ใครชอบไปคอนเสิร์ตต้องฟัง ระวังหูดับไม่รู้ตัว!?
- Writer: Peerapong Kaewthae
ไม่รู้ว่าปีนี้มันพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกแหวกจิ๊มิ๊กันหรือยังไง โปรโมเตอร์เมืองไทยพร้อมใจกันเอาศิลปินต่างประเทศเข้ามากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งราวกับปีหน้าจะปิดประเทศแล้วก็ไม่ปาน (อุ๊ปส์) ไหนจะคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีในประเทศที่จัดกันถี่ ๆ คนมีอันจะกินหน่อยก็บินไปดูคอนเสิร์ตของวงที่เฉียดมาไทยได้อีก เรียกได้ว่าแถบจะมีคอนเสิร์ตเกือบทุกอาทิตย์เลยทีเดียว จนทำให้เกิดคำถามว่าจะเอาเงินที่ไหนกินข้าว!! แต่นอกจากเรื่องปากท้องของเราแล้ว อีกสิ่งที่เรามักมองข้ามกันไปเสมอเพื่อได้เสพคอนเสิร์ตที่ปรารถนาก็คือ ‘หู’ ของพวกเรานี่เองเนี่ยแหละ
คุณ เลอลดา (นามสมมติ) เป็นอีกคนหนึ่งที่คลั่งไคล้การไปดูวงดนตรีที่ชอบเล่นสด ๆ มาก เลยอยากแชร์กับ Fungjaizine เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บในหูของเธอจากการไปคอนเสิร์ตติดต่อกันหลายงานไว้เป็นอุทาหรณ์ให้กับคนชอบเสพดนตรีสด
ช่วงเดือน สิงหา-กันยาที่ผ่านมาที่คอนเสิร์ตเยอะ ๆ เราเป็นคนนึงที่ไปดูทุกอาทิตย์ทุกคอนเลย ทั้งคอนไทย คอนนอก บวกกับเป็นคนชอบฟังเพลงแบบใส่หูฟังด้วย ยิ่งไปคอน ฯ กลับมายิ่งอินยิ่งฟัง จนทำให้ปลายประสาทหูเราอักเสบด้านซ้าย มีอาการช็อต ๆ ที่หู ได้ยินเสียงดัง ๆ ไม่ค่อยไหว ไปพบหมอ และต้องหยุดฟังเพลง เก็บหูฟัง งดไปที่เสียงดัง และกินยาและพบแพทย์เป็นระยะ ๆ และมันคงจะไม่หายขาดได้แค่ประคองไว้ แล้วพอเราอาการข้างซ้ายดีขึ้น ข้างขวาเป็นประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน มีอาการหูอื้อ ได้ยินไม่ชัดต่อจ้า (หัวเราะ) คุณหมอบอกว่าเป็นผลมาจากการอยู่ที่เสียงดังนาน ๆ ติด ๆ กัน
เธอแนะนำให้เราเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเตือนถึงอันตรายที่พวงมากับความสุขของการฟังเพลงให้ทุกคนได้รับรู้ ทาง Fungjaizine ก็ขอขอบคุณมาก ณ ที่นี้ด้วย สำหรับคนฟังเพลงแล้ว ถ้าไม่สามารถฟังเพลงได้อีกก็คงเหมือนตกนรกทั้งเป็นเหมือนกันนะ อย่างว่า เราเป็นวัยรุ่นก็คงไม่คาดคิดหรอกว่าวันหนึ่งอาจจะต้องหูหนวก แต่เคยสังเกตมั้ยว่าเราต้องเพิ่มเสียงขึ้นอีกหลายสต็อปเวลาฟังเพลงผ่านหูฟังคู่โปรดรึเปล่า
มีงานวิจัยเมื่อปี 2016 ของมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งยุเทรกต์ประเทศเนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับอาการประสาทหูเสื่อม โดยเขาขอความร่วมมือจากอาสาสมัคร 51 คนที่มีประสาทรับเสียงปกติ อายุเฉลี่ยที่ 27 ปี ให้เข้าไปเที่ยวงานเทศกาลดนตรีในเมืองอัมสเตอร์ดัม โดยอาสาสมัคร 25 คนจะใส่ที่อุดหูและอีก 26 คนไม่ได้ใส่ ก่อนที่พวกเขาจะได้เข้าไปสนุกสุดเหวี่ยงกับดนตรีที่มีความดังเกิน 100 เดซิเบล ก็ได้ทดสอบการได้ยินของทุกคนเก็บไว้ หลังจบคอนเสิร์ตก็ทดสอบการได้ยินอีกครั้งแล้วพบกับตัวเลขที่น่าตกใจมาก เพราะคนที่ใส่ที่อุดหูประสาทการได้ยินก็ยังลดลงถึง 8% แต่คนที่ไม่ได้ใส่ประสาทการรับเสียงลดลงถึง 42% เลยทีเดียว
Dr. Wilko Grolman เจ้าของงานวิจัยแนะนำให้ทุกคนใส่ที่อุดหูทุกครั้งที่ไปงานคอนเสิร์ต ถ้าคุณมีอาการหูอื้อและได้ยินเสียงวิ้ง ๆ หลังจากคอนเสิร์ตจบ แสดงว่าหูของเรารับภาระหนักเกินไป แค่ฟังเสียงที่ระดับ 100 เดซิเบลเกิน 15 นาทีก็อันตรายมาก ๆ แล้ว แต่คอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะมีความดังอยู่ที่ 125 เดซิเบลขึ้นไปแถมต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว ไม่ต้องนึกว่าหูเราจะบอบช้ำแค่ไหน การฟังเพลงผ่านหูฟังก็อันตรายเหมือนกัน ถ้าเปิดเสียงดังเกินไป เพราะอาการบาดเจ็บของแก้วหูมักจะไม่หายขาดและมีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้บังคับให้คุณเลิกฟังเพลง แต่คุณอาจจะต้องแคร์ตัวเองมากกว่านี้
ก็อยากจะขอให้โปรโมเตอร์ทุกคนตระหนักถึงความจริงข้อนี้และรณรงค์ให้แฟนเพลงหันมาใส่ earplug กันจนเป็นเรื่องปกติ เดี๋ยวนี้ทางฝั่งตะวันตกก็มีนวัตกรรมเกี่ยวกับที่อุดหูสำหรับคอนเสิร์ตเยอะแยะ ทั้งวัสดุที่ทนทาน สไตล์ที่เหมาะกับการแต่งตัวของเรา วัสดุที่เป็นมิตรกับรูหูใส่แล้วสบาย ถึงขั้นมีนวัตกรรมกรองเสียงคนดูออกไป หรือมิกซ์เสียงของศิลปินให้ดีขึ้นเพื่อประสบการณ์ครั้งนั้นน่าจดจำไปอีกระดับ ยังไงลองมองหา earplug หรือที่อุดหูคู่ใจไว้ซักครู่ หรือเตรียมไปเผื่อหลาย ๆ อันให้เพื่อนหรือคนที่คุณรัก จะได้ฟังเพลงด้วยกันไปนาน ๆ อีกหน่อยก็ยังดี
อ้างอิง
Heading to a concert? Don’t forget your earplugs