อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่เคยฟังมานี่นา : เมื่อศิลปินเปลี่ยนแนวเพลง เขา หรือใครสั่งให้เปลี่ยน ตอนที่ 1
- Writer: Mokara Chitteangtham
หลายวันก่อน ผมเลื่อนไปเห็นโพสต์ของรุ่นน้องในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับวงดนตรีไทยวงนึง ในทำนองที่ว่า ‘เฮ้ย วงนี้เคยทำเพลงเพราะ ๆ แบบนี้ออกมาด้วยเหรอ’ ทำเอาผมมองบนไปหนึ่งทีพลางคิดในใจว่า ก็จริงนะ วงการเพลงไทยมีหลายวงเลยแหละที่มีเพลงดี ๆ เยอะ ส่วนมากจะเป็นอัลบั้มแรก ๆ ก่อนที่จะดังหรือก่อนที่จะผันตัวเองเข้าค่าย แต่ทำไมอัลบั้มดัง ๆ ที่ทำยอดขายได้เยอะ ๆ หรืองานที่ต้นสังกัดของศิลปินโหมโปรโมตหนัก ๆ กลับไม่ค่อยเพราะ ไม่ค่อยถูกจริตเราเลยหว่า
จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงทางดนตรี ถ้าเป็นตลาดเพลงสากล ตัวแปรหลัก ๆ ส่วนมาก มาจากความต้องการแสดงการเติบโต หรือเปลี่ยนผ่านของทิศทางดนตรี ที่ตัววงต้องการจะแสดงออก เช่น The Flaming Lips, Vampire Weekend หรือ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ วงอย่าง Radiohead ที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง ของวงแทบจะในทุก ๆ 2-3 อัลบั้ม จนทำให้วงรู้สึกไม่อยากกลับไปเล่นเพลงฮิตในอตีดอย่าง Creep ถึงจะมีแฟนเพลงเคยตะโกนขอ จนทำให้แฟนเพลงส่วนมากที่ยอมเสียเงินซื้อบัตรหรือข้ามน้ำข้ามทะเลไปดูคอนเสิร์ตถึงต่างประเทศ เกิดความผิดหวังเล็กๆ
แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับวงการดนตรีสากลเลย ศิลปินต่างประเทศเหล่านี้ มักทำเพลงจากวัตถุดิบในตัวเอง มากกว่าจะ ยอมผ่อนปรนทางความคิด กับต้นสังกัด หรือทำตัวแบบ fan service อย่างเช่นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจนพลิกโฉมดนตรีโฟล์กมาแล้วคือ จู่ ๆ Bob Dylan ก็กลืนน้ำลายตัวเอง เปลียนแนวเพลงจากอะคูสติกโฟล์กมาเป็น full electric band ในปี 1965 จนหลังจากนั้น โดนสาวกหัวรุนแรง โห่ไล่ก่นด่า ว่าเป็น Judas แห่งวงการดนตรีโฟล์กอเมริกัน
ในทางกลับกัน ถ้าหากว่าค่ายไม่เห็นจุดเด่น หรือประเมินเพลงของพวกเขาว่าไม่สามารถทำรายได้ในตลาดเพลงได้ เขาก็ยินดีที่จะเดินออกมา และมอบบทเรียนราคาแพงให้กับ เหล่าทีมบริหาร ผู้มีสิทธิชี้เป็นชี้ตายกำหนดชะตากรรมของศิลปินหน้าใหม่ เช่นที่ The Beatles เคยทำกับ Decca Records ซึ่งปัจจุบัน ถูกควบรวมเป็นสังกัดย่อยภายใต้ Universal Music Group หรือตัวอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ที่ The 1975 ถูกปฏิเสธจากหลายสังกัดในเมืองเกิด ก่อนที่จะมาอยู่กับ Polydoor (Dirty Hit Records)
กลับมาถึงเรื่องใกล้ตัว จริง ๆ แล้วศิลปินไทยที่สร้างผลงานเพลงดี ๆ ในแบบที่เป็นตัวของตัวเองก็มี แต่สุดท้ายแล้วในอัลบั้มหลัง ๆ มีอันต้องเปลี่ยนแนวเพลงไปชนิดที่แฟนเพลง แทบจะตามไม่ทัน จนเป็นที่มาของหัวข้อบทความนี้ เท่าที่พอจะนึกได้ ก็มีอยู่หลายวง เช่น วง Clash ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงจากเวที Hotwave Music Awards จนได้เซ็นสัญญากับ Up G ซึ่งเป็นค่ายย่อยในเครือ GMM และมีอัลบั้มแรกชื่อ One ออกมาในปี พศ. 2544 มีเพลง ดังอย่าง กอด, เจ้าหญิงนิทรา, และ เพลงฮิตที่ได้ใจสาว ๆ ทั้งประเทศ รับได้ทุกอย่าง
จุดเด่นที่สำคัญของวงคือ เป็นวงที่สมาชิกแต่ละคนอายุยังน้อยแต่สามารถ แต่งเพลง เรียบเรียงดนตรีได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง Clash ได้ทำเพลงที่ชวนให้นึกกลิ่นอายของดนตรี J-Rock อย่างวง Luna Sea จัดว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ในวงการเพลงไทยใน พศ. นั้น จนสร้างกระแสให้เด็กวัยมัธยม อยากจะเล่นกีตาร์ได้อย่าง พล มือกีตาร์ ของวงกันค่อนประเทศ
ผลงานชุด ที่ 2 Soundshake ซึ่งสร้างกระแสได้สมชื่อ เพราะว่าเป็นอัลบั้มยุคท้าย ๆ ที่ขายได้เกิน 1 ล้านก็อปปี้ก่อนที่จะถูกการเข้ามามีบทบาทของ YouTube เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพลงไปสิ้นเชิง ภายหลังจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ Clash ถูกโจมตีอย่างหนักจากแฟนเพลงถึงขั้นสาปส่ง เนื่องจากอัลบั้ม Brainstrom ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 3 วงได้เปลี่ยนทิศทาง จากที่เคยสร้างชื่อจากเพลงแนวบัลลาดร็อกที่มีท่อนโซโล่งดงาม กลายเป็นวงฮิปฮอป นูเมทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำเอาแฟนเพลงนักเลงคีย์บอร์ดหัวรุนแรงทั้งหลาย โพสด่า แบงค์ นักร้องนำ ด้วยประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การแต่งตัว จนไปถึงทรงผม! ซึ่งไม่เกี่ยวกับผลงานเพลงเลย
วงดนตรีไทยที่จับกระแสนูเมทัลในช่วงนั้น นอกจาก Clash ยังมี แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม นักดนตรีมากฝีมือ ผู้ที่เคยรับตำแหน่งโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินมากมาย และเป็นผู้บริหาร Madcatz สังกัดย่อยในเครือ GMM ที่มีผลงานอัลบั้มแรกเป็นแนว pop rock, adult contemporary ชื่อว่า Catarock
หลังจากอัลบั้มแรก ทิศทางดนตรีกลับค่อย ๆ เพิ่มหนักของดนตรีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเพลงเร็วในอัลบั้ม Awake อย่าง ราตรีสวัสดิ์ กลายเป็นนูเมทัลเต็มตัว
แต่ท้ายที่สุดเพลงที่คนฟังและแฟนเพลงส่วนมากจดจำได้ กลับกลายเป็นเพลงช้า ที่มีกลิ่นของดนตรีบลูส์, แจ๊ซ อย่าง คนของเธอ, เหตุผล, รับได้ไหม ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของเขาได้มากกว่า
แม้กระทั่ง เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์ ผู้เป็นเจ้าพ่อเพลง city pop เมืองไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80s ก็ยังเคยต้องเปลี่ยนไปทำอัลบั้มเพลงสตริงค์ที่มีกลิ่นความเป็นไทยพื้นบ้าน ในอัลบั้ม ชุดรับแขก (พศ. 2545) ที่มีเพลงดังอย่าง แฟนจ๋า ทำให้แกรมมี่สร้างยอดขายได้มากกว่า 5 ล้านก็อปปี้ และเป็นสถิติสูงสุดของวงวารเพลงไทย ทำให้แกรมมี่ต้องการตอกย้ำความสำเร็จด้วยสูตรเดิม จึงเข็นอัลบั้ม เบิร์ด-เสก ออกมาแต่ผลตอบรับกลับไม่เท่าอัลบั้มก่อนหน้า ไม่เท่าแม้กระทั่งความสำเร็จของอัลบั้ม บูมเมอแรง ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุด (3 ล้านก็อปปี้) ในฐานะเจ้าพ่อเพลง city pop
ทำไมแผนการตลาดจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมสื่อฯระดับประเทศ ที่ถูกวางไว้อย่างดี โดยใช้เวลาถึง 2 ปีต่อ จึงไม่สามารถไปถึงเป้าหมายเดิม เกิดอะไรขึ้นกับ วงการเพลงป๊อบของไทย ในตอนหน้าเราจะมาพบกับสาเหตุที่แท้จริงของเปลี่ยนแปลงในแนวทางของวง Clash จากคำบอกเล่าของแบงค์ และบทวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจเพลงในบ้านเรากันนะฮ้าฟฟฟ