สังเกตมั้ย? เพลงฮิตสมัยนี้ มีอารมณ์รุนแรงและเศร้ากว่าเพลงฮิตสมัยก่อน
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Karin Lertchaiprasert
“หากพวกเรากำลังสบายจงปรบมือพลัน!” เหมือนเป็นประโยคล้อเลียนเพลง Happy ทำให้ Pharrell Williams เป็นที่รู้จักในบ้านเรา ด้วยสไตล์เพลงสนุกสนานและมีส่วนร่วมได้ง่าย แน่นอนว่ามันกลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตบิลบอร์ดในปี 2013 อย่างรวดเร็ว แต่รู้มั้ยว่ากว่าเพลงแนวนี้จะพุ่งขึ้นมาติดชาร์ตได้เป็นเรื่องยากมาก จากการวิเคราะห์เนื้อเพลงของเพลงฮิตระดับโลกมากมายล้วนแต่เป็นเพลงที่ปลดปล่อยความโกรธหรือเอาไว้ฟังเพื่อเรียกน้ำตามากกว่าตั้งแต่ปี 1950 แล้ว
นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ลองถอดรหัสเนื้อเพลงกว่า 6,000 เพลงด้วย AI ตั้งแแต่ 1951 ถึง 2016 เพื่อดูว่าเพลงที่ติดบิลบอร์ดชาร์ตทุกปีเป็นยังไง โดยให้คะแนนความโกรธ ความกลัว ความสุขและความเศร้าตั้งแต่ 0 ถึง 1 มันยังมี machine learning ที่ทำให้ประมวลผลเนื้อเพลงและความรู้สึกในเพลงได้แม่นยำขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง YMCA เพลงในตำนานของ The Village People ที่เคยติดชาร์ตเมื่อปี 1978 ได้คะแนนความสุข 0.65 และความโกรธ 0.11
ทำให้เขาพบว่าคะแนนเฉลี่ยของความกลัว ความโกรธและความเศร้านั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ยกเว้นเพียงความสุขที่มีค่าเฉลี่ยต่ำลงเรื่อย ๆ เหมือนกัน เปรียบเทียบระหว่างเพลงฮิตในปี 1956 อย่าง Blueberry Hill ของ The Fats Domino มีคะแนนความสุขมากถึง 0.89 แต่เพลงฮิตที่ Sam Smith ส่งขึ้นชาร์ตในปี 2015 อย่าง Stay With Me มีคะแนนความสุขเพียงแค่ 0.15 เท่านั้น (แต่เพลง Happy ข้างบนก็ได้คะแนนถึง 0.79 เลยนะ)
ผู้เชี่ยวชาญสังเกตว่าชาร์ตบิลบอร์ดนั่นจะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนว่าพวกเขากำลังรู้สึกยังไง และพวกเขากำลังเผชิญกับอะไรในสังคม มากกว่าศิลปินต้องการจะพูดอะไรในช่วงนั้น “ช่วง 1950 เพลงคือเรื่องของความรื่นรมย์และสนุกสนาน มันอาจทำให้เพลงยุคนั้นมีคะแนนความสุขมากเป็นพิเศษ แตกต่างกับช่วง 1960 ถึง 1970 ที่เพลงกลายเป็นเครื่องมือการเมือง เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาเชื่อออกไป มันจึงเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว” ตั้งแต่ยุค 1998 เป็นต้นมา มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลใหญ่หลวงในคนรุ่นใหม่
นักประวัติศาสตร์ทางดนตรีบอกว่า เขาไม่เคยสังเกตเลยว่าความโกรธและความเศร้ากำลังเติบโตในซีนดนตรี เพลงยุคใหม่มักจะมีอารมณ์ที่ปนเปกันไปไม่ได้ตายตัว งานวิจัยนี้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับซีนดนตรี และช่วยซัพพอร์ตด้านอารมณ์ให้กับงานวิจัยอีกหลายชิ้น แต่เขามองว่างานยังมีช่องว่างอยู่บ้างเพราะเพลงเพลงหนึ่งจะแกะมาแค่เนื้อเพลงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรวมดนตรีและโชว์เข้าไปด้วย ถึงจะถือว่าครบองค์ประกอบที่จะตัดสินมัน แต่ถึงยังไงมุมมองทั้งสองแบบทั้งการนั่งอ่านงานเขียนในยุคนั้นทั้งหมดกับ AI ที่ช่วยไขความลับเหล่านี้ ล้วนมีคุณค่าต่องานวิจัยทั้งหมด
อ้างอิง
https://www.insidescience.org/news/popular-music-getting-sadder-and-angrier-new-study-finds