ในวันที่บอบช้ำจะเป็นจะตาย ทำไมเราถึงยังอยากฟังเพลงเศร้ากันอยู่อีกนะ
- Writer: Geerapat Yodnil
พวกเราทุกคนต่างรู้ดีว่าตัวเองไม่เคยหยุดที่จะฟังเพลงเศร้าได้เลยไม่ว่าจะอยู่ ในช่วงเวลาไหนของชีวิต และจะยิ่งเปิดวนบ่อยครั้งเป็นพิเศษในวันที่เราสูญเสียบางอย่างไป
การมีอยู่ของเพลย์ลิสต์ ‘Bad Days’ จึงไม่เคยเป็นความบังเอิญเลย หากแต่ว่าเป็นตัวเราเองต่างหากที่ต้องการให้การมีอยู่ของเพลงต่าง ๆ ในนั้นย้ำว่า ‘ตอนนี้ตัวของฉันรู้สึกแย่จริง ๆ นะ’ แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการทำร้ายตัวเองนี้กลับส่งผลดีต่อจิตใจของเราอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถช่วยให้เราก้าวผ่านเหตุการณ์หลุมดำในแต่ละครั้งไปได้อีกด้วย
จุดกำเนิดของสุ้มเสียงแห่งความเศร้า
เชื่อกันว่าบทเพลงที่ให้ความรู้สึกเศร้ามีจุดกำเนิดย้อนไปไกลตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ดนตรีศตวรรษที่ 17 สมัยที่เพลงคลาสสิคเป็นทุกอย่างของคำว่าดนตรี และมีความเชื่อต่อไปอีกว่าเพลงเศร้าเพลงแรก ๆ ของโลกเกิดขึ้นจากการใช้ทางคอร์ดที่ทฤษฎีดนตรีที่เรียกว่า ‘ขั้นคู่ 3 ไมเนอร์’ (m3/minor third) ในตอนนั้น
*ความรู้ทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น*
เพลงโดยส่วนมากที่เราฟังแล้วรู้สึกสนุก สดใส มีความสุข มักถูกเรียบเรียง โดยการใช้คอร์ดเมเจอร์ (major chord) แต่ในทางกลับกันเพลงที่ส่งความรู้สึกเศร้าก็มักจะใช้คอร์ดไมเนอร์ (minor chord) เป็นตัวส่งความรู้สึก แต่จะสุขหรือเศร้าก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของแค่ทางคอร์ดเพียงอย่างเดียวเสมอไปนะ องค์ประกอบอย่างคำร้องหรือจังหวะก็มีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้
มีบทความมากมายที่พูดถึงการตกหลุมรักในเพลงเศร้าของคนฟัง แต่เราขอหยิบอันที่เราคิดว่าน่าสนใจเพื่อบอกต่อให้รู้ว่าเพลงเหล่านี้ช่วยอะไรได้บ้าง และเพื่อให้คุณชัดเจนต่อความรู้สึกของตัวเองได้มากขึ้น
เพลงเศร้าในวันที่ความสุขยังมาไม่ถึง
บ่อยครั้งที่การเปิดเพลงเศร้าไม่เคยเกิดขึ้นจากเหตุผลใด ๆ มากไปกว่าความรู้สึกเศร้าในวันนั้น แต่ทุกอย่างย่อมมีเหตุผลไว้คอยรองรับการกระทำที่เกิดขึ้นเสมอ เรื่องนี้เองก็เช่นกัน
สองนักจิตวิทยา Annemieke Van den Tol และ Jane Edwards ได้วิจัยเรื่องนี้และพบว่าผู้คนมากมายต้องการเพลงเศร้าในวันที่ตัวเองรู้สึกแย่ โดยมีเหตุผลที่ตัวเองอาจจะไม่เคยสังเกตมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ‘การเชื่อมโยงกับตัวเพลง’ ทั้งคู่ให้คำอธิบายกับคำนิยามนี้ว่า ผู้ที่ฟังเพลงเศร้าต้องการให้ดนตรีหรือความหมายจากเพลงที่ตัวเองเลือก ทำให้ตัวเองรู้สึกถึงอารมณ์เดียวกันกับความเศร้าที่เพิ่งเจอมาอีกครั้งนึง เพื่อช่วยให้ตัวเองได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่กำลังเป็นอยู่ และเพื่อให้พบกับ ‘ตัวเอง’ ที่หายไปอีกครั้งนึง
แต่บางครั้งการฟังเพลงเศร้าในวันที่แย่ ๆ ก็ไม่ได้มีแต่ผลดีเสมอไป Van Del Tol และ Edwards อธิบายการเป็นดาบสองคมของตัวเพลงว่า การฟังเพลงเศร้าที่ ‘ให้ความงดงามทางสุนทรียะในระดับสูง’ หรือเพลงเศร้าที่สร้างความรู้สึกอันงดงามบ่อย ๆ อาจจะสร้างความรู้สึกที่ดี ๆ มากมายและพาคนฟังไปสู่ความสุขได้ในที่สุด แต่เพลงเหล่านี้ก็อาจจะสร้างความรู้สึกหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเศร้าของคนฟัง ซึ่งเป็นการปรับตัวทางจิตวิทยาที่ไม่ค่อยดีนักในเวลาเดียวกัน และบางทีทุกคนต่างฟังเพลงเศร้าเพื่อแหวกว่ายไปสู่ความสุขผ่านการเลือกเพลงให้เป็น ‘ข้อความที่ส่งหาตัวเอง‘ หรือตัวเราเองต้องการจะเป็นแบบนั้น เช่น ในสถานการณ์ที่ชายใส่แว่นคนหนึ่งเพิ่งเลิกกับแฟนมาได้ไม่กี่วัน เขามักเลือกเปิดเพลงที่ชื่อ รักได้แค่คนเดียว ของวง Yented วนอยู่บ่อยครั้ง ตัวเพลงมีใจความถึงคนคนนึงซึ่งเชื่อที่จะรอคนรักที่จากไปนานแล้ว และสิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ชายใส่แว่นต้องการจะทำโดยที่ไม่รู้เลยว่าปลายทางแห่งความสุขจะมีเธอคนนั้นรออยู่รึเปล่า เป็นต้น
สถานที่พักผ่อนเพื่อหลบไปฟังใจของตัวเอง
วิทยาศาสตร์ได้ให้คำอธิบายที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้เอาไวด้วย โดย มหาวิทยาลัย Tokyo University of the Arts ประเทศญี่ปุ่น (สถาบันซึ่งมี ศิษย์เก่าอย่าง Ryuichi Sakamoto นักเปียอัจฉริยะเจ้าของเพลง Merry Christmas Mr. Lawrence อันโด่งดัง) ได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นทั้งนักดนตรีและคนทั่วไป 44 คน ฟังเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกมีความสุขกับเพลงที่มี ความรู้สึกเศร้า แล้วให้อธิบายว่าหลังฟังเพลงทั้งสองแบบจบไปแล้วเกิด อารมณ์หรือมีความรู้สึกอย่างไร
ผลปรากฏว่าการฟังเพลงเศร้านั้นก่อให้เกิดอารมณ์ที่ขัดแย้งอย่างมาก ผู้เข้าร่วมการทดลองกล่าวอีกว่า ‘มันทำให้เรารู้สึกโศกเศร้ามากขึ้น โรแมนติกน้อยลง และร่าเริงน้อยลง’ มากเกินกว่าที่ตัวของพวกเขาเองรู้สึกจริง ๆ ในขณะที่ฟังอยู่ หรือกล่าวอีกนัยนึงได้ ว่าอารมณ์ที่เศร้าของเพลงนั้นมีความเศร้ามากกว่าชีวิตจริงที่พวกเขาต้องเผชิญจนส่งผลให้พวกเขาไม่รู้สึกเศร้ากับสถานะที่ตัวเองกำลังเป็นในขณะที่ฟังมันอยู่
นักวิจัยสรุปประเด็นในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ‘ประสบการณ์เศร้าที่ซึมซับมาจากเพลงหรือศิลปะอาจจะเป็นเรื่องที่น่าพอใจ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกคุกคามต่อความปลอดภัยของเรา ซึ่งต่างจากอารมณ์ในชีวิตจริงที่สามารถสร้างความอันตรายต่อกันได้โดยตรงทั้งทางร่างกายและอารมณ์’
จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากเราจะเรียกความรู้สึกขณะฟังเพลงเศร้าว่าเป็น safe zone เพราะความเศร้าคือความรู้สึกที่อาศัยอยู่กับจิตใจของเรานานกว่า ความรู้สึกอื่น ๆ การหนีไปอยู่ในโลกแห่งเสียงเพลงจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าอายเลย หากในท้ายที่สุดแล้วเพลงเหล่านั้นจะช่วยให้เราสามารถก้าวเดินอย่างแข็งแรงในชีวิตจริงได้อีกครั้งนึง : )
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/blog/valley-girl-brain/201510/why-we-cant-stop-listening-sad-songs
https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2010/12/what-makes-a-song-sad/67709/
https://www.psychologytoday.com/blog/why-music-moves-us/201409/4-reasons-we-listen-sad-music-when-were-sad