ผิดมั้ย ถ้าจะสร้างรสนิยมการฟังเพลงให้ลูก

Article Guru

ผิดไหม ถ้าจะสร้างรสนิยมการฟังเพลงให้กับลูกตั้งแต่เกิด

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Karin Lertchaiprasert

วันก่อนเราพูดถึง Mozart Effect ความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าเปิดเพลงคลาสสิกให้ลูกฟังแล้วจะฉลาดขึ้น หาคำตอบว่าเรื่องเพลงไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงทำให้เด็กฉลาดขึ้นโดยตรง แค่เปิดโอกาสให้ทำความรู้จักกับดนตรีมากขึ้นต่างหาก และการฝึกเล่นดนตรีนี่แหละ ถึงจะพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้านในตัวเด็กได้ เราอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่จากการเปิดเพลงเพื่อให้ลูกฉลาด มาเป็นเปิดเพลงเพื่อให้เขาค้นพบโลกใหม่ ๆ ดีกว่า

แต่แน่นอนว่าคนชอบฟังเพลงแบบเรา ถ้ามีลูกก็อยากจะมั่นใจว่าลูกจะมีรสนิยมในการฟังเพลงที่ดีเหมือนเรา แล้วคงอยากเปิดเพลงของวงที่เราชอบให้ลูกฟังทั้งวันเหมือนกัน ต่อให้เด็กวัยแรกเกิดจะเหมาะกับเพลง Baby Shark มากกว่าก็ตาม เพราะเรายังมีความเชื่อว่าตอนเด็ก ๆ ฟังเพลงอะไร ก็จะชอบฟังเพลงแบบนั้นไปจนโต แม้แต่ Elton John ยังเคยให้สัมภาษณ์ใน Rolling Stone ว่าเขาก็ใส่เพลง Led Zeppelin, Bob Marley และ The Beatles เวอร์ชั่นกล่อมเด็กให้ลูกแฝดของเขาฟังทุกคืน

แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าแม้แต่ Elton John หรือเราก็ไม่สามารถสร้างรสนิยมทางดนตรีให้กับลูกได้ Robert Cutietta ผู้เขียนหนังสือ ‘Raising Musical Kids’ เลี้ยงลูกให้เป็นนักดนตรี บอกว่าไม่แปลกที่พ่อแม่อยากจะเปิดเพลงให้ลูกฟัง แต่เขาแนะนำว่าอย่าเปิดเพลงแค่แนวเดียวให้ลูกฟัง หรือบังคับให้ลูกมีรสนิยมการฟังเพลงเหมือนกับเรามันคือ ‘ทางตัน’ (dead end) มันจะทำให้ลูกของคุณไม่เปิดรับเพลงแนวอื่น ๆ เลย ในบทความ รสนิยมการฟังเพลงของเรามาจากไหน ก็บอกว่าสมองของเด็ก ๆ จะตัดทอนสิ่งที่ไม่คุ้นเคยออกไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้น จนเขาก็เลิกสนใจแนวดนตรีอื่น ๆ ที่ไม่เคยฟังไปจนหมด เราควรให้ลูกได้ฟังเพลงทุกแนว สิ่งที่ต้องสื่อให้ลูกเห็นคือเพลงแบบไหนที่เราชอบ แต่เราชอบฟังเพลงแค่ไหนต่างหาก เด็กจะซึมซับทุกอย่างที่พ่อแม่ฟัง ที่พ่อแม่เต้น ที่พ่อแม่ร้อง แล้วเขาจะจดจำเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นไว้ทั้งหมด ‘ความหลากหลายทางดนตรีคือสิ่งสำคัญที่สุด’

การฟังเพลงด้วยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของเราผูกพันแน่นแฟ้น ยืนยันด้วยงานวิจัยที่บอกว่าเด็กที่โตมากับการฟังเพลงเหมือนพ่อแม่ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเพลงกันเป็นประจำ จะทำให้โตมาแล้วสนิทกับพ่อแม่เป็นพิเศษ และการหาเพลงแนวใหม่ ๆ ให้ลูกฟัง ก็ยังช่วยให้พ่อแม่ได้ลองฟังเพลงใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดจะฟังได้อีกด้วย ไม่เพียงแต่เด็กจะได้สำรวจรสนิยมทางดนตรีของตัวเองอย่างอิสระ พ่อแม่ก็ได้ขยายขอบเขตการฟังออกไปด้วย ในอนาคตเมื่อลูกเจอเพลงแนวใหม่ ๆ ก็อาจแนะนำให้เราฟัง แล้วทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแนบแน่นขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่เสียงดนตรีลงไปในการวางแผนครอบครัวด้วยล่ะ

อ้างอิง

Raising Musical Kids: A Guide for Parents

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา