เมื่อ Music Streaming ทำให้เพลงสมัยนี้แปลกขึ้นทุกวัน?
- Writer: Pongsathorn Chutachuen
ในสตรีมมิงฟังใจ ระบบการ discover เพลงหรือการแนะนำเพลงให้กับผู้ฟังยังไม่เด่นมากนักถ้าเทียบกับเจ้าอื่น แต่ถูกทดแทนด้วยอิสระในการลงเพลงที่ทำให้มีเพลงไทยใหม่ ๆ หลากหลายประเภทเข้ามาให้เลือกฟังได้ตลอด ทำให้แต่ละวันมีเพลงเป็นจำนวนมากเข้ามาในระบบจึงเป็นเรื่องยากที่ผู้ฟังจะฟังได้ทุกเพลงหมด แล้วศิลปินจะใช้วิธีไหนถึงจะทำให้ผู้ฟังเลือกฟังเพลงของเขาจากบรรดาเพลงมากมายที่เข้ามาในแต่ละวัน
ก่อนหน้านี้เรามีบทความเกี่ยวกับ Music streaming ทำให้เพลงสมัยนี้มีอินโทรสั้นลงเหลือแค่ 5 วินาที!? สรุปโดยย่อก็คืออินโทรเพลงในปัจจุบันลดลงเพื่อให้ผู้ฟังอยู่กับเพลงก่อนที่จะกดข้ามไป ซึ่งมันคือวิวัฒนาการของดนตรีที่เรียกว่า ‘attention economy’ หรือ ‘ระบบเรียกร้องความสนใจ’ ไม่ว่าจะใช้วิธีตัด intro เพลงให้สั้นลงแล้วเข้าเนื้อเพลงตั้งแต่เพลงเริ่ม หรือ ใช้ one-word wonder ที่ใช้คำเดียวติดอยู่ในหัวไปตลอดกาล แต่นอกเหนือจากตัวเพลงแล้วยังมีอีกวิธีที่ศิลปินนำมาใช้ในการดึงดูดคนมาฟังเพลง นั้นก็คือการตั้ง ‘ชื่อเพลง’
การตลาดที่ใช้ชื่อเพลงเรียกคนมาฟัง
‘ชื่อเพลง’ ใช่แล้ว งานวิจัยในต่างประเทศบอกว่า music streaming ทำให้อินโทรและชื่อเพลงสั้นลง แต่ไม่ใช่กับประเทศไทยแม้อินโทรจะสั้นลงแต่ชื่อเพลงกลับยาวและแปลกประหลาดอย่างน่าตกใจ การตั้งชื่อที่ชวนงงจนน่าสงสัย หรือแม้กระทั่งชื่อที่ดุดันและหยาบคาย ไปจนยียวนกวนบาทาทำให้ผู้ฟังอยากรู้ว่ามันคือเพลงอะไรวะ เพลงมันเป็นแบบไหนถึงได้ตั้งชื่อเพลงแปลก ๆ แบบนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ attention economy ถ้าในแวดวงบนโลกอินเทอร์เน็ตคงเรียกสิ่งนี้ว่า clickbait หรือจะเป็นศัพท์ใหม่ในวงการดนตรีก็คงใช้เป็น ‘streambait’ ได้เหมือนกัน เพราะว่าตลาดเพลงในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงไม่แพ้ตลาดธุรกิจอื่น ๆ การตั้งชื่อเพลงแปลกประหลาดจะช่วยให้คนอยากรู้อยากลองเข้ามาฟังเพลงดูสักครั้ง เมื่อได้ฟังแล้วโดนใจก็จะอาจส่งต่อออกไปเรื่อย ๆ กลายเป็นไวรัลจนทำให้เป็นเพลงฮิตในชั่วค่ำคืน ซึ่งก็น่าจะเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว
ทางทีมงานได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจ ในแต่ละปีเมื่อแยกออกมาดูแล้วจะเห็นว่ามีเพลงที่ติดชาร์ตแตกต่างกันออกไปตามเทรนด์หรือยุคสมัยของปีนั้น เช่น ปีล่าสุด (2018) เป็นปีที่มีแฟนคลับเริ่มทำเพลงให้กับไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบจนเกิดวัฒนธรรมการทำ ‘fan song’ ลงในฟังใจเป็นจำนวนมาก และก็มีหลายเพลงที่สามารถติดชาร์ตประจำสัปดาห์ได้ โดยเฉพาะเพลง ‘มะงึก ๆ อุ๋ง ๆ’ ที่ตอนนี้มียอดวิวใน YouTube 50 ล้านวิวไปแล้ว เอาล่ะ เข้าเรื่องเลย จากชาร์ตแต่ละสัปดาห์ของสตรีมมิ่งฟังใจ (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2016) มีเพลงทั้งหมด 366 เพลงที่ไม่ซ้ำกัน (ในระหว่างปีอาจมีบางเพลงที่ติดชาร์ตข้ามปี) ซึ่งมีสถิติแนวโน้มของเทรนด์ที่เพิ่มขึ้น ‘ทุกปี’ นั้นก็คือ ‘ความยาวของชื่อเพลง’
– ปี 2016 มีเพลงติดชาร์ตทั้งหมด 134 เพลง ความยาวตัวอักษรเฉลี่ย 9.7 ตัวอักษร
– ปี 2017 มีเพลงติดชาร์ตทั้งหมด 106 เพลง ความยาวตัวอักษรเฉลี่ย 10.49 ตัวอักษร
– ปี 2018 มีเพลงติดชาร์ตทั้งหมด 138 เพลง ความยาวตัวอักษรเฉลี่ย 10.66 ตัวอักษร
– ปี 2019 (3 เดือนแรก) มีเพลงติดชาร์ตทั้งหมด 49 เพลง ความยาวตัวอักษรเฉลี่ย 11 ตัวอักษร
จะเห็นได้ว่าความยาวตัวอักษรของชื่อเพลงเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 ตัวอักษร ซึ่งถ้านับความยาวเฉลี่ย 9 ถึง 11 ตัว เอามาประดิษฐ์เป็นชื่อเพลงแล้วจะได้คำประมาณ 2-3 พยางค์ เช่น เพลง ‘ใหม่ซ้ำเดิม’ มี 3 พยางค์ 11 ตัวอักษรพอดี นั้นคือค่าเฉลี่ยตัวอักษรของชื่อเพลงในปัจจุบัน อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงรู้สึกว่ามันแปลกตรงไหนล่ะ ชื่อเพลงก็ปกติดีหนิ? ใช่ครับ ถ้าดูตามสถิติค่าเฉลี่ยของปัจจุบันถือว่ายังปกติ แต่ถ้าหากดูตามแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปีนั้นจะรู้ว่ามีเพลงที่ตัวอักษรยาวกว่า 11 ตัวอักษรมาเพิ่มค่าเฉลี่ยอยู่มากขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’ ของ เขียนไขและวานิช หรือ ‘ไม่มีอะไรอยู่ในสมองฉันเลย’ ของ p n v . จะเห็นได้ว่าเป็นชื่อเพลงที่ยาวมากอ่านชื่อเพลงแล้วเหมือนโดนสปอยล์ความหมายของเพลงไปโดยปริยาย การที่เราเห็นชื่อเพลงแปลก ๆ ทำให้เกิดการดึงความสนใจ (attention) ให้เราอยากเข้าไปลองฟังเพลงดูสักครั้ง จึงเป็นที่มาของการตลาดแบบ clickbait ไม่ว่าศิลปินจะตั้งใจหรือไม่ในการตั้งชื่อเพลงลักษณะนี้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ผู้ฟังคลิกเข้าไปลองฟังเพลงดูสักครั้งก็เป็นผลลัพธ์ที่ดีไม่ใช่น้อย
เพลงชื่อ ‘มันก็เหมือนกับการที่บังเอิญได้ยินเพลงหนึ่ง’ เคยติดอันดับ 1 บนชาร์ตฟังใจ
สถิติชาร์ตฟังใจทั้งหมด 366 เพลง มีเพลงชื่อแปลกทั้งหมดประมาณ 40 กว่าเพลง (ใช้วิธีเลือกโดยอ่านชื่อเพลงแล้วเกิดคำถามในใจว่าเพลงอะไรว่ะ?) หรือประมาณ 10% ก็ยังถือว่าไม่เยอะมาก อาจวิเคราะห์ได้ว่าเพลงที่ชื่อแปลกทำให้คนอยากคลิกเข้ามาฟังครั้งแรกแต่ไม่มีผลที่ทำให้ผู้ฟังวนกลับมาฟังซ้ำหากเพลงไม่ถูกหู เพราะอัลกอริธึมการคำนวนชาร์ตฟังใจใช้จำนวนการฟังต่อสัปดาห์เป็นน้ำหนักในการคิดทำให้เพลงที่ติดชาร์ตจึงเป็นเพลงที่คัดสรรจากผู้ใช้ทุกคนอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างชื่อเพลงชวน clickbait บนชาร์ตฟังใจ:
– กูบอกไว้ก่อนว่าถ้าพวกมึงหูไม่ถึงอย่าฟัง (alertcacid)
– โกนหมอยหมอยแข็ง (LOKEE REDLIGHT)
– ฉันทำโทรศัพท์ตกใส่สปาเก็ตตี้ (JAYJORD)
– ฉันออกไปเต้นกับเพลงที่ไม่คิดจะฟัง (เป้ อารักษ์)
– ซื้อประกันกูเหอะ (songsamsi)
– นอนคนเดียว กินคนเดียว ดูทีวิคนเดียว (Yokee Playboy)
– เพื่อนหายเพราะขายตรง (Gui Oui)
– เพื่อนหายเพราะเสี่ยงทายคุกกี้ (เอ็ม ธรากร)
– เย็ดขนมปัง (Finn Play)
– อย่าคุยเรื่องบินสูงในฝูงไก่ (ชาบลูส์)
– แอบปลิ้มสาวมุสลิม ม. 1/5 (The Ginkz)
จากประวัติศาสตร์การฟังเพลงจะเห็นว่าเทคโนโลยีได้ทำให้วิถีและพฤติกรรมของคนทำเพลงและฟังเพลงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย music streaming ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการของการอยู่รอดและปรับเปลี่ยนของคนทำเพลง การตั้งชื่อเพลงแปลก ๆ ก็เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น สิ่งนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิด เพราะดนตรีไม่มีถูกผิดอยู่แล้ว อยู่ที่เราเลือกและเปิดใจให้มีความสุขไปกับเสียงดนตรี Enjoy the music ครับ
อ้างอิง:
Music streaming ทำให้เพลงสมัยนี้มีอินโทรสั้นลงเหลือแค่ 5 วินาที!?
10 ชื่อเพลงที่… ตั้งแบบนี้ก็ได้เหรอ
Streambait Pop | Lil Pelly