หยาบคายมาจากไหน? ว่าด้วยเรื่องคำหยาบกับเพลง
- Writer & Illustrator: Sy Chonato
เป็นปกติที่บางคนอาจรับไม่ได้กับคำหยาบ แต่เดี๋ยวนี้หลาย ๆ คน ค่อนข้างผ่อนคลายกับคำเหล่านั้นลงเยอะกว่าเก่า เช่นดาราที่พูดคำหยาบก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หรือคำหยาบในเพลงก็เป็นเหมือนฟังก์ชันเพื่อความสุนทรีย์ ทั้งสนุก ทั้งสะใจ แต่มันเป็นเพราะอะไร? ผู้เขียนจึงชวนมาไขข้อสงสัยว่าเราจะพูดคำหยาบไปทำไม ได้เวลาส่องดูวัฒนธรรมคำหยาบหลากมุมมองในบทเพลงกันแล้ว
คำเตือน: บทความนี้มีคำหยาบเพื่อการศึกษา ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
แนวฮิปฮอปมีคำหยาบเยอะกว่า
MusixMatch เว็บไซต์รวมเนื้อเพลง ได้พยายามหาความถี่ของการใช้คำหยาบของเพลงภาษาอังกฤษ จำนวน 10,386 ศิลปิน 490,100 เพลง พบว่า ในเนื้อเพลงปกติมีคำหยาบถี่ประมาณ 0.45% หรือ 1 คำในทุก ๆ 234 คำ แต่ตามปกติแล้วคนพูดคำหยาบประมาณ 0.5-0.7% หรือประมาณ 1 คำต่อ 80-90 คำ โดยรวมแล้วเพลงจึงพูดคำหยาบน้อยกว่าในชีวิตจริง
คำหยาบที่ฮิตที่สุด มีปรากฏถี่ที่สุด ในเนื้อเพลง คือคำว่า nigga, shit, fuck, bitch, niggas และ ass
ในภาษาอังกฤษ คำหยาบนั้นมักจะมีรากมาจาก Germanic มากกว่า Latin เช่นคำว่า shit, cunt หรือ fuck ล้วนมาจากรากภาษาเยอรมันทั้งสิ้น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในบรรดาเพลงทุกแนวเพลงในชุดข้อมูลขนาดใหญ่ แนวเพลงฮิปฮอปมีคำหยาบมากมายที่สุด คือทุก 47 คำจะมีคำหยาบ 1 คำ
เปรียบเทียบแนวเพลง (genre) ที่มีคำหยาบคายหนาแน่นและถี่ที่สุดตามลำดับ ดังนี้
- ฮิปฮอป 1 คำ ในทุก 47 คำ (nigga, shit, niggas) (หากเอาคำว่า nigga ออก จะเหลือ 74 คำ)
- เฮฟวี่เมทัล 1 คำ ในทุก 352 คำ (fuck, fucking, shit)
- อิเล็กทรอนิก 1 คำ ในทุก 498 คำ (fuck, shit, bitch)
- ป๊อป 1 คำ ในทุก 904 คำ (shit, bitch, fuck)
- อินดี้ร็อก 1 คำ ในทุก 1,037 คำ (fuck, shit, fucking)
- ร็อก 1 คำ ในทุก 1,043 คำ (bitch, fuck, shit)
ส่วนอีกรายงาน โดย Besttickets.com พบว่า n-word หรือคำว่า nigga ไม่ได้ฮิตมาตั้งแต่ยุคแรก เพิ่งจะมาฮิตอย่างไม่มีแรงตกหลังจากปี 1991 เป็นต้นมา
ในบรรดาเพลงฮิปฮอปที่มีคำหยาบ ผู้เขียนชอบเพลง Sucka Nigga (1993) ของ A Tribe Called Quest มาก ชื่อเพลง ถึงจะใช้คำว่า nigga เยอะมากถึง 13 ครั้งในเพลงเดียว แต่ในเนื้อเพลงมีความซับซ้อนและให้ความรู้เกี่ยวคำ n-word นิตยสาร Rolling Stone ยังกล่าวว่า Q-Tip ผู้แต่งเพลงได้พาผู้ฟังไปสำรวจรากของคำนี้ ซึ่งเป็นคำที่มีประเด็นย้อนแย้งรุนแรง และสำหรับเขา คำนี้ไม่ใช่คำดูหมิ่นเหยียดหยามแต่เป็นคำชื่นชม และเป็นคำที่คนชาติพันธุ์อื่นไม่สามารถใช้เต็มปาก (ยกเว้น Mark Ronson ศิลปินอิเล็กทรอนิกคนขาว แต่สบถ n-word เป็นคำหยาบอันดับ 3 ในเพลงของเขา) ซึ่งน่าสนใจที่ Q-Tip ใช้คำหยาบในเพลงเพื่อสำรวจมุมมองของคำหยาบ ไม่ใช่เพื่อการด่าเสียทีเดียว
แนวทางของวงจะสวนกระแสกับแนว gangsta rap ที่เน้นส่งเสริมไลฟ์สไตล์แบบ gangster ที่เราคุ้นเคย เนื้อหาที่เน้นความรุนแรง พูดเรื่องต้องห้ามในสังคม เช่น อาชญากรรม การเป็นอาชญากร การข่มขืน ยาเสพติด ความรุนแรงในบ้าน ความหลงตัวเอง วัตถุนิยม จึงไม่แปลกว่าเพลงฮิปฮอปจะมีคำหยาบอยู่เยอะ และถูกใช้เพื่อเน้นยํ้าความดาร์กเหล่านั้น
จากเว็บไซต์ Rapalytics พบว่าศิลปินดังฝั่งฮิปฮอปผู้ใช้คำหยาบคายในเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดคือ Notorious B.I.G. ซึ่งมีคำหยาบ 4% หรือ 1130 คำในเนื้อเพลง 27,100 คำของเขา หรือประมาณ 1 คำในทุก ๆ 24 คำ คำที่ฮิตที่สุดของเขาคือคำว่า fuck เพลงที่หยาบคายที่สุดของเขาเท่าที่สำรวจน่าจะคือเพลง Dead Wrong เพราะมีทั้งยา โสเภณี กินศพ การร่วมเพศกับสัตว์ ฆาตกรรมแบบต่าง ๆ สามารถลองเข้าไปเล่นเพื่อส่องความหยาบคายในหมู่แร็ปเปอร์ได้ใน หมวดสำรวจความหยาบคาย Profanity Explorer
แต่ใน Musixmatch กลับมอบเจ้าแห่งคำหยาบที่ 1 ให้กับ Lil Wayne, Tupac Shakur และ Snoop Dogg ทั้งหมดให้คำว่า nigga เป็นคำอันดับ 1 ที่พวกเขาใช้ โดย Lil Wayne มีคำหยาบมากถึง 3,960 คำในเพลงของเขาทั้งหมด โดย Chief Keef ใช้คำหยาบบ่อยที่สุดคือ 1 คำในทุก 20 คำ (ข้อมูลที่ไม่ตรงกันอาจจะมาจากคนละฐานข้อมูล)
ส่วนเพลงที่คำหยาบเบาบางที่สุดคือแนวเพลงคันทรีมีเพียง 1 คำในจำนวนเนื้อเพลง 4,438 คำ
เรียนรู้วัฒนธรรมคำด่าทอแบบไทย ๆ จาก Rap is Now
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฮิปฮอปจะมีคำหยาบเยอะสุด ๆ เพราะเป็นดนตรีจากท้องถนนที่มักระบายความอัดอั้นและความโกรธของคนผิวสีที่พบเจอกับความไม่เท่าเทียม ถูกเอาเปรียบเหยียดหยาม เพลงเหล่านี้จะเน้นการสื่อสารจากความรู้สึกที่แท้จริง ระบายความในใจ เล่าเรื่องในสังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ค่อยเห็นปรากฏในเพลงแนวอื่น ๆ เท่าไหร่
อิทธิพลคำหยาบและการด่าทอนี้ จึงส่งผลต่อวัฒนธรรมและภาพลักษณ์แร็ป ฮิปฮอป ในบ้านเรา ที่คำด่าและคำหยาบถูกเปลี่ยนเป็นบริบทแบบวัฒนธรรมไทย ๆ ผลก็คือไม่ได้เหมือนกับของภาษาอังกฤษเสียทีเดียว เพราะคำด่าทอในแร็ปแบทเทิลไทยมักจะเลือกประเด็นที่เข้าใจง่ายและมักเกี่ยวจุดอ่อนคู่ตรงข้ามเพื่อความสนุกสะใจ ไม่ได้พูดเรื่องการฆาตกรรมรุนแรง การกดขี่ หรือประเด็นการเมืองเท่าไหร่
จากประสบการณ์การไปดูแร็ปแบทเทิลโดย Rap is Now ผู้เขียนพบคำหยาบคายด่าพ่อล่อแม่มากมายลอยในอากาศโยนใส่กันไปมาให้เกิดความสะใจ ผู้เขียนผู้ไม่คุ้นเคยกับซีนนี้เท่าไหร่แต่รู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่ปลดปล่อย สนุกสนานดี และสามารถสรุปคำด่า/คำหยาบแบบแร็ปเปอร์ไทย ๆ ได้ออกเป็นประเด็นดังนี้
เกี่ยวกับเพศ เป็นคำด่าที่เบสิกมาก ๆ คิดอะไรไม่ออกก็ใส่เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศไปก่อน
เย็ดเมียมึง / สําส่อน / ช่วยตัวเอง / ได้กับหีกระป๋อง / จู๋เล็ก
เมีย เนื่องจากแร็ปเปอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย การโจมตีจึงมักเกียวข้องกับเพศและชีวิตรักของฝ่ายตรงข้าม
เมียเป็นกะหรี่ / เมียมีชู้ / เมียมึงได้กับกู
พ่อแม่
แม่เป็นโสเภณี (ฟังดูคล้าย ๆ son of a bitch) / แม่มีชู้ / พ่อมึงตาย
ดูถูกเหยียดยาม คำด่าประเภทนี้จะมีเนื้อหาเพื่อหยามฝั่งตรงข้าม มีความเฉพาะเจาะจงกว่าเรื่องเพศ
บ้านนอก / ไม่น่าเกิดมา / เชย / โบราณ / หน้าแก่ /เด็กเมื่อวานซืน / อ้วน / จดไม่สด หรือ มึงจดมึงไม่สด (แร็ปแบบเตรียมเนื้อหามาก่อนแล้ว) / มึงเป็นใคร / ไม่ดัง/ หน้าตัวเมีย / ตัวเตี้ยหมาเลียไม่ถึง ฯลฯ / ห่วย
Trending คำหยาบ/การด่าทอที่ผูกกับกับประเด็นในสังคมที่มาแรงในตอนนั้น
วัดพระธรรมกาย / อมควยธรรมมี่
ไล่ไปทำอย่างอื่น ประเภทนี้จะไม่ค่อยใช้คำหยาบเท่าไหร่ แต่เจ็บได้เหมือนกัน
ไปแต่งเพลงไป (งงว่าหยาบยังไง) / ไปเก็บมะม่วงไป / กลับบ้านไปเย็ดผักบุ้งในแกงเทโพไป
ยํ้าอีกครั้งว่า คำด่าทั้งหมดนี้ผู้เขียนจดบันทึกความทรงจำจากการเข้าชม Rap is Now ในรอบสด final 16 อาจจะมีตกหล่นไปบ้าง แต่เห็น pattern ซํ้า ๆ ที่น่าสนใจ แร็ปแบทเทิลเป็นพื้นที่แห่ง free speech ที่สามารถจะพูดอะไร จะด่าทอหยาบคายรุนแรงแค่ไหนก็ได้เต็มที่ ภายใต้บีตและไรห์มประกอบความคล้องจองของภาษา และคนดูก็พร้อมจะ ‘เอา’ แต่ถ้าไม่ชอบก็ ‘โห่’ ได้เต็มที่กับสิ่งที่พ่นพูดออกไป MC หรือแร็ปเปอร์ต้องใช้ทักษะสูงมาก ๆ ในการด่าให้อีกฝั่งเจ็บใจจนต่อกรไม่ถูก แต่สำหรับบางคนก็รู้สึกว่าการด่าตรง ๆ แรง ๆ นั้นไม่มีชั้นเชิงพอ อยากจะให้เจ็บลึกจากคอนเทนต์ที่ทิ่มแทงจากการเสียดสีอย่างมีวาทศิลป์ ก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน
แต่รุนแรงและเจ็บใจแค่ไหนในสนาม พอจบการแข่งก็แยกย้ายจบกันไปไม่โกรธเคือง
คำหยาบทำให้สื่อสารได้ชัดเจน
จากบทความ BBC เรื่องประโยชน์ของคำหยาบ พบว่าการใส่คำหยาบลงในเพลงอาจทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ได้เน้นส่วนที่สำคัญ (เช่น แม่งสำคัญจริง ๆ ว่ะ เหี้ย โคตรได้เลยสัส) ทำให้การสื่อสารเกิดการเน้นยํ้าและมีความชัดเจน ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม แต่หากใส่คำหยาบลงในทุกที่ตลอดเวลาเต็มไปหมดก็อาจจะใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่รู้จะเน้นตรงไหน
ในปี 2014 มีงานศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่างอ่านบล็อกของนักการเมืองสมมติ โดยโพสต์ที่มีคำหยาบจะถูกมองว่าเป็นทางการลดลง และทำให้คนสนใจมากขึ้น แต่ไม่ได้มีผลกับการลงคะแนนเสียง
นอกจากนี้การพูดคำหยาบยังทำให้คนรู้สึกเชื่อมต่อกันได้ดีขึ้น เราพูดคำหยาบกับคนที่เราสนิทใจด้วย และเกิดการเชื่อมสัมพันธ์จากคำหยาบได้ ไม่แปลกใจที่คำหยาบจะทำให้สร้างเพื่อนได้
เพลงนี้ Lily Allen เขียนเพื่อต่อต้านการเหยียดคนรักร่วมเพศของ George W. Bush อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสนับสนุนสงครามของเขา (ซึ่งในยุคนั้นเวอร์ชันที่เปิดในวิทยุก็ต้องเอาหยาบออกกลายเป็น clean version)
“So you say it’s not okay to be gay
Well, I think you’re just evil
You’re just some racist who can’t tie my laces
Your point of view is medieval”
“Fuck you, fuck you very, very much
Cause we hate what you do”
คำหยาบช่วยทำให้หายเจ็บ
ทำไมคนต้องมาด่ากันในเพลงเพื่อความสุนทรีย์หรือความสนุกดูสวนทางกับคุณค่าของเพลงในการจรรโลงใจ ?
มีหลายงานวิจัยชี้ว่าคำหยาบไม่ได้ส่งผลร้ายเสมอไป หนึ่งในงานวิจัยสำคัญ คืองานวิจัยจาก Keele University พบว่าการสบถคำหยาบคายทำให้ความเจ็บปวดร่างกายทุเลาลงได้ นอกจากนี้ยังทำให้รู้สึกเข็มแข็งและอดทนได้มากขึ้น แต่ถ้าใช้คำหยาบมากเกินไป ผลลัพธ์ก็จะไม่ได้ผลดีเท่าใช้นาน ๆ ที พวกเขาได้รางวัล Ig Nobel Prize ในปี 2010 จากการวิจัยนี้
ขอยกตัวอย่างเพลงนี้ Go To Hell (ไปลงนรกซะ) ของ Empress Of ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์กับ THE FADER ว่า
เพลงนี้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เคยทำให้ฉันเจ็บมาก แต่ตอนนี้ฉันหัวเราะให้กับมันทุกครั้งที่ได้ยิน นี่คือพลังของเพลง
(This song is very much about a specific thing that happened to me that hurt me and now I laugh with joy every time I hear it, this is the power of music)
นักประสาทวิทยาพบว่าผู้ป่วยโรงสมองเสื่อมแม้สมองส่วนความสามารถทางภาษาถูกทำลายก็ยังสามารถสบถคำได้ ส่วนที่บรรจุคำหยาบอาจจะเก็บไว้คนละส่วนกับความทรงจำคำศัพท์ส่วนอื่น (ยืนยันได้จากประสบการณ์จริงของคุณยายของผู้เขียน)
แม้พ่อแม่ผู้ปกครองโรงเรียนและสถาบันอันดีงามต่าง ๆ จะคอยเตือนใจเราไม่ให้พูดคำหยาบ แม้เพลงส่วนใหญ่ในโลกพยายามจะไม่ใช้คำหยาบหรือด่าทอตรง ๆ เพราะอาจจะไม่สามารถเปิดได้ตามวิทยุทั่วไป แต่สิ่งที่ดูแย่อาจช่วยบรรเทาทุกข์ได้ คำหยาบก็มีข้อดีเหมือนกันไม่ได้แย่เสมอไป สามารถทำให้ลดความเจ็บปวด ทำให้เข็มแข็ง สานสัมพันธ์มิตรภาพ และสื่อสารได้เน้นยํ้า แต่การใส่คำหยาบในเพลงก็อาจจะทำให้เกิดอรรถประโยชน์ทางอารมณ์ที่คำอื่นทดแทนไม่ได้ ทั้งมวลขึ้นทำให้เห็นว่าภาษามีความซับซ้อน
หากสิ่งที่จะสื่อสารขาดคำหยาบไม่ได้ หรือคิดว่าจะสร้างความสุขให้กับคนทำเพลงหรือคนฟังได้ก็ใช้เลย อย่าไปกลัว
References:
https://phys.org/news/2010-10-obscenity-whale-snot-honors-ig.html
http://www.bbc.com/future/story/20160303-the-surprising-benefits-of-swearing
https://www.besttickets.com/blog/rap-profanity/
http://lab.musixmatch.com/profanity_genres/
http://lab.musixmatch.com/profanity_representative_artists/