Article Guru

Jazz in Film เมื่อแจ๊สและภาพยนตร์พูดเป็นเสียงเดียวกัน

  • Writer: Montipa Virojpan

เมื่อไม่กี่วันก่อน ใครที่รู้ผลรางวัล Golden Globe 2017 แล้วก็จะพบว่า หนังมิวสิคัลที่กำลังถูกพูดถึงแบบไม่เว้นวันอย่าง ‘La La Land’ ได้กวาดรางวัลไปหลายสาขา (แต่เรายังไม่ได้ดู!) ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ตลกหรือมิวสิคัล นักแสดงนำชาย (Ryan Gosling) และหญิง (Emma Stone) ยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ตลกหรือมิวสิคัล ผู้กำกับและเขียนบท (Damien Chazelle) ยอดเยี่ยม เพลงประกอบภาพยนตร์ (โดย Justin Hurwitz) และออริจินัลซาวด์แทร็กยอดเยี่ยมจาก City of Stars ซึ่งนี่อาจทำให้เกิดคำถามว่า นี่เป็นสัญญาณที่จะเป็นปีทองของดนตรีแจ๊สอีกคราแล้วหรือเปล่า

ขอตอบว่า ไม่ เพราะดนตรีแจ๊สไม่มีวันตาย!

lala-land

เราคิดว่าปรากฏการณ์ของ La La Land ไม่สามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงการกลับมาเป็นยุคของดนตรีแจ๊สได้เต็มปากนัก เพราะโดยภาพรวมแล้ว กระแสนิยมหลักของหนังมาจากการใช้นักแสดงแม่เหล็ก (ไรอัน กอสลิงในบทนักดนตรีแจ๊สที่ฝันอยากจะทำบาร์แจ๊สของตัวเอง และเอมม่า สโตนในบทคู่รักสาวที่มีฝันอยากเป็นนักแสดง โอ้โหหหห แค่นี้ก็ชนะละ) ดำเนินเรื่องในธีมรักโรแมนติกแฟนตาซีชวนฝันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และผลพวงของเพลงประกอบที่เป็นแจ๊สบิ๊กแบนด์สุดไพเราะทำให้คนที่ชอบเพลงแนวนี้ไม่ลังเลที่จะไปดูตั้งแต่ทีแรก และอันที่จริงก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งของกระแสนี้ก็มาจากความดีงามของตัวภาพยนตร์เอง เพราะคนที่ได้รับชมมาแล้วก็บอกเล่ากันปากต่อปากว่าเป็นหนังที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง จนเขาได้รางวัลการันตียุบยับขนาดนั้นยังไงล่ะ

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยผลตอบรับที่มาแรงนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องที่อยากจะเล่าให้ทุกคนได้รับรู้กัน นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีแจ๊สและภาพยนตร์ หวังว่าผู้อ่านยังไม่เบื่อกันใช่ไหมถ้าเราจะขอพูดเรื่องดนตรีแจ๊สกันอีกสัก(หลาย ๆ)รอบ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ Damien Chazelle ผู้กำกับและเขียนบท La La Land ก็เคยประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เกี่ยวกับดนตรีแจ๊สมาแล้วครั้งหนึ่งใน ‘Whiplash’ ที่กวาดรางวัลจากสถาบันภาพยนตร์มามากมายแล้วเช่นกัน แต่ด้วยสีสันและลีลาการดำเนินเรื่องของเรื่องนั้นช่างแตกต่างจากเรื่องล่าสุดประหนึ่งคอนเสิร์ตโอเปร่ากับโชว์จากวงเดธเมทัลจึงอาจจะทำให้ La La Land เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากกว่า

brody-whiplash-1200

ถ้าให้เท้าความถึงหนังเรื่องก่อนหน้าของเขา Whiplash เป็นเรื่องราวของมือกลองฝีมือหาตัวจับยากที่ต้องต่อสู้กับตัวเองและอาจารย์แห่งสถาบันดนตรีชั้นนำจอมเฮี้ยบ จังหวะการเดินเรื่องฉับไว ใช้เสียงกลองเป็นตัวดำเนินเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ และบีบคั้นอารมณ์คนดูได้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ซึ่งเราสัมผัสได้ว่าการที่ชาเซลทำหนังออกมาได้ไร้ที่ติสุด ๆ ก็เป็นเพราะความอินในดนตรีแจ๊สแบบสุด ๆ และความเข้าใจในจังหวะที่เล่นกับอารมณ์ของคนดูได้จากงานชิ้นก่อนของเขานั่นเอง (ลองคุ้ยประวัติผู้กำกับคนนี้ พบว่าเขาเคยเขียนบทให้หนังสเปนเรื่อง ‘Grand Piano’ ที่เป็นหนังเขย่าขวัญเกี่ยวกับนักเปียโนที่เป็นโรคตื่นเวที และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทให้กับหนังต่างดาวเรื่อง ’10 Cloverfield Lane’ รวมถึงหนังสยองขวัญ ‘The Last Exorcism Part II’ มาแล้ว)

นอกเหนือจากภาพยนตร์สองเรื่องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สโดยตรงแล้ว ก็ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่สอดแทรกเสน่ห์ของเพลงแจ๊สลงไปได้อย่างกลมกลืนเช่นเดียวกับงานของชาเซล แต่ในความเป็นจริงเพลงแจ๊สมีบทบาทในภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เลยทีเดียว อย่างที่ทราบกันว่าในยุคหนังเงียบที่คนทำหนังไม่สามารถบันทึกเสียงลงไปในฟิล์มได้ เขาก็ใช้วิธีฉายหนังที่มีแต่ภาพไปบนจอใหญ่ แล้วให้นักดนตรีหนึ่งคนไปจนถึงวงออเคสตราเล่นดนตรีประกอบในโรงเพื่อสร้างอารมณ์ให้กับหนัง และต่อมาในยุค 1920s ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของดนตรีแจ๊ส เพลงประเภทนี้จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในการฉายภาพยนตร์ แต่ส่วนมากก็ยังเป็นเพลงสำหรับประกอบในฉากเต้นรำในหนังอยู่ดี

017-the-jazz-singer-theredlist

จนกระทั่งปี 1927 ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ต้องจารึกว่า ‘The Jazz Singer’ คือหนังเรื่องแรกที่ปรากฎเสียงพูดด้วยประโยคโด่งดังที่ว่า “Wait a minute, wait a minute, you ain’t heard nothin’ yet” และก่อนหน้านี้มีฉากที่มีเสียงคือ Al Jolson ร้องเพลง Dirty Hands, Dirty Face ที่น่าจะเป็นเสียงแรกที่เราได้ยินกันในหนัง จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจ (และตื่นหู) ให้แก่เหล่าผู้ชมในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก (ถ้าให้เทียบง่าย ๆ โมเมนต์นี้คงจะเหมือนตอนจบของหนังเรื่อง ‘The Artist’ ที่เราเองยังขนลุก ขอไม่เล่าเดี๋ยวจะสปอยล์ เรียกว่าเป็นหนังบูชาครูของศาสตร์ภาพยนตร์ที่เด็กเรียนภาพยนตร์หลายคนก็ต้องยอมใจในฉากนั้น จนกวาดรางวัลจากหลายสถาบันในปี 2012) แต่เรื่องนี้ก็เป็นการสร้างความเข้าใจผิดถึงดนตรีแจ๊สให้กับแวดวงภาพยนตร์อเมริกาในยุคนั้นพอสมควรว่านักดนตรีแจ๊สต้องผิวดำเสมอไปหรือ แล้วก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตว่าเป็นการ racist หรือเปล่า เพราะในหนังเหมือนจะมีเมสเสจที่ต้องการสื่อว่า เขาจะรู้สึกผ่อนคลายทุกครั้งที่ร้องเพลง ragtime หรือ blues เมื่อทาหน้าเป็นสีดำ และอันที่จริงแล้ว หนังเรื่องแรกที่มีเสียงไม่ใช่ The Jazz Singer แต่เป็นเรื่อง ‘Don Juan’ ในปี 1926 ต่างหาก (ต้องแยกกันระหว่างหนังพูด กับหนังที่มีเสียงในฟิล์มนะ) แต่ก็เป็นการยก term ของดนตรีแจ๊สขึ้นมาพูดถึงอย่างโด่งดังและเป็นที่จดจำที่สุดในยุคนั้น และไม่ใช่แค่ภาพยนตร์คนแสดงที่มีเพลงแจ๊สประกอบ การ์ตูนในยุค 30s อย่าง ‘Betty Boop’ ก็มีเพลงแจ๊สและวงดนตรีแจ๊สจริง ๆ ไปปรากฏอยู่ในนั้นด้วยเหมือนกัน เช่น Cab Calloway ที่ไปเต้นอยู่ในตอนต้นของเรื่อง

อย่างที่หลายคนว่าไว้ ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะกว่าจะลงตัว ดังเช่นดนตรีแจ๊สที่ผ่านไปหลายปีก็เริ่มเป็นส่วนหน่ึงในภาพยนตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวของนักดนตรีหรือศิลปินแจ๊สที่โด่งดังในหนังหลายเรื่อง เช่น Louis Armstrong, Bing Crosby, Billie Holiday, Ella Fitzgerald แต่ก็มักจะเป็นการที่นักดนตรีผิวขาวได้รับบทนำ ส่วนนักดนตรีผิวสีเหล่านี้จะได้บทสมทบ แต่ต่อมาก็มีภาพยนตร์ที่มีนักแสดงเป็นศิลปินแจ๊สผิวสีล้วน ๆ แต่ก็ทำรายได้ไม่ค่อยดีในช่วงนั้น แถมมีผู้ชมเฉพาะกลุ่มคือคนผิวสีด้วยกันเอง

armstrong-and-holiday_new-orleans-1947_4

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงกระวีกระวาดผลิตซ้ำแต่เรื่องราวมิวสิคัลประโลมโลกเพื่อให้คนหลีกหนีความหดหู่จากข่าวการสู้รบ นี่จึงเป็นโอกาสดีที่นักดนตรีแจ๊สรุ่นใหม่ ๆ ได้ออกมาแสดงฝีไม้ลายมือกันมากขึ้น และมีการสร้างหนังชีวประวัติของนักดนตรีแจ๊สเกิดขึ้นมากมาย (เพียงแต่เนื้อหานั้นถูกดัดแปลงจนกลายเป็นนิยายไปเสียหน่อย แต่ต้นความคิดนี้ก็ส่งผลให้ยุคต่อ ๆ มามีการทำภาพยนตร์ชีวประวัติและตีแผ่ชีวิตของนักดนตรีแจ๊สตามความเป็นจริงกันมากยิ่งขึ้น) จนเมื่อปี 1950s ฝั่งภาพยนตร์สารคดีหรืองานที่นอกเหนือไปจากพวกฮอลลิวู้ดก็เริ่มเห็นความสำคัญและเข้าใจความร่วมสมัยของเพลงแจ๊ส มองข้ามเรื่องชาติพันธุ์และผิวสีกันมากขึ้นแม้ในสังคมกระแสหลักจะมองพวกเขาเป็นชนชั้นรองลงมา โดยผู้กำกับหลาย ๆ คนนำแจ๊สมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน อย่าง ‘Anatomy Of A Murder’ ก็ได้ Duke Ellington ในวัย 60 ปีมาช่วยทำเพลงประกอบให้จนได้ 3 รางวัลแกรมมี่ เช่นกันกับเพลงของ Miles Davis ที่ไปอยู่ใน ‘Ascenseur pour l’echafaud’ ที่นับว่าเป็นเพลงประกอบที่มาจากการอิมโพรไวส์เป็นงานแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลยก็ว่าได้

ช่วงปี 60s ถือเป็นช่วงความเจริญงอกงามทางดนตรี ศิลปะ และภาพยนตร์ New American Cinema ของอเมริกา หรือ French New Wave ของฝรั่งเศสเอง ก็เริ่มนำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เป็นไปตามสูตรเดิม และเลือกนำเพลง avant-garde jazz มาใช้ด้วยความรู้สึกที่ทั้งสองศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ดนตรีแจ๊สก็แทรกซึมไปอย่างทั่วทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก มีผู้สร้างหนังที่หยิบยกเรื่องราวของนักดนตรีแจ๊สมานำเสนอ ไม่ได้เป็นเพียงเพลงประกอบหรือมิวสิคัลของนักดนตรีแจ๊สดังเช่นในอดีต และไม่จำเป็นต้องเป็นแนวทดลองเสมอไป ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ในยุคร่วมสมัยแล้ว ผู้กำกับหลาย ๆ คนเลือกที่จะใช้ดนตรีแจ๊สในการเล่าถึงยุคสมัย โดยเฉพาะกับหนังที่มีเรื่องราวเกิดในยุคทองของแจ๊ส ไม่ว่าจะเป็น ‘The Cat’s Meow’, ‘Chicago’, ‘The Great Gatsby’ หรือ งานของ Woody Allen น่าจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี เพราะหนังหลาย ๆ เรื่องของเขามักจะต้องมีดนตรีแจ๊สเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ทั้ง ‘Annie Hall’, ‘Manhattan’, ‘Sweet and Lowdown’, ‘Midnight in Paris’, ‘Magic in the Moonlight’ และเรื่องล่าสุด ‘Café Society’ โดยที่แต่ละเรื่องก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดในยุคสมัยที่ดนตรีแจ๊สรุ่งเรือง เพราะทุกคนสามารถพูดเรื่องเพลงแจ๊สได้ และทุกคนสามารถฟังแจ๊สได้จนทุกวันนี้ เพราะแจ๊สเป็นดนตรีที่อยู่เหนือกาลเวลา

ภาพยนตร์เกี่ยวกับนักดนตรีแจ๊สในยุคร่วมสมัยที่เราอยากให้คุณลองดู

Nina (2016) เกี่ยวกับชีวิตของ Nina Simone

Born to be Blue (2015) เกี่ยวกับชีวิตของ Chet Baker ที่แสดงโดย Ethan Hawk

Miles Ahead (2015) นำเสนอชีวิตของ Miles Davis ที่ได้ Robert Glasper มาช่วยโปรดิวซ์เพลงประกอบ

Lowdown (2014) ชีวิตของนักเปียโน Joe Albany ถ่ายทอดผ่านมุมมองของลูกสาวที่แสดงโดย Elle Fanning

Monica Z (2013) เกี่ยวกับนักแสดงและนักร้องเพลงแจ๊สชาวสวีเดน Monica Zetterlund’

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://goo.gl/7FkKac
https://goo.gl/L8zs8M
https://goo.gl/dvsu87

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้