การทำงานในแวดวงดนตรีส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ จริงเหรอ?
- Writer: Montipa Virojpan
ผลวิจัยล่าสุดจาก Help Musicians UK พบว่านักดนตรีมีอัตราเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าสายอาชีพอื่นที่ร่วมวงการถึงสามเท่า
ก่อนหน้านี้เราคงเคยอ่านเจอบทความหรือได้ยินใครหลายคนบอกว่า นักดนตรีเป็นกลุ่มคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และมีอัตราเสียชีวิตขณะที่อายุยังน้อยกว่าสายอาชีพอื่น โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการฆ่าตัวตายมากกว่าการใช้ยาเสพติดเกินขนาด ซึ่งแย้งกับผลการศึกษาที่ว่า คนไปคอนเสิร์ตหรือมีกิจกรรมทางดนตรีบ่อยเป็นปกติมีแนวโน้มที่จะมีความสุขกว่าคนอื่น ๆ อย่างน่าตกใจ
ผลการศึกษาล่าสุดของ Sally-Anne Gross และ Dr. George Musgrave จาก University of Westminster รองรับข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยจุดประสงค์หลักของการวิจัยนี้จัดทำขึ้นสำหรับองค์กร Help Musicians UK เพื่อศึกษาความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างข้อจำกัดในการทำงานของศิลปินที่ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อที่จะช่วยเหลือศิลปิน นักดนตรี ผู้ประพันธ์หรือเรียบเรียงเพลง และโปรดิวเซอร์ที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด พวกเขาเปิดเผยตัวเลขที่น่ากังวลของบุคคลากรในอุตสาหกรรมดนตรีประเทศอังกฤษที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิตผ่านแบบสำรวจ ‘Can Music Make You Sick?’ ที่ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างนักดนตรีจำนวน 2,211 รายจนพบว่า พวกเขาเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเกินกว่าสายงานอื่น ๆ ถึงสามเท่าตัว โดยปัจจัยหลัก ๆ เกิดมาจาก
- ความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งมักมาจากความกังวลเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความเสี่ยงเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพต่าง ๆ
- การไม่ได้รับการยอมรับในสายอาชีพ (วงฉันต้องดัง ต้องมีชื่อเสียง ต้องมีงานเล่นบ่อย ๆ)
- ชั่วโมงหรือระยะเวลาในการทำงานที่ไม่ตรงกับ office hours ของบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความเหนื่อยล้ากว่าปกติและไม่สามารถวางแผนชีวิตในอนาคต หรือแม้แต่เวลาว่างที่จะได้ใช้ชีวิตในระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจกำหนดตายตัวไม่ได้
- ปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะด้านกล้ามเนื้อหรือกระดูกผิดรูปจากการเล่นดนตรี
- ผู้หญิงมักประสบกับการถูกตัดสินจากเพศสภาพ การล่วงละเมิดทางเพศ
- มีการกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย หรือการดูถูกเหยียดหยามระหว่างกันระหว่างวงดนตรีหรือกลุ่มก้อนพันธมิตร
- สิ่งแวดล้อมในสังคมการทำงานซึ่งมีการแข่งขันสูง ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นบุคคลต่อต้านสังคมและไม่มีความเห็นอกเห็นใจกันเท่าใดนัก
ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นปัจจัยร่วมที่ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรักของเหล่านักดนตรีตกอยู่ในภาวะตึงเครียดอีกด้วย
“การเขียนเพลงไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกไม่มีความสุข แต่มันเกิดจากการเล่นเกมในอุตสาหกรรมดนตรีต่างหาก”
— Lauren Aquilina | นักแต่งเพลง
แม้อุตสาหกรรมดนตรีของอังกฤษจะเป็นที่ยอมรับในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่เรื่องราวเบื้องหลังชีวิตของบุคลากรในวงการก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในอันดับแรก ๆ ไม่แพ้กัน จากผลการศึกษานี้จึงทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการให้มีการทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน โดยวางขั้นตอนการแก้ไขปัญหาระยะยาวเป็น 3 ช่วง เริ่มจากการก่อตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตสำหรับอุตสาหกรรมดนตรี เปิดศูนย์ Music Minds Matter ที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่ผู้ประสบปัญหา รวมถึงให้ความรู้และคำแนะนำที่หลายคนในวงการดนตรียังขาดอยู่มาก เพื่อไม่ให้ต้องมีใครทนทุกข์ทรมาณที่พวกเขาต้องกักเก็บความรู้สึกที่แท้จริงไว้อยู่ในความเงียบงัน และสุดท้ายคือรณรงค์สนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการได้อย่างเป็นผล
ข้อมูลคร่าว ๆ จากการศึกษา
- 71.1% ของผู้เข้ารับการสำรวจเคยประสบภาวะ panic attack และ/หรือมีอาการวิตกกังวลในระดับที่สูง
- 68.5% ของผู้เข้ารับการสำรวจเล่าว่าพวกเขาเคยมีภาวะซึมเศร้า
- 30% ของกลุ่มคนที่ระบุว่าเคยมีภาวะซึมเศร้า บอกว่าพวกเขาเคยขอความช่วยเหลือ หรือต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก
- 55% รู้สึกว่าหน่วยงานที่ให้คำปรึกษามักมองข้ามปัญหาของพวกเขา หรือมักมีช่องว่างที่ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด