สหภาพดนตรี: มาทำความรู้จักกับสหภาพของวงการดนตรีก่อน ตอนที่ 1
- Writer: Piyapong Muenprasertdee and Kamolkarn Kosolkarn
เนื่องในโอกาสที่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงาน เราจึงอยากนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “สหภาพ” ซึ่งเป็นคำที่คู่กับแรงงานมาอย่างสม่ำเสมอ สหภาพเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มกันของบุคลากรในสายงานอาชีพเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จัดตั้งเป็นองค์กรที่ช่วยดูและรักษาสิทธิประโยชน์ของคนในกลุ่ม รวมถึงเรียกร้องและต่อรองกับรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น บุคลากรในวงการดนตรีเองก็ถือเป็นแรงงานชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน ในเดือนนี้เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวของ “สหภาพดนตรี”
อาชีพอิสระหลายๆ อาชีพในประเทศไทย อาจไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย หรือไม่มีองค์กรกลางที่ช่วยดูแลเรียกร้องสิทธิประโยชน์ รวมทั้งต่อรองกับรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม โดยเฉพาะบุคลากรในวงการดนตรี ที่ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน แถมต้องดูแลและต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ซึ่งหากมีการรวมตัวรวมกลุ่มเป็นสมาคม สหพันธ์ หรือสหภาพแล้ว ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีมิใช่น้อย และทำให้วงการดนตรีพัฒนาไปในทางที่ดีมากขึ้นได้
สหภาพ สหพันธ์ และสโมสรนักดนตรีในต่างประเทศ
ในหลายๆประเทศมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นในลักษณะของสหภาพหรือสหพันธ์ของนักดนตรี และบุคลากรที่ทำงานในอุตสหกรรมดนตรี เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการก่อตั้งสหพันธ์นักดนตรีอเมริกัน หรือ American Federation of Musicians – AFM ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1896 ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มกองทุนและสหกรณ์นักดนตรี ที่มีจุดประสงค์ให้การช่วยเหลือด้านการเงินระหว่างที่เจ็บป่วย ตกงาน หรือเกื้อหนุนครอบครัวของนักดนตรีในกรณีที่เสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในด้านงบประมาณเชิงสวัสดิการเท่านั้น แต่สำหรับสหพันธ์นักดนตรีอเมริกันยังมีพันธกิจที่น่าสนใจอย่างการทำสัญญาเพื่อยกระดับค่าจ้างให้กับนักดนตรีอย่างเป็นธรรม สร้างพลังที่จะทำให้นักดนตรีนั้นมั่นใจได้ว่าจะสามารถประสานงานไปยังรัฐบาลเพื่อได้รับโอกาสและความเป็นธรรมทางสังคม เมื่อหลายๆ กลุ่มเข้าด้วยกัน ให้กลายเป็นองค์กรใหญ่องค์กรเดียว ซึ่งในปัจจุบันก็มีสาขาย่อยตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เมือง Nashville ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมือง Toronto ประเทศแคนาดา ที่อยู่ภายใต้ AFM และมีเป้าหมายในการดำเนินงานที่คล้ายกัน โดยมีความหลากหลายของประเภทดนตรีทตั้งแต่ป๊อป แจ๊ส บลูแกรส ไปจนถึงเพลงคันทรี
Listen Up Campaign
เพราะรู้ดีว่าอุตสาหกรรมดนตรีนั้นมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ AFM จึงจัดแคมเปญชื่อว่า Listen Up! ขึ้นมา โดยการนำเอานักดนตรีมืออาชีพภายใต้สหพันธ์เข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นปัญหาการจ้างงานนักดนตรีในภาคบันเทิงนั้นลดลงถึง 22% และไม่มีการให้ความสนใจกับขั้นตอนการทำเพลงสกอร์หรือซาวนด์แทรกในช่วงกระบวนการหลังการผลิตภาพยนตร์ ที่ค่ายหนังมักจะนิยมการเอาเข้าไปทำที่ประเทศอื่น หรือหากมี ก็มักจะได้รับค่าจ้างในราคาที่ค่อนข้างต่ำ นั่นทำให้เป็นการทำลายโอกาสในการแสดงศักยภาพของนักดนตรีที่มีฝีมือภายในประเทศ ซึ่งอาจสร้างรายได้ให้ได้มากและคุ้มค่ากว่า
ดังนั้น AFM จึงร่วมมือกับ American Motion Picture and Television Producers (AMPTP) เพื่อต่อรองกับสตูดิโอหนังและโทรทัศน์อย่าง Columbia Pictures, Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) Pictures, Paramount Pictures, Universal City Studios, Walt Disney Pictures & Television และ Warner Bros. เพื่อให้เปิดพื้นที่ให้นักดนตรีได้มีโอกาสเข้าไปทำงาน โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขในการรับค่าจ้างที่เป็นธรรม (ลิงก์สู่แหล่งอ้างอิง)
นอกจาก AFM แล้ว ในประเทศอื่นๆก็มีอย่างเช่น สหภาพนักดนตรีแห่งออสเตรเลีย หรือ Musicians Union of Australia; สมาคมนักดนตรีของประเทศจีน หรือ Chinese Musicians’ Association; และสมาคมดนตรีของประเทศสิงคโปร์ หรือ The Music Society Singapore (SGMUSO) แต่ก็มีตัวอย่างของสหภาพนักดนตรีที่ล้มเหลวและปิดตัวลงไปแล้วอย่าง สหภาพนักดนตรีมาเลเซีย (Musicians Union of Malaysia – MUM) เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาลผ่านทะเบียนสหภาพแรงงาน ผู้นำที่อ่อนแอ และความไม่สามัคคีของสมาชิก
ประเทศไทย มีสหภาพดนตรีไหม?
สหภาพดนตรี ที่คนทั่วไปอาจจะเคยได้ยิน เป็นชื่อค่ายเพลงที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยอดีตผู้บริหารแกรมมี่ 3 คนคือ ชาตรี คงสุวรรณ, นิติพงษ์ ห่อนาค และ อัสนี โชติกุล แต่องค์กรที่ใกล้เคียงสหภาพดนตรีมากที่สุดสำหรับประเทศไทยคงจะเป็น สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ซึ่งจากการที่ผู้เขียนเข้าไปสอบถามข้อมูลโดยตรง จึงได้ทราบว่าทางสมาคมฯเปิดรับสมัครสมาชิกที่เป็นทั้งนักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง แบบทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น โดยเสียค่าสมัครครั้งเดียวในราคา 1,100 บาท ซึ่งจะได้สมาชิกภาพแบบตลอดชีพเลย ในปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ในหลักพันคน และมีค่ายใหญ่อย่าง GMM Grammy และ RS เป็นสมาชิกด้วย ส่วนสิทธิประโยชน์ของสมาชิกนั้น หลักๆคือจะได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีเจ็บป่วย ประสบอุบัติภัย และถึงแก่กรรม แต่ก็เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างน้อยมาก นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆอย่างเช่น กิจกรรมจิตอาสา เล่นดนตรีการกุศล แข่งโบว์ลิ่งการกุศล และงานประกาศรางวัลพระพิฆเนศทองคำ เป็นต้น
เมื่อพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมดนตรีฯเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต กลับไม่ค่อยพบอะไรใหม่ๆมากนัก เหมือนกับว่าทางสมาคมฯนั้น ไม่ค่อยมีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรีสมัยใหม่ โดยเฉพาะดนตรีอิสระสักเท่าใด แถมสมาชิกก็ค่อนข้างเป็นในระดับผู้ใหญ่ มีอายุและสถานะค่อนข้างสูง ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่ก็ได้พบว่านอกจากสมาคมดนตรีฯแล้ว ก็มีชุมชนเกี่ยวกับนักดนตรีอื่นๆ อยู่หลายกลุ่มทีเดียว เช่น สมาคม นักดนตรี นักร้อง นักแสดง เชียงใหม่ หรือ CMSAA (Chiang Mai Musician Singers Actors Assiociation); สโมสรนักดนตรีอาชีพ (นกฮูก); และ ชมรมนักดนตรีอาชีพแห่งประเทศไทย ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่เหมือนจะยังไม่ได้มีบทบาทการดูแลบุคลกรในอุตสาหกรรมดนตรี เหมือนกับสหพันธ์นักดนตรีในต่างประเทศเท่าไรนัก
สหภาพดนตรี ควรเป็นอย่างไร?
สหภาพดนตรีก็ควรจะเป็นเหมือนกันสหภาพแรงงาน แต่เน้นไปที่นักดนตรีและบุคลากรในวงการดนตรี โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือสมาชิกทั้งทางด้านการเงิน กฎหมาย และต่อรองกับองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่คนเหล่านั้นทำงานอยู่ หรือกับหน่วยงานของรัฐบาล อาจมีลักษณะเป็นกองทุนที่สมาชิกทุกคนจะต้องจ่ายเข้าไป แล้วมีทีมงานบริหารกองทุนนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก ซึ่งอาจจะเป็นเงินอุดหนุนระหว่างที่ตกงาน เจ็บป่วย หรือเพื่อจุนเจือครอบครัวของสมาชิกในกรณีที่เสียชีวิต หากดูประวัติการก่อตั้งของสหพันธ์นักดนตรีอเมริกัน (AFM) จะเห็นได้ว่าเป็นดังที่กล่าวข้างต้นเลย
หากประเทศไทยก่อตั้งสหภาพดนตรีขึ้นมาได้จริงๆ จะเป็นอย่างไร?
ประเทศไทยควรจัดตั้งสหภาพดนตรีขึ้นมาหรือเปล่า? หรือแค่รวมกลุ่มกันหลวมๆกันก็พอ? ขั้นตอนการก่อตั้ง รวมทั้งข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร? โดยเราจะมาวิเคราะห์กันต่อในตอนที่ 2 ครับ