Plastic Love : ปรากฏการณ์จากกลไก YouTube หรือมนตร์ขลังแห่ง City Pop
- Writer: Montipa Virojpan
คืนหนึ่งหลังเลิกงาน แทนที่ฉันจะขึ้นรถไฟฟ้าตรงดิ่งกลับบ้าน ก็เลือกที่จะไปแวะร้านประจำแถวสาธร จับจองที่นั่งตรงบาร์พร้อมกับสั่งเหล้ายูสึมาจิบ ระหว่างที่รอก็มองออกไปนอกหน้าต่าง ดูหยดน้ำที่กระทบกระจกพลางฟังเสียงดนตรีซินธ์ป๊อปเก่า ๆ ในร้านที่อื้ออึงไปกับเสียงฝนพรำด้านนอก เมื่อเหล้ามาเสิร์ฟ ใครคนหนึ่งเดินมาทักทายดูคล้าย ๆ ว่าเคยเจอกันมาก่อนที่ไหนสักแห่ง บทสนทนายาวนานพาพวกเราย่างกรายไปบนแดนซ์ฟลอร์ โยกไปกับเพลงที่บรรเลงอยู่ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะเมื่อเขากระซิบบางอย่างใกล้หู แต่ฉันกลับหัวเราะร่วนและผละออกมาในที่สุด เพราะสุดท้ายฉันก็ยังคิดถึงใครอีกคนอยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา กระแส city pop ไม่ได้ถาโถมโหมกระหน่ำแค่ในไทย เพราะเราพบว่าเว็บบอร์ดต่างประเทศก็เริ่มตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่เพลงเหล่านี้ถูกเล่นขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยระหว่างการปล่อยให้ YouTube เล่นเองไปเรื่อย ๆ ทั้งที่กำลังฟังเพลงแนวอื่นด้วยซ้ำ บ้างก็ว่าเป็นการทำงานของอัลกอริธึมที่ผิดพลาดทำให้ทุกคนต้องมาติดลูปของ subculture นี้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะกับ Plastic Love ของ Mariya Takeuchi
Plastic Love เวอร์ชันออริจินัลความยาว 4.51 นาที คือผลงานจากอัลบั้ม VARIETY ตั้งแต่ปี 1984 ของ ทาเคอุชิ มาริยะ ซึ่งเคยขึ้นอันดับ 1 ของ Oricon Chart ของญี่ปุ่น ที่มี Tatsuro Yamashita เจ้าพ่อเพลงซิตี้ป๊อปผู้เป็นสามีของเธอและเป็นโปรดิวเซอร์ในอัลบั้มนี้ รวมถึงทำเวอร์ชัน extended club remix 9.15 นาทีออกมาเป็นซิงเกิ้ลต่างหากในปี 1985
ทว่าเพลงนี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังจากอัลกอริธึม YouTube ยัดเยียดความรื่นรมย์นี้ให้กับผู้ใช้จนล่าสุดมีจำนวนผู้ชมมากกว่า 22 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครแสดงท่าทีในทางลบกับปรากฏการณ์นี้สักเท่าไหร่ แถมยังทำให้ตกหลุมรักกับซิตี้ป๊อปญี่ปุ่นพร้อมกับหาเพลงอื่น ๆ ฟังไปโดยปริยาย
ต้นกำเนิดของไวรัลเพลงนี้น่าจะมาจากยูเซอร์ที่ใช้ชื่อว่า ‘Sona’ อัพโหลดขึ้นระบบเป็นรายแรก แต่ต่อมาก็ถูกลบไปเพราะเรื่องลิขสิทธิ์ จากนั้นก็มียูเซอร์ชื่อ ‘Plastic Lover’ อัพโหลดเพลงนี้เป็นเวอร์ชันมิกซ์ใหม่ความยาว 7 นาที ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ทุกคนประสบกับการเวียนเข้ามาฟังโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ภาพ thumbnail ที่ใช้กลับมาจากซิงเกิ้ล Sweetest Music / Morning Glory ซึ่งเป็นภาพถ่ายของเธอขณะที่อยู่ฮอลลิวู้ดในปี 1980 แม้จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดบ้าง แต่ต่อมาภาพนี้กลับกลายเป็นภาพจำของทุกคนเมื่อพูดถึงเพลง Plastic Love มากกว่าปกอัลบั้ม VARIETY ที่เพลงถูกบรรจุไว้มากกว่าเสียอีก ถึงขนาดมีแฟนอาร์ตเป็นภาพมาริยะสะบัดผมนี้ออกมาเป็นระยะ ๆ
นอกจากนี้ยังมีคนโพสต์เพลงนี้ใน subreddit /r/listentothis และกลายมาเป็น source สำคัญในกลุ่มคนทำเพลง future funk, vaporwave ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันเพลงเวอร์ชัน 7.55 นาทีที่วนในอัลกอริธึมถูกลบไปแล้ว แต่เห็นว่ามีความพยายามที่จะอัพโหลดกลับขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ในรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป)
ระหว่างที่พยายามหาคำตอบให้กับมิติพิศวงแห่ง YouTube algorithm เราก็เกิดนึกสนุกลองหาคำแปลของเพลงนี้ไปพลาง ๆ เพราะติดใจกับท่อนบริดจ์ท้ายเพลงที่ฟังออกอยู่ท่อนเดียวว่า ‘I’m just playing games, I know that’s plastic love. Dance to the plastic beat, another morning comes.’ ว่ามันจะเป็นอย่างที่เราคิดจริง ๆ หรือเปล่า เพราะขนาดแค่ฟังแบบไม่รู้ภาษาก็สัมผัสได้ถึงความสุขปนเศร้าในเพลง และหลังจากที่รู้ความหมาย ความรู้สึกระหว่างการฟังเพลงนี้ของเราก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
突然のキスや熱いまなざしで
เธอคิดว่าการที่เราจูบกัน หรือสบตากันอย่างเร่าร้อน จะทำให้ฉันตกหลุมรักเธอเหรอ
恋のプログラムを狂わせないでね
อย่าทำให้โปรแกรมที่ฉันตั้งไว้ต้องรวนเลยดีกว่า
出逢いと別れ上手に打ち込んで
ฉันป้อนข้อมูลให้เข้าไปทำความรู้จักเธอ และบอกลาเธอได้ทันท่วงที
時間がくれば終わる Don’t hurry!
อย่ารีบร้อนกับฉันเลย ตอนจบกำลังจะมาถึงในเวลาไม่ช้านี้
ต้องเล่าก่อนว่าเพลงซิตี้ป๊อปเกิดขึ้นจากการแชร์วัฒนธรรมกับตะวันตกในช่วงสร้างชาติ หรือการผนึกกำลังฟื้นฟูประเทศหลังการแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ฝรั่งได้ขับรถหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในญี่ปุ่น ส่วนคนญี่ปุ่นก็ได้ฟังเพลงดิสโก้ ฟังก์ r&b จากฝั่งอเมริกา เมื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์และความรุ่มรวยวัฒนธรรมบังเกิดขึ้น นักแต่งเพลงในยุคนั้นจึงเลือกสะท้อนชีวิตของคนเมืองผ่านผลงาน โดยเพิ่มการตกแต่งเป็นซาวด์ดนตรีพร่างพราวและเนื้อหาของชีวิตที่ทุกคนใฝ่ฝันอย่าง American dream ที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรูหรา แต่ก็มาพร้อมกับความเหงายามค่ำคืน
Plastic Love เองก็เช่นกัน มี YouTube user ชื่อ Stevem ได้ให้ความเห็นว่าเพลงนี้คือผลผลิตของเศรษฐกิจฟองสบู่ในช่วงปลาย 70s ต้น 80s ที่เทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู ผู้คนพร้อมจะจับจ่ายใช้สอยไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ night life หรือการเข้าสังคม อันเป็นพฤติกรรม ‘plastic’ (เปลือกนอก, กลวงเปล่า, สิ่งที่ผลิตในงานอุตสาหกรรม, ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ที่หนุ่มสาวเลือกจะใช้เพื่อสยบความเหงายามค่ำคืนของยุคนั้น เนื้อเพลงได้สะท้อนปัญหาที่ตามมาจากค่านิยมดังกล่าว ไม่ได้เล่าแค่การบรรเทาความเจ็บปวดจากความรักครั้งก่อน
私のことを決して本気で愛さないで
อย่ามาจริงจังกับฉันเลย
恋なんてただのゲーム 楽しめばそれでいいの
สำหรับฉัน ความรักก็เป็นแค่เกม ให้ฉันได้สนุกกับมันก็พอแล้ว
閉ざした心を飾る 派手なドレスも靴も 孤独な友だち
เสื้อผ้ากับรองเท้าเก๋ ๆ เป็นเพื่อนช่วยคลายเหงาของฉัน ในวันที่หัวใจปิดไม่ให้ใครเข้ามา
私を誘う人は皮肉なものねいつも彼に似てるわ
จะว่าไปมันก็ตลกดี ผู้ชายทุกคนที่เข้ามาหาฉันดูคล้ายกับเขาไปหมดจนทำให้ความทรงจำพวกนั้นฟื้นคืน
แต่สำหรับ ทาเคอุชิ มาริยะ เองแล้ว เธอได้เปิดเผยเบื้องหลังของเพลงนี้ว่า “ฉันอยากเขียนเพลงร็อก เพลงโฟล์ก เพลงคันทรี เพลงที่คนจะเต้นได้อย่างพวกซิตี้ป๊อป พวกดนตรีที่มีแค่ 16 บีตที่สามารถเล่าเรื่องชีวิตในเมืองได้” เธอแค่แต่งเพลงขึ้นมาเพื่อความสนุกเท่านั้น ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แต่อย่างใด “ขณะนั้นฉันกำลังตั้งท้องอยู่ ก็เลยไม่ได้มีเวลามาซึมซับบรรยากาศพวกนั้นมากแบบที่คนอื่นรู้สึกหรอกค่ะ”
Plastic Love ถูกเขียนโครงดนตรีขึ้นมาก่อนโดยเธอเอง และ ยามาชิตะ ทัตสึโระ แต่งเมโลดี้กีตาร์เข้าไป จากนั้นเนื้อเพลงจึงตามมา “เรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่เชื่อว่าผู้ชายที่รักแท้ของเธอได้จากไป และไม่ว่าจะมีผู้ชายเข้ามากี่คน เธอก็ไม่สามารถสลัดความเหงาที่เกิดจากการที่ไม่มีเขาอยู่ไปได้เลย” แล้วเธอก็ได้ Taeko Ohnuki อีกศิลปินคนสำคัญของซีนซิติป๊อปมาร้องไกด์ท่อนฮุคให้ หรือได้ Ryuichi Sakamoto มาเล่นซินธิไซเซอร์เสียงออร์แกนให้ในเพลง Let’s Get Married ที่อยู่ในอัลบั้ม VARIETY เพราะขณะนั้นเขาทำงานเพลงให้อดีตภรรยา Akiko Yano อยู่ที่สตูดิโอข้าง ๆ ส่วนยามาชิตะก็ไปช่วยร้องคอรัสให้หลายเพลงของยาโนะในเวลาต่อมา จากที่เคยซึมเซากับเรื่องราวหวานอมขมกลืนในเนื้อเพลง กลายเป็นว่าเรารู้สึกชื่นใจหลังจากได้รับรู้จากเบื้องหลังการทำงานของพวกเขา ว่าแต่ละคนในวงการดูสนิทสนมและช่วยเหลือกันดีเหลือเกิน
อนึ่ง ปรากฏการณ์ Plastic Love ในเดือนตุลาคม ปี 2017 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ตั้งแต่ compilation album ชื่อ Japanese Boogie & Disco Reworks: Volume 2 ของค่าย Midnight Riot จากอังกฤษก็มีเพลงนี้ในเวอร์ชันที่แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย ใช้ชื่อเพลงว่า Playing Games โดย Miki J
Ryan Bassil จากนิตยสาร Noisey ยกให้เพลง Plastic Love เป็นเพลงป๊อปที่ดีที่สุดในโลก Noodle มือเบสวง Gorillaz เคยให้สัมภาษณ์กับ Japan Times ว่าเธอชอบเพลงนี้มาก และเรียกทาเคอุชิว่าว่าเป็นศิลปินหญิงที่น่าทึ่งของวงการฟังก์ญี่ปุ่น 9m88 ศิลปินไต้หวันมีคัฟเวอร์เวอร์ชันที่เป็นที่นิยมไม้แพ้ต้นฉบับ
แม้แต่เพลง City Love เพลงจากโปรเจกต์เดี่ยวของ Yubin วง Wonder Girls ก็ได้คอนเซ็ปต์มาจากเพลงนี้เช่นเดียวกัน แต่ภายหลังถูกระงับการเผยแพร่ไว้เพราะปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เลยปล่อยเพลง 숙녀 (淑女/ Lady) มาใช้โปรโมตแทน
และหลายคนก็นึกสนุกที่เอาเพลงนี้ไปยำเข้ากับเพลงป๊อปร่วมสมัยหลายเพลง ที่พีคสุดคือเอาไปรวมกับ Despacito โดยใช้ชื่อว่า DESPLASTICO 3000 แล้วดันออกมาดีซะด้วยสิ
สุดท้ายแล้ว Kevin Allocca หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมและเทรนด์ของ YouTube ก็เล่าถึงกระบวนการทำงานของ ‘YouTube Suggestion’ หรือแถบแนะนำเพลงทางด้านขวาของ player ว่า ระบบใช้วิธีสุ่มเพลงที่คิดว่าผู้ชมน่าจะชอบจากสิ่งที่เคยดูมาโดยใช้การวัดฟีดแบ็กแบบ real-time และส่วนตัวแล้วเขาเองก็ไม่เชื่อว่าปรากฏการณ์ Plastic Love นี้เกิดขึ้นเพราะอัลกอริธึมแรนด้อม ๆ ของ YouTube หรือเป็นการทำงานที่ผิดพลาด แต่มีความเป็นไปได้ว่า น่าจะเป็นเพราะว่าผู้ใช้พากันมารับชมรับฟังในเวลาไล่เลี่ยกันและกดไลก์ให้เพลงอย่างพร้อมเพรียง เลยส่งผลไปยังการทำงาน YouTube Suggestion ของผู้ใช้คนอื่น ๆ เสียมากกว่า
นึก ๆ ดูก็ตลกดีที่แม้เพลงจะมีอายุสามสิบกว่าปีมาแล้ว คนในยุคนี้ก็สามารถมีความรู้สึกร่วมกับทั้งดนตรีและเนื้อหาได้อย่างไม่เคอะเขิน แถมยังมีแนวโน้มว่าผู้คนจะได้พบเจอ Plastic Love มากขึ้นในทุก ๆ วัน และแม้สุดท้ายเราจะหาคำตอบที่แท้จริงเรื่อง YouTube algorythm ไม่ได้ แต่เราก็ดีใจที่ได้มารู้จักและตกอยู่ในมนตร์สะกดของเพลงนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://noisey.vice.com/en_uk/article/435bgd/mariya-takeuchi-plastic-love-song-review
https://www.youtube.com/watch?v=ZjDzgZ2SNY0
https://www.resetera.com/threads/whats-up-with-youtube-recomending-70s-japanese-pop.47826/
https://www.resetera.com/threads/the-story-behind-plastic-love-aka-1984s-2018-summer-anthem.59415/
https://knowyourmeme.com/memes/plastic-love
http://www.openculture.com/2017/03/japanese-city-pop.html
http://www.openculture.com/2018/10/youtubes-algorithm-turned-obscure-1980s-japanese-song-enormously-popular-hit-discover-mariya-takeuchis-plastic-love.html
https://yattatachi.com/discovering-plastic-love
https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/06/14/music/gorillaz-premiere-new-album-tokyo-show/#.XCSRiM8zbVo
https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/11/17/music/mariya-takeuchi-pop-genius-behind-2018s-surprise-online-smash-hit-japan/#.XCSFOM8zbVo