Mozart Effect

Article Guru

Mozart Effect ความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าเปิดเพลงคลาสสิกให้ลูกฟังแล้วจะฉลาดขึ้น

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Karin Lertchaiprasert

Mozart Effect อาจเป็นคำที่ทุกคนไม่คุ้นเคย แต่หลายคนน่าจะเคยได้ยินแนวคิดที่ว่าถ้าเปิดเพลงคลาสสิกให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือแรกเกิด จะทำให้เด็กพวกนี้ฉลาดกว่าปกติ สำหรับพ่อแม่มือใหม่มันคือโฆษณาชวนเชื่อที่หอมหวาน พร้อมจ่ายเงินเพื่อซื้อเซ็ตซีดีนักดนตรีคลาสสิกมาเปิดให้ลูกฟังทั้งวันทั้งคืน อย่างน้อยลองดูก็ไม่เสียหายอะไรนี่

ความเชื่อนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1993 เมื่อมีคนทำวิจัยโดยเรียนเพลง Sonata for Two Pianos in D major, K. 448 ของ Mozart คีตกวีระดับโลกให้เด็กมหาลัยฟัง 10 นาที แแล้วให้พวกเขาทำแบบทดสอบอัตนัย โดยเทียบกับอีกกลุ่มที่ให้ฟังเสียงธรรมชาติและความเงียบแทนประมาณ 10 นาทีเท่ากัน เมื่อคิดคะแนนออกมา ปรากฎว่ากลุ่มแรกที่ฟัง Mozart ทำคะแนนในแบบทดสอบนี้ได้ดีที่สุด

พอบทความเผยแพร่ออกไป แม้ในงานวิจัยจะไม่ได้ใช้คำว่า Mozart Effect เลยก็ตาม แถมกลุ่มตัวอย่างก็เป็นเด็กมหาลัยแค่ 38 คน แต่มันกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่สื่อต่าง ๆ อยากพูดถึง มีหนังสือ ซีดีหรือข้าวของเครื่องใช้เด็กเล็กออกมาเกาะกระแสมากมาย เหล่าพ่อแม่ทั้งหลายก็เชื่อกันอย่างงมงายว่าแค่เปิดเพลงคลาสสิกให้ลูกฟังทุกวันก็ทำให้ลูกฉลาดขึ้นได้ แม้แต่สภานิติบัญญัติในรัฐจอร์เจียแห่งสหรัฐอเมริกา ยังตั้งงบขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายซีดีเพลงคลาสสิกให้ทุกครอบครัวนำไปเปิดให้ลูกฟัง โดยไม่เคยตั้งคำถามว่ามันทำให้เด็กฉลาดได้จริง ๆ มั้ย หรือไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันเรื่องเหล่านี้เลย

ไม่แปลกใจว่าทำไมความเชื่อนี้ถึงแพร่หลายและหลายคนพร้อมลองทำตาม เพราะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเท่าไหร่ แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่เราหรอกที่สงสัยเรื่องพวกนี้ แต่มีคนทำวิจัยออกมามากมายว่า Mozart เอฟเฟค น่ะไม่มูลความจริงใด ๆ โดยเฉพาะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ออกมาให้คำตอบว่าการฟังเพลงคลาสสิกอาจเสริมความฉลาดทางอารมณ์ให้เราได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ไม่เชื่อมโยงกับการทำให้คนฉลาดขึ้นเลย การฟังเพลงคลาสสิกก่อนจะไปสอบจึงไม่น่าใช่คำตอบแน่นอน การฟังเพลงแค่เปิดประตูในความเป็นไปได้มากมาย แต่การฝึกเล่นดนตรีต่างหากที่พัฒนาทักษะในตัวเราได้ทุกด้าน

บทความใกล้เคียง

มาเป็นนักดนตรีกัน! เพราะวิทยาศาสตร์อยากให้ทุกคนเล่นเครื่องดนตรีเป็นอย่างน้อย 1 ชิ้น

Lose Yourself to Dance เมื่อวิทยาศาสตร์เผยความลับของการเต้น สมอง และเสียงเบส

บินไปเรียน Popular Music Performance ที่ประเทศไหนดี

ในเด็กกำลังโต เพลงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของสมองชัดเจน ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือการฝึกเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก ทำให้ความสามารถด้านภาษาของพวกเขาพัฒนาได้แบบก้าวกระโดดกับสกิลในการอ่าน เพราะการศึกษาเกี่ยวกับเสียงอย่างจริงจัง ทำให้สมองทำงานกับเสียงในสมองได้อย่างดี แยกแยะเสียงได้อย่างเชี่ยวชาญอย่างการออกเสียงคำในภาษาต่าง ๆ แถมยังแยกแยะเสียงได้ชัดเจน อย่างเวลาคุยกับเพื่อนในร้านอาหารเสียงดัง แถมยังมีพัฒนาการที่น่าทึ่งต่อเด็กที่เป็นออทิสติกหรือมีปัญหาเรียนรู้ช้าด้วย

เราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ จากการเปิดเพลงให้ลูกฟังเพื่อที่ลูกจะได้ฉลาดขึ้น มาเป็นเปิดเพลงให้ลูกฟังเพื่อที่ลูกจะได้พบโลกใบใหม่อีกมากมาย เปิดหูเขาด้วยเพลงดี ๆ มากมาย หลากหลายด้วยเครื่องดนตรีที่บันดาลใจให้เขาอยากลองเล่นด้วยตัวเอง ถึงจะใช้เวลาเยอะมากในบางคน ที่เพิ่งค้นพบว่าตัวเองอยากเป่าทรัมเป็ตหรือแคนที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีที่เห็นได้ทั่วไป แต่สำคัญกว่าความฉลาดคือลูกก็ต้องสนุกกับเสียงดนตรีเหมือนที่เราชอบฟังเพลงเหมือนกันสิ

อ้างอิง

Mozart’s music does not make you smarter, study finds

Muting the Mozart

NEUROSCIENCE OF MUSIC – HOW MUSIC ENHANCES LEARNING THROUGH NEUROPLASTICITY

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา