ปัญหาของศิลปินยุคดิจิทัล: เมื่อ Metadata ของเพลง ย้อนมาทำร้ายรายได้ตัวเอง
- Writer: Malaivee Swangpol
สำหรับใครที่เคยอัพโหลดเพลงเข้าสตรีมมิ่ง น่าจะเข้าใจถึงความยุ่งยากและระยะเวลายาวนานของมันกว่าจะจบสิ้น ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนไม่ได้สนใจเรื่อง ‘Metadata‘ (ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของผลงาน) มากนัก แล้วรู้หรือไม่ว่า นี่คือช่องโหว่ที่ใหญ่มาก ๆ ของโลกยุคสตรีมมิ่ง และมันทำให้เงินหายต๋อมไปจากอุตสาหกรรมดนตรีกว่า 7 หมื่นล้านบาท!
โดย metadata คือข้อมูลเกี่ยวกับเพลงนั้น ๆ ทั้งชื่อเพลง ชื่อผู้แต่ง ชื่อโปรดิวเซอร์ ชื่อผู้จำหน่าย ชื่อค่ายเพลง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องซิงก์กันหมดทั้งอุตสาหกรรมดนตรี เพื่อให้ทุก ๆ ครั้งที่มีการเล่นเพลงนี้ เจ้าของผลงานทั้งหมดจะต้องได้รับเงิน ซึ่งถึงแม้มันจะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะส่วนใหญ่เมื่อข้อมูลผิด เจ้าของผลงานก็จะไม่ได้เงิน โดยมันเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังคุกคามวงการในตอนนี้เพราะมันไม่มีการตรวจสอบก่อนปล่อยเพลง ใครจะเขียนอะไรทับข้อมูลของคนอื่นก็ย่อมทำได้ แล้วยิ่งการที่ metadta ถูกเก็บอยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นร้อย ๆ พัน ๆ ที่ทั่วโลก ทำให้เพียงสะกดผิดตัวอักษรก็ทำให้เงินหายต๋อมไปทันทีโดยไม่มีใครได้ประโยชน์
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ database ของค่ายเพลงกับของ Spotify ก็ไม่เหมือนกัน ของ Spotify กับบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์ก็ไม่เหมือนกัน โดยทุกคนเขียนซอฟท์แวร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตมาคนละตัวกัน ดังนั้นถ้าเครดิตเป็นของ Pro Tools engineer แล้วตัวระบบไม่รู้จักชื่อนี้ มันก็จะขอให้เปลี่ยนหรือขอให้กด ignore ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานที่ดูแลส่วนใหญ่ก็แค่กด ignore ให้ผ่าน ๆ ไป แล้วเครดิตก็จะหายไปจากโลก แถมถ้าคุณ featuring กับหลาย ๆ ศิลปิน บางทีระบบก็ขอให้ลบชื่อคนอื่นออกเพื่อความไม่สับสน ทำให้เครดิตก็ไปถึงไม่ครบทุกคน
ในปี 2016 เพลงฮิต ๆ ในชาร์ตมีผู้แต่งเพลงเฉลี่ย 4 คนและผู้จัดจำหน่ายเฉลี่ย 6 คน ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาดแค่นิดเดียว หยาดเหงื่อที่ลงไปก็จะหายวับไปกับตา ซึ่งจากคดีที่ค่าย Victory Records เคยฟ้อง Spotify ทำให้มีสถิติมาว่าศิลปินอาจไม่ได้รับเงินกว่า 25% จากระบบสตรีมมิ่ง เพียงเพราะปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหตุที่ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากทั้งหมดนี้ เพราะส่วนใหญ่กระบวนการส่งเพลงเข้าสตรีมมิ่งจะรีบมาก แถมยังวุ่นวายเพราะทุกวันนี้มีเพลงเข้าระบบสตรีมมิ่งกว่าวันละ 25,000 เพลง! ทั้งเวอร์ชั่นรีมิกซ์ คัฟเวอร์ บรรเลง ฯลฯ จากเดิมที่มีการปล่อยอัลบั้มปีละ 100,000 อัลบั้มเท่านั้น โดยไม่ว่าจะระบบไหนก็ไม่มีอะไรรองรับ เซ็นเอกสารก็ยังไม่มี
พออ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วแก้ metadata ไม่ได้เหรอ? คำตอบคือได้ แต่ต้องเริ่มจากการที่มีใครซักคนเจอจุดผิดพลาดก่อน แล้วตามไปแก้ในทุก ๆ ที่ที่มีข้อมูลนี้ปรากฎอยู่ ซึ่งบางครั้งถึงแก้แล้ว ค่ายเพลงหรือผู้จำหน่ายก็อาจจะไม่จ่ายเงินที่หายไปของคุณอยู่ดีเพราะมันนานเกินไปแล้ว หรืออย่างวิธีแก้ที่จะให้รวม database ทั้งหมดมาอยู่ที่เดียวกัน ก็เป็นไปได้ยากด้วยปัญหามากมายทั้งเรื่องการไม่ลงรอยกัน เรื่องระบบของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน เรื่องข้อมูลที่เป็นความลับของแต่ละบริษัท เรื่องเงินลงทุน เรื่องภาษา เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่แตกต่าง และอีกมากมาย ซึ่งแค่คิดก็ยากมาก ๆ แล้ว
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเพลงก็ได้แนะนำไว้ว่า ทางที่ดีคือควรจะสร้างเครดิตไปผูกไว้กับตัวเพลงให้เร็วที่สุด ตั้งแต่เริ่มงานเลยได้ยิ่งดี โดยปัจจุบันมีแอพฟรีอย่าง Splits ที่ให้ศิลปินสร้างข้อตกลงออนไลน์ได้ว่ามีใครต้องได้ผลประโยชน์จากเพลงนี้บ้าง หรือจะเป็นโปรแกรมอย่าง Creator Credits (เดิมชื่อ Session) ที่ใช้ควบคู่กับโปรแกรมทำเพลงอย่าง Pro Tools ซึ่งจะฝังเครดิตคนทำเพลงลงไปในไฟล์เลย ซึ่ง Creator Credits ก่อตั้งโดย Max Martin โปรดิวเซอร์เจ้าของเพลงฮิตอย่าง As Long as You Love Me, Oops!… I Did It Again, I Kissed a Girl และหนึ่งในสมาชิกวง ABBA อย่าง Björn Ulvaeus
ซึ่งถึงแม้การแก้ไขข้อมูลทั้งหมดและรวมศูนย์กลางอาจฟังดูเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่หลาย ๆ บริษัทก็พยายามจะร่วมมือกันแล้วทำให้มันสำเร็จให้จงได้ ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้น ทุกคนต้องปกป้องสิทธิ์ของตัวเองด้วยการใส่ metadata ของเพลงให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มงาน เพราะไม่ว่าเพลงเราจะดังหรือไม่ดัง เราก็ควรได้รับเงินอย่างครบถ้วน โดยเมื่อส่งสตรีมมิ่งก็ควรตรวจสอบ และติดตามว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์กันนะ ใครมีข้อมูลอะไรก็มาแชร์กันได้จ้า
อ่านต่อ
ลิขสิทธิ์ดนตรี – ปัญหาความไม่เข้าใจที่ค้างคา
เมื่อ Music Streaming ทำให้เพลงสมัยนี้แปลกขึ้นทุกวัน?
Music streaming ทำให้เพลงสมัยนี้มีอินโทรสั้นลงเหลือแค่ 5 วินาที!?