บทเพลงของความเป็น และความตาย จากค่ายกักกันนาซี
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
เกือบ 90 ปีที่แล้ว นาซีเริ่มการสร้างค่ายกักกันที่ได้คร่าชีวิตชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคน สร้างโศกนาฏกรรมที่ประวัติศาสตร์โลกไม่มีวันลืมเลือน แต่ท่ามกลางควันไฟและความโหดร้าย ก็มีการสร้างสรรค์บทเพลงมากมาย และมีการแสดงคอนเสิร์ตเกิดขึ้นในนั้น ซึ่งนักประพันธ์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่งได้ใช้เวลาช่วง 30 ปีที่ผ่านมารวบรวมและแต่งเพลงที่เหลือรอดเหล่ากว่า 8,000 เพลงให้สมบูรณ์
Francesco Lotoro
ชื่อของนักประพันธ์และนักเปียโนผู้นั้นคือ Francesco Lotoro ชาวอิตาเลียนผู้ตระเวนไปเก็บรวบรวมเพลงที่หายไปกลับมา ด้วยการไปเยี่ยมผู้รอดชีวิตหรือญาติ ๆ ถึงบ้าน ค้นไปตามห้องใต้หลังคา ห้องใต้ดิน ร้านหนังสือเก่า ๆ และคลังเอกสาร ซึ่งเขาก็พบว่าหลาย ๆ เพลงถูกเขียนขึ้นด้วยยาถ่านสำหรับรักษาโรค ลงบนกระดาษทิชชู่ (ที่ลักลอบนำเข้ามาในค่าย) กระดาษห่ออาหาร กระดาษโทรเลข กระสอบมันฝรั่ง และมีมากมายหลายแนวทั้ง ซิมโฟนี โอเปร่า เพลงพื้นบ้าน คาบาเรต์ และเพลงยิปซี
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นในปี 1988 ในตอนที่เขาได้รู้ว่ามีการเขียนเพลงในค่าย Theresienstadt ที่สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นค่ายที่นาซีสร้างขึ้นเพื่อตบตาประชาชน ในนั้นจะมีการแสดงบนเวทีมากมายหลายอย่าง เขาตื่นเต้นมากกับความสามารถของผู้คนที่โดนกักขังไว้ที่นั่นมาก ๆ ทำให้เขาเดินทางไปตามหาทั่วยุโรปนับ 10 ประเทศ ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้รวบรวมแค่ผลงานของชาวยิวเท่านั้น แต่ยังมีเพลงของชาวยิปซี และชาวอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยโดยทหารญี่ปุ่นอีกด้วย
สมาชิกคนสุดท้าย ของวงออเคสตร้าหญิงล้วนในค่าย Auschwitz
Anita Lasker-Wallfisch ในวัย 94 ปี
Anita Lasker-Wallfisch ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของวงออเคสตร้าหญิงล้วนใน Auschwitz ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ตอนที่เธอไปถึงค่าย เธออายุ 18 ปีและถูกพรากไปจากพ่อแม่ โดยเธอไม่รู้ว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอพวกเขา
วันที่ไปถึงก็มีการจัดพิธีต้อนรับ นักโทษด้วยกันเองจะโกนผมและสักให้กับผู้มาใหม่ ซึ่งเมื่อเธอได้บอกกับเพื่อนคนหนึ่งว่าเธอเล่นเชลโล่ได้ เธอคนนั้นก็บอกว่า “เยี่ยม! เธอรอดแน่” ซึ่งเธอก็เพิ่งได้รู้ในตอนนั้นว่ามีวงออเคสตร้าในค่ายกักกัน ความพิเศษคือ วงนั้นควบคุมวงโดยนักไวโอลิน Alma Rose ผู้เป็นหลานของนักประพันธ์ผู้เลื่องชื่อ Gustav Mahler ซึ่งวาทยากรคนนี้ก็คุมวงอย่างเข้มงวด และพยายามจะดึงความสนใจของสมาชิกวงไปจากความน่าสงสัยอันยิ่งยวดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในค่าย แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อความอยู่รอดของทุกคนนั่นเอง เพราะหากวงไปไม่รอด ชะตากรรมของสมาชิกในวงก็จะเป็นไปในทางเดียวกัน
โดยเธอก็ได้บอกว่า เธอเห็นความโหดร้ายทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นในค่าย แต่ก็ยังต้องฝึกซ้อมกันต่อไป ในทุก ๆ เช้าวงก็จะเล่นเพลงเพื่อเป็นจังหวะของการเริ่มงานในแต่ละวัน รวมถึงเล่นเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าค่าย ซึ่งนอกจากในค่ายแล้ว ยังมีสถานที่ที่วงออเคสตร้าต้องเล่นดนตรี เพื่อต้อนรับสมาชิกของนาซีท่ามกลางควันไฟจากห้องรมแก๊ส ซึ่งบางทีควันหนาจนนักดนตรีมองไม่เห็นโน้ตด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ความเป็นและความตายมาทับซ้อนกันตรงหน้า โดยโลโตโรก็ชี้ให้เราเห็นว่า “ในจุดนี้ ความเชื่อมโยงของความเป็นและความตายก็คือดนตรี นี่คือภาพรวมของชีวิตในค่าย เมื่อชีวิตหายไป แล้วเหลือแต่ดนตรี ทำให้ดนตรีคือเสี้ยวสุดท้ายของชีวิตที่ยังอยู่”
บทเพลงแห่งความเป็นและความตาย จากแนวร่วมต่อต้านนาซี
Jozef Kropinski คือหนึ่งในนักแต่งเพลงในค่ายผู้ผลิตผลงานออกมามากมาย และหลากหลายแนว ซึ่งผลงานของเขาก็ถูกเก็บไว้ในหลืบ จนโลโตโรไปเยี่ยมลูกชายของเขา แล้วค้นพบผลงานชิ้นสำคัญ
เดิม Kropinski ผู้พ่อได้อยู่ในแนวร่วมต่อต้านนาซี ก่อนจะถูกจับในวัย 26 แล้วกลายมาเป็นนักไวโอลินในวงออเคสตร้าชายล้วน เขาเริ่มแต่งเพลงในค่ายอย่างลับ ๆ อย่างที่ในปี 1942 และเขียนเพลงที่ชื่อ Resignation ขึ้นมา เขาได้ใช้เวลาช่วงกลางคืนเขียนบนกระดาษสั่งของที่ขโมยมา ใต้แสงเทียนในห้องชำแหละศพ ซึ่งนักโทษคนอื่นก็ร่วมใจสงวนห้องเงียบนี้ ไว้ให้เขาได้เขียนเพลง ตลอด 4 ปีในค่ายเขาเขียนเพลงกว่า 100 บทเพลง ทั้งแทงโก้ วอลตซ์ เพลงรัก และโอเปร่าความยาวสององก์
Waldemar ลูกชายของเขาได้เล่าว่า บทเพลงของพ่อเขาสร้างพลังบวกและแรงใจให้กับนักโทษ เพื่อที่พวกเขาจะได้หวนรำลึกไปยังช่วงเวลาดี ๆ และมีพลังในการเอาชีวิตรอด อย่างไรก็ดี บทเพลงมากมายถูกเผาเพื่อเป็นเชื้อไฟ สร้างความอบอุ่นขณะหลบหนีออกจากค่ายในปี 1945
อีกเรื่องราวจาก Aleksander Kulisiewicz ชาวโปแลนด์ผู้เขียนบทความต่อต้านฟาสซิสม์จนถูกกักขังในค่ายกว่า 5 ปี เขาเล่าว่าตลอดระยะเวลานั้น เขาเล่นดนตรีเพื่อช่วยให้นักโทษทนกับความหิว และความสิ้นหวังไปได้ แถมเขายังจดจำเพลงจากเพื่อนนักโทษไว้กว่า 100 เพลง ก่อนจะมาถ่ายทอดหลังสงครามจบ ซึ่งจากคำบอกเล่าของลูก ชายผู้นี้มักพูดว่า “พ่อมีชีวิตอยู่เพื่อคนที่ตาย พวกเขาร้องเพลงไม่ได้ พูดไม่ได้ แต่พ่อทำได้…. ตราบใดที่คุณสามารถร้องและแต่งเพลงไว้ในหัว แล้วผู้คุมไม่รู้ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง คุณก็รอด”
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่น่าสนใจของ Viktor Ullmann นักประพันธ์ชาวออสเตรีย ผู้ประพันธ์โอเปร่าไว้กว่า 20 เรื่อง ผู้ซึ่งรู้สึกอึดอัดที่ไม่มีเวลาเขียนเพลงมากพอ แถมความเร่งรีบนั้นยังถูกสะท้อนลงมาในเพลงด้วย เขาเสียชีวิตในห้องรมแก๊สที่ Auschwitz ในปี 1944 พร้อม ๆ กับนักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักเปียโนเลื่องชื่อ และนักดนตรีมากความสามารถชาวยิว ในค่ายอีกหลายคน
บทเพลงแห่งความเป็นและความตาย ที่ถูกเขียนขึ้นบนกระดาษทิชชู่
โลโตโรได้เรียบเรียงและอัดเพลงจากในค่ายกักกันไปแล้วกว่า 400 เพลง จาก Aleksander Kulisiewicz, Jozef Kropinski, นักดนตรีชาวยิวในค่าย Theriesendtadt ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปที่โตรอนโต เยรูซาเลม เซา เปาลู เพื่อแสดงดนตรีของเขา โดยโลโตโรมีแพลนจะสร้างสถานที่รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากในค่ายกว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑ์ โรงหนัง และห้องสมุด
เขาได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นแรงบันดาลใจของศิลปินได้เลย โดยโลโตโรได้ให้ความเห็นไว้ว่า “นับเป็นปาฏิหาริย์อย่างยิ่งที่โน้ตเพลงเหล่านั้นรอดมาได้จากการถูกทำลายและการหายสาบสูญ สิ่งที่ยิ่งไปกว่านั้นคือดนตรีสามารถเดินทางมาถึงเราได้ ดนตรีคือปรากฏการณ์ที่ชนะทุกสิ่ง นี่คือความลับจากค่ายกักกัน ไม่มีใครสามารถฉกฉวยไปได้ และไม่มีใครสามารถกักขังมันได้ ซึ่งในหลาย ๆ บทเพลง มันคือผลงานชิ้นเอกที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าของภาษาดนตรีในยุโรปได้เลยถ้าได้เขียนขึ้นนอกค่ายกักกัน”
หากสนใจผลงานของเขา สามารถหาฟังได้ในอัลบั้ม Encyclopedia of Music Composed in Concentration Camps และฟังได้ส่วนนึงในหน้าเว็บไซต์นี้ npr.org
อ่านต่อ
Music Changes the World ศิลปินที่ใช้ดนตรีขับเคลื่อนสังคม
Jazz in Film เมื่อแจ๊สและภาพยนตร์พูดเป็นเสียงเดียวกัน
Astrid Kirchherr ช่างภาพผู้ค้นพบพรสวรรค์ของ The Beatles ก่อนใคร
รวม 6 ช่างภาพผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์ดนตรีโลก ที่เราอยากแนะนำให้คุณรู้จัก
อ้างอิง
Prisoners in Nazi concentration camps made music; now it’s being discovered and performed Honoring ‘Our Will To Live’: The Lost Music Of The Holocaust List of Nazi concentration camps