K-House (ไม่ใช่ K-Pop ไม่ใช่ K-Hop) คลื่นลูกใหม่ที่สะเทือนดนตรีอิเล็กทรอนิกโลก
- Writer: Montipa Virojpan
ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา กลุ่ม 88 Rising ที่รวมศิลปินหน้าใหม่สายเลือดเอเชียนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับการเปิดตัว Yaeji สมาชิกใหม่ของกลุ่มอย่างเป็นทางการ โดยทุกคนรู้จักเธอในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงเฮาส์ ดีเจ และแร็ปเปอร์เชื้อสายเกาหลีที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในคลับซีนของอเมริกา และในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีโปรดิวเซอร์และดีเจเกาหลีใต้ที่ชื่อ Peggy Gou มาทำให้สายเทคโน/เฮาส์ตกหลุมรักด้วยเซ็ตสนุก ๆ กับลุคเท่ ๆ ของเธอ หรือถ้าใหม่ล่าสุดก็คือการแชร์เพลงของสาวหน้าเด๊ด Park Hye Jin ทั่วอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เรากลับมานั่งสังเกตว่า ตอนนี้อาจจะกำลังเป็นขาขึ้นของ K-House ก็ได้นะ
อะไรที่ทำให้ K-house น่าสนใจ
นี่เป็นคำถามที่เราก็สงสัยอยู่เหมือนกัน แต่จากที่วิเคราะห์ดูแล้วเรามองว่าในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ซีรีส์ อาหาร ไปจนถึงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปที่ขยันมาตีตลาดและโกยแฟนเพลงกลับไปได้จำนวนมหาศาล ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เจริญเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งไม่ใช่แค่ในภูมิภาคเอเชียอย่าง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือไทย แต่ฝั่งยุโรปและอเมริกาก็คลั่งเกาหลีไม่แพ้กัน (อย่างที่รู้ว่าอเมริกามี Korean American อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หรือล่าสุดคือการที่ BLACKPINK ได้เป็นหนึ่งในไลน์อัพของเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่อย่าง Coachella)
แต่เมื่อสังคมได้รับวัฒนธรรมกระแสหลักมาจนคุ้นเคยและรู้สึกอิ่มตัวกันสักพักนึงแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดวัฒนธรรมกระแสรองขึ้นมา คล้าย ๆ กับทุกที่ในโลกที่มีวงดนตรี ค่ายเพลงอิสระ หรือภาพยนตร์นอกกระแสที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านระบบทุนหรือค่ายยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจบันเทิง หรือเพียงต้องการสร้างทางเลือกใหม่ที่ไม่จำเจให้กับผู้เสพกลุ่มอื่น ๆ เท่านั้น ดังนั้นผลพลอยได้จึงมาตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่มีอะไรแปลกใหม่และหลากหลายให้ได้ลิ้มลองกันอยู่ทุกขณะ
ฝั่งธุรกิจบันเทิงของเกาหลีใต้ในพักหลังมานี้ เราก็ได้ดูภาพยนตร์อิสระคุณภาพหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่ ‘Come Rain, Come Shine’, ‘Mother’, ‘Burning’ หรือวงดี ๆ ทั้งหลายอย่าง Hyuk Oh, The Black Skirts, Invisible Fish, Standing Egg ทำแนวเพลงที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก K-pop หรือ K-hiphop กระแสหลักที่เรารู้จักกัน (ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพลงที่ทำออกมาในพื้นฐานดนตรีอิเล็กทรอนิกทั้งสิ้น) แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเพราะสายหลักนั่นแหละที่ทำให้เราได้รู้จักซีนเกาหลี และหันมาหาตัวเลือกอื่น ๆ จากบ้านเดียวกับเขาที่เหมาะสมกับรสนิยมของเราได้มากขึ้น
อย่างที่บอกว่าเราเริ่มทำความรู้จักกับ underground dance music หรือคลับซีน เลยทำให้ได้ค้นพบว่าศิลปินแนวนี้ของเกาหลีเขาก็มีดีไม่น้อยเหมือนกัน และจากที่เอ่ยชื่อแต่ละคนขึ้นมาก็พบว่า สิ่งที่ทำให้ K-house น่าสนใจคือทุกคนใช้การผสมรวมอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ากับดนตรีตะวันตกได้อย่างลงตัวและมีความเฉพาะตัวทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการมีภาษาเกาหลีอยู่ในเพลง เลยเหมือนเป็นความคุ้นชินที่แปลกใหม่ ทำให้ไม่เคอะเขินจนเกินไปที่จะลิ้มลอง
สองแม่ K-house
ไหน ๆ เล่าความรุ่งเรืองของยุคเขาแล้วก็ต้องพาไปทำความรู้จักกับคนในซีนเขาหน่อย เริ่มตั้งแต่ Peggy Gou ศิลปินวัย 28 ปีที่น่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของดีเจและโปรดิวเซอร์จากเกาหลีใต้ ก่อนที่จะผันมาเป็นดีเจเต็มตัว เธอเรียนอยู่ที่ London College of Fashion และเริ่มทำเพลงบ้างแล้ว เป้าหมายของเธอตอนนั้นคือจะต้องเป็นผู้หญิงเกาหลีคนแรกและเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ไปเล่นที่ Berghain ให้ได้ ซึ่ง Berghain คือไนต์คลับสำหรับเพลงเทคโนและเฮาส์ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งอยู่ที่เบอร์ลิน และเธอก็ทำได้อย่างที่ตั้งใจโดยไปเล่นที่ Panorama Bar ซึ่งอยู่ชั้นสองของคลับ
“ฉันแค่มีความเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองและวิธีที่คุณจะพาตัวเองไปสู่สิ่งนั้นยังไง ฉันรู้ว่าฉันทำอะไรได้ดี แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าทำอะไรได้ไม่ดีและต้องพัฒนาจุดนั้นด้วย บอกเลยว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้ฉันมาอยู่ในจุดนี้ได้คือการรู้จักตัวเองดีพอ”
ในปี 2016 เธอได้ปล่อย EP ออกมาถึง 4 ชุด เด็ดดวงทั้งแทร็คเฮาส์และเทคโน แล้วในชุดแรก Art of War เธอก็ใส่กลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านเกาหลีจากเครื่องดนตรีที่ชื่อกายากึมเข้าไปผสมกับแอโฟรบีตในเพลง Troop หรือใน EP Day Without Yesterday/ Six O Six ก็มีเพลงที่โดดเด่นด้วยการใช้แค่การนับเลข 1 2 3 เป็นภาษาเกาหลีสองแบบ คือแบบยืมภาษาจีนมา (อิล อี ซัม ซา) และแบบเกาหลีแท้ (ฮานา ทูล เซด) มาร้องเป็นบีตร่วมกับเพลง และปีที่ผ่านมาเธอก็ปล่อย EP Once พร้อมกับเพลงเฮาส์เท่ปนเซ็กซี่และร้องเป็นภาษาเกาหลีชื่อ It Makes You Forget (Itgehane) ออกมา ทำให้ทั่วโลกเริ่มรู้จักเธอมากขึ้นด้วยเมโลดี้ที่ป๊อป เข้าถึงง่ายกว่าเดิม แม้แต่คลับในกรุงเทพ ฯ เราก็จะได้ยินเพลงนี้ของเธออยู่บ่อย ๆ
ตอนนี้ Boiler Room เองก็กำลังมีโครงการคล้าย ๆ TEDx ที่ให้คนจากสายอาชีพต่าง ๆ มาพูดเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา เล่าวิธีคิด หรือสร้างแรงบันดาลใจ แต่อันนี้กลายเป็นให้ดีเจ/โปรดิวเซอร์ที่มีผลงานโดดเด่นมาพูดโดยเฉพาะในงานที่ชื่อ BUDx โดยเป๊กกี้ก็ได้เป็น speaker ของงานที่กรุงโซล
นอกจากนี้เธอยังเป็นดีไซเนอร์ สไตลิส นางแบบ และนักเขียนให้กับนิตยสาร Harper’s Bazaar ของเกาหลี ยิ่งไปกว่านั้นชื่อของเธออยู่ใน Dazed 100 รวมบุคคลที่น่าจับตามองในปี 2018 ของ Dazed Magazine และได้เป็นคนเกาหลีคนแรกที่ได้ร่วมงานกับ BBC ทำ Essential Mix ออกมาด้วย เรียกว่าทั้งสวยทั้งเก่งจริง ๆ เอ้า ใครอยากไปฟังเซ็ตของ Peggy Gou และเจอเธอแบบตัวจริงเสียงจริง พุ่งไปที่งานครบรอบ 3 ปี Beam, 72 Courtyard ทองหล่อ ศุกร์นี้เลย
มาที่ฝั่งอเมริกากันบ้าง เมื่อโลกได้รู้จัก Yaeji หรือชื่อจริง อีเยจิ/เคธี่ ลี แม้ภายนอกอาจจะดูเป็นสาวแว่นลุคติ๋ม แม้จะอายุเพียง 25 ปี แต่เธอเคยเปิดเพลงที่ Boiler Room มาแล้ว และนั่นคือรายการ live session ที่มีดีเจ โปรดิวเซอร์ หรือวงดนตรีจากทั่วโลกแวะเวียนมาแสดง ที่ผ่านมาก็มีแค่ Thom Yorke, Bonobo, Nicolas Jaar, Four Tet, Kaytrananda ที่เคยมาเล่นแค่นั้นเอง ส่วนผลงานที่ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักเห็นจะเป็นงานคัฟเวอร์ Passionfruit ของ Drake ที่เธอทำขึ้นมาระหว่างช่วงที่จัดรายการวิทยุในวิทยาลัย ตอนนั้นเธอได้รู้จักกับเพลงของ Flight Facility และ Blue Hawaii จนตกหลุมรักเพลงอิเล็กทรอนิก กระทั่งเธอได้ออก EP2 มาในปี 2016 ก็มีเพลงฮิตอย่าง Raingurl ทำให้คนทั่วบ้านทั่วเมืองต้องร้องว่า ‘Make it rain girl, make it rain’ กันอย่างติดปาก
ในปี 2018 เราก็ได้ฟังเพลงใหม่ของเธอที่โด่งดังไม่แพ้กันอย่าง One More มีโปรดิวเซอร์มากมายถึงกับหยิบไปรีมิกซ์มาแล้ว ความโดดเด่นของเธอเห็นจะเป็นลุคที่คนคาดไม่ถึงแล้วหนึ่ง สองก็คือเสียงร้องเล็กใสที่ฟังดูแล้วเหมือนเสียงตัวการ์ตูน ถูกหยิบมาใส่ในบีตดนตรีเฮาส์เท่ ๆ และสาม เป็นการแร็ปผสมร้องภาษาเกาหลีและอังกฤษ ใช้คำง่าย ติดหู และร้องตามได้ในทั้งสองภาษาแม้เราจะฟังคำว่า ‘คือเกอานียา คือเกอานียา’ ไม่ออกก็ตาม ซึ่งเนื้อหาในเพลงของเธอมักจะพูดถึงเรื่องคุณค่าความงาม อัตลักษณ์บุคคล หรือความอ่อนล้าเหนื่อยหน่ายในสังคมเมือง ซึ่งหลายคนน่าจะรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ดี อ้อ เธอคนนี้ก็ติดอันดับ Dazed 100 ด้วยเช่นเดียวกัน
ความดังไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะความ exotic ในสายตาตะวันตก?
แน่นอนว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกเป็นผลผลิตจากโลกตะวันตกที่มีมาเป็นเวลานาน และก็ต้องยอมรับว่าฝั่งเอเชียมักจะเป็นฝ่ายที่รับวัฒนธรรมเหล่านี้ตกทอดมาอีกที ต่อมา จากที่มีแต่ดีเจฝั่งยุโรปและอเมริกากุมตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เริ่มมีดีเจจากตะวันออกย่างกรายเข้าไปในโลกของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เราเอ่ยชื่อมาในตอนต้น พวกเธอถูกจับตามองเป็นสองเท่าเพราะในมุมมองของคนทั่วไปมักจะคิดว่าผู้หญิงไม่ค่อยมาเป็นดีเจกันหรอก
เยจิและเป๊กกี้ คือสองคนที่สามารถหยิบยกมาพูดถึงได้โดยเห็นภาพชัดเจนกว่าเพื่อน การที่เธอมีเชื้อชาติเกาหลีแต่ต้องย้ายที่พำนักไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสเปิดกว้างกว่าอาจจะเป็นแต้มต่อในการนำเสนออะไรที่ไม่ซ้ำเดิม (เยจิเกิดและโตที่อเมริกาก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตที่เกาหลีใต้อยู่ช่วงนึง ส่วนเป๊กกี้ย้ายจากเกาหลีใต้ไปลอนดอน ก่อนจะไปเบอร์ลิน เช่นกันกับ Jumi Lee ที่ก้าวกระโดดไปซีนต่างประเทศก่อนคนอื่น ตอนนี้เธอเบสอยู่ที่เมืองลิม่า ประเทศเปรู) พวกเธอแสดงมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีให้เข้าไปอยู่ในบริบทร่วมสมัยนอกเหนือไปจากแค่ภาษา อย่างใน mv เพลง Drink I’m Sippin On เยจิก็ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปเก่า ๆ ของแม่ของเธอจากยุค 80s แม้แต่เสื้อผ้าที่เธอใส่ก็สะท้อนแฟชันของผู้หญิงเกาหลีในเมืองที่แทบทุกคนจะแต่งแบบเดียวกันหมด บวกกับบรรยากาศของไชน่าทาวน์ในนิวยอร์กยามค่ำคืนยิ่งขับเน้นความเป็นเอเชียนในบริบทร่วมสมัยออกมา
จากการเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครฟัง ตอนนี้เธอกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงและแฟชัน รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมและ beauty standard ให้มีมากขึ้น “อันที่จริงมันก็อาจจะมีส่วน เมื่อก่อน มีหลายอย่างที่ทำให้ฉันคิดเกี่ยวกับการเป็นเอเชียนอเมริกัน แต่ฉันเลือกที่จะไม่พูดออกมาเพราะไม่ว่าฉันไปที่ไหน ฉันก็จะเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ดี ไม่มีใครฟังฉัน และฉันก็กลัวจะพูดอะไรผิดไปแล้วจะทำให้ฉันโดนมองไม่ดี แต่ตอนนี้ฉันไม่รู้สึกแบบนั้นแล้ว ตราบใดที่ถ้าเรารู้ว่าเราโดนตัดสินให้เป็นคนชายขอบ เราก็ต้องช่วยเหลือสนับสนุนกัน ไม่ว่าจะเอเชียน จะผิวสี จะเป็นคนข้ามเพศ หรือมีรสนิยมทางเพศอะไรก็ตาม”
สำหรับเป๊กกี้ การได้แสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครได้เข้ามา อย่างเช่นที่เธอบอกเหตุผลของการใส่ภาษาแม่เข้าไปในเพลงของเธอกับนิตยสาร i-D ว่า
“ฉันแค่อยากลองใส่ภาษาอื่นลงในเพลงพวกนี้ แล้วก็คิดว่า ทำไมไม่ใช้ภาษาเกาหลีล่ะ… แรก ๆ ฉันก็เขินนะคะ แต่สุดท้ายก็ดีใจแหละที่เลือกทางนี้ ฉันภูมิใจที่ฉันเป็นคนเกาหลี และส่วนนึงมันก็ทำให้มีคนเอเชียนมาดูโชว์ของฉันเยอะเป็นพิเศษ แล้วฉันก็มักจะรู้สึกว่า โอ๊ย นี่คนบ้านเดียวกับฉันทั้งนั้นเลย”
แต่สุดท้ายแล้วศิลปินหลาย ๆ คนเลยมักให้สัมภาษณ์ว่าพวกเธออยากได้รับการตัดสินจากคนที่ฟังเพลงว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งมากกว่าจะมากำหนดว่าตัวเองเป็นเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร
“ฉันรู้สึกว่าคนมาให้ความสนใจฉันเพราะฉันเป็นเอเชียน มันเป็นแค่ส่วนนึงของฉันเท่านั้นเอง ไม่ใช่ฉันทั้งหมด แบบนี้มันไม่เท่าเที่ยมเท่าไหร่เลย” เยจิบอกกับ Fader
อยากฟัง K-house อีก ไปหาจากที่ไหนดี
คนนี้มาแรง สัญชาตญาณบอก เพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานมานี้จากรุ่นน้องที่แท็กเรียก (เหมือนจุดธูป) มาให้ฟัง นี่คือน้องนาง Park Hye Jin วัย 24 ปีที่สะกดจิตเราด้วยเสียงโมโนโทนทุ้มต่ำ หน้าเด๊ด และโนแคร์โนสนสมชื่อเพลง I Don’t Care ฟังไปครั้งแรกก็โดนหลอนด้วยท่อน ‘เนซัมโซกเกซอ’ ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันเธอเป็นดีเจอยู่ที่ไนต์คลับชื่อ Pistil ในโซล เกาหลีใต้ รวมถึงจัดรายการอยู่ที่คลื่นวิทยุอินดี้ SCR
เพลงส่วนใหญ่ใน EP IF U WANT IT ของเธอได้อิทธิพลมาจาก minimal darkwave ผสมกับซาวด์ซินธิไซเซอร์ฟุ้งฝัน มีการใช้เลเยอร์ซ้ำซ้อนกันสร้างความหลอนจิตและบีตหนาหนักแน่น แต่ปรานีคนฟังด้วยเสียงคีย์บอร์ดนุ่มนวลไพเราะ ซึ่งเราพบว่าในเพลง ABC มีโครงสร้างความเป็นลูปที่ทำให้คนจำได้แบบเดียวกันกับเพลงดัง ๆ ของทั้งเยจิ และเป๊กกี้
Jumi Lee หรือ อีจูมิ ส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนที่พุ่งพล่านชวนคึก กับเฮาส์ที่มีกรูฟล่องไหล และแอซิดที่อัดแน่นด้วยเมโลดี้สะกดจิต ถือเป็นดีเจเกาหลีที่โด่งดังมากในซีนอเมริกาใต้คนนึงทีเดียว ก่อนหน้านี้เธอออก EP Bass Machine ของตัวเองในปี 2007 และเล่นเปิดให้กับ Richie Hawtin มาแล้ว
C’est Qui สองสาว ฮานาวอน และ Closet Yi ซึ่งเคยมาเล่นที่ Beam เมื่อปีก่อน จัดเพลงดีปเฮาส์และดิสโก้แบบเน้น ๆ ให้เราได้เต้นกันตลอดคืน แล้วพวกเธอเป็นหนึ่งในคนที่รันคลับซีนในโซลด้วย
CIFIKA หรือ โชยูซอน อีกหนึ่งศิลปินจาก 88 Rising กับดนตรีเฮาส์ที่โดดเด่นและลุคโฉบเฉี่ยว ใช้เวลาเพียงสองปีกับ EP INTELLIGENTSIA ทำให้ซีนดนตรีใต้ดินและสื่อดนตรี/แฟชันชั้นนำทั้ง Vice, Hypebeast และ Dazed จับตามอง อนึ่งเธอเคยร่วมงานกับ Hyuk Oh แต่ทำเพลงในแนวที่แตกต่างออกไป
Kirara ศิลปินอิเล็กทรอนิกที่ทำเพลงเฮาส์ และได้อิทธิพลจาก breakbeat ยุค 90s เข้ามาในเพลงที่ใส่ลูกเล่นการ mute track หรือใช้ไลน์กีตาร์ลูปเข้ามาผสมกับบีต 4/4 แบบเพลงเฮาส์ บางเพลงก็เป็น อิเล็กโทรพังก์ หรือใช้ชิปจูนแบบเพลง 8bit ก็มี ในอัลบั้ม Moves ที่ออกมาเมื่อปี 2016 ของเธอนี่กดฟังแล้วถึงกับหยุดไม่ได้เลยทีเดียว
MUSHXXX หรือ อีมินจู เองก็มาแรงไม่แพ้กัน เธอเป็นอีกคนที่ใส่ Korean heritage เข้าไปในเพลงดีปเฮาส์ได้อย่างกลมกลืน อีกหนึ่งของดีส่งทรงจาก Pistil ซึ่งเพลงของเธอถูกเลือกให้ไปอยู่ใน ACIDE collective ของ Maison Kitsuné และได้เปิดเพลงในแฟชันโชว์หลาย ๆ รายการ
อนาคตที่สวยงามของซีน K-house ?
จากภาพโดยรวมแล้ว underground dance music scene ในโซลก็ดูเหมือนจะมาแรง ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณการมาถึงในเวลาอันไล่เลี่ยกันของ เป๊กกี้ เยจิ และฮเยจิน ที่ทำให้คำว่า K-house ถูกใช้กันทั่วไปในอินเทอร์เน็ตและคนฟังก็มีความเข้าใจตรงกันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ และสำหรับที่โซล การที่มีศิลปินหญิงหรือกลุ่ม LGBTQ เพิ่มมากขึ้น มีคลับและบาร์ทางเลือกเปิดตัวมากมายในย่านฮงแด อัปกูจอง อีแทวอน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เปิดกว้างของซีนที่ให้คนใหม่ ๆ ได้เข้ามาทำความรู้จักกับแนวดนตรีใหม่ ๆ ได้อย่างเสรี
อันที่จริงก็มีแรงกดดันภายในอยู่ไม่น้อย Closet Yi จาก C’est Qui เล่าให้ Vice ฟังว่า แม้วัฒนธรรมของเกาหลีจะเน้นความเป็นกลุ่มก้อนและทำให้พวกซีนดนตรีอิสระช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ก็มีความย้อนแย้งของการเป็นซีนเล็ก ๆ ที่ทำให้คนสายเดียวกันต้องมาแข่งขันกันเอง อีกทั้งดีเจกับผู้จัดงานก็ยังประสบปัญหากับการที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเกาหลีเก็ตกับคลับซีนหรือวัฒนธรรมดีเจ เพราะอันที่จริงบ้านเขาก็คล้าย ๆ เราตรงที่โดยธรรมชาติแล้วก็ไม่ค่อยมีใครไปคลับกันเป็นปกติเท่าไหร่ ซึ่งก็มีดีเจหลาย ๆ คนที่พยายามนำเสนอคอนเทนต์ของพวกเขาเอง ทั้งการทำเพลง การออกไปเล่นบ่อย ๆ หรือแม้แต่การเขียนบทความขึ้นมาสร้างความเข้าใจในคลับซีน
แต่อย่างน้อยที่สุด การที่มีดีเจหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีคนพร้อมจะไปรับประสบการณ์ สนับสนุนซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนจะร่วมสร้างความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน แม้หนทางจะดูแสนไกลและต้องใช้เวลา แต่ทุกอย่างย่อมมีหวังเสมอ