สุข เศร้า เหงา ตกหลุมรัก ให้ฟังเพลง เสียงดนตรีดึงอารมณ์ 13 แบบที่ซ่อนอยู่สมองของเราออกมาได้
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Peerapong Kaewthae
ในวันแแย่ ๆ ที่อะไรก็ไม่เป็นใจ ทุกคนมักจะมีเพลงที่ใช้เยียวยาจิตใจเรากันอย่างน้อยคนละหนึ่งเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ก็รู้สึกดีขึ้นทันที หรือจะไปออกกำลังกายแต่ละทีก็ต้องมีเพลย์ลิสต์สนุก ๆ ที่ทำให้รู้สึกอยากเสียเหงื่อ แถมสนุกไปกับการออกกำลังกายมากขึ้น บางครั้งฟังเพลงระหว่างเดินไปให้ถึงโรงเรียนหรือออฟฟิศ แล้วก้าวแต่ละก้าวไปตามจังหวะเพลงที่ชอบก็รู้สึกสดชื่น เป็นการเริ่มวันใหม่ที่ดีมากเลย
ทุกคนอาจรู้กันอยู่แล้วว่าเพลงสามารถสร้างบรรยากาศหรืออารมณ์ ที่ทำให้เราสุข เศร้า เหงาหรือรักไปพร้อมกับมันได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเป็นที่สตรีมมิงหลายเจ้าพยายามทำ กับการจัดเพลงให้ตรงกับอารมณ์ของเราหรือนำเสนอเพลย์ลิสต์ที่อยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ สถานการณ์นานา
ล่าสุด เพิ่งมีงานวิจัยมายืนยันว่าดนตรีช่วยสร้างอารมณ์ให้สมองของเราได้จริง แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอะไรหรือมีอารมณ์เหล่านั้นมาก่อนเลยก็ตาม โดยรวบรวมเพลงหลากหลายแนวกว่า 2,000 เพลง มาค้นหาว่าเพลงแต่ละเพลงมีอิทธิพลกับอารมณ์ในด้านใดบ้าง ผ่านกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั้งสองประเทศในอเมริกาและจีน ก่อนจะพบว่าดนตรีไม่มีกำแพงภาษาอย่างที่เขาว่าจริง ๆ ต่อให้ทั้งสองจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแค่ไหน ผลลัพธ์ที่ได้กลับใกล้เคียงกันอย่างน่าประหลาดใจ
ในงานวิจัยนี้ พวกเขาให้คนอเมริกัน 1,591 คน และคนจีน 1,258 คน มาลองฟังเพลง 2,168 เพลงที่หลากหลายแตกต่างกัน แลัวให้ผู้เข้าร่วมวิจัยเช็คว่าเพลงแต่ละเพลงทำให้เขารู้สึกอย่างไรบ้าง โดยมีนักวิจัยคอยตรวจสอบผลลัพธ์เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด และหาความแตกต่างของทั้งสองวัฒนธรรม เช่นเพลงบางเพลงทำให้พวกเขารู้สึกโกรธ แต่ในวัฒนธรรมหนึ่งอาจโกรธในแง่บวก แต่ความโกรธเหล่านี้อาจถูกมองว่าไม่ดีในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง
จึงแจกแจงอารมณ์หลัก ๆ ออกมาได้ 13 ประเภท ที่น่าจะอธิบายภาพลักษณ์ของเพลงทุกเพลงออกมาชัดเจนที่สุด ได้แก่ สนุกสนาน (amusing), น่ารำคาญ (annoying), ความเครียดวิตกกังวล (anxious, tense), งดงาม (beautiful), ผ่อนคลายสบายใจ (calm, relaxing, serene), เพ้อฝันลอย ๆ (dreamy), กระตือรือร้น (energizing), เซ็กซี่วาบหวิว (erotic, desirous), โมโห (indignant, defiant), สดชื่นร่าเริง (joyful, cheerful), เศร้าหดหู่ (sad, depressing), หวาดระแวง (scary, fearful) และฮึกเหิมกล้าหาญ (triumphant, heroic)
ซึ่งในหนึ่งเพลงล้วนประกอบไปด้วยอารมณ์มากมาย แต่ละเพลงจึงถูกให้คะแนนอย่างละเอียดว่าพวกเขาฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกยังไงบ้าง พวกเขาจึงทำเว็บ interactive audio ขึ้นมา สร้างแผงผังของอารมร์ทั้ง 13 แบบลงไป แล้วค่อย ๆ จัดเรียงเพลงกว่าพันเพลงไว้ตามอารมณ์ที่เข้มข้นในเพลงนั้น ตำแหน่งของเพลงนั้นเป็นตัวอักษรอะไรก็มีค่าเฉลี่ยของอารมณ์นั้นอยู่เยอะสุด ส่วนตำแหน่งของมันก็บอกได้ว่ายังประกอบไปด้วยบรรยากาศแบบไหนอีกบ้าง แค่เลื่อนเมาส์ไปไว้บนตัวอักษรก็จะเล่นเพลงขึ้นมาเลย หรือคลิกสองครั้งเพื่อโยนลิงก์ YouTube ขึ้นมา
ลองไปเล่นกันได้ที่เว็บ ocf.berkeley.edu เลย จากที่ลองไล่ ๆ ดูแล้วก็มีเพลงป๊อปที่มีผลลัพธ์น่าสนใจอยู่หลายเพลงเหมือนกัน
One More Time ของ Daft Punk เต็มไปด้วยบีทที่สนุกตื่นเต้นด้วยคะแนน energizing ถึง 80% รองลงมาด้วย สนุกไปกับดนตรีเท่ ๆ กับคะแนน joyful 34% ถือว่าสูงมากสำหรับเพลงป๊อป ใครได้ฟังก็ต้องอยากลุกขึ้นเต้นตามแน่นอน
ส่วน No Surprises เพลงในดวงใจของใครหลายคนกลับมีคะแนนที่แปลกมาก มีหลายอารมณ์ผสมกันทั้ง ผ่อนคลาย calm 28% ลอย ๆ เพลินใจ dreamy 26% แถมมีคะแนนความสดชื่น joyful ถึง 21% เลยทีเดียว ไม่แปลกที่เพลงนี้จะมีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลได้อย่างน่าประหลาด นอนฟังวนได้ไม่รู้จบ
อีกเพลงหนึ่งที่น่าสนใจคือเจ้าแมวหนมปังสุดเกรียน Nyan Cat ที่ทุกคนลงความเห็นตกกันว่ามัน annoying มากถึง 49% แต่มันยังได้คะแนนความสนุก amusing ไป 36% และยังตื่นเต้นเร้าใจ energizing ถึง 23% ซึ่งจริง ๆ หลายคนก็มองว่าเพลงนี้หลอนหูน่ารำคาญ แต่ถ้ารู้สึกชอบขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็หยุดฟังไม่ได้เหมือนกันเถอะ
ส่วนเพลงที่ชวนให้เราหวาดระแวง (scary, fearful) หรือคุกคามเราให้กลัวจนตัวสั่น ก็หนีไม่พ้นพวก soundtrack ประกอบหนังสยองขวัญทั้งหลาย โดยเฉพาะเสียงที่มีเอกลักษณ์ของฉลามจาก ‘Jaws’ ส่วนเพลงที่ดึงความฮึกเหิมกล้าหาญ (triumphant, heroic) ของเราออกมาได้ ก็จะเป็นเพลงคลาสสิก ออร์เคสตราอลังการประมาณ Symphony No.9 ของ Beethoven ทั้งนั้น
เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งคนอเมริกันและคนจีนจะได้ประสบการณ์และเข้าถึงอารมณ์ได้เหมือนกัน พวกเขาก็ทำการทดลองซ้ำ ๆ ให้แน่ใจว่าแต่ละคนจะไม่มีอคติจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน ด้วยการให้ฟังเพลงบรรเลงจากเครื่องดนตรีทั้งตะวันออกและตะวันตกกว่า 300 เพลง แล้วค่อย ๆ ทำแบบทดสอบไปเรื่อย ๆ จนให้แน่ใจว่าพวกเขาซึมซับอารมณ์ที่ตรงกัน
ผู้ดูแลงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า นี่อาจจะเป็นก้าวแรกในการหาคำตอบว่าทำไมเพลงถึงปลุกปั่นอารมณ์ของเราได้ลึกซึ้งขนาดนี้ ซึ่งในอนาคต งานวิจัยอาจถูกต่อยอดไปสู่การบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตให้ดีขึ้นได้ด้วยเพลงก็ได้ ซึ่งอาจกลายเป็นเพลย์ลิสต์บนสตรีมมิ่งเหมือนยาสามัญประจำบ้านก็ได้
อ้างอิง
news.berkeley.edu
medicalnewstoday.com
pnas.org