Made In Japan: คู่มือซื้อแผ่นญี่ปุ่นฉบับกะทัดรัด!
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Tas Suwanasang
ในโลกสตรีมมิ่งที่ยอดขายซีดีค่อย ๆ ลดลงทุกวัน ยังมีประเทศญี่ปุ่นที่อุตสาหกรรมการขายแผ่นยังคงยืนหยัด แถมยังขยันออกเวอร์ชันพิเศษมาเสมอ ๆ เราเลยขอชวนทุกคนมาสำรวจความพิเศษของโลกแห่งการซื้อขายแผ่น CD ในประเทศญี่ปุ่นผ่านบทความนี้ พามารู้จักกับโอบิ, วันที่บนปก, แผ่นปลอม และ เทคนิคช้อปแผ่นญี่ปุ่นกัน
อะไรคือโอบิ
หนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่คนจะนึกถึงเมื่อพูดถึงแผ่นญี่ปุ่นก็คือโอบิ เจ้าแถบกระดาษเล็ก ๆ ที่แปะอยู่ตรงฝั่งสันของซีดีและแผ่นเสียงญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่านี่เป็นแผ่นญี่ปุ่นของแท้ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในวัฒนธรรมดนตรี แต่ยังมากับวิดีโอเกมและหนังสืออีกด้วย โดยในแผ่นโอบิจะประกอบไปด้วยวันที่จำหน่ายแผ่นครั้งแรก ราคามาตรฐาน รายละเอียดเกี่ยวกับศิลปิน รายชื่อเพลง เพลงพิเศษ และอื่น ๆ
คำว่าโอบิ แปลว่าเข็มขัดในภาษาญี่ปุ่น หรือสายรัดชุดกิโมโนหรือยูกาตะ เชื่อกันว่าแผ่นเสียงแผ่นแรกที่มีโอบิคาดคืออัลบั้ม Billy Joel – 52nd Street ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1982 โดย CBS-Sony records ซึ่งด้วยคุณภาพของการปั๊มแผ่นอย่างพิถีพิถันของญี่ปุ่น ก็ทำให้แผ่นซีดีญี่ปุ่นมีราคามาก ๆ ดังนั้นหากขายแผ่นเก่าสภาพดีพร้อมโอบิ ก็จะทำราคามากถึงได้ 10 เท่าจากราคาแผ่นปกติเลยทีเดียว
แต่ โอบิ ไม่ได้มาพร้อมกับแผ่นญี่ปุ่นทุกแผ่น
ซึ่งถึงแม้โอบิจะแสดงความญี่ปุ่นแท้ของแผ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแผ่นญี่ปุ่นทุกแผ่นผลิตมาพร้อมโอบินะ โดยแผ่นบางยุคก็จะมีสติกเกอร์สีทองแปะมาบนปกแทนโอบิ อัลบั้มในรูปแบบดิจิแพค (เป็นแพคเกจกระดาษแทนกล่องพลาสติก) และอัลบั้มที่มีปลอกสวมก็มักจะไม่มีโอบิ
แผ่นใหม่ไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ในซีลเสมอไป
ไม่ต้องตกใจหากซื้อแผ่นใหม่มาแต่มาในซองพลาสติกแบบมีแถบกาว นั่นคือเรื่องปกติสำหรับอัลบั้มที่เป็นปกกระดาษ นั่นก็เพราะถ้าซีลแบบปกติ ขอบกระดาษจะยับยู่ยี่นั่นเอง อย่างไรก็ดี ควรซื้อแผ่นจากผู้ขายที่ไว้ใจได้ หรือตามร้านซีดีใหญ่ ๆ เพื่อกันโดนหลอกนะ
วันที่บนปกคืออะไรนะ
ถ้าพลิกดูด้านหลังแผ่นญี่ปุ่น จะมีวันที่อยู่ 2 ชุด ซึ่งมักจะห่างกันประมาณ 2 ปี โดยวันที่แรกคือวันที่แผ่นนี้วางจำหน่ายครั้งแรกที่ร้าน วันที่ที่สองคือวันที่ซีดีใหม่จะสามารถลดราคาได้ นี่ทำตามกฎหมายญี่ปุ่นเพื่อห้ามการใช้สงครามลดราคามาสู้กับร้านคู่แข่ง
แผ่นปลอมก็มี!
เนื่องด้วยราคาแผ่นญี่ปุ่นที่สูง ทำให้มีพ่อค้าออนไลน์หัวใสปั๊มแผ่นญี่ปุ่นปลอมขึ้นมาขายเต็มเน็ต โดยวิธีดูก็ยากมากเพราะตำหนิจะอยู่ที่แกรมมาร์ภาษาญี่ปุ่นผิด ๆ ซึ่งถ้าอ่านไม่ออกก็จะต้องดูจากราคาตลาดอย่างเดียว หากราคาถูกผิดหูผิดตา พ่อค้าไม่น่าเชื่อถือ จงอย่าซื้อนะ!
ที่สำคัญการปั๊มแผ่นผีก็ไม่ได้ทำในประเทศโลกที่สามอย่างเราอีกต่อไป แต่ถูกปั๊มในประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียจ้า ดังนั้นต้องดูให้ดี ๆ ก่อนซื้อนะ
อย่าเพิ่งดีใจกับแผ่น First Pressing ในมือของคุณ
บนโอบิจะไม่มีการระบุชัดเจนว่านี่คือแผ่น edition ไหน แถม catalog number ก็จะเหมือนกันในทุก ๆ Pressing ดังนั้นวิธีดูวิธีแรกคือการดูราคาบนแผ่น หากเป็นแผ่นที่ผลิตก่อนปี 1988 จะไม่มีราคาหลังบวก tax อยู่บนแผ่น เนื่องจากกฎหมายเพิ่งออกในปีนั้น แต่อย่างไรก็ดี หากคุณจะซื้อแผ่นที่ผลิตครั้งแรกหลังปี 1988 ก็จะไม่สามารถใช้ทริคนี้ได้ ต้องพลิกดูที่ด้านหลังแผ่นว่าวันวางจำหน่ายวันที่เท่าไหร่ หากมีวงเล็บต่อหลังวันที่วางจำหน่ายครั้งแรก นั่นคือเป็นแผ่น reissue ไม่ใช่ First Pressing อย่างแน่นอน อีกวีธีก็คือดูเลขด้านในซีดีและไวนิลว่านี่เป็น Pressing ไหน เพราะฉะนั้นดูดี ๆ อย่าโดนคนขายหลอกเอาล่ะ
วิธีช็อปแผ่นญี่ปุ่น
ในร้านซีดีและเว็บไซต์ญี่ปุ่นจ๋า ๆ มักจะเรียงชื่อศิลปินทุกคนด้วยตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น โดยถ้าคุณเข้าเว็บญี่ปุ่นจ๋า ๆ แล้วเสิร์ชหาซีดีของวง Metallica ด้วยภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าคุณจะเจออัลบั้มเพียงไม่กี่รายการแถมเป็นเวอร์ชันที่ผลิตนอกญี่ปุ่น แต่ถ้าคุณพิมพ์ メタリカ รายการที่คุณพบจะมีแผ่นญี่ปุ่นโผล่ขึ้นมาทันที นี่เป็นทริคไม่ลับสำหรับใครที่อยากซื้อซีดีญี่ปุ่นด้วยตัวเอง และนี่จะช่วยคุณประหยัดเงินจากการต้องไปไล่หาซีดีผ่าน eBay หรือ Discogs ด้วย
ซื้อแผ่นญี่ปุ่นที่ไหนดีล่ะ
หลังจากอ่านจบแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะอยากควักตังค์มาเปย์กันซักเล็กน้อย ซึ่งสำหรับเว็บไซต์ออนไลน์ที่เราแนะนำในการช็อปปิ้งก็คือ CDJapan ซึ่งเป็นเว็บไซต์ญี่ปุ่นที่ภาษาอังกฤษดีเยี่ยม ระบบใช้ง่าย ส่งไว ห่อดีมากกก โดยในเว็บไซต์ก็แบ่งประเภทชัดเจนว่าเป็นแผ่นญี่ปุ่นหรือแผ่นอิมพอร์ต มีเพลงพิเศษอะไรบ้าง นอกจากนี้ก็ยังมี HMV กับ Yesasia แต่เราไม่เคยใช้เลยแนะนำไม่ได้ ถ้าเป็นเว็บนอกญี่ปุ่นก็อย่าง eBay ที่ทุกคนจะได้สนุกสนานกับการคุ้ยหาซีดีต่อไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญการซื้อขายก็ปลอดภัยเพราะผู้ขายจะไม่ได้เงินจนกว่าเราจะกดยอมรับ อีกเว็บไซต์ก็คือ Discogs ซึ่งเกิดมาเพื่อการแลกเปลี่ยนแผ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะ เว็บไซต์นี้ก็ซื้อง่ายขายคล่อง เลือกประเทศผู้ผลิตได้ เลือก Edition ได้ เรียงลำดับถูกไปแพงได้ง่าย ๆ
หรือถ้าใครอยากไปคุ้ยด้วยมือตัวเอง ก็ต้องไปเยือนร้านใหญ่ ๆ อย่าง Tower Records, Disc Union, RECOfan และสายมือสองต้องห้ามพลาด BOOK OFF ซึ่งซีดีมือสองราคาถูกสุดก็อาจจะต่ำกว่า 100 เยน (ประมาณ 30 บาท) ด้วยซ้ำ! ใครมีอะไรแนะนำเรื่องแผ่นญี่ปุ่นก็มาคุยกันได้นะ
อ่านต่อ
ไวนิล 101: รวมศัพท์ฉบับคนหัดสะสมแผ่นเสียง อ่านปุ๊บเปย์ได้เลย
อัลบั้ม Greatest Hits ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคสตรีมมิ่ง