Article Guru

ก็อปมั้ย? Jonny Greenwood มือกีตาร์แห่ง Radiohead กับอีกความสามารถที่คุณคาดไม่ถึง

  • Writer: Chawanwit Imchai

จาก Radiohead ถึงเวที Oscar ก็ยังจับไม่ได้ว่าก็อป

นอกจากเป็นมือกีตาร์ของวงดนตรีแห่งมวลมนุษยชาตินาม Radiohead แล้ว เขายังเป็น film score composer หรือนักแต่งเพลงประกอบหนังรุ่นใหม่ที่เข้าใจการใช้เครื่องดนตรีออเคสตราอย่างลึกซึ้ง และมีวิธีการสร้างงานที่หลุดออกมาจากขนบการทำเพลงประกอบหนังแบบเดิม ๆ โดยมี Paul Thomas Anderson ผู้กำกับมือรางวัลชาวอเมริกันเป็นคนลองของคนแรกในเรื่อง There Will Be Blood (2007) อันโด่งดัง จากนั้นก็กลายเป็นคู่บุญกันตั้งแต่นั้นมา โดยทำมาเรื่อยตั้งแต่ The Master (2012), Inherit Vice (2014) จนล่าสุด Phantom Thread (2007) ก็ทำให้มือกีตาร์วงร็อกกลายเป็นผู้เข้าชิงหน้าใหม่ของเวทีออสการ์ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (best original score) และกระแสชื่นชมในหมู่นักดูและนักทำหนังก็ไล่ตามหลังรุ่นใหญ่อย่าง Hans Zimmer มาติดๆ จนตัวน้าก็ถึงกับเอ่ยปากชมเมื่อปี 2016 ว่า “Recklessly, crazily beautiful” (โนสนโนแคร์ดีสวยงามอย่างไร้สติ)

อะไรที่ทำให้กระดูกสันหลังของวง Radiohead กลายเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกที่ฮอลลีวูดยอมรับ ?

คำถามนี้ต้องเริ่มหาคำตอบด้วยการทำความรู้จัก Radiohead อย่างจริง ๆ จังๆ เสียก่อนมั้ง

Radiohead Appreciation 101

เพลงของ Radiohead ที่ป๊อบ ๆ ฮิต ๆ อย่าง Creep, Fake Plasstic Trees, No Surprises หรือแม้กระทั่ง High and Dry ก็มีการดำเนินคอร์ดตามสูตรเพลงป๊อปปกติทั่วไป แต่ท่ามกลางชุดคอร์ดธรรมดาเหล่านั้นมีการแหกด้วยโน้ตแฟลต (b) และชาร์ป (#) แทรกอยู่ระหว่างเพลงเสมอ ทำให้การเปลี่ยนคอร์ดในบางช่วงเอื้อให้เกิดเมโลดี้ที่คล้ายเพลงจากหนังสยองขวัญ ให้ความรู้สึกคาดเดาไม่ได้และเซอร์ไพรส์กับไดนามิคที่เปลี่ยนไป ทำให้เพลงป๊อปฮิต ๆ ในยุคนั้น กลายเป็นเพลงป๊อปที่เหนือกาลเวลาและรู้สึกสดใหม่ทุกครั้งที่ได้ฟังไปโดยทันที โดยมีมือกีตาร์ที่ซัดโซโลเกรี้ยวกราด ก้มหน้าก้มตาดันสายอยู่ข้าง ๆ น้า Thom Yorke ผู้เป็นเจ้าของท่อนโซโลแระริฟฟ์ในตำนานที่ยากจะหาคนแกะตามได้แบบเป๊ะ ๆ มีซาวด์และวิธีการเล่นที่ mind blowing มาก ๆ จนบางคนเริ่มแน่ใจว่า Jonny Greenwood ต้องเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ลงมาสร้างนวัตกรรมทางดนตรีที่โคตรล้ำหน้าให้มวลมนุษยชาติแน่ ๆ

แต่ถ้าให้คนที่มีความรู้ด้านดนตรีคลาสสิกจริง ๆ มาฟังล่ะก็

จาก ล้ำ จะกลายเป็น ลอก ทันที

เพราะวิธีการสร้าง motif ในเพลงของจอนนีนั้นเป็นชุดความคิดเดียวกันกับการประพันธ์เพลงคลาสสิกในศตววรษที่ 20th

Intro to Classical Music Appreciation 101

เป็นเรื่องปกติที่นักดนตรีจะได้รับอิทธิพลจากศิลปินที่ทำให้จุก ๆ ที่คอเมื่อได้ฟัง เด็กหนุ่มตาโปนคนนี้มี Olivier Messiaen’s Turangalîla Symphony เป็นรักแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปี ทำให้เขาทึ่งในความไร้แบบแผนบนทฤษฎีที่ถูกต้องของดนตรีแนวนี้และทำให้เขาหลงใหลดนตรีคลาสสิกและวงออเคสตราเรื่อยมา และจุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้งช่วงก่อนเซ็นสัญญาออกทัวร์กับ Radiohead โดยเขาได้ลงเรียนในวิทยาลัยและได้ชมการแสดงของ Krzysztof Penderecki นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวโปแลนด์ที่ครูในคลาสเปิดให้ดู ในเพลง Polymorphia

เขาทึ่งกับความขบถของนักประพันธ์วัย 84 เหลือเกิน ความอิสระอันเกิดจากไอเดียตั้งต้นที่แข็งแรงได้เปิดทุกความเป็นไปได้ให้กับคลื่นเสียงในหัวของเขา จนเขากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขาศึกษามันด้วยการสร้างผลงานด้วยการ ‘ลอก’ และ ‘ขโมย’ รายละเอียดและไอเดียที่เขาชอบ และอนุญาตให้อิทธิพลเหล่านี้ลื่นไหลอยู่บนเฟรตกีตาร์เทเลคาสเตอร์พลัส ที่ใช้อัดในทุกอัลบั้มของ Radiohead และเป็นที่มาของริฟฟ์และโซโลที่แสนจะคลาสสิกทั้งหลาย

How to steal like Jonny Greenwood

จอนนีเริ่มสร้างชื่อเสียงด้านการประพันธ์เพลงคลาสสิกอย่างลับ ๆ มาได้ซักพักแล้ว ลับขนาดพี่แฟน ๆ ก็เพิ่งรู้ว่าจอนนีทำเพลงให้วงออเคสตราได้ก็ตอนที่เขาขึ้นรับรางวัล Radio 3 Listeners’ Award ในงาน 2006 BBC Composer Awards ทำให้เขาได้รับเงิน 10,000 ปอนด์ จากมูลนิธิ PRS ไว้เป็นทุนทำเพลงออเคสตราเพลงหน้า มีชื่อผลงานว่า Popcorn Superhet Receiver ที่โดดเด่นด้วยการใช้เสียงจี่จากวิทยุและการแทรกโน้ตที่ไม่เข้ากับสเกลที่คนฟังเพลงทั่วไปคุ้นชิน

ทำให้ลุง Krzysztof Penderecki รู้สึกตะหงิด ๆ เล็กน้อย เมื่อเปิดเพลง Threnody for the Victims of Hiroshima ของตัวเองฟังต่อ

ถึงตรงนี้ใครได้ฟังก็คงรู้แล้วว่าทำไมถึงไม่มีใครจับได้ ถึงจับได้ก็ไม่ได้มีดราม่าให้เสียเวลาชีวิต

“ก็เพราะมันดีกว่าเดิมไง”

แค่นั้นเอง

*การร่วมงานกันของ Jonny Greenwood และ Paul Thomas Andersson ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมากมาย ไว้มีโอกาสจะมาเขียนให้อ่านอีก

อ้างอิง
https://www.acast.com/adambuxton/ep.63b-jonnygreenwood
https://pitchfork.com/news/jonny-greenwood-talks-paul-thomas-anderson-bromance-mark-e-smith-more-listen/
https://www.youtube.com/watch?v=KDG7JXlpCY0&t=739s
https://www.youtube.com/watch?v=-qmlVNfXysI&t=75s
https://en.wikipedia.org/wiki/Jonny_Greenwood#Solo,_film-score,_and_orchestral_work
https://en.wikipedia.org/wiki/Tone_cluster
Facebook Comments

Next:


Chawanwit Imchai

เจมส์ มองอะไรก็เป็นหนัง ฟังอะไรก็เป็นเพลง เลยทำมันทั้งสองอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด ระหว่างนี้ก็ค้นหาความหมายของ sex, drugs, rock n' roll ว่าทำไมคำเหล่านี้ถึงมาอยู่ด้วยกัน