เปิดกรุ Rhythm Game ที่คนชอบฟังเพลงต้องเคยกดได้ตรงจังหวะ!
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Karin Lertchaiprasert
เครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อสี่หมื่นปีก่อน มนุษย์เราคงจะมีเสียงดนตรีอยู่ในดีเอ็นเอมานานแล้ว ไม่แปลกเลยว่าทำไมเราถึงมีเกมเกี่ยวกับเพลงเต็มไปหมด ตั้งแต่ดนตรี 8-bit ลูปไปมาที่เราได้ยินทุกครั้งตอนเด็ก ๆ ผ่านเครื่องเกม NES จาก Nintendo จนถึง Just Dance บนเครื่อง Playstation ทำให้ ‘rhythm game’ หรือเกมจับจังหวะ ถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของเกมบนโลกนี้มาทุกยุค
Rhythm game คือเกมที่ท้าทายประสาทสัมผัสของผู้เล่น ว่ามีความแม่นยำในการจับจังหวะผ่านเสียงดนตรีโดยมีตัววิ่งบนหน้าจอเป็นตัวบอกจังหวะแค่ไหน เพลงไม่ได้มีบทบาทแค่ประกอบเกม แต่กลายเป็นระบบการเล่น จอยกลายเป็นเครื่องดนตรี แตกแขนงออกมาเป็นเกมแนวใหม่ไปเลย
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นทั้งหมดก็เริ่มมาจากฝั่งญี่ปุ่นนี่เอง ซึ่งเกมจับจังหวะเกมแรกที่มีการบันทึกไว้ก็ช่วงต้น 1970 แล้ว เป็นตู้อาร์เคดที่ออกแบบโดยบริษัท Kasco (Kansei Seiki Seisakusho) ซึ่งผู้เล่นจะต้องเปิดกระโปรงผู้หญิงตามจังหวะของเกมให้ได้ ต่อมา 1978 จึงกำเนิดเครื่องเกมพกพาอย่าง ‘Simon’ ขึ้นมา ซึ่งเกมจะไล่สีเป็นจังหวะให้เราฟัง แล้วเราต้องกดตามเครื่องให้ถูกต้อง แต่เหมือนเกมนี้จะเน้นการจำมากกว่าจังหวะของเกม
1987 ที่เครื่องเกม NES หรือ Nintendo Entertainment System กำลังฮิตถึงขีดสุด พวกเขาก็ออกจอยเสริมอันใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Power Pad เป็นเสื่อพลาสติกที่มีตัวเลขกำกับอยู่ข้างบนเพื่อใช้เล่นเกมต่าง ๆ ที่ตามออกมาซัพพอร์ตจอยอันนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกมกีฬาอย่างวิ่งแข่ง หนึ่งในนั้นคือเกม Dance Aerobics ที่เข้าใกล้ rhythm game เข้าไปอีกขั้นด้วยการออกกำลังจริง ๆ ตามจังหวะการนับของครูฝึกในเกม และเราต้องเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนออกกำลังกายจริง ๆ แค่เห็นแล้วยังเหนื่อยแทนเลย
Dance Aerobics – NESMania
อีกสิบปีต่อมา PaRappa the Rapper ก็ตามออกมาในปี 1996 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น rhythm game เกมแรกของโลกกับการกดปุ่มต่าง ๆ ตามจังหวะที่อิงบนเพลงในเกมจริง ๆ พร้อมกราฟฟิกน่ารักน่าหยิก
แน่นอนว่าเกมก็ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายมาก ๆ แถมยังจุดประกายให้กับเกมเพลงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจนหลายค่ายต้องทำเกมเพลงออกมาตามกระแสนี้กันเต็มไปหมด ทั้ง ปี 1997 ทำให้ Konami ออกตู้เกมอาร์เคดชื่อว่า Beatmania ซึ่งคนเล่นเกมตู้ต้องเคยเห็นผ่าน ๆ ตากันบ้างแน่นอน ซึ่งเกมนี้ก็เป็นตัวกำหนดวิธีเล่นเกมแนว rhythm game ไปเลยกับภาพจำการวิ่งของตัวโน้ตจากบนลงล่างและกดให้ตรงจังหวะ ซึ่งหลายเกมก็นำไปใช้หรือทำกิมมิกให้แตกต่างบ้าง แต่ก็ไม่หนีกันเท่าไหร่ แถม Beatmania ยังมีลูกเล่นที่ไม่เหมือนใครคือแผ่นเสียงจำลองที่ให้เราสแครชตามในเกมด้วย
ความนิยมของ Beatmania ก็พุ่งถึงขีดสุดเหมือนกัน Konami เลยทดลองทำตู้อาร์เคดเกี่ยวกับเพลงออกมาเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือก็เกม GuitarFreaks ในปี 1998 ที่เปลี่ยนรูปแบบการเล่นให้น่าสนุกขึ้นไปอีกด้วยการใช้กีตาร์จำลองกดคีย์ห้าปุ่มพร้อมกับต้องดีดจริง ๆ และปีต่อมาก็มี DrumMania ตามมาติด ๆ โดยระบบเล่นก็คล้ายกัน แต่เกมนี้เราต้องตีกลองจริง ๆ แถมทั้งสองตู้สามารถเล่นพร้อมกันได้ด้วย ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นมากในยุคนั้น แต่ด้วยนิสัยของประเทศเกาะที่ไม่แคร์ประเทศอื่นใด ทำให้พวกเขาไม่ทำการตลาดนอกประเทศตัวเองเลย ทำให้บริษัทเกมในอเมริกาอย่าง Red Octane และ Harmonix ฉกฉวยไอเดียนี้ไปต่อยอดเป็นเกม Guitar Hero ในปี 2005 และ Harmonix ก็หยิบคอนเซ็ปต์นี้มาพัฒนาเป็นเกม Rock Band ต่อไป
ซึ่ง Guitar Hero ก็บูมสุดขีดในแถบอเมริกาเพราะรวบรวมเพลงร็อกตะวันตกไว้มากมาย รวมถึงเพลงจากวงร็อกระดับโลกที่หลายคนน่าจะรักกันอยู่แล้ว (ใครไม่รู้มีเพลงอะไรบ้าง ลองไปอ่าน รวมบทเพลงในเกม Guitar Hero ที่เราคิดถึง) ซึ่งวิธีการเล่นก็คล้าย GuitarFreaks หมดเลยด้วยการใช้จอยทรงกีตาร์มา แต่ด้วยความมันของเพลงในเกมแล้วก็ทำให้เราเข้าถึงจิตวิญญาณของมันมากขึ้น ก่อนจะต่อยอดไปเป็น Rock Band และ DJ Hero แถมยังมีภาคแยกที่เอาใจขาร็อกทั้งหลายทั้ง Guitar Hero: Aerosmith และ Guitar Hero: Metallica ทำให้แฟนเพลงยิ่งอินเข้าไปอีก แล้วยังเคยมีเกม The Beatles: Rock Band ที่หยิบเพลงที่เราประทับใจของวงสี่เต่าทองมาให้เราสวมบทบาทกันเลยทีเดียว ทำให้สองซีรี่ส์นี้กลายเป็นเกมที่ทุกคนยังพูดถึงอยู่ทุกวัน
มาถึง 1999 ที่ Dance Dance Revolution ก็เป็นอีกหนึ่ง เกมเต้น เกมของ Konami ที่นอกจากจะดังเป็นพลุแตกที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังสามารถไปโตและเป็นที่นิยมได้ในหลายประเทศทั่วโลกไม่เหมือน GuitarFreaks กับ DrumMania ส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเข้าถึงคนทั่วไปเพราะใคร ๆ ก็สามารถเล่นได้กับตู้อาร์เคดที่มีสไตล์การเล่นที่แค่เหยียบปุ่มทิศทางที่ลอยขึ้นมาให้ตรงจังหวะ คนไทยก็น่าจะชอบเพราะเป็นเกมแรก ๆ ที่เข้ามาเปิดกระแส rhythm game ในบ้านเรา และก็มีเกม Pump It Up ของ Andimiro ประเทศเกาหลีที่คล้าย DDR มากแต่ปุ่มจะเป็นเฉียง ๆ แทน
ฝั่งเกาหลีก็ไม่น้อยหน้าส่ง DJMAX TECHNIKA มาตามกระแสเกมจับจังหวะด้วย กับหน้าจอที่แปลกใหม่ไล่ปุ่มกดจากด้านข้าง ด้วยหน้าจอสัมผัสก็เรียกความสนใจจากคนชอบเล่นเกมได้ทันทีเลย
มีบ้างเหมือนกันที่บริษัทเกมก็อยากลองเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ ดูบ้าง เช่นตลาดโวคาลอยด์อย่าง Hatsune Miku: Project DIVA ของ SEGA ที่หยิบตัวละครชื่อดังอย่าง Miku มาทำ rhythm game ที่มีจุดขายคือเพลงดัง ๆ ของเธอและการทำแต้มเพื่อปลดล็อกชุดต่าง ๆ มาแต่งตัวให้กับ Miku ในเกมของเรา ซึ่งก็เป็นที่นิยมกันอยู่แค่ในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น
ปีเดียวกันบริษัทเกมชื่อดังอย่าง Enix ก็ปล่อย เกมเต้น เพลง Bust A Move (เวอร์ชันที่ออกในอเมริกาชื่อว่า Bust A Groove) ออกมากับสไตล์การเล่นที่เปลี่ยนไปกับการกดตามปุ่มให้ตรงจังหวะตามห้องเพลง และมีกราฟฟิกที่เท่มีสไตล์และแหวกกระแสด้วยการเน้นท่าเต้นเป็นหลักซึ่งน่าดึงดูดมากกว่าเกมไหน ๆ
เมื่อกระแส rhythm game บูมหนักมาก คนพัฒนาเกมก็ต้องหาจุดขายใหม่ ๆ ให้กับเกมของตัวเอง อย่าง Vib-Ribbon ที่ลงเครื่อง Playstation กับลายเส้นเรียบง่ายที่เราต้องกดปุ่มให้ตรงจังหวะพาคุณกระต่ายให้ผ่านสิ่งกีดขว้างต่าง ๆ ตามเสียงดนตรี แต่เกมก็มีจุดขายที่น่าสนใจมาก ๆ คือเราสามารถใส่ซีดีเพลงอะไรก็ได้ลงไปในเครื่องเพื่อให้เกมคำนวนความยากง่ายตามจังหวะเพลงที่เราเล่นให้ ทำให้ทุกคนได้เล่นเกมจากเพลงที่เราชอบนั่นเอง
อีกหนึ่งเกมที่หลายคนมักพูดถึงคือ Samba De Amigo ที่ใช้จอยจับความเคลื่อนไหวเป็นทรงมาราคัสแล้วต้องเขย่าตามจังหวะและทิศทางที่เกมกำหนด ซึ่งบางจังหวะของเพลงเราจะต้องโพสต์ท่าให้เหมือนกับรูปในเกมโดยเกมจะจับความเคลื่อนไหวของมาราคัสว่าเราทำท่าถูกต้องรึเปล่า ก็สร้างประสบการณ์การเล่นใหม่ ๆ ได้ดี
และที่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Taiko no Tatsujin หรือเกมตีกลองไทโกะที่ยังเห็นอยู่ในโซนอาร์เคดบ้านเราตลอดเวลา ซึ่งได้รับความนิยมสุด ๆ ทั้งตอนเป็นตู้อาร์เคดและตอนที่พอร์ตมาลงเครื่องเกมต่าง ๆ ด้วยการหยิบเพลงป๊อปที่วัยรุ่นชอบทั้งญี่ปุ่นและสากลมาผสมกับการตีกลองพื้นบ้านของญี่ปุ่น ทำให้เข้าถึงทุกคนได้ง่ายมาก
Rhythm Heaven ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่อยู่ในใจคนชอบเกมจับจังหวะมาตลอด ด้วย mini game หลากหลายประเภทกว่า 100 เกมแถมมีสีสันสดใสกับการดีไซน์ที่น่ารักมาก ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับการกดตามจังหวะได้ทุกเกม
ช่วง 2000 ที่เกมออนไลน์เริ่มเข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น ก็ต้องมีเกมแนวจับจังหวะแน่นอน หลายเกมก็เข้ามามีบทบาทในบ้านเราทั้ง O2Jam และ Audition (ใครคิดถึงเกมนี้ไปอ่าน ระวังสเปชบาร์ลั่น! รื้อฟื้นวัยโจ๋ไปกับเพลงฮิตในเกม Audition) ยิ่งถ้าใครรู้จัก CATCHY Online แสดงว่านี่คือตัวจริง ก็เป็นอีกกระแสหนึ่งในบ้านเราที่คนหันมาให้ความสนใจ rhythm game กันมากขึ้น
ข้ามมายุคปี 2010 ที่เทคโนโลยีก็ไปไกลมากแล้ว rhythm game ก็ก้าวกระโดดไปตามนวัตกรรมของโลก โดยเกิด เกมเต้น ที่เราต้องเคลื่อนไหวร่างกายจริง ๆ อย่าง Just Dance และ Dance Central ขึ้นมาโดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมของเครื่องเกมคล้ายกล้องที่จับความเคลื่อนไหวของเราจริง ๆ และเราต้องเต้นท่าตาม ๆ ตามจังหวะเพลงด้วย แถมยังทำออกมาอีกหลายภาค รวมถึงมีภาคแยกอย่าง Michael Jackson: The Experience ที่รวมเพลงฮิตและท่าเต้นอันน่าจดจำของ MJ ให้เราได้ลองเต้นกัน การมาของเกมแนวนี้ก็ช่วยกระตุ้นกระแสเกมเพลงได้บ้าง
ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ก็มีผู้พัฒนาเกมอินดี้หลายคนพยายามหยิบแนวเกมแบบนี้มาใส่ในเกมของของตัวเองเพื่อให้เกิดระบบการเล่นใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร เกมแรกที่นึกออกเลยคือ Patapon ที่ผสมแอ็กชั่นเข้ากับการกดตามจังหวะดนตรีได้ลงตัว เน้นการวางแผนและภาพกับเพลงที่น่ารักทำให้ทุกคนตกหลุมรักเกมนี้ทันที
หรือ Audiosurf ที่ผสมกิมมิกของเกมพัซเซิ่ลกับเกมจับจังหวะเข้าด้วยกัน โดยขับยานเก็บแต้มหลบสิ่งกีดขวางตามทางโดยอิงกับเพลงไฟล์ mp3 ในเครื่องคอมของเราเอง ซึ่งเพลงก็จะเป็นตัวกำหนดความยากของเกมเราด้วย
และ Crypt of the NecroDancer ที่เป็นเกมน่าตื่นเต้นมาก ๆ ที่ผสม RPG เข้ากับ rhythm game จนกลายเป็นเกม turn base ที่มีระบบการเล่นไม่เหมือนใคร กับการออกคำสั่งตามเพลงของเกมให้เข้าจังหวะ กับสไตล์ภาพ 8-bit ก็ยิ่งได้ใจนักเล่นเกมเข้าไปอีก
และเกมใหม่ล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสกันอยู่ตอนนี้คงหนีไม่พ้น Beat Saber ที่หยิบเทคโนโลยีอย่าง VR มาผสมด้วย ทำให้เกิดระบบการเล่นแบบใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้นกับการฟาดดาบลงไปตามกล่องที่วิ่งมาหาให้ถูกด้านตามจังหวะเพลง
พอลองไล่ไทม์ไลน์ดูก็จะเห็นว่าเทคโนโลยีเรามาไกลมากจริง ๆ รวมถึงความสร้างสรรค์ของมนุษย์ก็ไร้ขีดจำกัด จนทำให้เรามีเกมสนุก ๆ หลากหลายรูปแบบให้เราได้ลองเล่น บทความนี้เขียนขึ้นตามความทรงจำในวัยเด็กจนถึงปัจจุบันเท่านั้น ถ้าขาดตกเกมไหนไป หรือมีเกมที่น่าเล่นมาก ๆ แต่ผมไม่ได้พูดถึงก็มาแชร์กันในช่องคอมเมนต์ได้น้า อยากเล่นให้ครบทุกเกมเลย