กว่าจะมีวันนี้! เปิดประวัติศาสตร์เทศกาลดนตรีไต้หวัน ที่ทำให้ซีนดนตรีเติบโตไม่สิ้นสุด
- Writer & Photographer: Damien Chen and Taiwan Beats
- Translator: Peerapong Kaewthae
ปฐมบทของเทศกาลดนตรีในไต้หวัน
สิงหาคมปี 1987 หนึ่งเดือนหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกในไต้หวัน ค่ายเพลงอินดี้อย่าง Crystal Records ตัดสินใจจัดงาน Taipei New Music Festival (台北新音樂節) ขึ้นมา เพื่อช่วยโปรโมตดนตรีนอกกระแสในท้องถิ่น และยังเป็นเทศกาลดนตรีงานแรกของไต้หวันอีกด้วย สังคมที่มีเสรีภาพมากขึ้นทำให้ความคิดสร้างสรรค์เติบโตไปพร้อมกับซีนดนตรีอย่างรวดเร็ว หนึ่งในงานสำคัญที่บุกเบิกเทศกาลดนตรีในไต้หวันยุคแรกก็คือ Spring Scream จากความร่วมมือกันระหว่างศิลปินสองคนคือ Jimi Moe และ Wade Davis ซึ่งจัดในอุทยานแห่งชาติเขิ่นติง ในเวลาเดียวกันไทเปก็จัดงาน Fromoz Festival ขึ้นมาครั้งแรกพร้อมกัน
แล้วเทศกาลดนตรีในไต้หวันก็เริ่มพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นมา ทุกงานค่อย ๆ ความสัมพันธ์อันดีและเชื่อมต่อกับวัฒนธรรมของวงดนตรีในไต้หวัน ในบรรดาเฟสติวัลทั้งหมด Formoz Festival มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเทศกาลดนตรีระดับชาติของไต้หวันที่ขาดไม่ได้ ศิลปินมากมายได้รับเชิญให้ไปเล่นที่งานรวมไปถึงศิลปินตะวันตกด้วย เช่น Moby, The XX และ Yo La Tengo แม้จะหยุดไปหลายปีกว่าจะกลับมาจัดอีกครั้งตอน 2013 แต่ไลน์อัพและสเกลงานก็ใหญ่โตและน่าตื่นเต้นทุกปี
Spring Scream และ Formoz Festival คืองานที่บุกเบิกการจัดมิวสิกเฟสติวัลในไต้หวันอย่างแท้จริง พวกเขาไม่ได้ผลักดันงานด้วยซีนดนตรีนอกกระแสอย่างเดียว แต่สร้างวัฒนธรรมการออกไปสนุกกับการฟังเพลงตามเทศกาลอีกด้วย ความสำเร็จของพวกเขาก็ดึงดูดใจโปรโมเตอร์มากมายมาร่วมงานด้วยได้ไม่ยาก ด้วยความที่งานมีทุกอย่างที่เทศกาลดนตรีกลางแจ้งต้องมี ทั้ง 2 วันเต็มอิ่มกับศิลปินมากมาย แถมมีหลายเวที ผู้ร่วมงานที่ล้นหลามพร้อมโซนเครื่องดื่มมึนเมา คนจัดงานหรือคนเลือกวงก็ยังรักษาบรรยากาศมากมายไว้ได้เหมือนเดิม แม้งานจะจัดมานานและห่างไกลจากซีนศิลปินนอกกระแสมาพอสมควร
มิวสิกเฟสติวัล คือสิ่งที่ผลักดันศิลปินนอกกระแสอย่างแท้จริง
สมัยก่อน live house กับบาร์เป็นสถานที่อันน้อยนิดที่พอจะเป็นพื้นที่ให้วงดนตรีนอกกระแสในไต้หวันได้บ้าง แต่บนเวทีในเทศกาลดนตรีก็ทำให้พวกเขาไม่ต้องอยู่แค่ใต้ดินอีกต่อไป เทศกาลพร้อมจะยกระดับดนตรีนอกกระแสและกลายเป็นเสาหลักสำหรับวงดนตรีอินดี้ที่พร้อมจะออกไปสู่ตลาดใหญ่
ในปี 2000 รัฐบาลไต้หวัน (New Taipei City Government) กับค่ายเพลง Taiwan Colors Music (角頭音樂) ช่วยกันจัดงาน Ho Hai Yan Rock Festival (貢寮國際海洋音樂祭) ที่ชายหาดฝูหลง เทศกาลไม่ได้ต้องการชูแค่โชว์จากศิลปินอันน่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่ในงานยังมีประกวดวงดนตรีตั้งแต่ปีที่สองเป็นต้นไป ซึ่งมอบรางวัลให้ทั้งวงดนตรีที่ถูกคัดเลือกและวงดนตรีที่เข้าร่วม เพื่อสร้างความหลากหลายในวงการเพลงอินดี้เช่นวงพังก์อย่าง 88 balaz (八十八顆芭樂籽) วงร็อกสามชิ้น Tizzy Bac และ Totem (圖騰樂團) วงร็อกที่ได้ความสนใจถล่มทลายจากการแข่งขันและในงาน
นอกจากช่วยพัฒนาซีนดนตรีแล้ว Ho Hai Yan Rock Festival ยังเป็นเทศกาลดนตรีไม่กี่แห่งที่ชักชวนให้คนทั่วไปมาร่วมงานได้ ด้วยความที่เทศกาลนี้ทั้งไม่เสียค่าเข้าและยังอยู่ใกล้กับชายหาดที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของไทเปด้วย จำนวนวัยรุ่นที่มาร่วมงานก็โตขึ้นทุกปี มันถูกยกย่องให้กลายเป็นอีเวนต์หน้าร้อนเกี่ยวกับดนตรีที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือของไต้หวันเลยทีเดียว
การปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นของเทศกาลดนตรี
หลังปี 2000 ไต้หวันได้สัมผัสกับระดับการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ประเด็นการเมืองที่ถกเถียงกันทุกวันก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และหัวข้อ ‘localization’ หรือการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นถูกหยิบมาพูดถึงอย่างเผ็ดร้อน ภายใต้ประเด็นทางสังคม เทศกาลดนตรีในไต้หวันก็มีเป้าหมายในการตอบสนองต่อชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลดนตรีของตะวันตก ซึ่ง Megaport Festival (大港開唱) ที่จัดในเมืองเกาสงมาตั้งแต่ 2016 และ Taiwanese Rock Carnival (台客搖滾嘉年華) ก็เป็นเทศกาลที่มีเป้าหมายในการเชิดชูความเป็นท้องถิ่นขึ้นมาในงาน วงดนตรีและศิลปินมีชื่อที่เคยมาร่วมงานแรกอย่าง ChthoniC (閃靈) วงเมทัลจากฮกเกี้ยน LTK Commune (濁水溪公社) วงร็อกที่ทำงานศิลปะ กับ Fire Ex. (滅火器) วงพังก์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเกาสง ล้วนมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นคนในพื้นที่หมด โดยที่อีกงานก็มี Bobby Chen (陳昇) นักร้องชื่อดัง Wu Bai (伍佰) วงร็อกหน้าใหม่จากฮกเกี้ยน และ Machi (麻吉) แก็งฮิปฮอป
แต่ว่าทั้งสองเทศกาลก็อยู่ได้ไม่นาน ผู้จัด Taiwanese Rock Carnival มองเห็นกระแสของวงโฟล์กพื้นบ้านของไต้หวันกำลังมา เขาจึงเปลี่ยนทิศทางใหม่และตั้งมิวสิกเฟสขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า Simple Life (簡單生活節) ซึ่งโชว์ในงานครั้งก่อน ๆ ไม่ได้มีแค่ศิลปินอินดี้คลื่นลูกใหม่เท่านั้น แต่ยังมีศิลปินป็อปอย่าง Lala Hsu (徐佳瑩) และ Weibird (韋禮安) อีกด้วย ในงานยังมีตลาดของทำมือสร้างสรรค์ที่ดึงดูดคนหลายพันมาสนุกด้วยกันได้ ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยจัดแค่ในไทเป Simple Life ก็ขยายไปจัดที่ไทจงและเซียงไฮ้ด้วยในปีที่ผ่านมา
ถ้าให้เทียบ Simple Life ที่โด่งดังในภาคเหนือของไต้หวัน Megaport ก็ถือว่าโด่งดังมากในภาคใต้ Megaport เคยหยุดไปและจัดต่อในปี 2011 แล้วจัดต่ออีกสามปีก่อนจะหยุดไปตอนปี 2014 เมื่อพวกเขากลับมาอีกครั้ง ตั๋วของงานก็ขายหมดทุกปีเลย ทำให้มันกลายเป็นงานที่มีอิทธิพลมาก ๆ ในภาคใต้ของไต้หวัน ทีมงานก็มีอารมณ์ขันที่ไม่เหมือนใคร โดยการใช้ชื่อ ‘the goddess of Megaport’ เทพธิดาแห่ง Megaport เพื่อชักชวนศิลปินหญิงมาเล่นโดยเราไม่มีทางที่จะได้เห็นพวกเธอในงานเทศกาลดนตรีไหนแน่นอน อย่าง Jeannie Hsieh (謝金燕) Cyndi Wang (王心凌) Yuki Hsu (徐懷鈺) และศิลปินไอดอลจากญี่ปุ่นอย่าง Noriko Sakai (酒井法子)
การเติบโตของซีนเทศกาลดนตรี
Spring Scream และ Megaport จัดในฤดูใบไม้ผลิ ส่วน Ho Hai Yan Rock Festival จัดในฤดูร้อน และ Simple Life จัดในฤดูหนาว กลายเป็นว่าไต้หวันคือเกาะที่คุณสามารถมางานเทศกาลดนตรีได้ตลอดทั้งปี ดีจังเลยเนอะ เฟสติวัลที่เราพูดถึงก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ เรายังไม่ได้พูดถึงงานเทศกาลไซส์กลาง ๆ และไซส์เล็ก ๆ ที่กำลังเติบโตในช่วงหลายปีมานี้ในไต้หวัน
สินค้าศิลปินที่ยอดตก ทำให้อุตสาหกรรมหันไปโฟกัสกับการโชว์แสดงสดมากกว่า แล้วการจัดเทศกาลดนตรีก็กำลังเป็นกระแส ไม่ว่าจะงานใหญ่น้อยแค่ไหนก็ทำให้บ้านเมืองเติบโตเหมือนกัน แล้วไม่ว่าใครก็มีโอกาสจัดเทศกาลดนตรีของตัวเองได้ถ้าพยายามหาทุน ติดต่อโปรโมตเตอร์และสร้างคอนเนกชั่น
มองย้อนกลับไปถึงเทศกาลดนตรีที่จัดในไต้หวันหลายปีมานี้ มันยากมากที่จะจัดจำกัดความทุกงานด้วยคำพูดหรือแนวเพลงเดียว ในสังคมที่มีเสรีภาพมาก ๆ เราก็อาจเจอเทศกาลที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แข็งแรงและชัดเจนอย่าง Gong Sheng Music Festival (共生音樂節) และ Inland Rock (內地搖滾) เทศกาลที่สร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้คนสองกลุ่มอย่าง Small Oyster Rock (蚵寮漁村小搖滾) และ Amis Music Festival (阿米斯音樂節) เทศกาลที่เชิดชูความเป็นพื้นเมืองแบบ Rock Bandoh (搖滾辦桌) และ Taiwan Color Stage Fest (金光舞台車閃閃嘉年華) และเทศกาลที่จัดโดยตัวศิลปินเองอย่าง B-fest, FireBall Fest (火球祭), A Rockable Day (一日搖滾)
บริษัทเพลงกับค่ายเพลงและร้านขายซีดีก็ช่วยกันสร้างเฟสติวัลของตัวเองได้เหมือนกัน บริษัท B’in Music (相信音樂) ก็จัดเทศกาล Supper Slipper (超犀利趴) หรือ Wind Music (風潮音樂) ก็จัด World Music Festival @ Taiwan (世界音樂節@台灣) และ White Wabbit Records (小白兔唱片行) ก็จัด P Festival (鋼琴音樂節) และ LUCfest (貴人散步音樂節) งาน Migration Music Festival (流浪之歌音樂節), Trees Music & Art (大大樹音樂圖像) ที่จัดตั้งแต่ปี 2001 ก็หยิบยื่นเวิร์ลมิวสิกให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ AGoodDay Lian-Lian-Kan Festival (風和日麗連連看) ก็เป็นงานดนตรีที่ทุกคนจำได้จากค่าย A Good Day Records (風和日麗唱片行) จัดถึงสองวันในปี 2017 แม้แต่เทศกาลหนัง Urban Nomad (城市遊牧影展) ก็จะมีงานเทศกาลดนตรีกลางแจ้งสองวันชื่อว่า Opening Freakout (怪奇音樂祭) จัดที่ WeiYuan HuShan (微遠虎山) นักศึกษามากมายก็จัดมิวสิกเฟสติวัลในมหาลัยพวกเขากันบ่อย ๆ อีกด้วย
ความเข้มแข็งของเทศกาลดนตรีไต้หวัน
หลังจากดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตทุกคนมากขึ้น เทศกาลทั้งหลายก็เริ่มมองหากลุ่มเป้าหมายของตัวเองผ่านการตลาดออนไลน์ บางเทศกาลก็ทำเป็นโปรเจกต์ ๆ ไปหลังจากจบไปแล้วก็จะเลิกจัด ทำให้บางเทศกาลเริ่มพยายามตีโจทย์ธุรกิจของตัวเองให้แตก Wake Up Festival ในเมืองเจียอี้คือหนึ่งเทศกาลที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่ผ่านมา จากกลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่งในปี 2009 และมันคือเทศกาลแรกที่ส่งออกความสนุกไปจนถึงเมืองหลวงได้ และได้รับความนิยมจากเด็กรุ่นใหม่ท่วมท้น เสียดายที่ Wake Up ต้องเลิกจัดไปในปี 2019 เมื่อการทำไลน์อัพให้ดึงดูดและปัญหาเรื่องความปลอดภัยในเฟสติวัลกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของฝ่ายการเงิน ตอนนี้ก็ยังไม่มีข่าวคราวอะไรของ Wake Up อีกเลยว่าจะเลิกจัดหรือจะกลับมาอีกเมื่อไหร่
หน้าร้อนที่ควรเต็มไปด้วยเทศกาลดนตรีที่บานสะพรั่งแข่งกับดอกไม้ ปี 2019 กลับไม่ใช่ปีที่เป็นมิตรเลยกับคนจัดเฟสติวัล Wake Up เจอปัญหาเรื่องการเงิน ส่วน Mega Port ก็ประกาศว่าจะไม่จัดในปี 2020 อนาคตของเฟสติวัลไต้หวันก็มืดมนลงทันทีที่ประกาศออกมา แต่เราต้องไม่ลืมว่าทัศนคติของสังคมที่มีต่อเทศกาลดนตรีก็มีแนวโน้มในเชิงบวกมาก ๆ ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และอัตราการเติมโตของวัยรุ่นที่ชอบไปเทศกาลก็มากขึ้นทุกปี โซเชียลมีเดียทำให้ประสบการณ์การไปเทศกาลดนตรีกลายเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นแฟนเพลงศิลปินอินดี้ แถมยังมีสปอนเซอร์ใจดีและการซัพพอร์ตของภาครัฐ กับภาคเอกชนอีกมากมายที่ทำให้ซีนดนตรีกลับมาคึกคัก
แม้เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญกับซีนดนตรีนอกกระแสทั้งสองงานจะไม่ได้จัดในปีนี้ อย่างน้อยปีหน้า ก็อย่าลืมว่ายังมีเทศกาลน้อยใหญ่อีกมากมายที่ยังช่วยกันผลักดันวงดนตรีมากมาย และขึ้นมาดึงดูดผู้ชมได้มากมายเมื่อ Wake Up และ Megaport หายไป ยกตัวอย่าง Chill OUT Festival ที่จัดโดย Pipe live houseในไทเป Nomad Festival Taiwan ในหนันโถว และ Daikuma Festival ในไทจง ที่ช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าซีนดนตรีไม่มีวันตาย และน่าจะเติบโตต่อไปในอนาคตได้อีกนาน