‘Music Chart’ ประวัติศาสตร์ชาร์ตเพลง ที่ที่อำนาจในการเลือกถูกนำมาจัดอันดับ
- Writer: Piyakul Phusri
ประชาธิปไตยกับทุนนิยมนี่มันดีอยู่อย่างตรงที่มันให้สิทธิเสรีภาพในการ ‘เลือก’ กับทุกคนอย่างเต็มที่ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของการเข้าถึงทรัพยากร ความต้องการ และรสนิยม ในระบอบประชาธิปไตยการเลือกจึงถือเป็นอำนาจที่แท้จริง ว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา โดยมีกฎหมายและมาตรฐานทางสังคมอื่น ๆ เป็นกรอบกำหนด
ศิลปะทุกแขนงในโลกประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องของการเลือก ทั้งการเลือกผลิต เลือกเสพ แม้จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการถูกยัดเยียดให้เสพสื่อบางอย่างทั้งทางตรงหรือทางอ้อม จะทำให้เราเกิดสภาวะ ‘ติดหู-ติดตา’ กับสิ่งนั้นแม้ว่าจะเกลียดมันแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็มีทางเลือกที่จะเสพสื่ออย่างอื่นได้หากเรายังมีสิทธิเสรีภาพอยู่
การเลือกจึงเป็น ‘คุณค่า’ และเป็นการกระทำที่ทำให้สิ่งที่ถูกเลือกมี ‘มูลค่า’ โดยเฉพาะสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น ดนตรี การที่จะบอกว่าเพลงไหนฮิต จำเป็นต้องมีตัวชี้ว่าอะไรคือความฮิต และการจะรู้ได้ว่าเพลงเพลงนั้นฮิตมากฮิตน้อยแค่ไหน ข้อมูลเชิงปริมาณคือตัวตัดสินที่น่าจะดีที่สุด และง่ายที่สุด
และนี่คือที่มาของ ‘music chart’ ชาร์ตเพลงฮิต ที่อำนาจของเสรีภาพแห่งการเลือก ส่องสะท้อนออกมาในรูปแบบของการจัดอันดับเพลงฮิต
เมื่อพูดถึงชาร์ตเพลงที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนโลกคงหนีไม่พ้น Billboard Chart ของนิตยสาร Billboard ซึ่งในปัจจุบันเราคงรู้จักกันดีว่าเป็นนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีและ commercial art ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลก แต่จุดเริ่มต้นของ Billboard เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1894 ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนิตยสารรายงานข่าวสารในวงการเพลง แต่มันเป็นนิตยสาร 8 หน้า ที่มีชื่อเต็มว่า Billboard Advertising มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น ‘นิตยสารรายเดือนที่รวบรวมสิ่งใหม่ ๆ และ น่าสนใจ บนป้ายโฆษณา’ ก่อนที่ผู้จัดทำจะมุ่งมาให้ความสนใจกับการรายงาน และวิเคราะห์อุตสาหกรรมดนตรี
รายงานชาร์ตเพลงฮิตระดับประเทศของ Billboard เริ่มต้นครั้งแรกในฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 1940 ภายใต้ชื่อ ‘National List of Best Selling Retail Records’ ซึ่งเป็นการสำรวจยอดขายจากร้านจำหน่ายแผ่นเสียงทั่วอเมริกา แบ่งแยกยอดขายตามภูมิภาค ก่อนจะสรุปรวมเป็นยอดขายระดับประเทศ (ก่อนหน้านี้ Billboard มีการจัดอันดับ Sheet Music Best Sellers และ Record Most Popular on Music Machines มาก่อน) ซึ่งในชาร์ตครั้งแรกนี้ เพลงยอดนิยมอันดับหนึ่งคือเพลง I’ll Never Smile Again ของ Tommy Dorsey ขับร้องโดย Frank Sinatra และสามารถครองอันดับหนึ่งบนชาร์ตได้ติดต่อกันถึง 12 สัปดาห์
– ปกนิตยสาร Billboard ฉบับแรก
– National List of Best Selling Retail Records ในนิตยสาร Billboard ฉบับ 27 กรกฎาคม 1940
– I’ll Never Smile Again โดย Tommy Dorsey และ Frank Sinatra
ข้ามมาฝั่งอังกฤษกันบ้าง รายงานอันดับเพลงฮิตบนเกาะอังกฤษชิ้นแรกถูกเผยแพร่ทางนิตยสารดนตรี ‘New Musical Express’ (ถูกต้องแล้ว มันคือ NME ที่เรารู้จักในปัจจุบันนั่นเอง) ด้วยมันสมองของ Percy Dickins ที่ต้องการหาหนทางเพิ่มยอดโฆษณาให้กับนิตยสาร เขาใช้วิธีโทรศัพท์ไปถามร้านขายแผ่นเสียงจำนวนหนึ่งในย่าน Greater London เพื่อสำรวจยอดขายซิงเกิ้ลยอดนิยมรายสัปดาห์ ก่อนจะนำมาตีพิมพ์ในนิตยสารเป็นครั้งแรกในฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 1952 ในชื่อ ‘Record Hit Parade’ ซึ่งซิงเกิ้ลอันดับหนึ่งซิลเกิ้ลแรกบนเกาะอังกฤษคือเพลง Here In My Heart ของ Al Martino โดยในการจัดอันดับชาร์ตเพลงฮิตฝั่งอังกฤษครั้งแรกมีเพียง 15 อันดับ และตอนตีพิมพ์จริง ๆ ก็มีแค่ 12 อันดับเพลงฮิต เพราะมีเพลงที่มียอดขายเท่ากัน เลยอยู่ในอันดับเดียวกัน
– Record Hit Parade ในนิตยสาร New Musical Express ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 1952
– Here In My Heart – Al Martino
– เพลงแรกของ The Beatles ที่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งของชาร์ตเพลงฮิตฝั่งอังกฤษคือ From Me To You ขึ้นสู่ชาร์ตในเดือนพฤษภาคม ปี 1963
เมื่อชาร์ตเพลงฮิตของ New Musical Express ได้รับความนิยม ไม่นานทางนิตยสารก็ได้เพิ่มจำนวนเพลงในชาร์ตเป็น 20 เพลง และเพิ่มเป็น 30 เพลงในปี 1960 ขณะเดียวกันก็มีนิตยสารดนตรีหัวอื่น บริษัทวิจัยทางการตลาด ตลอดจนผู้จัดเก็บข้อมูลอิสระที่ทำชาร์ตเพลงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันผู้จัดอันดับชาร์ตเพลงในอังกฤษที่ถือว่ามีมาตรฐานสูง และมีหลักเกณฑ์พิจารณาครอบคลุมที่สุดคือ ‘The Official UK Charts’
ในส่วนของชาร์ตเพลงทางสถานีวิทยุ มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า Todd Storz เจ้าของสถานีวิทยุ AM KOWH ในเมืองโอมาฮา รัฐเนบราสก้า เป็นผู้คิดค้นการจัดชาร์ตเพลงฮิตบนคลื่นวิทยุเป็นคนแรกในช่วงต้นทศวรรษที่ 50 ต้องเท้าความก่อนว่า ก่อนยุค 50 สถานีวิทยุมีรูปแบบการจัดรายการต่างจากที่เราฟังกันอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก สถานีวิทยุในสมัยนั้นจะซื้อรายการวิทยุประเภทต่าง ๆ มาออกอากาศ เช่น เปิดละครวิทยุ 30 นาที ต่อด้วยเปิดเพลง 1 ชั่วโมง ต่อด้วยเปิดข่าวอีก 30 นาที ต่อเนื่องกันไป เมื่อ Tood Storz กับพ่อซื้อกิจการสถานีวิทยุ KOWH ในปี 1949 เขาให้ความสนใจกับเพลงที่เปิดในตู้เพลงในไนต์คลับว่ามีเพลงอะไรที่มีคนไปหยอดเหรียญเปิดบ่อย ๆ และนำเพลงเหล่านั้นมาทำเป็น playlist 40 เพลงฮิตเพื่อเปิดทางสถานีวิทยุของเขา ก่อนที่จะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในสถานีวิทยุอื่น ๆ ที่เขาซื้อในเมืองอื่น ๆ ด้วย จนทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็น ‘The Father of Top 40 Radio’ นอกจากนี้ Storz ยังเป็นคนแรก ๆ ที่ริเริ่มการสำรวจร้านแผ่นเสียงว่าในช่วงนั้นมีเพลงไหน ของศิลปินคนใดที่กำลังได้รับความนิยมอีกด้วย
ยุค 70 ถือเป็นยุคทองของการจัดชาร์ตเพลง Top 40 ในอเมริกา โดยเฉพาะรายการ ‘American Top 40’ ของดีเจ Casey Kasem ที่เปิดเพลงนับถอยหลังจากอันดับ 40 ถึงอันดับที่ 1 ของชาร์ต Billboard Hot 100 ในช่วงยุค 80s รายการ ‘American Top 40’ ถูกเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ 500 สถานีทั่วอเมริกา และสถานีวิทยุอีกหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความโด่งดังของเพลง และศิลปินให้กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว และกว้างไกลทั่วโลก และเป็นแรงส่งให้สถานีวิทยุท้องถิ่นต้องเปิดเพลงฮิตตามคำขอของผู้ฟังที่อยากฟังเพลงที่เขาว่าฮิตทั่วโลกตามไปด้วย
ในยุคสมัยที่วิทยุยังเป็นช่องทางที่ทรงอิทธิพลต่อชื่อเสียงของศิลปิน และยอดขายแผ่นเสียง ค่ายเพลงต่าง ๆ จึงหาช่องทางที่จะให้เพลงของศิลปินจากค่ายของตัวเองได้ไปปรากฏเสียงในรายการ Top 40 ของสถานีวิทยุต่าง ๆ บ้าง บรรดาค่ายเพลงจึงมอบเงินให้กับดีเจ และสถานีวิทยุ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเปิดเพลงของศิลปินในค่าย ซึ่งวิธีการนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘payola’ แต่การยื่นหมูยื่นแมวแบบนี้คงดูไม่แฟร์กับผู้ฟังเท่าใดนัก เพราะมันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ทำให้ปลายยุค 50 วุฒิสภาอเมริกาทำการสอบสวนการเอาเงินยัดดีเจ และคลื่นวิทยุเพื่อเปิดเพลง จนทำให้ Alan Freed และ Dick Clark ดีเจชื่อดังในสมัยนั้นตกงาน นอกจากนั้น ในปี 2005 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Sony BMG ยังถูกปรับถึง 10 ล้านเหรียญ โทษฐานที่ทำข้อตกลงอย่างไม่ถูกต้องกับเครือข่ายสถานีวิทยุหลายแห่ง
จากเรื่องราวของชาร์ตเพลงฮิตบนหน้าปัดวิทยุ คงจะทำให้เห็นว่าสิทธิในการเลือกเป็นสิ่งที่มี ‘คุณค่า’ และช่วยเพิ่ม ‘มูลค่า’ ของสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างเพลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีเรื่องของการ ‘ซื้อเสียง’ เพื่อซื้อเวลาออกอากาศเข้ามาปะปนด้วยเหมือนกัน
ก็หวังว่าสิทธิในการเลือกของเราจะได้รับการเคารพในทุกกรณี ไม่เฉพาะสิทธิในการเลือกเสพดนตรีเท่านั้น…..