๆ 3 ปี ถ้าไม่เปลี่ยน แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นตัวคุณ ผมฟัง r&b มาตลอด 5 ปีแล้ว ผมไม่เปลี่ยนแล้ว”
ประเด็นหลัก ๆ ที่แฟนเพลงนำมาพูดถึงคือ พวกเขารู้สึกว่า แบงค์พยายามจะทำให้ตนเองดูโตขึ้นด้วยการเปลี่ยนแนวดนตรี ไปจนถึงเรื่องทรงผมและการกันคิ้วซึ่งออกมาดูไม่เหมาะกับตัวเขา จนถูกแซะว่าทุกวันนี้เห็นรูปแล้วแยกไม่ออก ระหว่าง แบงค์ กับ เป้ วง Mild
จริง ๆ แล้วเรื่องเหล่านี้ไม่ได้แปลกใหม่เลยในแง่ของธุรกิจ media tycoon เพราะวงระดับประเทศอย่าง Bodyslam ก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางดนตรีและการแต่งตัว โดยเฉพาะกางเกงของพี่ตูนอย่างเห็นได้ชัด
Bodyslam ชุดแรก
ชุดหลัง ๆ
หรือถ้าลองข้ามฝั่งไปอีกค่าย ก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ โดม ปกรณ์ ลัม หลังหมดสัญญากับ RS Promotion และกลับมาจากต่างประเทศ ก็สลัดภาพศิลปิน pop dance มาทำผลงานที่ใช้ชื่อว่า Nologo ที่ทำเพลงแนว experimental-electronic music ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินแนวนี้กลุ่มแรก ๆ ของเมืองไทยเลยทีเดียว
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาจากแรงขับเคลื่อนจากตัวศิลปินเอง หรือจากค่ายเป็นตัวกำหนดบทบาทแนวทาง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ค่ายเพลงก็เป็นประเภทหนึ่งของธุรกิจ และเมื่อขึ้นชื่อว่าธุรกิจก็ย่อมต้องคำนึงถึงผลของกำไรขาดทุนเป็นหลัก ใช้การผลิตผลงานในรูปแบบของการทำซ้ำโดยใช้โมเดลเดิม เช่นการปั้นวง punk 3 ชิ้นขึ้นมา 3 วง ปล่อยในช่วงเวลาใกล้กัน แล้วนั่งรอดูว่าวงไหนจะดังที่สุดค่อยเก็บไปปั้นต่อ หรือการผลิต product ที่มีความสอดคล้องกับกระแสหลักของตลาดโลก ย่อมเป็นไปได้ที่จะการันตีถึงความสำเร็จในแง่การขายได้มากกว่า อย่างน้อยก็คงไม่เจ๊ง โดยเฉพาะถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่อินเทอร์เน็ตยังราคาแพงและไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกที่อย่างทุกวันนี้ กระแสของแนวดนตรีมักถูกกำหนดโดยประเทศฝั่งตะวันตก จึงเป็นไปได้ที่ตัวศิลปินอาจถูกค่ายกำกับหรือแทรกแซงการกำหนดทิศทางดนตรีค่อนข้างมาก และแน่นอนถ้าหากว่าแนวดนตรีที่กำลังเป็นกระแสคือสิ่งที่ศิลปินไม่ถนัด แต่จำเป็นต้องมีอย่างน้อย 2-3 เพลงอยู่ในอัลบั้ม จึงไม่แปลกที่ตัวเพลงจะทำออกมาไม่ถึง ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเพลงแถม เข็นออกมาให้เพลงครบอัลบั้ม ทั้ง ๆ ที่ทางค่ายเพลงส่งเพลงนั้นออกมาเป็นเพลงแรกเพื่อโปรโมตด้วยซ้ำ
ธุรกิจเพลง ภาพยนต์ หรือ ธุรกิจศิลปะ (art business) แขนงต่าง ๆ มีความพิเศษจำเพาะมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิตประเภทอื่น ทำให้ไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จทางการตลาดเข้าไปจับเป็นแบบแผนได้ง่าย เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ตัวเองเป็นจุดขาย (product based business idea) ยากที่จะจูงใจผู้บริโภคด้วยการจัดโปรโมชันแบบอื่น คงมีน้อยคนที่จะซื้อเพลงของศิลปินที่ไม่ชอบ หรือไม่ได้มีความสนใจ เพียงเพราะซื้อเพลงผ่าน digital platform แค่ 20 บาท จากราคาปกติของศิลปินอื่นทั่วไปเพลงละ 30 หรือ 35 บาท ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคที่หลายคนฟังเพลงผ่าน YouTube หรือ streaming แค่ศิลปินที่เราไม่รู้จักผ่านเข้ามาในเพลย์ลิสต์ คนส่วนมากก็พร้อมที่จะกด skip กันแล้ว (ไว้ถ้ามีโอกาสจะเขียนเรื่องนี้ให้อ่านกัน) ธุรกิจศิลปะจึงจำเป็นต้องเค้นจุดเด่น และวางภาพลักษณ์ของสินค้า (ศิลปิน) ให้ชัดเจนเสียก่อน จึงสามารถกำหนดกลุ่มผู้บริโภคและวางแผนการขายได้ แต่ก็คนที่ทำงานทางนี้ก็เหมือนเป็นสายอาชีพต้องคำสาป เพราะดนตรีเป็นสินค้าที่อัตราการซื้อซ้ำต่ำจนเป็นศูนย์ แต่มีการใช้ซ้ำตลอดจนเกิดการละเมิดสูง และทำได้ง่ายมาก
คงไม่มีใครกดซื้อเพลงเดียวเกินกว่า 1 ครั้ง แต่ผลงานที่ใช้เวลาสร้างเป็นเดือนปีกลับถูกปล่อยให้โหลดฟรี หรือสามารถเข้าถึงได้ฟรีจาก YouTube ครั้นจะลดคุณภาพผลงาน เพิ่มความไวในการผลิตเหมือนสินค้าประเภท hard-copy ก็ทำไม่ได้ เพราะในโลกที่เป็น globalized marketplace ไม่เหมือนกับยุคสมัยที่ CD เพลงไทยราคา 199 เพลงสากลราคาเริ่มต้นที่ 499 เพราะผู้ซื้อสามารถอ่านรีวิว หรือลองฟังก่อนซื้อได้ ถ้าเพลงคุณไม่ถูกใจ เขาก็จะซื้อเพลงจากศิลปินต่างประเทศที่คุณภาพการผลิตดีกว่า แต่ราคาเท่า ๆ กัน
ในเมื่อเหลือทางออกไม่มาก ค่ายเพลงใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้มีรายได้หลักแค่ผลิตเพลง แต่เป็นอุตสาหกรรมผลิตสื่อ ฯ ทำให้เป้าหมายของเขาไม่ใช่แค่ผลิตศิลปินออกมาด้วยต้นทุน 200,000 บาท ขายได้ 500,000 บาท พอที่แบ่งให้ศิลปินและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ถ้าได้กำไรก็เปิดแชมเปญฉลองแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านได้ เหล่าอาเฮีย อากู๋ ผู้คุม media tycoon จึงต้องการกำไรจากทุก section ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเค้นออกมาได้เพื่อขยายธุรกิจ หรืออุดรูขาดทุนของธุรกิจอื่นในเครือ หนทางง่าย ๆ ที่จะบริหารจัดการความเสี่ยง คือสร้างชิ้นงานที่มันเกาะกระแสโลกขึ้นมาซะ หรือเข้าถึงกำลังซื้อส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งยังคงความ loyalty และพร้อมจะสนับสนุนศิลปินที่เขารักเพื่อเน้นขายโชว์ไปด้วย ในยุคนึงจึงพบว่าศิลปินไทยสากลจำนวนมากผันตัวมาออกอัลบั้มที่มีความเป็นดนตรีลูกทุ่ง–เพื่อชีวิตกัน จนบางรายก็เอาดีด้านนี้ไปเลย ไม่เว้นแม้แต่ เบิร์ด ธงชัย icon แนว city pop ยังต้องออกอัลบั้ม ชุดรับแขก มาเพื่อตีตลาดกลุ่มใหม่นี้ และประสบความสำเร็จด้านยอดขายสูงสุดในตลาดเพลงไทยสากลของปีนั้น
ทางค่ายจึงคิดตอกย้ำความสำเร็จด้วยการปล่อยอัลบั้ม เบิร์ด–เสก ในโอกาสการฉลอง GMM ครบรอบ 20 ปี เป็นการร่วมงาน ระหว่าง เบิร์ด กับ เสก โลโซ ด้วยเพลงที่มีภาษาและเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ฟังดูจริงใจ จังหวะดนตรีโดนใจ แต่ถึงแม้เพลงจะดัง มีคนร้องตามได้ (อมพระมาพูด) แต่ผลิกโผ ยอดขายน้อยกว่าอัลบั้มชุดที่แล้วเกินเท่าตัว ซ้ำยังน้อยกว่าจุดสูงสุดสมัยที่ยังคงตำแหน่งเจ้าพ่อ city pop เมืองไทยเสียอีก
ลองคิดดูว่าวันนึงถ้า Justin Bieber ทำเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยทั้งหมดออกมาหนึ่งอัลบั้ม แน่นอนว่าคงจะทำยอดขายจากทั้งแฟนเพลงผู้ฟังชาวไทยได้อย่างถล่มทลาย เพราะความแปลกใหม่ ไม่คาดคิด (ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ไม่ชอบขี้หน้าบีเบอร์น่ะนะ) แต่ถ้าบีเบอร์ยังทำเพลงไทยออกมาอีกเรื่อย ๆ อีก 2-3 อัลบั้มผลตอบรับจะเป็นยังไง?
ในปี พศ. 2553 เบิร์ดกลับมาอีกครั้งกับแนวทางเดิม พร้อมกับเนื้อหาเพลงและดนตรีที่พัฒนาไปตามวัย อัลบั้ม อาสาสนุก มีเพลงชื่อยาวมาก อย่าง อย่าทำอย่างนี้ไม่ว่ากับใคร…เข้าใจไหม เพลงเศร้าที่มีมุมมองการใช้ภาษาแบบผู้ใหญ่ และ Too Much, So Much, Very Much ซึ่งแสดงตัวตนในแบบคนขี้เล่นอารมณ์ดี
การกลับมาสู่จุดยืนเดิมครั้งนี้ ทำให้ทั้ง 2 เพลงกลายเป็นเพลงฮิต ส่งผลให้ในปีนั้นอัลบั้มที่สามารถทำยอดได้สูงสุดแลเป็น 1 ใน 50 อัลบั้มของ GMM ที่สามารถขายและทำยอดจาก digital platform ได้สูงสุด และอีก 3 ปีจากนี้ หากไม่มีศิลปินหน้าไหนมาลบสถิติ อัลบั้มนี้จะกลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายและดาวน์โหลดสูงสุดในประวัติศาสตร์ดนตรีไทยสากล
แม้การเปลี่ยนแปลงแนวเพลงออกจะเป็นการทำร้ายความคาดหวังของแฟนเพลงอยู่บ้าง แต่ก็นับว่ามีข้อดีถ้าหากปัจจัยนั้นมาจากสารตั้งต้นภายในตัวตนของศิลปินเอง เท่ากับว่าเราจะได้เห็นศิลปินที่เราชื่นชอบ มีพัฒนาการไปตามช่วงวัย ได้ฟัง ได้สัมผัสกับมุมมองและศักยภาพในการสร้างสรรค์ที่กว้างขึ้น และยังเป็นผลดีต่อศิลปินในการขยายฐานแฟนเพลงกลุ่มใหม่ ๆ เหมือนตื่นมาวันนึง เราพบว่าร้านบะหมี่หน้าปากซอย เปลี่ยนเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ยังมีป้าคนเดิมทำหน้าที่เป็นเชฟ และยังขายราคาเท่าเดิม จริงอยู่ที่แวบแรกอาจทำให้รู้สึกเคลือบแคลงใจในรสชาติอาหาร แต่ป้ายังคงทักทายชวนคุยด้วยท่าทีเหมือนเดิม หรืออาจจะดูยิ้มแย้ม ท่าทีกระตือรือร้นมากกว่าทุกวันด้วยซ้ำ
คุณจะใจร้ายเดินออกจากร้านโดยไม่ลองชิมก่อนซักครั้งเชียวเหรอครับ