คำว่า Rock คงยังไม่พอ : ที่มาที่ไป และเนื้อในของความเป็น Post Rock ฉบับเข้าใจง่าย
- Writer: Piyakul Phusri
Post rock คืออะไร ถ้าถามคนทั่วไปถึงแนว โพสต์ร็อก ก็คงจะอธิบายประมาณนี้
“เพลงที่แบบว่าตอนแรกมันจะหม่น ๆ ดิ่ง ๆ หน่อย แล้วก็จะพุ่ง ๆ ตอนท้าย ๆ”
“เพลงที่ซาวด์มันลอย ๆ เนื้อร้องงง ๆ แบบว่าพึมพำอยู่ในคออ่ะ สุดท้ายคืองง ๆ ทั้งเพลง”
“เพลงคอร์ดวน ๆ ยาว ๆ แล้วก็จบไปตอนไหนไม่รู้”
“ได้ยินแต่เสียงเอฟเฟกต์!”
“ก็เพลงประกอบหนังอินดี้ของพวกนักศึกษาฟิล์มไง!”
ซึ่งก็มีทั้งส่วนถูก และส่วนผิด เพราะเพลง Post-Rock ก็มีคุณลักษณะบางอย่างตรงกับที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีคุณลักษณะแบบนี้เท่านั้นถึงจะเป็นเพลงโพสต์ร็อก
เอ้า…เขียนไปเขียนมาก็ชักจะเบลอ ๆ
ซึ่งมันก็ถูกต้องแล้วแหละ เพราะความเป็น Post rock ก็คือ ‘ความไม่ตายตัว’ นั่นเอง
———-
คำว่าPost rock ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในนิตยสาร Mojo ในปี 1994 เป็นคำที่ Simon Reynolds นักเขียน และนักวิจารณ์ดนตรีใช้เพื่อนิยามแนวดนตรีในอัลบั้ม Hex ของวง Bark Psychosis และเพลงของวง Talk Talk คำว่า โพสต์ร็อก มีนัยที่เกี่ยวพันกับคำว่า ‘postmodern’ หรือ ‘ยุคหลังสมัยใหม่’ ที่นักวิชาการเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นสมัยใหม่ ตั้งคำถามกับความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่เคยเชื่อว่าเป็นจริงแท้แน่นอน เป็นทฤษฎี หรือ รูปแบบของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ในวัตถุสิ่งหนึ่ง หรือ ในเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง มันสามารถตีความหมายไปในทางอื่นได้อีกหรือไม่
– อัลบั้ม Hex โดยวง Bark Psychosis
– อัลบั้ม Laughing Stock โดยวง Talk Talk
หาก postmodern คือความพยายามรื้อถอนความเชื่อที่ว่า ‘ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว’ โพสต์ร็อก ก็คือความพยายามในการรื้อถอดความเป็น rock music โดยเฉพาะดนตรีร็อกหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเอาจริงเอาจัง เนื่องจากดนตรีร็อกอเมริกันตามขนบล้วนวางอยู่บนโครงสร้าง verse-chorus-verse ภาคดนตรีต้องหนักหน่วง กีตาร์ต้องเด่น เน้นโชว์ทักษะ ฟรอนต์แมนต้องมีภาพลักษณ์ของความเป็นแมนเต็มตัว ขณะที่เนื้อร้องก็ต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจน หรือแม้จะสื่ออะไรโดยนัยก็ตามที เนื้อร้องก็ยังต้องร้องออกมาเป็นภาษาที่นำไปสู่ความเข้าใจในเนื้อหาได้
แต่ PostRock ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเพลงร็อก เพราะแม้ว่าจะใช้เครื่องดนตรีร็อกอย่างกีตาร์ไฟฟ้า เบส หรือกลองชุด แต่การนำเสนอเพลงออกมากลับแตกต่างจากดนตรีร็อกตามขนบอย่างสิ้นเชิง เพลงโพสต์ร็อก ไม่มีโครงสร้างของเพลงที่ชัดเจนแบบเพลงร็อก บ่อยครั้งเนื้อร้องของเพลง PostRock ไม่ได้สื่อความหมายอันใด หรืออาจจะเป็นเสียงบ่นงึมงำ ๆ ประกอบเสียงดนตรี กีตาร์ไม่ใช่เครื่องดนตรีเพื่อโชว์ริฟฟ์ หรือ ปั่นโซโล่ไฟแลบ แต่เสียงกีตาร์ถูกใช้เพื่อสร้าง texture และโทนให้กับเพลง ความหนักหน่วงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเสียงของบรรยากาศที่เครื่องดนตรีต่าง ๆ ผสมผสานกันสร้างขึ้นมา ภาพลักษณ์ความเท่ของการเป็นสมาชิกวงร็อก ถูกแทนที่ด้วยการเป็น ‘ใครก็ไม่รู้’ (anonymous) ที่ผู้ฟังอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้จักหน้าตาของศิลปินเลยก็ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ โพสต์ร็อก เป็นแนวเพลงที่ทำให้คนที่ทำงานเพลงในสตูดิโอ อย่างโปรดิวเซอร์ หรือ sound engineer กลายมาเป็นฟรอนต์แมนในทางปฏิบัติ เพราะมีวง โพสต์ร็อก จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่เป็นผลงานของโปรดิวเซอร์เพลงที่เคยทำงานให้ศิลปินแนวอื่นที่ไม่ใช่ post rock ซึ่งแน่นอนว่าเพลงโพสต์ร็อกรวมไปถึงแนวดนตรีทางเลือกอื่น ๆ ไม่เน้นยอดขายเปรี้ยงปร้าง แต่ให้น้ำหนักกับการความอิสระในการนำเสนอทางดนตรีมากกว่าให้ความสำคัญกับความโด่งดัง หรือยอดขาย
ในขณะที่ดนตรีร็อกให้ความสำคัญกับจังหวะและทำนอง ดนตรีแนว PostRock กลับให้ความสำคัญกับ ‘ทัศนียภาพของเสียง’ (soundscape) หรือ เสียงแวดล้อมต่าง ๆ ที่ผสมผสานกันอยู่ในตัวเพลง (ซึ่งถ้าหนักข้อขึ้นไปอีกขั้นยังมีแนว ambient post rock ที่เป็นแนวย่อยจาก post rock) เพลงโพสต์ร็อก จึงมีมิติของเสียงที่กว้างเพลงร็อก และมีความหลากหลายของเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ ไปจนถึงเสียงสังเคราะห์ ที่เข้ามาประดับตกแต่งให้เพลง มีทั้งความซับซ้อน และความว่างอยู่ในบทเพลงเพลงเดียว
โพสต์ร็อก จึงไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่าเป็นเพลงที่ ‘มาทีหลัง’ ร็อก แต่ post-rock คือการ ‘ต่อต้าน’ ร็อก คือความพยายามปฏิเสธความหมายของคำว่า ‘ร็อก’ แบบดั้งเดิม สู่การตีความทางดนตรีและสุนทรียะอันหลากหลายที่เพลงร็อกแบบดั้งเดิมเคยครองโลกมานานหลายสิบปี
ลองฟัง 30 อัลบั้ม post-rock แนะนำโดย Fact Magazine ได้ >ที่นี่<