วิบวับ WIP WUP ถอดประเด็นจาก เนื้อเพลง ที่เร็ว ๆ นี้มีกระแสตีกลับจากโลกออนไลน์อย่างดุเดือดจาก #วิบวับเพลงชั้นต่ำ ที่ออกมาวิจารณ์เพลงนี้กันอย่างเผ็ดร้อน

Article Guru

ถอดประเด็นร้อน #วิบวับเพลงชั้นต่ำ เราต้องช่วยกัน #saveวิบวับ รึเปล่า?

วิบวับ (Wip Wup) เพลงโคตรฮอตบนกระแสโซเชียลวินาทีนี้ จากท่อนฮุกติดหูของ Mindset และได้แร็ปเปอร์ชื่อดังที่มาแจมด้วยทั้ง Daboyway Younggu และ Diamond ทำให้กลายเป็นเพลงฮิตอย่างรวดเร็ว

แต่เร็ว ๆ นี้กลับมีกระแสตีกลับจากโลกออนไลน์อย่างดุเดือดจากแฮชแท็ก #วิบวับเพลงชั้นต่ำ ที่ออกมาวิจารณ์เพลงกันอย่างเผ็ดร้อนด้วยข้อหารุนแรงว่า มีเนื้อเพลงบางส่วนเหยียดเพศ แต่แฟนเพลงส่วนหนึ่งก็ออกมาตอบโต้กลับจนเป็นสงครามย่อม ๆ ทำให้แฮชแท็กทะยานขึ้นอันดับ 1 บนเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว และเปิดแฮชแท็ก #saveวิบวับ ขึ้นมาเพื่อปกป้องเพลงฮิตเพลงนี้

วิบวับ เป็นเพลงชั้นต่ำ จริงหรือ?

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในเทรนด์นี้ที่ Fungjaizine อยากหยิบมาพูดถึง เมื่อดนตรีกับประเด็นสังคมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน ทำให้เพลงนี้กลายเป็นข้อถกเถียงกันขึ้นมา ยังไงลองไปฟังเพลงกันก่อน

ซึ่งท่อนที่หลายคนมีปัญหากับเพลง วิบวับ ก็คือไรห์มของ Younggu ที่ร้องว่า

Ice on my neck yea ถ้าน้องเด็กพี่ไม่ yes นะ
But you pussy boy don’t get none
bitch wanna เสร็จ I make her wet นะ yea!
เย็ดกับมึง she บอก she ยังไม่เสร็จ
she โดนกูไปหลายที she ยังไม่เข็ด
Ice Ice Ice Ice Ice
Look on my wrist it’s so bright
Shinny from day to night น้องจะไปเล่น skate กับพี่มั้ย

การแร็ปเรื่องกินตับอย่างโจ่งแจ้งก็เป็นสไตล์ถนัดของ Younggu อยู่แล้ว แฟน ๆ ที่ติดตามเขามาก็ไม่น่าจะแปลกใจอะไรที่เนื้อเพลง วิบวับ ออกมารุนแรงแบบนี้ แต่อย่าลืมว่าแฟนเพลง Mindset อาจจะไม่ได้รู้จัก Younggu มาก่อน ก็อาจจะไม่โอเคที่เนื้อหาของเพลงจะดุขนาดนี้ บางคนก็ชูประเด็นที่ว่าเนื้อเพลง objectify ผู้หญิงเป็นแค่วัตถุที่ใช้เงินซื้อได้ พวกเธอยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อเงิน แม้แต่ให้กินตับ สิ่งที่ชาวฮิปฮอปควรตระหนัก คือในประวัติศาสตร์ของฮิปฮอปหรือการแร็ปก็มีแนวคิดเหยียดเพศซ่อนอยู่ในเพลงมาตลอด

ความ misogyny ที่พูดถึงหรือกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์หรือ dehumanized เรียกพวกเธอด้วยคำว่า ‘bitch’ หรือ ‘ho’ (whore) เหมารวมว่าผู้หญิงจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ผู้ชายจากความหล่อ ความฮอต หรือเพราะรักเงิน เพื่อเสิร์ฟความเป็นชายหรือ masculinity นั้นมีอยู่จริง ๆ การครอบครองเงินก็เหมือนมีอำนาจ และการได้เมียของฝ่ายตรงข้ามก็หมายถึงมีความเป็นชายมากกว่า อยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย สร้างแนวคิดที่ปฏิบัติกับผู้หญิงเหมือนเป็นแค่วัตถุ กลายเป็นแนวคิดที่ให้ท้ายผู้ชายมองว่าจะทำยังไงกับผู้หญิงก็ได้ แค่มีเงินหรือแต่งตัวดี ต่อยอดความเชื่อแบบผิด ๆ ให้กับสังคม

ถึงบางคนจะให้เหตุผลว่าการแร็ปแบบนี้ก็ได้วัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ แต่เอาเข้าจริงถ้าลองสำรวจสังคมบ้านเราเองมันก็เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานานแล้วกับการกดทับทางเพศต่าง ๆ ยิ่งการพูดว่าผู้หญิงในเพลงแบบนี้ก็ถือเป็นการเหมารวม ทำให้มีผู้หญิงบางคนลุกขึ้นมาวิจารณ์เพลงนี้นั่นเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไร ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะสำรวจหรือวิจารณ์เพลงนี้ด้วยเหตุผลของตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าเนื้อหาในเพลงมัน offend กับเรามากเราก็มีสิทธิ์ที่จะพูดออกมาได้ว่า ‘ไม่ชอบเพลงนี้เลย’ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม คนฟังทุกคนต่างมีประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกัน ย่อมมีความเห็นความรู้สึกต่อเพลงเพลงหนึ่งไม่เหมือนกันด้วย การที่ใครบางคนไม่ชอบเพลงที่เราฟังไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปห้ามไม่ให้คนอื่นฟัง แต่ควรรับฟังเหตุผลของเขาและคิดตามว่าเรากำลังสนับสนุนค่านิยมที่ไม่ดีอยู่รึเปล่า โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่งรู้สึกถูกคุกคามจากเพลงแร็ปเหล่านี้ ต้องทำความเข้าใจว่าเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยได้จริง ๆ

มีประโยคโลกสวยอันหนึ่งที่ทีมงาน ฟังใจ ยึดถือไว้เป็นสรณะมาเสมอคือ ‘โลกนี้ไม่มีเพลงที่ไม่ดี มีแต่เพลงที่เราชอบกับเพลงที่เราไม่ชอบ’ กล่าวคือเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ตามความเห็นของศิลปินและเผยแพร่ออกมาแล้ว ย่อมกลายเป็นศิลปะทันที ต่อให้ศิลปินจะมีหรือไม่มีแนวคิดอะไรอยู่เบื้องหลังเพลงนั้น มันก็ยังเป็นศิลปะที่แล้วแต่คนจะตีความ ศิลปินหลายคนทำเพลงออกมาย่อมรู้อยู่แล้วพวกเขาอยากเล่าเรื่องอะไร ทำเพลงนี้ออกมาทำไม แล้วใครคือผู้ฟังของเขา เขาจึงเลือกวิธีเล่าหรือประกอบดนตรีในแบบที่พวกเขาต้องการอยู่แล้ว แฟนเพลงของพวกเขาก็อาจจะตกหลุมรักเพลงเหล่านี้ในทันที แต่ไม่แปลกเหมือนกันถ้าบางคนที่ไม่ได้มีรสนิยมฟังเพลงแบบนี้จะไม่อินไม่ฟังเพลงพวกนี้

อย่าง Younggu ก็มีสไตล์การทำเพลงที่ชัดเจนมากว่าตื่นตัวเรื่องเพศสุด ๆ ถ้าย้อนกลับไปฟังเพลงของเขาหลาย ๆ เพลงเช่น 44444 Gun Bon Doi เนื้อหากลับรุนแรงน่าเป็นประเด็นมากกว่าเพลงนี้ด้วยซ้ำ (แต่อย่าเพิ่งไปเปิดแฮชแท็กด่าเขานะ อ่านบทความนี้ให้จบก่อน) แม้มันคือแร็ปสไตล์ flex ที่โชว์เหนือว่ากูเจ๋งกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน เรื่องรสนิยมการแต่งตัว หรือเรื่องหญิง เรายิ่งต้องฟังโดยที่ไม่ลืมว่ามีคนที่ไม่สบายใจหรือเป็นเหยื่อจากเพลงเหล่านี้อยู่จริง ๆ ใครที่ฟังเพลงฮิปฮอปอยู่แล้วไม่ชอบแนวเพลงแบบนี้ก็มี แต่ไม่ได้หมายความว่าเพลงของ Younggu ‘ชั้นต่ำ’ กว่าเพลงแร็ปแบบอื่น หรือการเปรียบเทียบกับเพลงอื่น ๆ ก็ไม่ได้ทำให้เพลงนี้ภาพลักษณ์ดีขึ้นมา แถมกำลังส่งต่อแนวคิดแบ่งชนชั้นว่ายังมีเพลงที่ต่ำกว่านี้อยู่

แต่สิ่งที่เรากังวลจริง ๆ ก็คือ การที่เยาวชนเข้าถึงเพลงเหล่านี้ได้ต่างหาก หลายคนคิดว่าเด็กฟังไม่รู้เรื่องหรือเด็กมันแยกแยะได้ ไม่จริงเลย มีงานวิจัยจากต่างประเทศแล้วว่า ‘explicit music’ หรือเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงส่งผลกระทบกับเยาวชนหรือวัยรุ่นได้จริง ๆ พวกเขาจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังจากเสพความรุนแรงเหล่านี้ และสิ่งที่ตามมาคือเขาจะชินชากับเรื่องเซ็กซ์ ยาเสพติดหรืออาชญากรรม ในต่างประเทศพวกเขาเคร่งครัดกับการจัดเรตติ้งเนื้อหาทุกชิ้น รวมถึงเพลงด้วย ศิลปินต่างชาติบางคนยังอยากขายเพลงอยู่ก็ทำ clean version ที่ปราศจากความรุนแรงในเพลงออกมา

ก็ถูกแหละ ถ้าใครจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรจะกำจัดการเข้าถึงเพลงเนื้อหาแบบนี้ของลูก แต่คนในสังคมก็มีส่วนช่วยควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนได้ โดยเฉพาะลูกหลานของเราเอง อธิบายเหตุผลที่เขาไม่ควรฟังเพลงเหล่านี้และเลือกแนะนำเพลงที่เหมาะสมให้พวกเขาฟังแทนดีกว่า ตัวศิลปินเอง ก็น่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าต้องจำกัดการเข้าถึงของเพลงตัวเองแค่ไหนบ้างตามสตรีมมิ่งต่าง ๆ

ครั้งหนึ่ง เมื่อย Scrubb เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขารู้สึกแย่กับเพลง Art Bar มาก ด้วยเนื้อเพลงที่ว่า ‘อยู่ด้วยกันตอนนี้คงไม่มีเบื่อ สุขอารมณ์อย่างนี้ คงต้องเมาซักวัน’ เขาให้เหตุผลว่าตอนนั้นเขียนเนื้อเพลงไปไม่ได้คิดอะไร แต่เมื่อเพลงมันดังแล้ว เขารู้สึกว่าช่วงเวลาดี ๆ เราไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับของมึนเมาก็ได้ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เราทำกับคนที่เรารักอีกมากมายไม่จำเป็นต้องเมา ส่วนหนึ่งเพราะแฟนเพลงของเขาก็เป็นวัยรุ่นทั้งนั้น เมื่อเพลงถูกหยิบมาทำใหม่ในอัลบั้ม ชุดเล็ก เขาจึงแก้เนื้อนิดหน่อย เพื่อให้วัยรุ่น ‘เพลิน’ ไปกับเพลงของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอบายมุข เป็นความใส่ใจเล็ก ๆ ที่น่ารักมากของวงนี้ที่เราจำได้มาตลอด

ศิลปินไม่ได้มีหน้าที่รับใช้สังคม พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนก็ได้ แต่สิ่งที่อยากให้ศิลปินทุกคนตระหนักไว้ตลอดเวลา คือพวกเขามีพลังในการขับเคลื่อนความรู้สึกหรือความคิดของคนจำนวนมากได้ เพลงคือ soft power ที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติคน เมื่อถูกวิจารณ์ถึงเนื้อหาในเพลงก็อยู่ที่ตัวศิลปินจะแสดงออกยังไงถึงกระแสตอบรับเหล่านั้น เพราะเรื่องเหยียดเพศนั้นมีอยู่จริง ๆ ได้แค่หวังว่าพวกเขาจะตระหนักและมีความรับผิดชอบต่อสังคมซักหน่อยก็พอ

อีกอย่าง เพลงแร็ปที่ไม่เน้นคำหยาบคายก็มีอีกมาก ศิลปินไวรัลคนล่าสุดอย่าง TangBadVoice กับเพลง เปรตป่ะ หรือ คนนท์ ชาญคลีเช่, Rap Against Dictatorship ก็ทำให้เราเห็นขอบเขตของเพลงแร็ปกว้างขึ้นเยอะ ว่าเพลงแร็ปไม่ต้องมีความรุนแรง อวดรวยหรือพูดแต่เรื่องเพศก็ได้ แค่ทุกคนก็มีเรื่องที่อยากจะสื่อสารไม่เหมือนกัน เราก็ควรเคารพเหล่าแร็ปเปอร์ทุกคนว่าเป็นศิลปินเหมือนกัน ต่อให้เขาทำเพลงเนื้อหารุนแรงแค่ไหน แต่ถ้ามันรุนแรงเกินไปสำหรับเราก็วิจารณ์ได้ แต่ควรวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ถึงประเด็นที่เราไม่เห็นด้วย ออกมาแนะนำหรือแสดงความเห็นต่างจากเรื่องที่เขาพูด ติเพื่อก่อ ซึ่งการด่าว่าเพลงใครชั้นต่ำไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่

อย่าเข้าใจผิดว่าบทความนี้พยายามโจมตีใครเป็นพิเศษ ทีมงานของ ฟังใจ ก็มีหลายคนที่เป็นสายฮิปฮอปและ turnt กันสุด ๆ กับเพลงของ Younggu เหมือนกัน แต่กระแส #วิบวับเพลงชั้นต่ำ กำลังทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮิปฮอปบางส่วน การ flex กันก็เป็นแค่อีกสไตล์การแร็ปหนึ่งเท่านั้น แต่อะไรที่มันหยาบคายเกินไปก็ย่อมถูกสังคมวิจารณ์ได้อยู่แล้ว การส่งต่อหรืออธิบายวัฒนธรรมการแร็ปให้คนที่ไม่เข้าใจก็เป็นสิ่งที่ชาวฮิปฮอปสามารถทำได้ เพื่อต่อยอดหรือชักชวนให้พวกเขาหันมาฟังแร็ปมากขึ้น แต่ถ้าใครไม่ซื้อเลย อย่างน้อยเราจะได้ไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้คนอื่นเหมารวมได้ว่า คนฟังเพลงฮิปฮอปเป็นคนไม่น่ารักแบบนี้

อ้างอิง
pediatrics.aappublications.org
electricprint.com

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา