ก็อปเพลง ลอกเพลง ดูยังไง แรงบันดาลใจ หรือแค่คล้ายกัน? คำถามยอดฮิตในโลกที่เสียงดนตรีมีแค่ 7 ตัวโน้ต มันไม่แปลกหากเสียงดนตรีจากเพลงหนึ่งจะไปซ้ำกับอีกเพลงหนึ่ง

Article Guru

เพลงนี้ก็อปมั้ย? คำถามยอดฮิตในโลกที่เสียงดนตรีมีแค่ 7 ตัวโน้ต

ดนตรีเป็นสิ่งที่มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงมาในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ใช้เพียงเสียงของมนุษย์กับเขาสัตว์เพื่อทำเครื่องดนตรี จนมาเป็นเครื่องดนตรีจากไม้ แล้วเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้าในแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ซึ่งแน่อนว่าแรงบันดาลใจและแนวดนตรีก็มีการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น และเราคิดว่ามันไม่แปลกหากเสียงดนตรีจากเพลงหนึ่ง จะไปซ้ำกับอีกเพลงโดยบังเอิญ​ในโลกที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวโน้ตเพียงแค่ 7 ตัว

ต้องเล่าก่อนว่า ตามหลักทฤษฎีดนตรีตะวันตกที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก โน้ตดนตรีที่ยืนพื้นเพื่อสร้างเสียงและสเกลต่าง ๆ ประกอบด้วยโน้ต 7 ตัว โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ก่อนจะแตกแขนงเป็นสเกล โหมด (mode) แล้วสร้างเป็นคอร์ดและโครงสร้างเพลงเพื่อให้เราได้ฟังกันในทุกวันนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าเรา ๆ ท่าน ๆ น่าจะต้องเคยตะหงิดมาบ้างว่าเพลงนั้นก็อปไลน์กีตาร์เพลงนี้ เพลงนี้ก็อปไลน์เบสเพลงโน้น เพลงโน้นก็อปเมโลดี้ร้องวงนั้น แต่ในโลกที่มีเพลงนับร้อย นับพันล้านเพลงอยู่บนโลก เราสามารถบอกได้จริง ๆ หรือว่าเพลงต้นฉบับที่เราได้ยิน เป็นเพลงต้นฉบับของเมโลดี้ที่เราได้ยินนี้จริง ๆ ?

ในศาสตร์แห่งเพลงป๊อปที่เริ่มมากว่า 80 ปีแล้ว มีเสียงดนตรีเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ทั้งที่ประสบความสำเร็จและถูกลืม ซึ่งมันหล่อหลอมให้มี Chord Progression ที่ซ้ำ ๆ กันด้วยเหตุผลด้านความติดหูและฟังสบายหู (ซึ่งอธิบายได้ทางทฤษฏีดนตรี) อย่างเช่น I – V – vi – IV อย่างเพลง The Beatles Let It Be (คีย์ C: C – G – Am – F) และ Jason MrazI’m Yours (คีย์ B: B – F# – G#m – E),  I – vi – IV – V อย่างเพลง Ben E. King Stand By Me (คีย์ A: A – F#m – D – E) และ Justin BieberBaby (คีย์ Eb: Eb – Cm – Ab – Bb ) หรือจะเป็น IV – V – iii – vi อย่างเพลง David GuettaTitanium (คีย์ Eb: Ab – Bb – Gm – Cm) และ 25 Hoursคิดเหมือนกันรึเปล่า (คีย์ E: A – B – G#m – C#m) และอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยิ่งใช้แล้วประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งทำให้มีศิลปินนำไปใช้เรื่อย ๆ

ซึ่งอย่างใน YouTube ก็มีคลิปที่รวมเพลงที่ใช้ชุดคอร์ดซ้ำ ๆ เข้าด้วยกันอยู่นับไม่ถ้วน ลองมาดูคลิปนี้ซึ่งใช้ chord progression  I – V – vi – IV วนไปทั้งเพลง

ตลอด 6 นาทีเราก็ได้ยินเพลงมากมายที่ใช้ chord progression เดียวกัน บางเพลงก็มีความยาวห้องเพลง วิธีการตีคอร์ดเหมือนกันเป๊ะเลย ตอนจบวงก็มีการเปลี่ยนเนื้อเพลง Missy HigginsScar เป็นประโยคที่ว่า ‘That’s all it takes to be a star’ แบบกวน ๆ แสดงให้เห็นว่าถึงจะเป็น chord progression เดียวกันก็ยังสามารถดังได้ทุกเพลง

ส่วนคลิปนี้เป็นคลิปที่รวมเพลงที่ใช้จังหวะกลองเหมือนกันเป๊ะ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘The Money Beat’ ซึ่งคลิปนี้เล่นให้ดูถึง 100 เพลงเลยทีเดียว

ซึ่งจากที่เราเล่ามาข้างต้น และจากสองคลิปที่ได้ยกตัวอย่างให้ดู เริ่มจะพอเข้าใจในสาเหตุที่เพลงแต่ละเพลงอาจเหมือนกันแล้วใช่ไหม โดยความบังเอิญที่เพลงสองเพลงจะคล้ายกัน เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ ทั้งการได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงเดียวกัน การใช้ chord progression เดียวกันซึ่งทำให้เวลาแต่งเมโลดี้ก็อาจจะมีการบังเอิญใช้เมโลดี้เดียวกันได้ การใช้เอฟเฟกต์หรือ sound ที่ดันไปเหมือนกัน ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีกรณีมากมายที่เกิดการถกเถียงกันในอินเทอร์เน็ต ทั้งเพลงที่มีริฟฟ์เหมือนกัน มีฮาร์โมนี่ (เสียงที่ประสานกันทั้งหมด) เหมือนกัน แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าสรุปเราควรฉอดเพลงนี้เพราะ ‘ก็อปเพลง‘ เค้ามามั้ย?

วิธีดูง่าย ๆ (แต่ก็แอบยาก​) คือเจตนายังไงล่ะ

แล้วเจตนา ก็อปเพลง นี่มันดูยังไง

Joe Bennett ผู้เป็น Forensic Musicologist (นักดนตรีวิทยาด้านกฎหมาย) ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีฟ้องร้องด้านลิขสิทธิ์ก็สรุปวิธีการฟ้องร้องคดีลิขสิทธิ์ไว้ว่า ต้องเริ่มจากการแกะโน้ตออกมาก่อน เพื่อดูเมโลดี้ คอร์ด และเนื้อเพลง โดยในหลาย ๆ เคสก็จะมีการแกะไลน์กลอง ริฟฟ์กีตาร์ ไลน์เครื่องเป่า ฯลฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ชัดที่สุด ก่อนจะนำมาเทียบกับโน้ตของเพลงที่ถูกกล่าวหา เพื่อประกอบการฟ้องร้องต่อไป ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของนัก Forensic Musicologist ที่จะต้องให้เหตุผลประกอบว่า ‘สรุปเพลงนี้ดูเหมือนจะก็อปมั้ย’

การฟ้องร้องสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ 1. Compositional copying (การลอกเนื้อหาจากการประพันธ์) ซึ่งหมายถึงการลอกเนื้อเพลงหรือเมโลดี้ และ 2. Sound Record copying (การลอกตัวเพลง) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงบทละครเพลง spoken words และเสียงอื่น ๆ ส่วนมากเกิดในดนตรีฮิปฮอป

แต่คดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นบ่อย มักไม่ใช่คดีฟ้องร้องระหว่างศิลปิน แต่เป็นคดีฟ้องร้องระหว่างศิลปินกับเอเจนซี่โฆษณา เพราะมักจะเกิดเหตุหลังจากลูกค้าดันชอบเพลงของศิลปิน แล้วอยากให้ใช้ใส่ในโฆษณา แต่ศิลปินหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ดันไม่ให้ใช้เพลงนั้นในโฆษณา จึงต้องเอาเพลงนั้นไปเป็น reference แล้วพอนักแต่งเพลงแต่งออกมา ก็มักจะดันเหมือนเพลงต้นฉบับจนโดนฟ้องเอาได้ ซึ่งในกรณีแบบนี้เราเองก็คิดว่าคงจะชนะคดียาก ด้วยการมีเจตนาจะใช้ฮาร์โมนี่หรือเมโลดี้เหมือนต้นฉบับมากเกินไป

Bennett มักจะทำงานให้กับฝั่งจำเลยมากกว่า เพราะในโลกนี้มีเหตุผลมากมายที่จะมาอธิบายได้ว่า ‘ทำไมเพลงนี้ถึงฟังดูเหมือนเพลงนั้น’ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลด้านลิขสิทธิ์เลยแม้แต่น้อย “ปกตินักแต่งเพลงก็ไม่ลอกเมโลดี้กันอยู่แล้ว มันดูขี้เกียจและไม่จำเป็น แล้วทำไมคนถึงอยากทำอะไรแบบนั้นในเมื่อมีโอกาสโดนฟ้องได้ สำหรับใครที่เพิ่งเข้าวงการ Forensic Musicology ผมจะบอกว่า อย่าตื่นเต้นไปกับคำกล่าวหาของโจทก์ที่มันฟังดูมีน้ำหนัก เพราะบ่อยครั้งที่มันไร้ซึ่งมูลเหตุเลย”

แต่อย่างไรก็ดี เรายังขอยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องดูกันต่อที่เจตนา หากเจ้าของเพลงที่ถูกกล่าวหาออกมายอมรับว่าได้แรงบันดาลใจจากเพลงอื่นจริง หรือถูกฟ้องร้องแล้วแพ้ เราก็ยอมรับในคำตัดสินของศาล เพราะท้ายที่สุดแล้ว งานศิลปะสามารถให้แรงบันดาลใจกับงานศิลปะอื่นได้ แต่ไม่ใช่การลอกไปและไม่ใช่ความสามารถตัวเองในการทำงาน ขอให้ทุกคนฟังเพลงอย่างมีความสุขนะ

 

อยากเป็น Forensic Musicologist ต้องรู้อะไรบ้าง?

  • กฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเข้าใจเรื่องของการแบ่งรายได้ในธุรกิจดนตรี และเข้าใจ Music Publishing (การจัดจำหน่ายดนตรี)
  • โสตทักษะ นับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะคุณต้องแยกความเหมือนและแตกต่างของทั้งสองเพลงให้ได้ คุณต้องแม่นเรื่องโน้ต จังหวะ ฮาร์โมนี่ ฯลฯ
  • ประวัติศาสตร์ดนตรี คุณควรรู้จักเพลงซักประเภทอย่างถ่องแท้ เพื่อหาแรงบันดาลใจที่อาจเชื่อมโยงมาถึงแต่ละเพลง และเพื่อเช็กว่าเพลงที่ไปฟ้องเค้า เป็นพลงแรกที่ทำดนตรีแบบนี้หรือเปล่า
  • ภาษา คุณจะต้องเขียนเอกสารราชการเพื่อประกอบการฟ้องร้อง ทำให้คุณควรมีทักษะการใช้ภาษาที่ดี และเถรตรง เพราะหากคุณเขียนโดยเปิดช่องให้ทนายฝั่งตรงข้ามตีความไปเป็นอย่างอื่น สิ่งที่ทำมาก็จะไม่มีความหมาย
  • การผลิตเพลง หลังจากแกะเพลงแล้ว ก็ต้องทำเพลงขึ้นมาใหม่เพื่อเปรียบเทียบกัน เป็นอีกหลักฐานประกอบในการฟ้องร้อง ดังนั้นการมีความสามารถในการทำเพลงในโปรแกรมก็เป็นอีกความสามารถที่จำเป็นในการเป็น Forensic Musicologist

อ่านต่อ

ลิขสิทธิ์ดนตรี ปัญหาความไม่เข้าใจที่ค้างคา

เช็คให้ดีก่อนซื้อเสื้อวงมือสอง! เสื้อปลอมไม่ได้ทำร้ายแค่ศิลปิน แต่ยังทำลายวงการดนตรีด้วย

แผ่นมาสเตอร์คืออะไร? โดนเผาแล้วทำไมเหรอ?

หมดยุคหวงศิลปินแล้ว! รวมวิธีซัพพอร์ตศิลปินเท่าที่จะนึกออก

 

อ้างอิง
How to tell if a song’s been copied – from a trained musicologist Forensic Musicologists Need to Know These 5 Things The 10 Most Used Chord Progressions in Pop and Rock and Roll These four chords are at the heart of every pop song G-C-D: The 3 Greatest Guitar Chords (+20 Songs)
Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่