เพลงคือไทม์แคปซูล : เมื่อเพลงช่วยเก็บความทรงจำ เราจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง
- Writer: Sy Chonato
- Illustrator: Tunlaya
มีเพลงไหนที่ฟังแล้วหวนนึกถึงความทรงจำช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเป็นพิเศษบ้างไหม?
หลาย ๆ ครั้ง บางเพลงทำให้เราหวนนึกถึงช่วงเวลาในชีวิตได้เฉพาะเจาะจงมาก นอกจากนี้การฟังเพลงยังพาความทรงจำกลับมาให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ด้วย วันนี้ผู้เขียนอยากจะสำรวจความเกี่ยวข้องของเพลงกับความทรงจำในหลาย ๆ มุมมองเอามาเล่าให้ฟัง
ในภาพยนตร์หรือหนังสือ นำธีมของเพลงกับความทรงจำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดบ่อย โดยเฉพาะเรื่องเล่าแนวย้อนอดีต (Nostalgia)
ในหนังสือ ‘Norwegian Wood’ โดย Haruki Murakami เปิดเรื่องมาด้วยเพลง Norwegian Wood ของ The Beatles พาให้ตัวละครหวนกลับไปนึกถึงสมัยหนุ่มสาวของเขา แต่นักเขียนคนแรก ๆ ที่ระบุถึงอานุภาพของการหวนย้อนคืนเวลาด้วยการฟังเพลงคือ Marcel Proust ในหนังสือขนาดยาว ‘Remembrance of Things Past’ ตอน Swann’s Way
ในหนังเรื่อง Clockwork Orange ตัวละครได้เข้าโปรแกรมล้างโปรแกรมสมองส่วนที่รักความรุนแรงในคุก เมื่อคิดถึงความรุนแรง เขาจะปวดหัวทรมาน แต่ในโปรแกรมได้แสดงภาพของเพลง Beethoven No.5 ทำให้เขาทรมานทุกครั้งที่ฟังเพลงที่ชอบเพลงนี้
เมื่อเพลงช่วยเก็บความทรงจำ เราจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง
1.เพลงเพื่อการรำลึกถึงอดีต: ความรัก มิตรภาพ การเดินทาง และอื่น ๆ
ในการทดลองหนึ่งในปี 1992 โดย Hans Baumgartner, Pennsylvania State University นักศึกษาจำนวน 73 คน (หญิง 3 : ชาย 43) แต่ละคนได้รับโจทย์ให้ทำโดยไม่กำหนดเวลา โจทย์ถามว่า ‘มีเพลงไหนรึเปล่าที่ทำให้เขาหวนนึกถึงอดีตของตัวเองในช่วงเวลาหนึ่งได้ชัดเจน?’
ใน 73 คนที่สำรวจ มีเพียง 3 คนที่นึกไม่ออกว่ามีเพลงไหนที่ทำให้นึกถึงความทรงจำพิเศษ คนที่เหลือมีเพลงในความทรงจำหมด โดยจำแนกชนิดของความทรงจำได้ ดังนี้
- 64% นึกถึงความสัมพันธ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ทั้งคนรักและเพื่อน (เช่นเดตครั้งแรก หรือประสบการณ์เพศสัมพันธ์ งานปาร์ตี้ วาระพิเศษที่เกี่ยวกับเพื่อน)
- 26% ความรักปัจจุบัน
- 17% ความรักในอดีต
- 21% การใชัเวลากับเพื่อนฝูง
- 9% การท่องเที่ยว การเดินทาง
- 27% อื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือคอนเสิร์ต การตายของคนในครอบครัว ความทรงจำวัยเด็ก ฯลฯ
เพลงที่เกี่ยวกันกับความทรงจำมักเป็นเหตุการณ์ที่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่คนมักชอบนำเพลงมาใช้กับประสบการณ์นอสตัลเจียที่กึ่งหวานกึ่งขม (bittersweet) ในหนังหรือนวนิยาย การศึกษานี้พบว่าเพลงที่กลุ่มตัวอย่างระลึกถึงให้ความรู้สึกบวกมากกว่าลบ และไม่มีใครตอบว่ารู้สึกกลาง ๆ เลย
Cretien van Campen ผู้ศึกษาเรื่องกลิ่นกับความทรงจำ ได้เขียนเพิมเติมอีกว่า ดนตรีต่างจากกลิ่นที่มักขุดความทรงจำส่วนตัว แต่มักขุดความทรงจำที่มีผู้อื่นมาเกี่ยวข้องด้วยโดยเฉพาะคนรัก ความทรงจำเกี่ยวกับเพลงมักเกี่ยวข้องกับเพื่อน เพราะเพลงมักถูกบรรเลงในวาระพิเศษของชีวิต งานเลี้ยง งานศพ หรืองานแต่งงาน
ในการทดลองอีกชิ้นในปี 2013 พบว่าเพลงนั้นทำให้สมองตื่นตัวในหลาย ๆ จุด ทั้งส่วนการรับฟัง ส่วนการเคลื่อนไหว และส่วนของอารมณ์
“เพลงคือภาษาของอารมณ์” (Music is language of emotion.)
2. เพลงเพื่อการท่องจำ
นอกจากทำให้นึกถึงความทรงจำในอดีต เพลงยังสามารถช่วยกระตุ้นความทรงจำได้ดี เพราะเพลงทำให้สมองตื่นตัว
ประการแรกเราสามารถร้องเพลงเพื่อท่องจำ ในปี 2013 พบว่าคนร้องเพลงเพื่อฝึกภาษาฮังกาเรียน (ขึ้นชื่อว่าเป็นภาษาที่ยาก) สามารถจดจำประโยคได้ดีกว่าพูดเฉย ๆ แบบสำรวจนี้ช่วยยืนยันเทคนิคการร้องเพลงเพื่อท่องจำศัพท์ภาษาอังกฤษของ Enconcept ที่เราท่องกันในสมัยมัธยม
3. ประสบการณ์ที่อยากจำ หาเพลงฟังซํ้า ให้จดจำได้ดีขึ้น
สมัยผู้เขียนอายุ 10 ขวบ เคยไปเที่ยวพัทยาในฤดูร้อนหนึ่งตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น พ่อจะเปิดเพลงของ Westlife ในรถทั้งอัลบั้ม เรื่องน่าประหลาดคือ ทุกวันนี้เมื่อฟังเพลง Westlife ก็จะไม่ลืมห้วงเวลาและบรรยากาศของหน้าร้อนนั้นซึ่งผ่านมา 16 ปีแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากนัก
เมื่อรู้ว่าเพลงสามารถเก็บความรู้สึกและความทรงจำดี ๆ ไว้ได้ ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปเที่ยว Berlin ซึ่งเป็นเมืองที่ชื่นชอบมาก อยากเก็บความทรงจำไว้ว่ารู้สึกดีกอย่างไร แม้จะถ่ายภาพไม่เก่ง ผู้เขียนทดลองด้วยการเลือกฟังเพลงแค่อัลบั้มเดียวตลอดทริปห้าวันซํ้า ๆ ทุกวันนี้ เมื่อเปิดฟังเพลงอัลบั้มนี้ ทำให้เราผู้เขียนได้กลับไปรู้สึกถึงวันนั้น ย้อนความทรงจำไปได้แม้ไม่ได้เก็บภาพไว้
4. เพลงเพื่อฟื้นฟูสมองของผู้ป่วย
ในผู้ป่วยที่สมองกระทบกระเทือน ความทรงจำของเขาอาจหายไป แต่เพลงจะพาความทรงจำกลับมา อาจเป็นห้วงเวลาที่สำคัญของชีวิตที่หายไปจากอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้เพลงยังช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมระลึกถึงความทรงจำได้ชัดเจนเมื่อได้ฟังเพลงที่ผู้ป่วยฟังเมื่อสมัยวัยรุ่น เราควรเปิดเพลงให้ผู้สูงอายุฟังบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นความทรงจำและหวนนึกถึงอดีต เพลงอาจรักษาโรคไม่ได้ แต่ช่วยเยียวยาความทรงจำที่ขาดหายได้ดีเหลือเกิน
นอกจากนี้เพลงที่พ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายายของเราฟัง ยังมีผลกับความทรงจำของเราด้วย ห้วงความทรงจำนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Reminiscence Bump’ เพลงทำให้เราหวนกลับไปยังวัยเยาว์ จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับคนสูงอายุที่จะระลึกถึงอดีตในวัยหนุ่มสาวของตัวเองผ่านเพลง การส่งต่อของเพลงจากรุ่นสู่รุ่นจึงเป็นการส่งผ่านวัฒนธรรมได้อย่างทรงพลัง