Article Guru

Neil Young ผู้มอบลมหายใจแรกให้ดนตรีกรันจ์

  • Writer: Geeraphat Yodnil

ความรุ่งเรืองของ grunge music ในช่วงต้นยุค 90s ที่มี Kurt Cobain เป็นศาสดาสูงสุด และมีสตูดิโออัลบั้ม Nevermind (1991) เป็นดั่งพระคัมภีร์ไบเบิ้ล คือหนึ่งในแผ่นดินไหวที่สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีโลก

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยคือ Nirvana เป็นผู้ต่อลมหายใจที่เคยมีคนพ่นออกมาก่อนหน้าแล้วถึงหลายสิบปี และ Neil Young ศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งยุค 70s คือคนคนนั้น ถึงแม้ว่าเคิร์ทจะบอกกับโลกว่าเพลงกรันจ์ของเขามีที่มาจากดนตรีพังก์ (1970) แต่เชื่อหรือไม่ว่าจดหมายลาตายของเคิร์ทถูกปิดท้ายประโยคด้วยข้อความว่า “It’s better to burn out than to fade away” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับเนื้อร้องในเพลงของ นีล ยัง โดยไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญแน่นอน และเราขออาสาเป็นคนเล่าเรื่องราวของเขาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเอง

Everybody Knows This Is Now Here

12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 (เวลาไม่ได้ระบุ) คือวันที่เด็กชาย Neil Percival Young ได้สัมผัสออกซิเจนของโลกเป็นครั้งแรก สัญชาติแคนาดา เพศสภาพ และการเกิดท่ามกลางช่วงเวลาที่ซีนดนตรีแจ๊ซรุ่งเรืองที่สุดคือสิ่งที่ติดตัวเขามาด้วยไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

1951

ในตอนที่นีลอายุได้เพียง 6 ขวบ ครอบครัวของเขาอยู่ด้วยกันในเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อ Omemee นีลผู้โชคร้ายต้องเผชิญหน้ากับโรคมากมายอย่าง ลมชัก เบาหวานประเภท 1 และปอลิโอ ซึ่งสุขภาพที่ย่ำแย่ก็ส่งผลหนักถึงขนาดที่ทำให้เขาไม่สามารถเดินได้เลย สิ่งสำคัญที่ทำให้นีลก้าวผ่านวัยเด็กที่ยากลำบากนี้ไปได้คือกำลังใจจาก Rassy Ragland ผู้เป็นแม่ที่เฝ้าอยู่ไม่ห่างและเชื่อว่าลูกของเธอจะต้องหายในที่สุด (ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ) หลังจากผ่านโรคร้ายมาได้ไม่นาน เด็กชาย นีล ยัง กับวัยที่อยากรู้อยากเห็นก็เริ่มสนใจในเสียงดนตรีโดยเริ่มจากลองเล่นแบนโจและอูคูเลเล่เป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นกีตาร์อย่างที่คนฟังทั่วโลกคุ้นชินกันในเวลาต่อมา

1960

หลังจากที่ Scott Young ผู้เป็นพ่อได้หย่าร้างกับแม่ของเขาไป นีลในวัย 15 จำเป็นต้องย้ายชีวิตในวัยเด็กที่เหลือไปอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคนใน Winnipeg เมืองหลวงของรัฐ Manitoba ส่วนตัวเราเชื่อว่าความอัจฉริยะในการแต่งเพลงของนีลมีที่มาส่วนหนึ่งจากการสืบสายเลือดของพ่อที่มีอาชีพหลักเป็นนักข่าวกีฬาและนักเขียน เขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในไอคอนผู้โดดเด่นคนหนึ่งของประเทศแคนาดา ผลงานตลอดชีวิตของสก็อตมีมากกว่า 30 เล่ม หนึ่งในผลงานที่ได้รับความนิยมที่สุดคือเล่มที่ชื่อว่า ‘Scrubs on Skates’ ในปี 1952 ซึ่งเป็นเล่มที่เขียนเพื่ออุทิศให้กับนีลและบ๊อบผู้เป็นลูกชาย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวินิเพ็กต่อจากนี้จะเป็นการเดินทางแห่งเสียงดนตรีของนีล เขาใช้เวลาในที่นี่ไปกับความสนใจในดนตรีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งส่งผลให้ชีวิตในไฮสคูลของเขาเต็มไปด้วยเรื่องของการทำวงและเล่นดนตรีกับเพื่อน ๆ นีลทำวงมากมายในระหว่างที่เรียนจนในที่สุดก็รู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร

1963

หนุ่มน้อยนีลลาออกจากไฮสคูลพร้อมกับการทำวงโฟล์กร็อกที่ชื่อ The Squires เพื่อมุ่งมั่นหวังจะเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว คืนแล้วคืนเล่าเขาตระเวนเล่นดนตรีตามบาร์เพื่อสั่งสมชื่อเสียง และแล้วโอกาสก็มาถึงเมื่อนีลได้พบกับ Stephen Stills ศิลปินผู้รักในเสียงเพลงโฟล์กเหมือนกัน ทั้งคู่ตกลงสร้างวงขึ้นมาเพื่อจะทำเพลงด้วยกันในชื่อ Mynah Birds โดยมี Rick James เป็นมือเบส (คนเดียวกับที่บุคลิกหลุด ๆ ทำเพลงฟังก์เก่ง ๆ และจะกลายเป็นซุปตาร์ในภายหลัง)  ถึงแม้พวกเขาจะมีความสามารถถึงขนาดได้เซ็นสัญญากับค่าย Motown ในอีก 3 ปีต่อมา (1966) แต่วงกลับยุบก่อนที่จะได้ออกอัลบั้มซะอีก ซึ่งนั่นทำให้นีลตัดสินใจมุ่งหน้าหาฝันครั้งใหม่ใน Los Angeles พร้อมกับ Bruce Palmer เพื่อนในวงที่ยังอยากจะร่วมสานฝันต่อ

1969

ความผิดพลาดในการล้มครั้งก่อนจะสอนให้การลุกครั้งต่อไปเร็วขึ้นเสมอ สิ่งที่นีลทำคือตั้งวงใหม่กับ บรูซ สติลส์ และเพื่อนอีกสองคนในชื่อ Buffalo Springfield โดยออกอัลบั้มในเดือนธันวาคมในปีเดียวกันกับที่วงเก่าของเขาเพิ่งยุบไป โดยมีเพลงที่ชื่อ For What It’s Worth เป็นเพลงฮิตติดชาร์ต วงกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสื่อยังยกย่องความดีงามของดนตรีในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้องหรือทำนอง แต่ความดีงามทั้งสิ้นล้วนแล้วเกิดจากฝีมือของนีล ซึ่งนั่นทำให้เขาโดดเด่นที่สุดทั้งในวงและในสายตาของสื่อ

หลังจากอยู่ด้วยกันได้สองปี เขาก็รู้ตัวเองอีกครั้งว่าต้องการอะไรจึงตัดสินใจลาออกจากวงไปเพื่อไปเซ็นสัญญาเป็นศิลปินเดี่ยวกับ Reprise Record (เป็นค่ายที่ก่อตั้งโดย Frank Sinatra) และใช้เวลาปีต่อมา (1969) ปล่อยอัลบั้มเดี่ยวในนาม Niel Young & Crazy Horse ที่ชื่อ Everybody Knows This Is Now Here อัลบั้มซึ่งมีรูปโฉมเป็นโฟล์กร็อกเจือด้วยความคันทรี่นิด ๆ แต่แฝงไปด้วยความดิบที่ยิ่งกว่าดนตรีร็อกจะเป็นได้

After The Gold Rush

ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างทำอัลบั้มถัดไปคือช่วงเดียวกับที่นีลได้ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงเก่าอย่างสติลส์อยู่บ่อยครั้ง จนรู้ว่าเขาได้ทำวงใหม่ (ซึ่งมีเพลงไปแล้ว) กับ David Crosby และ Graham Nash สติลส์ทำสิ่งเดียวกับตอนที่เขาพบนีลครั้งแรกในคืนนั้นด้วยการถามนีลว่าสนใจจะมาทำเพลงด้วยกันมั้ย คำตอบที่ตามมาของนีลทำให้วงโฟล์กร็อก มหัศจรรย์เสียงประสาน Crosby Stills Nash & Young ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาคือหนึ่งในวงที่ได้ร่วมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของวงการดนตรีโลกที่ Woodstock Festival และออกอัลบั้มร่วมกันสองครั้ง แต่ก็เป็นเพียงความทรงจำสั้น ๆ ร่วมกันแค่ปีเดียวเท่านั้นเพราะว่านีลขอลาออกไปเพื่อโฟกัสกับอัลบั้มใหม่ของตัวเองที่กำลังจะมาถึง

1970

After The Gold Rush อัลบั้มที่ถูกยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตการทำเพลงของ นีล ยัง ก็เสร็จสมบูรณ์ (ซึ่งห่างจากอัลบั้มแรกแค่ปีเดียว) ความเพอร์เฟกต์ของอัลบั้มนี้คือการเรียงเพลย์ลิสต์ได้กลมกล่อม ผสมกับเพลงที่เพราะทุกแทร็ค พาร์ตดนตรีมีชั้นเชิงไล่เฉดสีของความรู้สึกอย่างสนุกสนาน มีความเป็นโมเดิร์นโฟล์กร็อกที่เติบโตไปไกลกว่าอัลบั้มแรกเยอะ และรู้สึกได้เลยว่ามีความเป็นกรันจ์ซ่อนอยู่ในนั้นด้วย

1972

หลังจากเสพสุขไปกับความรุ่งเรืองของอัลบั้ม masterpiece ได้ไม่นาน นีลก็ต้องมาพบเจอกับมรสุมหนักในชีวิตอีกครั้ง คลื่นระลอกแรกเกิดขึ้นในช่วงท้ายของปี 1972 จาก Carrie Snodgress นักแสดงฮอลลิวู้ดผู้เป็นภรรยาของนีลได้คลอดลูกชาย Zeke ที่เกิดมาพร้อมกับความพิการทางสมองจนส่งผลให้แคร์รี่ต้องลาออกจากงานมาดูแล คลื่นระลอกที่สองเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากนั้นโดย Dan Whitten ในตำแหน่งมือกีตาร์ของวงคู่ใจของนีล Crazy Horse ก็ด่วนจากไปด้วยการเสพยาเกินขนาดก่อนที่การออกทัวร์กำลังจะมาถึง

1975

ในที่สุดแคร์รี่ก็ขอแยกทางกับนีล โดยในปีเดียวกันนั้นเขาได้ปล่อยอัลบั้มที่ชื่อ Tonight’s the Night อัลบั้มที่บันทึกเสียงหลังจากแดนจากไปได้ไม่นาน ซึ่งเป็นอัลบั้มที่แสดงถึงความมืดหม่นภายในจิตใจของนีล เชื่อว่ามีที่มาจากเหตุการณ์มรสุมชีวิตที่เขาเจอมาอย่างหนัก

1979

Rust Never Sleeps อัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกับการทัวร์ในปีเดียวกันกับ Crazy Horse (โดยมี Frank Sampedro เป็นมือกีตาร์คนใหม่) คือผลงานที่นีลปล่อยออกมาในช่วงปีที่หลังจากผ่านพ้นเรื่องแย่ ๆ มาได้ และหนึ่งในเพลงดังที่สุดของนีล ยังก็ถูกจัดอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วยเพลงปิดอัลบั้มที่มีภาคแยกมาจากแทร็คแรกของอัลบั้ม My My , Hey Hey (Out of the Blue) ชื่อว่า Hey Hey , My My (Into the Black) เพลงที่เราสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่านี่แหละคือกรันจ์

Lost In Space

ช่วงปี 80s เป็นช่วงที่นีลทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ให้กับผลงานเพลงของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เขาลองทำอัลบั้มที่ประกอบด้วยเพลงที่มีความเป็นอะคูสติกสูงสุดในหนึ่งเพลง และเพลงที่แทบจะไม่มีความเป็นอะคูสติกเลยอยู่ในอัลบั้มเดียวกัน แล้วใช้เวลาอัดต่อเพลงนานอย่างที่ไม่เคยมาก่อนจนเกิดเป็นอัลบั้ม Hawks & Doves ภายใต้สังกัดใหม่ (ซึ่งเป็นการทดลองเช่นกัน) โดยย้ายไปอยู่กับ Geffen Records แทน พร้อมกับออกอัลบั้มอีก 5 ชุดจนถึงปี 1986 จึงย้ายกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่เขาจากมาคือ Reprise Records นั่นเอง

1988

อัลบั้มแรกหลังจากกลับมาที่บ้านหลังนี้อีกครั้งทำให้ทุกคน (รวมถึงเราเอง) ตกใจเป็นอย่างมาก นีล ยัง ที่เรารู้จักมาตลอดคือศิลปินเพลงสุขุมแต่ดีเดือดด้วยสไตล์โฟล์กร็อก แต่ทว่า อัลบั้ม This Note’s for You กลับเข้มข้นไปด้วยความเป็น r&b และบลูส์ไปเสียอย่างนั้น เพลงที่มีเครื่องเป่าแสนหวานในเพลงช้าและโลดแล่นในเพลงเร็วคือสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จากงานของชายคนนี้แต่ก็เกิดขึ้นไปแล้ว

1989

สิ่งที่เขาทำในปีต่อมาหลังจากที่คนฟังได้ช็อกไปกับ This Note’s for You คือปล่อยอัลบั้มที่ใช้ชื่อว่า Freedom และทำดนตรีให้ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเขาอีกครั้งนึง โดยนีลสร้างเพลงที่เป็นโฟล์กร็อกคล้าย ๆ กับชุดที่ 2 After The Gold Rush แต่ใส่เอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีไฟฟ้าอย่างกีตาร์และคีย์บอร์ดมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ผลลัพธ์คือฟังแล้วรู้สึกใหม่โดยที่ยังเป็น นีล ยัง คนเก่านั่นเอง แต่ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มันจับใจคนฟังมากขึ้นกว่าชุดที่แล้วถึงขนาดส่งผลให้เขาโด่งดังเทียบเท่ากับศิลปินหัวแถวในหมวดหมู่สายใกล้เคียงกันกับเขาในช่วงเวลานั้นอย่าง Sonic Youth, Dinosaur Jr. หรือ Nirvana และในที่สุดฉายา ‘Godfather Of Grunge’ ก็เป็นวลีที่ศิลปิน คนฟัง และสื่อต่างใช้เรียกเวลาที่จะพูดถึง นีล ยัง   

Hitchhiker

ความมหัศจรรย์ของศิลปินวัย 72 คนนี้คือนับตั้งแต่วันแรกที่ได้ตกหลุมรักดนตรี เขาก็ไม่เคยหยุดทำมันอีกเลยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ล่าสุดเดือนสิงหาคมปี 2017 เขาก็พึ่งปล่อยอัลบั้มออกมาและให้ชื่อมันว่า Hitchhiker (จะสร้างความตกใจให้คนฟังอีกหรือเปล่าเราอยากให้ทุกคนไปลองฟังกันดู)

นีล ยัง คือบุคคลที่คนทำเพลงควรเอาเป็นแบบอย่างทั้งในเรื่องของการไม่หยุดทำในสิ่งที่รักและกล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอโดยที่ยังคงเป็นตัวเองในทุกครั้งที่ลอง เราอยากให้ทุกคนได้ลองฟังเพลงของเขาดูนะ (แนะนำทุกเพลงของอัลบั้ม After The Gold Rush และ The Beach หากรักในความผ่อนคลาย และแนะนำ Rust Never Sleeps สำหรับผู้รักในความเกรี้ยวกราดของดนตรีกรันจ์) เพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นสิ่งใหม่ที่คุณหลาย ๆ คนจะตกหลุมรักอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง

http://www.rollingstone.com/music/news/flashback-neil-young-emerges-as-the-godfather-of-grunge-in-1991-20150303
https://www.biography.com/people/neil-young-9539612
http://read.tidal.com/article/70-facts-you-might-not-know-about-neil-young
http://www.rollingstone.com/music/artists/neil-young/biography
http://read.tidal.com/article/70-facts-you-might-not-know-about-neil-young

 

Facebook Comments

Next:


Geerapat Yodnil

จี Loser boy ผู้หลงไหลในหนังของ Woody Allen มี Mac DeMarco เป็นศาสดา และยังคงเชื่ออยู่เล็ก ๆ ว่าตัวเองจะสามารถเป็น William Miller ได้ในซักวัน